แจกสูตร ปุ๋ย ab ทำเอง ได้ที่บ้าน ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ง่าย ๆ ไม่ต้องซื้อ
ปุ๋ย ab ปุ๋ยน้ำ ab ทำอย่างไรให้มีธาตุอาหารครบถ้วน ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แบบง่าย ๆ ไม่ต้องซื้อ
SGE มี สูตรปุ๋ย ab ทำเอง มาฝาก รับรองว่า ทำเองได้ง่าย ๆ ไม่ยาก ช่วยลดต้นทุนในการปลูกผักได้เยอะแน่นอน
ปุ๋ย ab คืออะไร
ปุ๋ย ab คือ ปุ๋ยเคมี แบบ ปุ๋ยน้ำ อุดมไปด้วยธาตุอาหารหลักที่จำเป็น เหมาะสำหรับใช้ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ หรือ จะใช้ฉีดพ่นบำรุงพืชชนิดอื่น ๆ ด้วยก็ได้ ปกติ มักแยกออกเป็น ธาตุอาหาร A และ ธาตุอาหาร B ก่อนนำมาผสมกับน้ำสะอาด เพื่อลดความเข้มข้นของสารเคมี ทำให้พืชสามารถดูดซึมธาตุอาหารได้ง่ายขึ้น
ปุ๋ย ab ประกอบด้วย อะไรบ้าง
ธาตุอาหารที่อยู่ในปุ๋ย ab ประกอบด้วย ธาตุอาหารหลักที่จำเป็นต่อพืช คือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โปแตสเซียม (K) เกิดจากการผสมกันของสารประกอบ เช่น แคลเซียมไนเตรท โพแตสเซียมไนเตรท แมกนีเซียมซัลเฟต โมโนโพแตสเซียมฟอสเฟต นอกจากนี้ ยังมีธาตุอาหารรอง เช่น เหล็ก DP และ นิคสเปรย์ เพื่อให้พืชได้รับธาตุอาหารที่จำเป็นครบถ้วนมากขึ้นอีกด้วย
สูตรปุ๋ย ab ทำเอง
สูตรปุ๋ย ab ทำเอง สูตรนี้ สามารถเก็บได้นานถึง 2 ปี ช่วยให้ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ได้ โดยไม่ต้องซื้อปุ๋ย ab แบบสำเร็จรูป ที่ขายกันอยู่ในท้องตลาด ช่วยให้คุณประหยัดต้นทุนในการปลูกผักได้มากขึ้น ส่วนจะมีส่วนผสมและวิธีทำอย่างไร ตามมาดูกันเลย
ส่วนผสมปุ๋ย a
- น้ำสะอาด 20 ลิตร
- แคลเซียมไนเตรท 15-0-0 2.3 กิโลกรัม
- เหล็ก DP (Fe-DTA7%) 80 กรัม
- ถังดำ
ส่วนผสมปุ๋ย B
- น้ำสะอาด 20 ลิตร
- โปแตสเซียมไนเตรท (13-0-46) 1.2 กิโลกรัม
- แมกนีเซียมซัลเฟต 1 กิโลกรัม
- โมโนโพแตสเซียมฟอสเฟต (0-52-34) 530 กรัม
- นิคสเปรย์ 100 กรัม
- ถังดำ
วิธีทำปุ๋ย a
- เทน้ำสะอาด 20 ลิตร ลงในถังดำ
- ใส่แคลเซียมไนเตรท เหล็ก DP ลงไป คนให้ละลายเข้ากัน
- ปิดฝาถัง แล้วเก็บไว้ในที่ร่ม (ก่อนจะเอามาใช้ให้คนก่อน อีก 1 รอบ)
วิธีทำปุ๋ย b
- เทน้ำสะอาด 20 ลิตร ลงในถังดำ
- ใส่โพแตสเซียมไนเตรท แมกนีเซียมซัลเฟต โมโนโพแตสเซียมฟอสเฟต นิคสเปรย์ คนให้ละลายเข้ากัน
- ปิดฝาถัง แล้วเก็บไว้ในที่ร่ม (ก่อนจะเอามาใช้ให้คนก่อน อีก 1 รอบ)
ปุ๋ย ab ใช้อย่างไร
เวลาใช้ปุ๋ย ab ให้นำ ปุ๋ยน้ำ ab ผสมกับน้ำสะอาด ในอัตราส่วน 1:200 ตัวอย่างเช่น ใช้ปุ๋ย a และ ปุ๋ย b อย่างละ 5 มิลลิลิตร ผสมกับน้ำเปล่า 1 ลิตร เป็นต้น เพื่อให้ปุ๋ยน้ำ ab มีปริมาณธาตุอาหารที่เหมาะสม พืชสามารถดูดซึมธาตุอาหารต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น โดยสาเหตุที่ต้องควบคุมปริมาณธาตุอาหารในปุ๋ยน้ำ ไม่ให้เข้มข้นจนเกินไป เพราะนอกจากจะทำให้พืชดูดซึมธาตุอาหารได้ยากแล้ว ยังจะทำให้ธาตุอาหารต่าง ๆ ตกตะกอน เป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์อีกด้วย
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการปลูก ควรตรวจเช็กระดับน้ำ และ ปริมาณธาตุอาหารในน้ำ ให้มีปริมาณที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอด้วย โดยวิธีดูว่า ปริมาณธาตุอาหารในน้ำ ที่ใช้ปลูกผักนั้น มีปริมาณเหมาะสมหรือไม่ ให้ใช้ pH Meter เพื่อวัดค่ากรดด่าง และ EC Meter เพื่อวัดค่าความนำไฟฟ้าด้วย จะช่วยให้ทราบถึงปริมาณธาตุอาหารที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ซึ่งถ้าหากวัดแล้ว พบว่า ปริมาณธาตุอาหารเจือจางมาก จะได้ใส่ปุ๋ย ab ลงไปเพิ่มเติมได้
ในช่วงใกล้ระยะเก็บเกี่ยว เมื่อผักเจริญงอกงามดีแล้ว จึงลดปริมาณการให้ปุ๋ย ab ลง เปลี่ยนมาให้น้ำแทน 2 – 3 วัน เพื่อลดการตกค้างของสารไนเตรท และ ประหยัดการให้ปุ๋ยน้ำ ab ไปในตัว จะช่วยให้ผักมีความสะอาดปลอดสารพิษ และ ช่วยลดต้นทุนในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ได้มากขึ้น
ปุ๋ย ab อันตรายไหม
เนื่องจากปุ๋ย ab เป็น ปุ๋ยเคมี ซึ่งประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิด ทำให้หลายคนมีความกังวลว่า เมื่อนำไปปลูกผักแล้ว จะเกิดสารเคมีตกค้าง กินผักแล้วเป็นอันตรายต่อร่างกายของตนเองหรือไม่ โดยเฉพาะ สารไนเตรท ที่อาจเป็นสารก่อให้เกิดโรคมะเร็ง จากการที่ผู้ปลูกใส่มากเกินไป หรือ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในที่ร่ม จนทำให้ผักสังเคราะห์แสงได้ไม่เพียงพอ ที่จะเปลี่ยนไนเตรทให้เป็นธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ได้ อันส่งผลให้สารเคมีเกิดการตกค้างภายในผัก ก่อนจะมาถึงผู้บริโภค
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หากนำมาใช้ผสมกันในปริมาณที่เหมาะสม ไม่เข้มข้นจนเกินไป จะพบว่า สารเคมีที่ตกค้างมีปริมาณน้อยมาก นอกจากนี้ ในช่วงใกล้ระยะเก็บเกี่ยว ผู้ปลูกส่วนใหญ่จะให้น้ำสะอาดแทนปุ๋ย ab อยู่แล้ว เพื่อลดค่าไนเตรทที่ตกค้าง และ ลดการให้ปุ๋ยน้ำ ab เพื่อประหยัดต้นทุน ทำให้ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่า การใช้ ปุ๋ยน้ำ ab จะไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพของผักไฮโดรโปนิกส์แต่อย่างใด ซึ่งถ้าหากใครไม่มั่นใจ สามารถนำผักที่ได้ไปแช่น้ำทั้งรากก่อน หรือ ล้างทำความสะอาดก่อนรับประทานอีกรอบก็ได้ จะช่วยให้ผักของคุณมีความสะอาดและปลอดภัยมากขึ้น
ใช้อะไรแทนปุ๋ย ab
หากใครอยากปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ แล้วไม่อยากใช้ปุ๋ย ab เพราะต้นทุนสูง หรือ กลัวสารเคมีตกค้างต่าง ๆ สามารถใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง และ ปุ๋ยน้ำหมักขี้หมูหรือขี้ไก่ ผสมกันกับน้ำ ฉีดทุก ๆ 5-7 วัน หรือ จะฉีดลงในกล่องปลูกก็ได้ จะช่วยเพิ่มธาตุอาหารที่จำเป็น และ ยังช่วยป้องกันน้ำเสียได้อีกด้วย
เป็นอย่างไรกันบ้างกับ สูตรปุ๋ย ab ทำเอง ที่ SGE นำมาฝาก ทำตามได้ง่าย ๆ ไม่ยากเลยใช่มั้ยล่ะ หากใคร ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ อยู่ แล้วอยากทำปุ๋ยน้ำ ab ไว้ใช้งานเอง ไม่ต้องซื้อแล้วละก็ ลองทำตามได้เลย รับรองว่า อุดมไปด้วยธาตุอาหารหลักที่จำเป็น ช่วยให้ปลูกผักเจริญงอกงาม ไม่ต้องซื้อให้เปลืองเงินอีกต่อไป ได้อย่างแน่นอน
บทความที่น่าสนใจ
30 มกราคม 2024
โดย
Pres
จะหาซื้อปุ๋ยสำหรับทำสูตรน้ำยาA-Bได้จากร้านไหน
หาซื้อได้ตามร้านค้าออนไลน์ทั่วไปเลยค่าา