เครื่องซีลสูญญากาศใช้ถุงแบบไหน? ใช้กับถุงอะไรได้บ้าง?
- ถุงร้อนใช้กับเครื่องซีลสูญญากาศได้ไหม?
คำตอบคือ ใช้ได้ แต่ไม่แนะนำ เพราะว่าถุงร้อน-ถุงแกงทั่วไปที่ใช้กัน ถุงจะค่อนข้างบาง พลาสติกไม่เหนียว ทำให้ง่ายต่อการฉีกขาด ทะลุ หรือรั่วได้ ซึ่งเมื่อนำไปใช้กับการซีลสูญญากาศ แม้จะดูดอากาศออกได้เหมือนถุงชนิดอื่น แต่ก็อาจเกิดการรั่ว ฉีกขาดได้ในการขนส่ง จึงไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะนำมาบรรจุแบบสุญญากาศ แต่ก็สามารถนำมาใช้ในการซีลเพื่อปิดปากถุงได้
- ถุงแก้วใช้กับเครื่องซีลสุญญากาศได้ไหม?
ถุงแก้วใช้กับเครื่องซีลสำหรับปิดผนึกปากถุงได้ แต่ไม่แนะนำให้ทำการซีลสุญญากาศ เพราะถุงแก้วมีลักษณะแข็ง คงรูป ไม่ยืดหยุ่น อาจทำให้เกิดการแตก รั่ว หรือทะลุได้
- แล้วเครื่องซีลสุญญากาศควรใช้ถุงแบบไหน? ใช้กับถุงอะไรได้บ้าง?
1. ถุงเรียบแบบหนา (หนากว่าถุงร้อนทั่วไป)
ถุงนี้ไม่ใช่ถุงที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับเครื่องซีลโดยเฉพาะ แต่ก็สามารถนำมาใช้ทดแทนถุงซีลสุญญากาศได้ เพราะถุงชนิดนี้จะมีความหนาและความเหนียวมากกว่าถุงร้อนทั่วไป แต่ก็ยังมีความหนาและความเหนียวน้อยกว่าถุงสุญญากาศ โดยถุงชนิดนี้ได้แก่ ถุงเย็น PE (แบบหนา), ถุงฟอยด์, ถุงฟอยด์ซิปล็อก, ถุงคราฟท์ซิปล็อก
2. ถุงสุญญากาศ แบบเรียบ
ถุงชนิดนี้ถูกออกแบบมาเพื่อการบรรจุปิดปากถุงแบบสุญญากาศโดยเฉพาะ เนื่องจากถุงจะมีความเหนียวและหนาสูงถึง 80 ไมครอนขึ้นไป โดยจะผลิตออกเป็นไซส์มาตรฐานต่าง ๆ เช่น 6*6 นิ้ว, 7*11 นิ้ว, 8*12 นิ้ว และ 9*14 นิ้ว เป็นต้น
3. ถุงสุญญากาศ ลายนูน
ถุงชนิดนี้ก็ถูกออกแบบมาเพื่อการบรรจุปิดปากถุงสุญญากาศโดยเฉพาะเช่นกัน ซึ่งลักษณะเด่นคือด้านนึงของถุงจะมีลายนูน ไว้เพื่อทำให้อากาศไหลออกมาได้ง่ายในขณะที่ทำการสุญญากาศ โดยถุงชนิดนี้จะมีความเหนียวและหนาสูงถึง 80 ไมครอนขึ้นไป ในท้องตลาดมีขายทั้งแบบไซส์มาตรฐานสำเร็จรูป และแบบม้วนสำหรับตัดเองตามความต้องการ
ซึ่งความต่างของถุงสุญญากาศทั้งแบบเรียบและแบบลายนูน คือ การทนทานต่ออุณหภูมิการเก็บรักษา โดยถุงซีลสุญญากาศแบบเรียบสามารถแช่แข็งได้ถึง -17 องศา และทนความร้อนได้ถึง 80 องศา ส่วนถุงซีลสุญญากาศลายนูนสามารถแช่แข็งได้ถึง -20 องศา และทนความร้อนได้ถึง 100 องศา นั่นเอง