ทำความรู้จัก “เอนไซม์” คืออะไร? สำคัญต่อร่างกายอย่างไร?
เมื่อพูดถึง กลุ่มโปรตีน ที่เร่งปฏิกิริยาทางชีวเคมี ที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต เพื่อช่วยในการสังเคราะห์องค์ประกอบต่าง ๆ ภายในเซลล์ สิ่งนั้นคือ เอนไซม์ ที่จะช่วยในการย่อยอาหาร และดูดซึมสารอาหาร เพื่อนำไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อให้ชีวิตดำรงชีวิตอยู่ได้
วันนี้ SGE จะพาไปรู้จักกับ “เอนไซม์ (Enzyme)” ว่าคืออะไร? มีความสำคัญอย่างไรบ้าง?
เอนไซม์ คืออะไร?
เอนไซม์(Enzyme) เปรียบเสมือนตัวจุดประกายของชีวิตในร่างกาย คือ ถ้าหากร่างกายไม่มีเอนไซม์ ร่างกายจะไม่สามารถย่อยอาหาร และดูดซึมสารอาหาร เพื่อไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ และอาจจะตายลงได้ในที่สุด
ดังนั้น เอนไซม์จึงเป็นตัวช่วยเร่งปฏิกิริยาเคมี หรือตัวคะตะลิสต์ (Catalyst) ที่จำเพาะ ที่ทำง่านร่วมกับโคเอนไซม์ (Coenzymes) โดยโคเอนไซม์ในที่นี้ คือ พวกวิตามิน และแร่ธาตุจำเป็นต่อร่างกาย กล่าวคือ วิตามิน แร่ธาตุ จะไม่สามารถกระตุ้นให้ทำงานได้ หากไม่ได้ทำงานร่วมกับเอนไซม์นั่นเอง
ชนิดของเอนไซม์
สามารถแบ่งประเภทของเอนไซม์ ได้ 3 ชนิด คือ
เอนไซม์จากอาหาร (Food Enzyme)
คือ เอนไซม์ที่พบได้ในอาหารสด อาหารดิบทุกชนิด ทั้งจากพืช และจากสัตว์ โดยจะช่วยย่อยอาหารที่ทานเข้าไป แต่ถ้าอาหารผ่านความร้อนที่สูงเกิน 47 องศาเซลเซียส เอนไซม์จะถูกทำลายได้ง่าย และอาจไม่มีหลงเหลือในอาหาร ดังนั้น อาหารที่ยังมีเอนไซม์หลงเหลืออยู่ จึงเป็นจำพวกผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ ที่ทานดิบได้ เช่น ปลาดิบ เป็นต้น
เอนไซม์ย่อยอาหาร (Digestive Enzyme)
คือ เอนไซม์ที่ผลิตขึ้นมาจากร่างกาย ส่วนใหญ่ผลิตมาจาก ตับอ่อน เพื่อใช้ในการย่อยอาหาร และดูดซึมสารอาหารที่ทานเข้าไป เอนไซม์ที่เกี่ยวกับการย่อยอาหาร มีดังนี้
- อะไมเลส (Amylase) สำหรับย่อยแป้ง ให้เป็นน้ำตาล
- ไลเปส (Lipase) สำหรับย่อยไขมัน
- โปรตีเอส (Protease) สำหรับย่อยโปรตีน ให้เป็นกรดอะมิโน
- เซลลูเลส (Cellulase) สำหรับย่อยเส้นใยจากพืช
- แลกเตส (Lactase) สำหรับย่อยอาหารจำพวกนม
- ซูเครส (Sucrase) สำหรับย่อยน้ำตาล
- มอลเทส (Maltase) สำหรับย่อยอาหารจำพวกข้าว
เอนไซม์ในการเผาผลาญพลังงาน (Metabolic Enzyme)
คือ เอนไซม์ที่ผลิตในเซลล์ และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย ทำหน้าที่เร่งปฏิกิริยาเคมี เพื่อช่วยในการเผาผลาญสารอาหาร และสร้างพลังงาน สร้างภูมิต้านทาน และเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย รวมไปถึงช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของอวัยวะต่าง ๆ อีกด้วย
บางข้อมูล อาจรวมชนิดของเอนไซม์จากอาหาร และเอนไซม์ย่อยอาหารไว้ด้วยกัน เพราะทั้ง 2 ชนิด เหมือนกันทุกอย่าง ต่างกันแค่แหล่งผลิตเท่านั้น โดยเอนไซม์จากอาหาร จะผลิตจากภายนอกร่างกาย ส่วนเอนไซม์ย่อยอาหาร จะผลิตจากภายในร่างกาย
หน้าที่ของเอนไซม์
องค์ประกอบที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต คือ น้ำ อากาศ และอาหาร อาหารจะถูกส่งเข้าไปเลี้ยงในร่างกายได้ จะต้องอาศัยเอนไซม์ในการกระบวนการย่อยอาหาร และจะต้องอาศัยวิตามิน แร่ธาตุ กรดอะมิโน และสารไฟเตท ที่จำเป็น มาเป็นตัวประกอบสำคัญในการเสริมประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซม์
ร่างกาย ประกอบไปด้วยเซลล์ขนาดเล็กหลายล้านเซลล์ สารอาหาร จะต้องถูกย่อยโดยการทำงานของเอนไซม์จนมีขนาดเล็กในระดับอิออน จึงจะสามารถผ่านหนังของเซลล์ขนาดเล็กแต่ละเซลล์ได้ ร่างกายจึงจะดำรงชีวิตอยู่ได้ หากสารอาหารไม่สามารถส่งไปถึงเซลล์ได้ การซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ จะไม่สามารถทำได้ จึงทำให้ร่างกายเกิดภาวะเสื่อม ส่งผลทำให้ภูมิคุ้มกันทำหน้าที่ไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เป็นโรคต่าง ๆ นั่นเอง
เรียกได้ว่า เอนไซม์นั้น จะช่วยในการย่อยอาหาร มีหน้าที่เป็นตัวเร่งในการย่อยอาหารให้สมบูรณ์ ทำให้ร่างกายของเราได้รับสารอาหารที่มีคุณภาพ แล้วนำไปใช้ได้ ถ้าน้ำย่อยไม่ดี เมื่อทานอาหารที่มีประโยชน์เข้าไป ก็จะไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ กับร่างกายทั้งสิ้น นอกจากนี้ เอนไซม์ยังมีหน้าที่ช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง ช่วยสร้างโปรตีนในกล้ามเนื้อ ช่วยทำให้กล้ามเนื้อหดตัว สลายสารพิษ ทำให้เลือดบริสุทธิ์ ช่วยกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากปอด และช่วยลดความเครียดของตับอ่อนและอวัยวะอื่น ๆ ภายในร่างกาย
อาหารที่มีเอนไซม์ ทำงานได้เหมือนเอนไซม์ที่พบในร่างกายหรือไม่?
เอนไซม์เป็นสารชีวเคมีที่จำเป็นต่อร่างกายของเรา ช่วยให้ร่างกายสามารถย่อยอาหาร เพื่อนำสารอาหารไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ในลำไส้และตับอ่อนของมนุษย์ สามารถผลิตเอนไซม์ได้หลากหลายชนิด และมีอาหารบางชนิดที่อุดมไปด้วยเอนไซม์ หรือบางครั้งก็มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์
สำหรับอาหารบางประเภท มีปริมาณเอนไซม์สูง แต่เอนไซม์มักสลายไป เมื่อเข้าสู่ระบบย่อยอาหาร ในขณะที่บางวัฒนธรรมการกินเชื่อว่า การรับประทานอาหารที่มีเอนไซม์สูง จะช่วยเรื่องการย่อยอาหาร อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการเพียงพอที่จะยืนยันความเชื่อนี้ อาหารที่มีปริมาณเอนไซม์สูง อาจจะมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ และควรค่าแก่การบริโภคเป็นเครื่องเคียงอาหารจานหลัก ได้แก่
- กิมจิ พริกแดง กะหล่ำปลี และหัวไชเท้า ที่ผ่านการหมักดองตามวัฒนธรรมการปรุงอาหารของคนเกาหลี มีรสเปรี้ยวและเผ็ดเล็กน้อย นักวิจัยกล่าวว่า อาหารเคียงจานนี้มีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายด้าน แบคทีเรียที่อยู่ในกิมจิ ผลิตเอนไซม์ที่มีประโยชน์ (อ่านบทความ: วิธีทำ “กิมจิ” ทำเองได้ อร่อยแบบเกาหลี)
- อะโวคาโด เป็นแหล่งของเอนไซม์ไลเปส ซึ่งมีหน้าที่ในการย่อยไขมันในระบบทางเดินอาหาร แต่ในความเป็นจริง การย่อยไขมันในลำไส้เล็ก ใช้เอนไซม์ไลเปสที่ผลิตจากตับอ่อน ดังนั้น เอนไซม์ไลเปสที่ได้รับจากการบริโภคอาหาร อาจเป็นเพียงการส่งเสริมให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น เพราะทุกวันนี้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า เอนไซม์ไลเปสที่ได้จากอาหารจะให้ผลเช่นเดียวกับเอนไซม์ไลเปสที่ผลิตจากตับอ่อน (อ่านบทความ: “อะโวคาโด” สุดยอดประโยชน์ที่สายสุขภาพต้องรู้! ลดน้ำหนักได้จริงไหม?)
- แอปริคอต ในแอปริคอตมีเอนไซม์อยู่หลากหลายชนิด เช่น อินเวอร์เวส ที่ช่วยย่อยน้ำตาลซูโครส ให้เป็นน้ำตาลกลูโคส และฟรุกโตส เพื่อให้ร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ เอนไซม์อินเวอร์เทส ยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่เกิดจากกิจกรรมของเซลล์อีกด้วย
- สับปะรด มีสาร โบรมีเลน ซึ่งประกอบด้วยเอนไซม์หลายชนิด ช่วยย่อยโปรตีน จากงานวิจัยในวารสาร Cancer Letters ระบุว่า โบรมีเลนอาจช่วยป้องกันมะเร็ง และต้านการอักเสบ
- กล้วย อุดมไปด้วยเอนไซม์อะไมเลส และมัลเทส เอนไซม์อะไมเลสพบในน้ำลาย และลำไส้เล็กของมนุษย์ ช่วยย่อยคาร์โบไฮเดรตให้กลายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเล็ก เพื่อการดูดซึมที่ลำไส้ ส่วนมัลเทสเป็นเอนไซม์ ที่ทำหน้าที่ย่อย น้ำตาลมัลโทส ที่พบในพืชตระกูลมอล์ต น้ำเชื่อมข้าวโพด และเบียร์
จะเห็นได้ว่า เอนไซม์เปรียบเสมือนกุญแจสำคัญ ส่งเสริมการมีชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด หวังว่าบทความนี้ จะทำให้หลาย ๆ คนเข้าใจถึงเอนไซม์มากขึ้นแล้วนะจ๊ะ
บทความดี ๆ น่าอ่าน:
อ้างอิงข้อมูลจาก: https://medthai.com, www.fit-biz.com
30 มกราคม 2024
โดย
ลำดวน