พาส่องสรรพคุณ “ดอกอัญชัน” และการนำมาใช้ประโยชน์
❝ เมื่อนึกถึงอาหาร หรือขนมหวานที่มีสีม่วงอมน้ำเงิน หลาย ๆ คนตอบได้ทันทีว่าสีสวย ๆ แบบนี้มาจาก “ดอกอัญชัน (Butterfly pea)” อย่างแน่นอน นอกจากจะให้สีน้ำเงินสวย เพื่อนำมาประกอบอาหาร เช่น ขนมหวานของไทยเราแล้ว วันนี้ SGE จะพาไปรู้จักประโยชน์อีกมากมายของดอกอัญชันที่คุณอาจยังไม่รู้ เพียงแค่น้ำคั้นสด หรือน้ำต้มดอกอัญชันเท่านั้น แต่ให้ผลดีต่อสุขภาพมหาศาลเลยทีเดียว จะเป็นอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย ❞
ดอกอัญชัน (Butterfly pea) คืออะไร?
อัญชัน ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Clitoria ternatea L. เป็นไม้เลื้อยเนื้ออ่อน อายุสั้น ใช้ยอดเลื้อยพัน ลำต้นมีขนปกคลุม ใบประกอบแบบขนนก เรียงตรงข้ามยาว 6-12 เซนติเมตร มีใบย่อยรูปไข่ 5-7 ใบ กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 3-5 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ผิวใบด้านล่างมีขนหนาปกคลุม
ดอกอัญชันเป็นไม้เถา มีดอกสีม่วงอมน้ำเงินสวยงามตามธรรมชาติ ทำให้นิยมนำมาคั้นเป็นสีผสมอาหาร คุณประโยชน์ของดอกอัญชันยังครอบคลุมไปถึงสรรพคุณทางยาอันหลากหลาย เช่น ลดไข้ แก้หอบหืด เป็นต้น
ลักกษณะทางพฤกษศาสตร์ ดอกสีขาว ฟ้า และม่วง ดอกออกเดี่ยว ๆ รูปทรงคล้ายฝาหอยเชลล์ออกเป็นคู่ตามซอกใบ กลีบดอก 5 กลีบ ดอกบานเต็มที่ยาว 2.5-3.5 เซนติเมตรกลีบคลุมรูปกลม ปลายเว้าเป็นแอ่ง ตรงกลางมีสีเหลือง มีทั้งดอกซ้อนและดอกลา ดอกชั้นเดียวกลีบขั้นนอกมีขนาดใหญ่กลางกลีบสีเหลือง ส่วนกลีบชั้นในขนาดเล็กแต่ดอกซ้อนกลีบดอกมีขนาดเท่ากัน ซ้อนเวียนเป็นเกลียว ออกดอกเกือบตลอดปี ผลแห้งแตก เป็นฝักแบน กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 5-8 เซนติเมตร เมล็ดรูปไต สีดำ มี 5-10 เมล็ด
- ดอก ใช้ปลูกผมทำให้ผมดกดำ เงางามมากขึ้น เพราะดอกอัญชันมีสารที “แอนโทไซยานิน” (Anthocyanin) ซึ่งช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ดีมากขึ้น
- ดอก นำมาคั้นนำใช้หุงข้าวได้ด้วย ช่วยให้ข้าวที่หุงมีสีสันที่สวยงาม
- เมล็ด เป็นยาระบาย
- ราก บำรุงตาแก้ตาฟาง ถูฟันแก้ปวดฟัน ตาแฉะ และปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ นำรากมาถูกับน้ำฝนใช้หยอดหู และหยอดตา
10 ประโยชน์ดี ๆ จากดอกอัญชัน
1. บำรุงสายตา ป้องกันอาการตาฝ้าฟาง ตาแฉะ และป้องกันโรคต้อกระจก
2. ช่วยลดน้ำตาลในเลือด เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
3. เพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกาย
4. ขับปัสสาวะ และเป็นยาระบายอ่อน ๆ
5. มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต่อต้านโรคมะเร็งได้
6. ชะลอริ้วรอย และดูแลผิวพรรณให้เต่งตึง กระชับ
7. ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคไขมันอุดตันเส้นเลือด
8. บำรุงผมให้เงางาม ดกดำ มักเป็นส่วนประกอบของยาสระผม หรือครีมบำรุงผม
9. ช่วยสลายลิ่มเลือด
10. ช่วยให้ระบบโลหิตไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น
วิธีทำน้ำดอกอัญชัน
🍹วัตถุดิบ
น้ำดอกอัญชัน | 1 ถ้วย |
น้ำผึ้ง | 2 ช้อนโต๊ะ |
น้ำเชื่อม | 4 ช้อนโต๊ะ |
🍹ขั้นตอนการทำน้ำดอกอัญชัน
- เริ่มทำน้ำดอกอัญชันก่อน ด้วยการนำดอกอัญชันสดประมาณ 100 กรัม นำมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วใส่หม้อเติมน้ำเปล่า 2 ถ้วย นำไปต้มจนเดือด ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ 3 นาที แล้วกรองดอกอัญชันขึ้นจากหม้อ
- ต่อมาทำน้ำเชื่อม โดยใช้สัดส่วน น้ำเปล่า 500 กรัม/ น้ำตาลทราย 500 กรัม
- เมื่อได้ส่วนผสมครบแล้วให้นำน้ำดอกอัญชัน, น้ำเชื่อม, น้ำผึ้ง ผสมรวมกัน
- ชิมรสชาติตามชอบใจ พร้อมเสิร์ฟ
ขอแนะนำเมนู “น้ำพั้นช์ดอกอัญชัน”
หากใครชอบความสดชื่น ให้ใช้ส่วนผสม ดังนี้
น้ำดอกอัญชัน | 1⁄2 ถ้วย |
น้ำผึ้ง | 4 ช้อนโต๊ะ |
น้ำเชื่อม | 6 ช้อนโต๊ะ |
น้ำมะนาว | 1⁄2 ถ้วย |
น้ำโซดาเย็น | 1 ขวด |
วิธีทำน้ำพั้นซ์ดอกอัญชัน
- นำส่วนผสมทั้งหมดมาผสมรวมกัน
- ชิมรสชาติตามชอบ
- ใส่น้ำแข็งเกล็ด เพื่อความสดชื่นยิ่งขึ้น พร้อมเสิร์ฟ
👉 ถ้าต้องการทำเป็นน้ำชาไว้ดื่ม ให้ใช้ดอกอัญชันที่ตากแห้งแล้ว ประมาณ 25 ดอก นำมาชงในน้ำเดือด 1 ถ้วย แล้วนำมาดื่ม ก็อร่อยสดชื่นไม่แพ้กัน 👍
คำแนะนำ
- ควรดื่มทันทีเมื่อทำเสร็จ เพื่อรักษาคุณค่าทางสารอาหาร และยา
- ไม่ควรดื่มน้ำสมุนไพรในอุณหภูมิที่ร้อนจัด หรือมีอุณหภูมิเกิน 60 องศาเซลเซียสขึ้นไป เพราะอาจจะทำให้เยื่อบุผิวหลอดอาหารเสียสภาพภูมิคุ้มกันได้ ทำให้ดูดซับสารก่อมะเร็งและสารอื่น ๆได้ง่าย
- ไม่ควรดื่มน้ำสมุนไพรใด ๆ ชนิดเดียวติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งอาจจะเป็นผลเสียต่อร่างกายมากกว่าผลดี
อัญชันกับอาหาร เป็นอย่างไร?
อันชัญเป็นดอกไม้อีกหนึ่งประเภทที่นิยมนำไปทำอาหาร โดยปกติจะใช้สีจากการต้ม และคั้นน้ำของดอกเพื่อมาผสมกับแป้งต่าง ๆ ทำเป็น ขนมชั้น, ทับทิมกรอบ, บัวลอย ฯลฯ นอกจากนั้น ดอกก็สามารถนำมาชุบแป้งทอด ใส่สลัดต่าง ๆ เพื่อตกแต่งจาน หรือทำไข่เจียวหรือชาอัญชันก็ได้ 😍
ข้อควรระวังในการทานดอกอัญชัน
- ดอกอัญชันมีฤทธิ์ในการสลายลิ่มเลือด จึงไม่เหมาะกับคนที่อยู่ในภาวะโลหิตจาง
- ไม่ควรดื่มน้ำอัญชันที่มีความเข้มข้นมากเกินไป และไม่ดื่มแทนน้ำเปล่า
- ควรใช้ดอกอัญชันชงเป็นเครื่องดื่มในปริมาณแต่พอน้อย
- ผู้ที่มีอาการแพ้ละออง หรือเกสรดอกไม้ชนิดต่าง ๆ ควรระมัดระวังในการใช้ดอกอัญชัน หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของอัญชัน เนื่องจากเสี่ยงก่อให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นเดียวกัน
- หากกำลังตั้งครรภ์ ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนรับประทาน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานเมล็ดอัญชัน เพราะเมล็ดจะส่งผลระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร ทำให้คลื่นไส้และอาเจียนได้
- ดอกอัญชันควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแบบไม่ผ่านการปรุงสุก และก่อนนำมารับประทาน ควรดึงบริเวณขั้วดอกออก เพราะบริเวณขั้วดอกมียางซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด ส่งผลต่อการระคายเคืองในลำคอ อาจจะเกิดการกัดหลอดอาหารในลำคอได้
- หลีกเลี่ยงการทานดอกอัญชันคู่กับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของยาลดลง
จะเห็นได้ว่าดอกอัญชันนั้น นอกจากจะเป็นดอกไม้ที่ให้สีสวยสดอย่างเป็นเอกลักษณ์ริมรั้วแล้ว ยังมีประโยชน์ และสรรพคุณหลายด้านทีเดียว 💜 ใครที่กำลังมองหาสมุนไพรบำรุงสุขภาพ อาจจะนำมาคั้นทำเป็นเครื่องดื่มหรือหมักผม เขียนคิ้ว เลือกใช้ดอกอัญชันบ้าง รับรองไม่มีผิดหวังอย่างแน่นอน แต่อย่างไรแล้วก็ตามอย่าลืมใช้โดยคำนึงถึงความเหมาะสม เพราะบางคนอาจจะเกิดอาการแพ้ได้นั่นเอง หวังว่าบทความนี้คงให้ความรู้แก่หลาย ๆ คน ไม่มากก็น้อย 👉 สามารถติดตาม บทความอื่นๆ ได้ที่นี่