เทคนิค นึ่งข้าวเหนียว ให้สุก เหนียวนุ่ม ข้ามวัน ข้ามคืน
นึ่งข้าวเหนียว ยังไงให้อร่อย เก็บได้นานข้ามวัน เพราะ ข้าวเหนียว กินแล้วอิ่มไว อิ่มนาน นึ่งครั้งหนึ่ง อาจจะกินได้ไม่ทั้งหมด ครั้นจะเททิ้งก็เสียดาย มาหาเทคนิคที่ทำให้ ข้าวเหนียว ไม่เสียง่าย เก็บได้หลายวันดีกว่า เผื่อเปิดร้านอาหาร ก็จะได้นำวิธีนี้ไปปรับใช้ได้ด้วย
หากอยากรู้ว่า เทคนิค นึ่งข้าวเหนียว ให้เก็บได้นานมีวิธีอะไรบ้าง SGE ขออาสาพาทุกคนมาดู รับรองว่า ทำตามแล้ว ใช้ได้ผลแน่นอนข้าวเหนียว ใช้พันธุ์ไหนดี
ก่อนอื่นมาดูกันก่อนว่า ควรใช้ ข้าวเหนียว พันธุ์ไหน ซึ่งที่จริงแล้ว ข้าวเหนียว ในบ้านเราก็มีหลายพันธุ์มาก ๆ แต่ที่นิยมนำมารับประทาน และ นึ่งข้าวเหนียว มีอยู่ 6 สายพันธุ์ ด้วยกันคือ
1. ข้าวเหนียวพันธุ์เขี้ยวงู
ที่ได้ชื่อว่า พันธุ์เขี้ยวงู ก็เพราะมีลักษณะเด่นคือ มีเมล็ดเรียวเล็ก คล้ายเขี้ยวงู นั่นเอง โดยเมื่อหุงแล้วจะขึ้นหม้อ สีขาวมันวาว เกาะตัวเหนียวแต่ไม่เละ ให้รสสัมผัสนุ่มและหอม จึงเป็นพันธุ์ที่เหมาะกับการนำไปทำขนมหวาน จำพวก ข้าวเหนียวมูน ข้าวหลาม ได้รับการขนานนามให้เป็น “ราชาของข้าวเหนียว”
2. ข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง
มีต้นกำเนิดจากสถานีทดลองสันป่าตอง จ. เชียงใหม่ เป็นข้าวเหนียวนาปี ปลูกง่าย ให้ผลผลิตดี ต้านทานโรคและแมลงได้ดี สามารถปลูกได้ในสภาพดินเค็ม จึงปลูกได้ทุกพื้นที่ สำหรับเมล็ดข้าวเมื่อหุงแล้วจะมีความเหนียวนุ่ม เมล็ดสวย อร่อย
3. ข้าวเล้าแตก
สำหรับข้าวพันธุ์เล้าแตกเป็นเป็นข้าวเหนียวประจำถิ่นอีสาน มีกำเนิดมาจาก จ. นครพนม ที่ชื่อพันธุ์ เล้าแตก มาจากตำนานที่ว่า มีผู้เฒ่าคนหนึ่งขยันปลูกข้าวมาก เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวได้ก็นำไปเก็บในยุ้งฉาง หรือเล้าข้าว เก็บมากจนแน่น จนเล้าแตกในที่สุด ลักษณะของเมล็ดข้าวใหญ่ป้อม รวงยาว เมื่อนำไปหุงจะได้ข้าวเหนียวที่เหนียวนุ่ม มีกลิ่นหอม รสหวานน้อย นิยมไปกลั่นทำเป็นเหล้า
4. ข้าวเหนียวแดงใหญ่
เป็นอีกหนึ่งพันธุ์ข้าวเหนียวที่เหมาะกับการทำขนม เพราะขึ้นชื่อเรื่องความหอม นุ่ม อร่อย นิยมปลูกมากในภาคอีสานและภาคเหนือ เป็นพันธุ์ที่ปลูกง่าย ให้ผลผลิตสูง อีกทั้งรวงใหญ่ และต้านทานโรคได้ดี
5. ข้าวก่ำล้านนา
เป็นข้าวที่ถูกปลูกในจังหวัดทางภาคเหนือ (ล้านนา) ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ แม่ฮ่องสอน ลักษณะเป็นข้าวเหนียวสีดำ มีสารอาหารและโภชนาการมาก รับประทานแล้วจะช่วยต้านทานอนุมูลอิสระ และ ยับยั้งโรคมะเร็ง จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น สุดยอดอาหาร อย่างหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีกลิ่นหอม สามารถดึงดูดแมลงได้ดี จึงนิยมปลูกแซมกับข้าวชนิดอื่น ๆ เพื่อรักษา ป้องกันแมลงไม่ให้ไปตอนข้าวขาวในนาข้าวอีกด้วย
6. ข้าวไร่ลืมผัวเพชรบูรณ์
แม้จะมีชื่อจังหวัดเพชรบูรณ์ต่อท้าย แต่จริง ๆ แล้ว ข้าวไร่ลืมผัวเพชรบูรณ์ เป็นข้าวพื้นเมืองของชาวไทยภูเขา (เผ่าม้ง) ในเขตทางภาคเหนือ อ.พบพระ จ.ตาก ลักษณะเด่นคือ มีสีดำคล้ายกับข้าวก่ำ เหนียวนุ่ม หอม อร่อย เคี้ยวแล้วจะมีความหนึบอยู่ในปาก ที่ได้ชื่อว่าข้าวไร่ลืมผัว มาจากเรื่องเล่าว่า ด้วยความอร่อยของข้าวเหนียวชนิดนี้ ทำให้ภรรยาที่หุงข้าวรอสามี ทานก่อนจนหมด จึงถูกเรียกต่อ ๆ กันมาว่า “ข้าวไร่ลืมผัว”
เทคนิค นึ่งข้าวเหนียว
เทคนิคการ นึ่งข้าวเหนียว ปกติแล้ววิธีการดั้งเดิมของชาวบ้านแบบท้องถิ่น จะใช้ หวด ในการนึ่ง แต่ถ้าเราหามาใช้ไม่ได้ก็สามารถใช้ หม้อหุงข้าว หรือ ซึ้ง แทนก็ได้ สำหรับวิธีนี้ ซึ่งมาจาก คุณ พี่ญา คนรุม จะใช้ ซึ้ง เป็นอุปกรณ์ในการทำ และ ข้าวเหนียวที่ใช้ ต้องเป็น ข้าวเหนียวเก่า เท่านั้น ไม่ใช่ ข้าวเหนียวใหม่
วิธีทำ
- นำข้าวเหนียวเก่าใส่หม้อตามปริมาณที่ต้องการ
- ต้มน้ำร้อนให้เดือด แล้วเทน้ำร้อนใส่ในหม้อข้าว ให้พอท่วมข้าวเหนียว
- คนข้าวเหนียว ให้น้ำร้อนไปทั่วถึงทั้งหม้อ แล้วแช่ทิ้งไว้ 10 นาที
- เติมน้ำอุณหภูมิปกติลงไป (น้ำก๊อกหรือน้ำอุ่น) จนเต็มหม้อ
- ทำการคนและบี้ไม่ให้ข้าวเหนียวจับตัวเป็นก้อน เทน้ำออก แล้วคนและบี้ใหม่ ล้างน้ำอย่างนี้อีก 4 รอบ
- หาตะกร้าที่มีรูถี่ ๆ เล็ก ๆ มาใส่ข้าวเหนียว พักทิ้งไว้ 30 นาที
- นำซึ้งมานึ่งข้าวเหนียว รองด้วยผ้าขาวบาง เทข้าวเหนียวลงไป แล้วเกลี่ยให้มีช่องว่างตรงกลาง ปิดฝาซึ้งเปิดไฟแรง นึ่งไว้ 20 นาที
- นำข้าวเหนียวออกมาผึ่งลมให้ไอความร้อนคายออก แล้วเก็บใส่กระติ๊บหรืออุปกรณ์อื่น ๆ เป็นอันเสร็จ
ดู เทคนิค นึ่งข้าวเหนียว เพิ่มเติมคลิก
วิธีการเก็บข้าวเหนียวให้ใช้ได้นาน
จะเก็บข้าวเหนียว ให้กินได้นาน ข้ามวัน ข้ามคืน หลักการก็คือ เก็บข้าวเหนียวให้ห่างจากความชื้นมากที่สุด ซึ่งจริง ๆ แล้ว ด้วยวิธีการการเก็บด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน อย่างการเก็บใน กระติ๊บ ก็ถือว่าช่วยให้เก็บได้นานหลายวันแล้ว แต่ถ้าไม่สามารถหากระติ๊บได้ เราก็มีวิธีแบบคนเมืองมาฝาก โดยมีวิธีการ ดังนี้
แช่ตู้เย็น
จะแช่ข้าวเหนียวในตู้เย็น ต้องทำข้าวเหนียวให้เย็นลงก่อน โดยกระจายข้าวเหนียวลงบนถาดอบหรือจานที่มีพื้นผิวเรียบๆ เพื่อทำให้มันเย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว จากนั้น ให้นำภาชนะที่ปิดผนึกได้ เช่น หม้อ กล่องเก็บอาหาร หรือ ถุง Ziplock มาใส่ข้าวเหนียว หลังจากใส่เสร็จ ให้ตรวจสอบอีกทีว่า ไล่อากาศให้ออกจากถุงหรือภาชนะทั้งหมดหรือยัง แล้วจึงนำเข้าตู้เย็น ทั้งนี้ ไม่ควรเก็บข้าวเหนียวไว้ในตู้เย็นเกิน 4 วัน เพราะถ้าเกินกว่านั้น อาจจะเสียแล้ว
เก็บตู้แช่แข็ง
สำหรับการเก็บข้าวเหนียวไว้ในตู้แช่แข็งนั้น ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 1 เดือน โดยวิธีทำก็เช่นเดียวกับการเก็บข้าวเหนียวคือ ทำข้าวเหนียวให้เย็น แล้วนำใส่ภาชนะที่ปิดผนึก สำหรับวิธีการเก็บในช่องแช่แข็ง คือ ให้วางข้าวเหนียวบรรจุถุงหรือภาชนะในที่แบนราบ เพื่อไม่ให้ข้าวเหนียว เกาะน้ำแข็งมากจนเกินไป เวลาทำละลายจะได้ทำได้อย่างรวดเร็ว
30 มกราคม 2024
โดย
Pres
ขอบคุณมากค่ะ