กระชาย สรรพคุณมากมาย ต้านโควิดได้หรือไม่?
เป็นกระแสที่มาแรงมากในตอนนี้ สมุนไพรต้านโรค ไว้กินสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง และหนึ่งในสมุนไพรไทยนั้นคือ “กระชาย” นั้นเอง บอกเลยว่า สรรพคุณของกระชาย มีเยอะแยะมากมายจนจำแทบไม่หมด สามารถนำมาปรุงเป็นอาหาร เพิ่มความจัดจ้าน ร้อนแรงให้อาหารไทยหลากหลายชนิด แถมยังแฝงไปด้วยประโยชน์มากมาย ทั้งใช้เป็นยาภายในและภายนอก นำมาทา มากิน มาดื่ม มาดม ได้ทั้งนั้น
หลายคนคงอยากรู้แล้วว่า ประโยชน์ของกระชาย มีอะไรบ้าง? และนำไปทำอะไรได้บ้าง? ถ้าอยากรู้ ตาม SGE มาดูกันเลย
กระชาย คืออะไร?
กระชาย มี 3 ชนิด คือ กระชายเหลือง หรือกระชายขาว กระชายดำ และกระชายแดง มีชื่อสามัญว่า Fingerroot, Chinese ginger, Chinese keys, Galingale ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Boesenbergia rotunda (L.) Mansf. จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE) นอกจากนี้ สมุนไพรกระชาย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ว่านพระอาทิตย์, กระชายดำ กะแอน ขิงทราย, ละแอน และขิงจีน เป็นต้น
ลักษณะของ กระชาย
- มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- จัดเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าสั้น แตกหน่อได้ และมีรากอวบ มีความยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร
- ผิวมีสีน้ำตาลอ่อน ส่วนเนื้อใน มีสีเหลือง และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว
- กระชายมักพบขึ้นในป่าดิบร้อนชื้น
- ใบกระชาย เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ ลักษณะเป็นรูปรี ใบยาวประมาณ 12-50 เซนติเมตร
- ดอกกระชาย ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด โดยจะออกที่ยอดระหว่างกาบใบคู่ในสุด มีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร
- ในส่วนของผลแก่จะแตกเป็น 3 เสี่ยง มีเมล็ดค่อนข้างใหญ่
สรรพคุณ และ ประโยชน์ของกระชาย
สมุนไพรกระชาย มีสรรพคุณทางยามากมาย จนได้ชื่อในวงการแพทย์แผนไทยว่าเป็น “โสมไทย”
- บำรุงกำลัง และเสริมสมรรถภาพทางเพศ บำบัดโรคนกเขาไม่ขัน หรือโรคอีด
- ช่วยบำรุงร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงธาตุในร่างกาย
- กระชายเหลือง มีสรรพคุณช่วยแก้ลมวิงเวียน แน่นหน้าอก
- ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงกระดูก ช่วยทำให้กระดูกไม่เปราะบาง
- ช่วยบำรุงสมอง เพราะช่วยทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองส่วนกลางได้ดีมากขึ้น
- ช่วยปรับสมดุลของความดันโลหิตในร่างกาย ช่วยลดความดันโลหิต แต่เมื่อความดันโลหิตต่ำ ก็จะช่วยทำให้ความดันเพิ่มขึ้นจนเป็นปกติ
กระชายแต่ละชนิด แตกต่างกันอย่างไร?
กระชายเหลือง หรือกระชายขาว
กระชายเหลืองหรือกระชายขาว สมุนไพรไทยที่คุ้นเคยกันดี เนื่องจากเป็นส่วนประกอบของอาหารไทยหลากหลายเมนู มีรสชาติเผ็ดร้อน มีกลิ่นของน้ำมันหอมระเหย และยังเป็นแหล่งของวิตามินและแร่ธาตุ อีกหลายชนิด ประโยชน์ของกระชายขาว มีดังนี้
- บำรุงเส้นผม ช่วยให้ผมกลับมาดกดำ แข็งแรง และดูหนาขึ้นได้ และยังแก้ปัญหาผมร่วงได้ดี
- บำรุงสมองแก้วิงเวียน กระชายมีสรรพคุณ ช่วยกระตุ้นให้เลือดเลี้ยงสมองส่วนกลางได้มากขึ้น
- บำรุงกำลัง ให้ความสดชื่น เนื่องจากความซ่าและเผ็ดร้อนของการะชายขาว สามารถนำมาปั่นเป็นเครื่องดื่มเพิ่มความสดชื่น และบำรุงกำบังจากสารอาหารและพลังงานได้ด้วย
- ต้านอักเสบ ทานกระชายเป็นประจำ ให้ผลใกล้เคียงกับการทานยาแอสไพริน ที่ช่วยลดการอักเสบเรื้อร้งในร่างกายได้
- เสริมสมรรถภาพทางเพศ นอกจากกระตุ้นให้เลือดไปเลี้ยงสมองส่วนกลางมากขึ้นแล้ว ยังกระตุ้นการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงที่อวัยวะเพศ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ช่วยให้จำนวนอสุจิหนาแน่นขึ้น
- แก้ริดสีดวง แก้บิด โดยการใช้เหง้ามาต้มรับประทานน้ำ
❝ สารในกระชายขาว สามารถทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสต้นเหตุของโควิด-19 ได้ ❞
นอกจากนี้ยังมีการวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือกันของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ได้ศึกษาวิจัย “กระชายขาว” พบว่า สารสกัดจากกระชายขาว ซึ่งมีสารสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ Pandulatin A และ Pinostrobin สารทั้ง 2 ตัวในกระชายขาว สามารถทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสต้นเหตุของโควิด-19 ได้ ซึ่งสารทั้ง 2 ตัวนี้ สามารถลดจำนวนเซลล์ที่ติดเชื้อจาก 100% ให้ลดลงจนเหลือ 0% นอกจากนี้ ยังสามารถยับยั้งเซลล์ในการผลิตไวรัสได้ถึง 100% อีกด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังอยู่ในช่วงการทดสอบ เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพกับคนใช้มากที่สุด
โทษของกระชายขาว
หากมีการรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป กระชายจะทำให้เลือดหนืด อาจส่งผลให้รู้สึกหมดแรง และป่วยเป็นโรคอื่น ๆ ตามมาได้
กระชายดำ
กระชายดำ หรือที่ถูกเรียกกันว่า “โสมกระชาย” หรือ “โสมไทย” ขึ้นชื่อด้านเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง เพิ่มสมรรถภาพเพศชาย อีกทั้งอาจรักษาป้องกันโรคบางชนิด ประโยชน์ของกระชายดำ มีดังนี้
- เสริมสมรรถภาพทางเพศชาย จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า สารสกัดที่ได้จากกระชายดำ ส่งผลให้พฤติกรรมทางเพศของสัตว์ทดลองดีขึ้น ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว เป็นผลให้มีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะเพศได้มากขึ้น การทำงานของอวัยวะเพศเป็นไปได้ดีขึ้น
- ปรับสมดุลฮอร์โมนเพศหญิง กระชายดำยังมีสรรพคุณช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนเพศหญิง ช่วยให้ระบบหมุนเวียนโลหิตดีขึ้น ประจำเดือนมาปกติ และยังช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือน
- บำรุงระบบไหลเวียนเลือด บำรุงหลอดเลือด ป้องกันโรคร้ายจากการใช้ชีวิตประจำวัน กระชายดำเป็นสมุนไพรที่ประกอบด้วยสารพฤกษเคมี ที่มีฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสารที่อาจทำลายเซลล์ และทำให้เกิดการเจ็บป่วยต่าง ๆ ตามมาได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีสมมติฐานว่ากระชายดำ อาจช่วยป้องกันโรคบางอย่างได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งศึกษาคุณสมบัติของกระชายดำในห้องปฏิบัติการ พบว่ากระชายดำอาจมีฤทธิ์สลายลิ่มเลือด ทำให้เลือดไม่หนืดข้น และไหลเวียนไปตามหลอดเลือดได้ดีขึ้น
- รักษาภาวะต่อมลูกหมากโต และระบบทางเดินปัสสาวะขัด หรือเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ จากการศึกษาเปรียบเทียบในสัตว์ทดลอง แต่การทดลองดังกล่าวเป็นเพียงการทดลองในสัตว์ ไม่ได้ทดลองในผู้ป่วยภาวะต่อมลูกหมากโตโดยตรง ดังนั้น จึงควรศึกษาด้านนี้เพิ่มเติมให้ชัดเจน ทั้งด้านประสิทธิภาพ และด้านความปลอดภัยของกระชายดำ ก่อนจะนำผลที่ได้มาปรับใช้ในทางการแพทย์ต่อไป
- ช่วยกระตุ้นระบบประสาท บรรเทาอาการปวดเมื่อย ทำให้ร่างกายกระชุ่มกระชวย ช่วยในการนอนหลับ แก้อาการนอนไม่ค่อยหลับในตอนกลางคืน ช่วยขับพิษในร่างกายรักษาอาการโรคภูมิแพ้
โทษของกระชายดำ
การบริโภคกระชายดำเป็นอาหารในปริมาณและวิธีที่เหมาะสม อาจไม่ทำให้เกิดอันตรายสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภคยา หรือสารสกัดจากกระชายดำ เพราะอาจเกิดปฏิกิริยากับยารักษาบางชนิด และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภคได้
กระชายแดง
กระชายแดง ลักษณะทั่วไปเหมือนกันกับกระชายเหลือง แต่จะแตกต่างกันตรงเหง้าและเนื้อด้านในของเหง้า โดยเนื้อจะมีสีเหลืองแกมส้ม ส่วนขนาดของลำต้น ขนาดใบ เหง้าหรือราก จะเล็กกว่ากระชายเหลือง ส่วนคุณประโยชน์และสรรคุณของกระชายแดง คือ ช่วยบำรุงกำลังทำให้กระชุ่มกระชวย บำรุงระบบประสาท บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อแก้ลมจุกเสียด ใช้เป็นยายาอายุวัฒนะ ช่วยแก้โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ด้วยการใช้หัวตากแห้ง นำมาบดละเอียดละลายผสมกับน้ำผึ้ง แล้วปั้นเป็นยาลูกกลอนกินประจำก่อนอาหารเช้า-เย็น
โทษของกระชายแดง
การรับประทานในปริมาณที่เกินไปและรับประทานทุกวัน อาจมีผลเสียกับระบบการไหลเวียนของเลือด ดั้งนั้น ควรรับประทานให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม และหากมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
วิธีทำน้ำกระชาย
เห็นประโยชน์มากมายของกระชายกันมาแล้ว ลองมาทำ น้ำกระชาย กันดูไหม
วัตถุดิบ
- กระชายสด 200 กรัม
- ขิงสด 50 กรัม
- น้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม
- น้ำสะอาด 1 ลิตร
- ใบหูเสือ 10 ใบ
- มะนาว, น้ำผึ้ง, เกลือป่น
วิธีทำ
- ล้างกระชายและขิงให้สะอาด แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ จากนั้น นำไปปั่นให้ละเอียด
- ต้มน้ำให้เดือด ใส่กระชายและขิงที่ปั่นละเอียดแล้ว ต้มเคี่ยวนาน 15 นาที จากนั้นเติมน้ำตาลทรายแดงลงไป คนให้ละลาย ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น
- เตรียมน้ำคั้นหูเสือ โดยนำใบหูเสือ 10 ใบล้างน้ำให้สะอาด แล้วหั่นพอหยาบ ปั่นกับน้ำสะอาด 200 มิลลิลิตร คั้นเอาแต่น้ำ
- ตวงไซรัป กระชาย และขิง ใส่แก้ว 40 มิลลิลิตร ผสมน้ำผึ้ง มะนาว เกลือตามชอบ
- เติมน้ำแข็งให้เต็มแก้ว เติมโซดา 80 มิลลิลิตร เติมน้ำคั้นใบหูเสือ 20 มิลลิลิตร คนส่วนผสมให้เข้ากัน พร้อมเสิร์ฟ (ดื่มเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรวันละ 1-2 ครั้ง)
คุณค่าในน้ำกระชาย
เมื่อกินน้ำกระชายเข้าไปแล้ว ในกระเพาะเรามีน้ำ มีไขมันและจุลินทรีย์ 2 กลุ่มจะแยกกันทำหน้าที่ของมันเอง ตัวจุลินทรีย์ในกระเพาะจะทำให้เกิดแอลกอฮอล์ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่สกัดตัวยากลุ่มที่ละลายน้ำออกมาจากกระชายได้เอง ส่วนกลุ่มที่ละลายในไขมันก็ทำงานของเขาเอง คนปกติดื่มกระชาย เพื่อบำรุงเอาไว้ ช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคไต ผู้ชายป้องกันไม่ให้ต่อมลูกหมากโต ผู้หญิง ป้องกันไม่ให้เป็นมดลูกโต และถ้าให้เด็กดื่มกินเป็นประจำ จะช่วยสร้างกระดูกให้มีโครงสร้างที่แข็งแรง
ข้อห้าม ข้อควรระวัง
- ไม่ควรกินกระชายต่อเนื่องเป็นเวลานาน เนื่องจากกระชายมีฤทธิ์ร้อน อาจส่งผลให้เกิดอาการร้อนใน หรือเป็นแผลในปากตามมา
- จากการศึกษาพบว่า การกินกระชายมาก ๆ มีผลทำให้เกิดปัญหาเหงือกร่น และเกิดภาวะใจสั่นได้
จะเห็นได้ว่ากระชายนั้น มีประโยชน์และสรรพคุณมากมาย ดังนั้น ก่อนจะนำมารับประทานควรศึกษาให้ดีก่อน เพื่อความปลอดภัยและควรเลือกรับประทานอย่างเหมาะสม ตามคำแนะนำด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก : สุขภาพ.cc