รู้จัก “กะหล่ำปลี” สรรพคุณและประโยชน์ พร้อมวิธีปลูกแบบง่ายๆที่บ้าน
พืชผักสวนครัวอีกหนึ่งชนิด ที่ไม่มีใครไม่รู้จัก นั่นคือ กะหล่ำปลี (Cabbage) นำไปทำเมนูไหนก็อร่อย ทานได้ทั้งแบบสด ๆ และแบบปรุงสุกในเมนูอาหารแทบทุกเมนู แถมยังมีประโยชน์ และสรรพคุณมากมาย เช่น ไฟเบอร์ วิตามินต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายไม่น้อยเลยทีเดียว
วันนี้ SGE จะพาไปรู้จักกับ กะหล่ำปลี สรรคุณต่าง ๆ และ วิธีปลูกกะหล่ำปลี แบบง่าย ๆ มาฝากกัน ตามไปดู
กะหล่ำปลี (Cabbage)
กะหล่ำปลีนั้น เป็นพืชผักสวนครัว ที่นิยมทานมาก ๆ ในปัจจุบัน เพราะมีเนื้อกรอบ และหวาน สามารถทำไปทำอาหารได้หลายเมนู เช่น แกงจืด หรือต้มจืดกะหล่ำปลี และผัดกะหล่ำปลี เป็นต้น แถมยังนิยมรับประทานสด หรือลวกสุกคู่กับกับข้าวเมนูอื่น เช่น น้ำพริก ลาบ และไส้กรอกอีสาน เป็นต้น
ในประเทศไทย มีการนำกะหล่ำเข้ามาปลูก และรู้จักกันในราวก่อนปี พ.ศ. 2470 เล็กน้อย โดยเริ่มแรกมีการปลูกในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสาน และปลูกมากเฉพาะในฤดูหนาว แต่ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2505 ได้เริ่มปลูกกันในฤดูอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกะหล่ำปลี
- ราก และลำต้น เป็นพืชล้มลุกอายุมากกว่า 1 ปี ลำต้นกลม สั้น สีขาว เป็นแก่นตรงกลาง ถูกห่อหุ้มด้วยแผ่นใบ ส่วนรากกะหล่ำปลี ประกอบด้วย รากแก้ว และรากฝอย
- ใบ ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับซ้อนกันแน่นรอบลำต้น เรียกว่า หัวกะหล่ำปลี มีลักษณะกลม และแบนเล็กน้อย โดยใบจะห่อหุ้มซ้อนกันแน่น ใบจะแตกออกด้านข้างลำต้น เรียงวนรอบลำต้น ผิวใบมีลักษณะเรียบ แต่เป็นลูกคลื่น ขอบใบย่น ใบโค้งงอเข้าตรงกลาง หุ้มซ้อนกันแน่น กะหล่ำปลี 1 ต้น จะมีใบห่อหุ้มประมาณ 20-40 ใบ หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับขนาดหัว
- ดอก ออกดอกเป็นช่อ แทงออกตรงกลางหัว มีก้านช่อดอกยาว ปลายก้านช่อดอกแตกแขนงออกเป็นช่อดอกย่อย เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ที่มีเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมียในดอกเดียวกัน
- ผล และเมล็ด มีลักษณะเป็นฝักเรียวยาว แบบตะเข็บ 2 ข้าง ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่มีสีดำ และปริแตกเมื่อฝักแก่เต็มที่ ภายในฝักมีเมล็ดจำนวนมาก เรียงกันเป็นแถวเดียว เมล็ดมีลักษณะกลม ขนาดเล็ก ประมาณ 1.6 มิลลิเมตร เปลือกเมล็ดมีสีดำ หรือน้ำตาลอมดำ ผิวเมล็ดเรียบ
สายพันธุ์ของกะหล่ำปลี
กำหล่ำปลี สามารถแยกได้เป็น 3 สายพันธุ์ คือ
- กะหล่ำปลีขาว (Common Cabbage) นิยมปลูกทั่วไปเพื่อทานใบ หัวกลม แบบราบ ใบสีเขียว หรือสีเขียวอ่อน ใบด้านในมีสีขาว ใบกรอบ รสหวานเล็กน้อย เช่น พันธุ์โคเปนเฮเกนมาร์เก็ต และพันธุ์โกลเดน เอเคอร์
- กะหล่ำปลีแดง หรือกะหล่ำปลีสีม่วง (Red Cabbage) ใบเป็นสีแดงทับทิม ขึ้นดีในที่อากาศหนาวเย็น นิยมบริโภคมาก ๆ ในแถบยุโรป มีรสชาติขมกว่ากะหล่ำปลีขาว
- กะหล่ำปลีใบย่น (Savoy Cabbage) เป็นอีกสายพันธุ์ที่นิยมปลูกทั่วไป ผิวใบหยิกย่น เติบโตได้ดีในอากาศหนาวเย็น มีรสชาติหวานกรอบ มีกลิ่นเฉพาะตัว
ประโยชน์ของกะหล่ำปลี
ประโยชน์ด้านสุขภาพ
- ช่วยลดน้ำหนัก และคอเลสเตอรอลในร่างกาย
- มีแคลเซียม และฟอสฟอรัส บำรุงกระดูก และฟัน
- ช่วยย่อยอาหาร บรรเทาอาการท้องผูก แก้อาการจุกเสียด แน่นท้อง
- ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันหวัด
- ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการโรคกระเพาะอักเสบ
- กะหล่ำปลีมีสารซัลเฟอร์ ช่วยระงับประสาท ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด ทำให้นอนหลับสบายขึ้น
- ช่วยบำรุงรากผม สร้างโปรตีนเคราติน ทำให้ผมเงางามมีน้ำหนัก สุขภาพดี ชะลอการเกิผมหงอกได้
ประโยชน์ด้านอื่น ๆ
- นิยมใช้ใบประกอบอาหาร เช่น เมนูต้ม เมนูผัด เมนูแกง เป็นต้น
- ใบกะหล่ำปลี สามารถทานสด ๆ ได้ เช่น เมนูลาบ ผักสดจิ้มน้ำพริก เป็นต้น
- กะหล่ำปลีสีแดง มักจะใช้สกัดเป็นสีผสมอาหาร สีย้อม เป็นต้น
- ลำต้น และใบ สามารถนำไปเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู วัว เป็นต้น
- เศษกะหล่ำปลี นิยมนำไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพ
ข้อควรระวังในการทานกะหล่ำปลี
กะหล่ำปลีมี กอยโตรเจน ที่เข้าไปยับยั้งการดูดซึม ไอโอดีน ที่ทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนได้น้องลงไปกว่าเดิม ไม่เหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคไฮโปไทรอยด์ นอกจากนี้ กะหล่ำปลียังอาจมีสารตกค้างจากยาฆ่าแมลงมากพอสมควร ก่อนทานควรแกะออกมาแช่น้ำ และล้างเป็นใบ ๆ ก่อนทานด้วย
หากบริโภคเข้าไปในปริมาณมาก ๆ อาจจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มึนงง หายใจลำบาก คลื่นไส้อาเจียน
วิธีปลูกกะหล่ำปลี
กะหล่ำปลีนั้น สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ และจะเจริญเติบโตในดินที่ร่วนซุย หน้าดินลึก และระบายน้ำได้ดี เป็นพื้นที่ชอบอากาศเย็นด้วย จึงนิยมปลูกในช่วงเดือน ตุลาคม – มกราคม ของทุกปี มีขั้นตอนดังนี้
- เลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ สำหรับเมืองไทย ปลูกพันธุ์เบา จะได้ผลดีที่สุด เพราะเป็นพันธุ์ที่ไม่ต้องการอากาศหนาวมากนัก มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ปลูกได้ผลดี
- เตรียมดินเพาะกล้า ขุดไถลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร กว้าง 1 เมตร ความยาวตามต้องการ
- ตากดินไว้ ประมาณ 5-7 วัน จากนั้น ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวได้ดี อัตรา 2,000 กิโลกรัมต่อไร่ และใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ คลุกเคล้าให้เข้ากับดินและย่อยหน้าดินให้ละเอียด หากดินเป็นกรด ควรใส่ปูนขาวลงไป เพื่อปรับสภาพดินให้มีความเหมาะสมต่อการปลูกกะหล่ำปลีด้วย
- การเพาะกล้า หลังจากเตรียมดินแล้ว หว่านเมล็ดกะหล่ำปลีให้กระจายทั่วแปลง หรือทำเป็นแถวขุดร่องลึก ประมาณ 1 เซนติเมตร ห่างกันแถวละ 15 เซนติเมตร
- โรยเมล็ดลงในร่องหว่าน กลบเมล็ดด้วยปุ๋ยหมัก หรือดินละเอียด รดน้ำให้ชุ่ม คลุมด้วยฟางแห้งบาง ๆ
- หลังจากต้นกล้างอกได้ 15-20 วัน ให้เลือกถอนต้นที่ไม่สมบูรณ์ออก และทิ้งระยะห่างต้นละ 10 เซนติเมตร รอจนกระทั่งอายุประมาณ 25-30 วัน จึงย้ายไปปลูก
- การย้ายปลูก ควรย้ายในช่วงบ่าย-เย็น โดยให้ดินติดรากมาด้วย ระวังไม่ให้รากขาด รีบนำลงปลูก กดดินรอบโคนให้แน่นทันที รดน้ำให้ชุ่ม ทำร่มบังแดดปิดบังแดดไว้ ประมาณ 3- 4 วัน แล้วนำออก
- การใช้ปุ๋ย เมื่อปลูกได้ 15 วัน ใส่ปุ๋ยจำพวกไนโตรเจน เช่น ยูเรีย 46% (46-0-0) หรือแอมโมเนียมซัลเฟต 21% (21-0-0) ให้ต้นละ 1 ช้อนชา
- เมื่อปลูกได้ 30 วัน ทำการพรวนดินรอบ ๆ โคนต้น ใส่ปุ๋ยสูตร 12-8-8 ต้นละ 2 ช้อนชา หรือใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ต้นละ 1 กำมือ กลบดิน
- รดน้ำอย่างสม่ำเสมอ วันละ 1-2 ครั้ง ในระยะแรก ให้รดน้ำด้วยการฉีดเป็นฝอยในช่วงเช้าและเย็นทุกวัน
- เมื่อหัวเริ่มเข้าปลี ให้ลดปริมาณการรดน้ำลง เพื่อป้องกันไม่ให้หัวปลีแตกและไม่ห่อหัว
- การเก็บเกี่ยว เมื่อกะหล่ำปลีอายุประมาณ 50-60 วัน ใช้มีดตัดบริเวณส่วนโคน โดยปกติกะหล่ำปลี จะมีน้ำหนักประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อต้น การเก็บในระยะที่เหมาะสมจะได้หัวที่สมบูรณ์ หากเก็บขณะอ่อนเกินไปหัวจะไม่แน่น จะเสียขนาดและน้ำหนัก หรือถ้าทิ้งไว้นานเกินไปหัวจะหลวม ทำให้คุณภาพของหัวกะหล่ำปลีลดลง เสียรสชาติ ไม่ได้ราคา ดังนั้น เวลาเก็บเกี่ยวควรสังเกตหัวที่แน่นจะดีที่สุดนั่นเอง
แนะนำเมนูกะหล่ำปลี
กะหล่ำปลี ทำได้หลากหลายเมนู ตามไปจดสูตร แล้วไปเข้าครัวพร้อม ๆ กันเลย
กะหล่ำปลีผัดน้ำปลา
ส่วนผสม
- กะหล่ำปลี 500 กรัม
- กระเทียม 20 กรัม
- กุ้งแห้ง 20 กรัม
- น้ำปลา 1+1/3 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาล 1/4 ช้อนชา
- น้ำเปล่า 3 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
- ล้างกะหล่ำปลีให้สะอาด แกะใบกะหล่ำปลีออกเป็นแผ่น ๆ แล้วล้างน้ำให้สะอาดอีก 1 รอบ
- ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันลงไป แล้วเปิดไฟแรง วอร์มให้น้ำมันร้อนได้ที่ ใส่กะหล่ำปลีลงไป ผัดให้โดนน้ำมันทั่ว ๆ พอผักสลดลง ตักขั้นพักให้สะเด็ดน้ำมัน
- เทน้ำมันในกระทะออก ให้เหลือแค่เล็กน้อย ใส่กระเทียมลงไป เจียวให้กระเทียมมีสีเหลืองทอง ตักขึ้น เตรียมไว้
- ใส่กุ้งแห้งลงไป เจียวให้กุ้งแห้งสุกกรอบ เสร็จแล้วตักขึ้น เตรียมไว้
- เทน้ำมันออกจากกระทะ ตั้งกระทะใหม่ ใส่น้ำปลาลงไปให้ทั่ว ให้เคลือบกระทะ จากนั้น ใส่กะหล่ำปลี กระเทียม และกุ้งแห้ง ลงไป แล้วผัดคลุกเคล้าให้เข้ากันกับน้ำปลา ปิดเตา
- ตักใส่จาน เสิร์ฟพร้อมข้าวสวยร้อน ๆ พร้อมทาน
ต้มกะหล่ำปลีซี่โครงหมู
ส่วนผสม
- กะหล่ำปลี 4 หัว
- ซี่โครงหมู 500 กรัม
- กระเทียม 10 กลีบ
- พริกไทยดำ 1 ช้อนโต๊ะ
- รากผักชี 1 ราก
- ซอสปรุงรส 5 ช้อนโต๊ะ
- ซีอิ๊วขาว 4 ช้อนโต๊ะ
- ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลปี๊บ 1 ช้อนโต๊ะ
- เกลือ 1 ช้อนชา
- น้ำเปล่า
วิธีทำ
- ล้างกะหล่ำปลีให้สะอาด หั่นออกเป็น 4 ส่วน พักให้สะเด็ดน้ำ
- ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันลงไป วอร์มให้น้ำมันร้อนได้ที่ ใส่กะหล่ำปลีลงไปทอดใจนเปลี่ยนสี และนิ่มลง ตักขึ้น นำไปลวกในน้ำร้อน เพื่อล้างน้ำมันออก แล้วพักให้สะเด็ดน้ำมัน เตรียมไว้
- ใส่ซี่โครงหมูลงไปทอดต่อ ทอดแค่ให้พอสุก ตักขึ้น นำไปลวกในน้ำร้อน เพื่อล้างน้ำมันออก พักให้สะเด็ดน้ำมัน
- ตั้งหม้อ ใส่น้ำเปล่าลงไป ต้มน้ำให้เดือด ใส่รากผักชี กระเทียม พริกไทย ลงไป
- จากนั้นใส่กะหล่ำปลี และซี่โครงหมู ปรุงรสด้วย ซอสปรุงรส ซีอิ๊วขาว ซอสหอยนางรม น้ำตาลปี๊บ เกลือ ต้มจนกะหล่ำปลี และซี่โครงหมูนิ่มลง ประมาณ 30 นาทีขึ้นไป
- เมื่อครบเวลา ปิดเตา ตักใส่ชาม เสิร์ฟพร้อมข้าวสวยร้อน ๆ พร้อมทาน
ไข่เจียวกะหล่ำปลี
ส่วนผสม
- กะหล่ำปลีหัวเล็ก 1 หัว
- ไข่ไก่ 4 ฟอง
- แป้งข้าวโพด 1 ช้อนโต๊ะ
- เกลือ 1 ช้อนชา
- พริกไทย 1 ช้อนชา
- งาขาว 1 ช้อนชา
วิธีทำ
- ล้างกะหล่ำปลีให้สะอาด พักให้สะเด็ดน้ำ หั่นซอยเป็นเส้นเล็ก ๆ เตรียมไว้
- เตรียมชามผสม ตอกไข่ไก่ลงไป ตามด้วย เกลือ พริกไทย งาขาว และกะหล่ำปลี ตีทุกอย่างให้เข้ากัน
- ตั้งกระทะ เปิดไฟอ่อน ใส่น้ำมันลงไปเล็กน้อย แล้วใส่ไข่ที่ตีไว้ลงไป เกลี่ยให้ทั่วกระทะ รอจนไข่ด้านล่างสุกแล้ว พลิกกลับด้านทอดจนสุก ปิดเตา
- ตักใส่ชาม เสิร์ฟพร้อมข้าวสวยร้อน ๆ พร้อมทาน
คุณค่าทางโภชนาการของกะหล่ำปลี
กะหล่ำปลีดิบต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 25 กิโลแคลอรี และสารอาหารอื่น ๆ ดังนี้
- คาร์โบไฮเดรต 5.8 กรัม
- วิตามินซี 36.6 มิลลิกรัม
- น้ำตาล 3.2 กรัม
- ธาตุแคลเซียม 14 มิลลิกรัม
- เส้นใย 2.5 กรัม
- ธาตุเหล็ก 40 มิลลิกรัม
- ไขมัน 0.1 กรัม
- ธาตุแมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม
- โปรตีน 1.28 กรัม
- ธาตุแมงกานีส 0.16 มิลลิกรัม
- วิตามินบี1 0.061 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 26 มิลลิกรัม
- วิตามินบี2 0.040 มิลลิกรัม
- ธาตุโพแทสเซียม 170 มิลลิกรัม
- วิตามินบี3 0.234 มิลลิกรัม
- ธาตุโซเดียม 18 มิลลิกรัม
- วิตามินบี5 0.212 มิลลิกรัม
- ธาตุสังกะสี 0.18 มิลลิกรัม
- วิตามินบี6 0.124 มิลลิกรัม
- วิตามินบี9 43 ไมโครกรัม
- ฟลูออไรด์ 1 ไมโครกรัม
จบไปแล้วสาระดี ๆ ของกะหล่ำปลี เป็นผักที่ทานเท่าไหร่ก็ไม่มีเบื่อแน่นอน แถมยังนำไปทำเมนูได้หลากหลาย หากใครอยากจะปลูกขายก็ทำได้ไม่ยากอีกด้วย ลองนำเคล็ดลับดี ๆ ที่เรามาแชร์วันนี้ไปลองทำกันดูนะจ๊ะ ติดตามสาระดี ๆ ได้อีกในบทความหน้านะจ๊ะ
บทความดี ๆ น่าอ่าน:
- ผักสวนครัว ปลูกง่าย โตไว ปลูกไว้กินเองที่บ้านได้
- พาไปรู้จัก “ผักพื้นบ้าน” แต่ละภูมิภาค ทำกับข้าวได้หลากหลาย กินเป็นยาได้
- ปลูกผักกินเอง ปลูกง่าย โตไว ทำง่าย ๆ ได้ที่บ้าน
- รวม 15 “เมล็ดพืช” สามารถกินได้ มีอะไรบ้าง?
นอกจากนี้ SGE ของเรายังมี อุปกรณ์การเกษตร ให้เลือกสรรอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น สแลนกันแดด กระถางผ้าปลูกต้นไม้ ผ้าคลุมดิน และอีกมากมายให้เลือกชมกัน พร้อมบริการดี ๆ หลังการขาย ที่แสนประทับใจอย่างแน่นอน สามารถเลือกชมสินค้าได้ www.sgethai.com
30 มกราคม 2024
โดย
ลำดวน