“ขนมลา” ขนมพื้นบ้านของภาคใต้ พร้อมวิธีทำให้หอม กรอบอร่อย
ทำความรู้จัก ขนมลา
ขนมลา เป็นขนมหวานพื้นบ้านของคนจังหวัดนครศรีธรรมราช ทำจากแป้งข้าวเจ้าบวกกับแป้งข้าวเหนียว ผสมกับน้ำตาลเคี่ยว แล้วหยอดผ่านกะลามะพร้าวเจาะรู แกว่งส่ายเป็นวงกลม ลงบนกระทะที่มีน้ำมันร้อนจัด ทำให้ได้แผ่นแป้งขนมที่มีเส้นราวใยไหม สอดประสานกันเป็นร่างแหสวยงาม พับเป็นรูปครึ่งวงกลมเพื่อให้รับประทานได้ง่าย ให้รสชาติที่หอม กรอบ อร่อย
ที่มาของขนมลา
ที่มาของขนมลา ไม่ปรากฏว่าถูกคิดค้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ทราบแต่ว่า ชาวบ้านใน อ.ปากพนัง รู้จักการทำขนมชนิดนี้มานานแล้ว เพื่อใช้เป็น 1 ใน 5 ขนมมงคลในงานบุญประเพณีสารทเดือนสิบ สำหรับอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ โดยขนมลา ถือเป็นสัญลักษณ์แทน แพรพรรณ เครื่องนุ่งห่ม จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เนื้อขนมต้องเส้นเล็กเท่ากับเส้นด้าน สอดประสานกันเป็นร่างแห คล้ายเครื่องนุ่งห่ม เพื่อให้ผู้ล่วงลับที่อาจเป็นเปรต รูปร่างผอม สูง ปากเท่ากับรูเข็ม สามารถกินหรือนุ่งห่มได้ ตามความเชื่อนั่นเอง
ทำไมถึงชื่อ “ขนมลา”
ชื่อ ขนมลา มีหลายที่มาด้วยกัน บ้างก็ว่า มาจากการใช้กะลามะพร้าว หยอดแป้งขนมลงบนกระทะ ที่เป็นไปได้อีกอย่างก็คือ มาจากเทคนิคในการทำขนมลาด้วย ซึ่งจะต้องทำการ “ลามัน” หรือ ทาเช็ดกระทะด้วยน้ำมันผสมไข่แดง ทุกครั้งที่โรยแป้งลงกระทะ เพื่อไม่ให้แป้งติดกระทะ และ สามารถลอกดึงแผ่นลาที่เสร็จแล้ว ขึ้นจากกระทะได้ง่าย ทำให้เทคนิคการทำลามัน อาจเป็นอีกที่มาหนึ่งของชื่อ ขนมลา
ขนมลา มีขายช่วงไหนบ้าง
หากสนใจซื้อขนมลามารับประทาน สามารถซื้อหาได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากชาวบ้านผลิตและวางขายเพื่อจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ประจำจังหวัดแล้ว ไม่ปรุงเฉพาะในเทศกาลอย่างที่เคยปฏิบัติมา ซึ่งขนมลา ปัจจุบันมี 2 แบบด้วยกัน คือ ลาเช็ดและลากรอบ โดยขนมลาเช็ดจะใช้น้ำมันน้อย โรยแป้งให้หนา เมื่อสุกพับเป็นครึ่งวงกลมหรือสี่เหลี่ยม รูปร่างเหมือนแห ส่วนลากรอบ จะเพิ่มแป้งข้าวเจ้าให้มากขึ้น ใช้น้ำมันมากขึ้น เมื่อแป้งสุกแล้ว จึงม้วนเป็นแท่งกลม
ขนมลา ใช้อุปกรณ์และวัตถุดิบอะไรบ้าง
เนื่องจากเป็นขนมพื้นบ้านที่มีอุปกรณ์ในการทำและเทคนิคเฉพาะตัว ดังนั้น ก่อนคิดจะทำขนมลา จำเป็นต้องเตรียมอุปกรณ์และวัตถุดิบให้พร้อมเสียก่อน ซึ่งอุปกรณ์ที่จะต้องเตรียม คือ
- กะละมัง หรือ หม้อ ใช้สำหรับผสมแป้งเพื่อทำขนมลา ขนาดของภาชนะอาจปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของปริมาณวัตถุดิบ
- กระทะ ที่ใช้สำหรับทอดขนมลาควรเป็นกระทะก้นแบน
- เตาถ่าน หรือ เตาแก๊ส สามารถควบคุมอุณหภูมิให้มีความร้อนพอเหมาะได้
- กะลา หรือ กระป๋อง สำหรับโรยแป้งให้เป็นเส้น ควรเจาะรูตรงก้น เพื่อให้แกว่งส่ายเป็นเส้นได้ถี่ ๆ
- ไม้แหลมสำหรับแซะขนม สำหรับลอกแผ่นขนมขึ้นมา หลังแป้งขนมสุกแล้ว
- ไม้ตีน้ำมัน ใช้สำหรับชุบน้ำมันพืช ทาให้ทั่วกระทะ เพื่อกันแป้งขนมติดกระทะ เวลาลอกแผ่นขนมขึ้น
- กาบมะพร้าว ใช้สำหรับทาไข่แดงในกระทะ เพื่อกันแป้งติดกระทะเวลาโรย
- กระชอน ตาข่ายละเอียด ใช้สำหรับกรองสิ่งที่เป็นตะกอนและสกปรกออกจากแป้ง
- ตะหลิว/ทัพพี ใช้สำหรับตักขนมลาขึ้นจากกระทะ เพื่อนำขนมลามาซ้อน ๆ กัน
วิธีทำขนมลา ให้หอม กรอบ อร่อย
วิธีทำขนมลา แบบดั้งเดิม จะใช้เทคนิค “ลามัน” หรือ การทาเช็ดกระทะด้วยน้ำมันผสมไข่แดง ทุกครั้งที่โรยแป้งลงกระทะ เพื่อไม่ให้แป้งติดกระทะ แต่ปัจจุบัน ชาวบ้านได้ลดทอนขั้นตอนนั้นไป จนเป็นการทำขนมลาแบบ “ลาเช็ด” แทน ซึ่งจะใช้วิธีเทน้ำมันลงบนกระทะน้อย ๆ แล้วโรยแป้งให้หนา เมื่อทอดแป้งขนมจนสุก จึงพับแผ่นแป้งขนมขึ้นเป็นครึ่งวงกลมหรือสี่เหลี่ยม รูปร่างเหมือนแห ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้ใช้เทควิธีแบบดั้งเดิม แต่ก็ยังคงลักษณะดั้งเดิมของขนมลาไว้ทุกประการ โดยวิธีทำขนมลามีขั้นตอนดังต่อไปนี้
ส่วนผสมขนมลา
- แป้งข้าวเจ้า 2 ส่วน (ปรับลดได้ตามจำนวนชิ้นที่ต้องการ)
- แป้งข้าวเหนียว 1 ส่วน (ปรับลดได้ตามจำนวนชิ้นที่ต้องการ)
- น้ำตาลปี๊บ หรือ น้ำตาลทรายแดง ที่เคี่ยวจนละลายแล้ว ส่วนนี้จะนำไปผสมในแป้งเพื่อที่จะนวดให้แป้งเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน
- น้ำมันในการทอด นิยมใช้น้ำมันพืชและน้ำมันปาล์ม เพราะหาซื้อได้สะดวก
- ไข่แดงต้มสุก ส่วนมากนิยมใช้ไข่ไก่ เนื่องจากมีกลิ่นคาวน้อยกว่าไข่เป็ด
วิธีทำขนมลา
- นำแป้งข้าวเจ้า 2 ส่วน ผสมกับแป้งข้าวเหนียว 1 ส่วน ผสมลงในกะละมังที่เตรียมไว้
- เติมน้ำตาลปี๊บที่เคี่ยวและวางไว้จนเย็นแล้ว ผสมลงไปในแป้งใช้กรองหรือผ้าบางๆ กรองเอาเศษสิ่งที่เป็นตะกอนและสกปรกออกจากแป้ง
- นวดแป้งและน้ำตาลให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ประมาณ 20 นาที การสังเกตว่าแป้งพร้อมที่จะทอด โดยยกมือขึ้นแป้งจะไหลเป็นสายไม่ขาด ก็แสดงว่าสามารถนำไปใช้ได้
- ตั้งกระทะบนเตา ใช้ไข่แดงต้มสุกผสมน้ำมันพืชเช็ดกระทะให้ทั่วเพื่อป้องกันขนมติดกระทะ
- ใช้ไม้ตีน้ำมันชุบน้ำมันพืชทาให้ทั่วกระทะก่อนโรยแป้ง
- นำแป้งใส่ภาชนะสำหรับโรย เช่น กะลาหรือกระป๋องเจาะรู นำไปโรยลงกระทะเป็นวงกลมสานไปสานมาหลายๆ ครั้ง จนได้ขนาดที่ต้องการ แต่ต้องไม่ให้หนาหรือบางเกินไป
- สุกแล้วใช้ไม้ปลายแหลมแซะแล้วนำขึ้นมาวางซ้อนๆ กัน โรยแผ่นใหม่ต่อไป ทำแบบนี้จนแป้งหมด เป็นอันเสร็จสมบูรณ์
สำหรับใครที่อยากทำขนมลา แบบ “ลากรอบ” สามารถทำได้ โดยเมื่อเตรียมน้ำแป้งขนมเสร็จแล้ว ให้ตักแป้งใส่กระป๋องที่เจาะรู นำมาโรยในกระทะเป็นเส้น ๆ แล้วเปิดไฟอ่อน ๆ จากนั้น ก็ม้วนให้เป็นแท่งยาว ไม่นาน ก็ได้ขนมลากรอบแล้ว ซึ่งจะสวยงามหรือไม่ก็ขึ้นอยู่ความสามารถ ฝีมือและประสบการณ์ของแต่ละคน
สำหรับใครที่อยากได้อุปกรณ์หรือตัวช่วย ที่ทำให้ผสมแป้งกับน้ำตาล ให้เป็นเนื้อเดียวกันได้ง่ายขึ้น สำหรับทำขนมลาในปริมาณจำนวนมาก แนะนำให้ใช้ เครื่องตีแป้ง ของ SGE ตัวเครื่องสามารถปรับความเร็วได้หลายระดับ พร้อมทำขนมไทย เค้ก และเบเกอรี่อื่น ๆ ได้อย่างหลากหลาย มีทั้งแบบรุ่นพกพา ไปจนถึงแบบตั้งโต๊ะ ให้คุณเลือกใช้งานได้ตามความเหมาะสม สนใจคลิกดูเพิ่มเติมที่ https://www.sgethai.com/stand-mixer/
30 มกราคม 2024
โดย
Pres