ทำความรู้จัก ขนมไทย ที่รู้แล้วต้องตะลึง!
พูดถึง ขนมไทย คงจะนึกถึงของหวานที่ทำและรับประทานกันในอาณาจักรไทย ซึ่งมีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมประจำชาติไทยคือ มีความละเอียดอ่อนประณีตในการเลือกสรรวัตถุดิบ วิธีการทำที่พิถีพิถัน รสชาติอร่อยหอมหวาน สีสันสวยงาม และรูปลักษณ์ชวนรับประทาน ตลอดจนกรรมวิธีการรับประทานที่ประณีตบรรจงของขนมแต่ละชนิด ซึ่งยังแตกต่างกันไปตามลักษณะของขนมชนิดนั้นๆ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ลึกถึงความเป็นมาของขนมไทยแต่ละชนิด เพราะฉะนั้นวันนี้ SGE ได้รวบรวมข้อมูล ประวัติความเป็นมาให้ทุกคนได้ทราบกัน จะเป็นยังไง ตามไปดูเลยค่ะ 👇
ความเป็นว่าของคำว่า ขนมไทย
จากการศึกษาข้อมูลได้ข้อสรุปดังนี้ คำว่า ขนม มีใช้มาหลายร้อยปียากจะสันนิษฐานแน่นอนได้ เช่นเดียวกับไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยใดเป็นครั้งแรก แต่ตามประวัติศาสตร์ไทยมีหลักฐานตอนหนึ่งว่า มีการจารึกชื่อขนมในแท่งศิลาจารึกเป็นการจารึกแบบลายแทงสมัยโบราณ ขนมที่ปรากฏคือไข่กบ (เม็ดแมงลัก) นกปล่อย (ลอดช่อง) บัวลอย (ข้าวตอก) และอ้ายตื้อ (ข้าวเหนียว) เราเรียกการเลี้ยงขนมอย่างนี้ว่า ประเพณีสี่ถ้วย
ขนมไทยเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในสมัยอยุธยา ดังปรากฏข้อความในจดหมายเหตุหลายฉบับ บางฉบับกล่าวถึง “ย่านป่าขนม” หรือตลาดขนม บางฉบับกล่าวถึง “บ้านหม้อ” ที่มีการปั้นหม้อ และรวมไปถึงกระทะ ขนมเบื้อง เตาและรังขนมครก แสดงให้เห็นว่าขนมครกและขนมเบื้องนั้น คงจะแพร่หลายมากจนถึงขนาดมีการปั้นเตาและกระทะขาย บางฉบับกล่าวถึงขนมชะมด ขนมกงเกวียนหรือขนมกง ขนมครก ขนมเบื้อง และขนมลอดช่อง ขนมไทยถูกนำไปใช้ในงานบุญตามประเพณีและงานพิธีกรรม ที่เกี่ยวข้องในวิถีชีวิตชาวไทย โดยนิยมทำขนมชื่อมีมงคล ได้แก่ ขนมตระกูลทองทั้งหลาย เพราะคนไทยถือว่า “ทอง” เป็น ของดีมีมงคลทำแล้วได้มีบุญกุศล มีเงินมีทอง มีลาภยศ สรรเสริญ สมชื่อขนมนั่นเอง
ขนมไทยทั้ง 4 ภาคมีอะไรบ้าง
1. ขนมไทยภาคเหนือ มักทำขนมมาจากข้าวเหนียว และจะผ่านกรรมวิธีการต้มเป็นส่วนใหญ่ ขนมที่นิยมทำในงานบุญเกือบทุกเทศกาลคือ ขนมเทียน หรือขนมจ๊อก ข้าวอีตู หรือข้าวเหนียวแดง ข้าวแต๋น ขนมเกลือ และยังมีขนมพื้นบ้านประจำถิ่น อย่างในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีขนมอาละหว่า เป็นชื่อขนมพื้นเมืองไทยใหญ่ชนิดหนึ่งที่ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าผสมกะทิ และน้ำตาลอ้อย ลักษณะคล้ายกับขนมหม้อแกง
2. ขนมไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักเป็นขนมที่ทำกันง่ายๆ ไม่พิถีพิถันมาก ได้แก่ ข้าวจี่ บายมะขาม ข้าวโป่ง นอกจากนั้นมักเป็นขนมในงานบุญพิธี ที่เรียกว่า ข้าวประดับดิน โดยชาวบ้านนำข้าวที่ห่อใบตอง มัดด้วยตอกแบบข้าวต้มมัด กระยาสารท ข้าวทิพย์ ข้าวยาคู ส่วนในงานบุญต่างๆจะนิยมทำขนมปาด คล้ายขนมเปียกปูน ลอดช่อง
3. ขนมภาคกลาง โดยส่วนมากขนมจะทำมาจากข้าวเจ้า เช่น ข้าวตัง นางเล็ด ข้าวเหนียวมูน และขนมที่ได้รับอิทธิพลมาจากในวัง เช่น ขนมกลีบลำดวน ลูกชุบ หม้อข้าวหม้อแกง ฝอยทอง ทองหยิบ เป็นต้น
4. ขนมภาคใต้ ชาวใต้มีความเชื่อในเทศกาลประเพณีสารทเดือนสิบ จะทำบุญด้วยขนมที่มีเฉพาะในภาคใต้เท่านั้น เช่น ขนมลา ขนมพอง ข้าวต้มห่อด้วยใบกะพ้อ ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมเจาะหู ขนมไข่ปลา ขนมแดง เป็นต้น
ขนมไทยจากโบราณจนถึงปัจจุบัน
เรียกได้ว่าให้พูดทั้งวันก็คงไม่จบ เพราะความเป็นจริงขนมไทยมีหลากหลายชนิดมาก ประวัติความเป็นมาก็ต่างกัน แต่วันนี้เราขอหยิบ 3 ชนิดของขนมไทยที่ปัจจุบันมีขายแถมยังฮิตติดกระแสอีกด้วย เรียกได้ว่าสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นเลยทีเดียวค่ะ จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลยค่ะ
ต้นกำเนิด ขนมทองหยิบ ทองหยอด
หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าทองหยิบ ทองหยอดเป็นขนมไทยแท้ๆ และมีกำเนิดมาจากความคิดของคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ในความเป็นจริงแล้วทองหยิบ ทองหยอดเป็นขนมที่มีต้นตำรับมาจากประเทศโปรตุเกส แต่ที่กลายมาเป็นขนมหวานขึ้นชื่อของไทยเราได้เนื่องจากในสมัยอยุธยา ประเทศไทยได้มีสัมพันธไมตรีกับชาวต่างชาติ และชาวตะวันตกมากขึ้น ก็เลยมีโอกาสได้รับเอาวัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของชาวต่างชาติมาดัดแปลงใช้ในประเทศไทยด้วย ทั้งเรื่องวัฒนธรรมการแต่งกาย และอาหารการกิน ถือว่าคนไทยเรารู้จักทองหยิบ ทองหยอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเลยล่ะ
แม้ว่าทองหยิบ ทองหยอดจะไม่ได้มีเชื้อสายมาจากคนไทยแท้ ๆ แต่ก็เป็นขนมหวานที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองของเรามาตั้งแต่สมัยอยุธยา คนไทยทุกคนจึงถือเอาว่าทองหยิบ ทองหยอดเป็นขนมไทยโบราณไปโดยปริยาย ซึ่งนอกจากจะรับประทานกันอย่างอร่อยลิ้นแล้ว ก็ยังมักจะนำไปเป็นขนม หวานในงานมงคลต่าง ๆ เช่น งานมงคลสมรส งานบวช งานวันเกิด และงานขึ้นบ้านใหม่ เพราะถือว่าชื่อขนมที่ขึ้นชื่อว่าทองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง จะหมายถึงการหยิบเงินหยิบทอง สานต่อความร่ำรวยเงินทองต่อไปในภาคหน้านั่นเอง
ต้นกำเนิด ขนมชั้น
ขนมชั้นเป็น ขนมไทย โบราณที่จัดอยูในขนมประเภทกึ่งแห้งกึ่งเปียกหรือแข็ง ในอดีตนิยมใช้ขนมชั้นในงานฉลองยศ เพราะมีความหมายถึงลำดับชั้นยศถาบรรดาศักดิ์ คนโบราณนิยมทำกันถึงเก้าชั้น เพราะถือเคล็ดเสียงของเลข “9” ว่าจะได้ “ก้าวหน้า” ในหน้าที่การงานนอกจากนี้พระยาอนุมานราชธน “เสฐียรโกเศศ” ได้เขียนไว้ว่าขนมชั้นยังจัดอยู่ในชุดของขนมแต่งงานซึ่งในพิธีขันหมาก เนื่องจากมีชื่อที่เป็นสิริมงคล รวมถึงเมื่อนำไปมอบให้ใครก็นับเป็นการอวยพรให้เขาเหล่านั้นประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ขนมชั้นเป็นอาหารหวานของไทยที่มีมาแต่โบราณ นิยมนำมาใช้ในงานมงคลต่างๆ ในปัจจุบันเราจะหาขนมชั้นที่อร่อยๆ กินกันค่อนข้างยาก ขนมชั้นมีวิธีการทำที่ค่อนข้างยุ่งยาก และต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์พอสมควร โดยเฉพาะการหยอดแป้งแต่ละชั้น ปริมาณของแป้งต้องเท่ากัน จึงจะได้ชั้นที่สวยและสุกทั่วกัน ลักษณะที่ดีของขนมชั้น คือ ขนมทุกชั้นจะต้องสุกและลอกได้เป็นชั้นๆ หน้าเรียบเสมอ ผิวหน้ามันจากกะทิ เนื้อจะเหนียวนุ่ม ขนมชั้นจะใช้แป้งรวมกันถึง ๓ ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป เช่น แป้งมันและแป้งเท้ายายม่อม จะให้คุณสมบัติในการทำให้ขนมเหนียว นุ่ม และไม่กระด้าง เรียกได้ว่าซับซ้อนมากๆค่ะ
ต้นกำเนิด ขนมสอดไส้
ขนมใส่ไส้” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ขนมสอดไส้” เป็นขนมไทยที่ใช้ในพิธีขันหมากในสมัยโบราณ ขนมใส่ไส้นี้ห่อด้วยใบตองแล้วมีเตี่ยวคาด (เตี่ยวก็คือทางมะพร้าว) ห่อเป็นทรงสูง ขนมใส่ไส้มีกลิ่นหอมและหวานจากตัวไส้ รสเค็มมันด้วยหน้ากะทิที่สดใหม่ หน้าข้นพอดี ไม่เละ เดี๋ยวนี้จะหาขนมใส่ไส้ที่มีรสอร่อยซึ่งมีทั้งกลิ่นหอมและหวานมัน มารับประทานได้ยาก เพราะขนมใส่ไส้ที่อร่อยต้องใส่กะทิที่ข้นมัน ซึ่งมะพร้าวเดี๋ยวนี้ราคาก็แพงน่าดู สำหรับตัวแป้งที่หุ้มใช้ทั้งแป้งข้าวเหนียวขาวและแป้งข้าวเหนียวดำเวลานวดต้องค่อยๆ ใส่น้ำแล้วต้องนวดนานๆ เม็ดแป้งจะอุ้มน้ำได้ดีเพราะเป็นแป้งแห้งแป้งจะมีความเหนียวดีไม่เหมือนในสมัยก่อนจะใช้แป้งที่โม่เองแป้งก็จะเปียกและอุ้มน้ำอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องนวดนานหน้าของขนมเวลากวนแล้วต้องรีบตักหยอดขณะที่ร้อนอยู่จึงจะเรียบเวลาห่อขนมจะได้รูปตามที่ห่อและน่ารับประทานใบตองที่ใช้ห่อขนมใส่ไส้ควรใช้ใบตองตาน
เป็นอย่างไรบ้างคะมี ขนมไทย ชนิดไหนถูกใจกันบ้างไหม พอรู้ประวัติความเป็นมาทำให้เราได้รู้ถึงต้นตอของขนมที่มีมาตั้งแต่โบราณ เรียกได้ว่าขนมไทยแต่ละชนิดถ้าเป็นสูตรโบราณ บอกเลยว่าอร่อย หอม ทำให้ย้อนยุคไปสมัยกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียว สามารถติดตามบทความอื่นๆได้ที่นี่
ขอบคุณข้อมูลจาก KAPOOK / Arwut prodpran / Wongnai
25 ตุลาคม 2023
โดย
admin