ชะอม ผักคู่ครัว สรรพคุณมากมาย ทำเมนูไหนก็อร่อย
“ชะอม” เป็นผักสวนครัวที่คนไทยรู้จักกันดี เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นผักรสขม แถมยังมีกลิ่นแบบเฉพาะตัว นำมาทำอาหารอร่อย ๆ ได้หลายอย่าง วันนี้ SGE จะพาไปรู้จักกับผักชะอม ว่ามีประโยชน์อะไรบ้าง? และยังสามารถนำผักชนิดนี้ ไปทำเมนูอะไรได้อีกบ้าง ตามไปดูกันเลยจ้า
ชะอม คืออะไร?
ชะอม (Climbing wattle, Acacia, Cha-om) เป็นพืชจำพวกอาเคเซีย นิยมรับประทานในทุกภาคของไทย เป็นพืชยื่นต้น ใช้ใบแก่ และอ่อน เป็นสมุนไพร ของไทย ลำต้นของชะอม มีหนาม ใบมีขนาดเล็ก และมีกลิ่นฉุน ใบอ่อนของชะอม หรือส่วนยอดของใบสามารถนำมารับประทานได้ มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปแต่ละภาค โดยมากมักปลูกตามรั้วบ้าน เนื่องจากมีหนามแล้วยังเป็นผักที่ทานได้ตลอดทั้งปี
ผักชะอม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ผักหละ (ภาคเหนือ), อม (ภาคใต้), ผักขา (ภาคอีสาน อุดรธานี), พูซูเด๊าะ (แม่ฮ่องสอน), โพซุยโดะ (กะเหรี่ยง) เป็นต้น
ลักษณะของชะอม ต้นชะอม เป็นไม้พุ่มขนาดย่อม มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ลำต้น และกิ่งก้าน จะมีหนามแหลม ส่วนลักษณะของใบชะอม เป็นใบประกอบสีเขียวขนาดเล็ก มีก้านใบย่อยแตกออกจากแกนกลางใบ มีลักษณะคล้ายกับใบส้มป่อย หรือใบกระถิน ใบอ่อน จะมีกลิ่นฉุน ใบย่อย มีขนาดเล็กออกตรงข้ามกัน คล้ายรูปรีประมาณ 13-28 คู่ ปลายใบแหลมขอบใบเรียบ ใบย่อย จะหุบในเวลาเย็น และแผ่ออก เพื่อรับแสงในช่วงกลางวัน ส่วนดอกชะอม มีขนาดเล็กออกตามซอกใบ มีสีขาวถึงขาวนวล
คุณค่าทางโภชนาการ ของยอดชะอม 100 กรัม
- พลังงาน 57 กิโลแคลอรี
- เส้นใยอาหาร 5.7 กรัม
- ธาตุแคลเซียม 58 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 80 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 4.1 มิลลิกรัม
- วิตามินเอ 10066 IU
- วิตามินบี 1 0.05 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.25 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 1.5 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 58 มิลลิกรัม
สรรพคุณ ประโยชน์ของชะอม เป็นอย่างไร?
สรรพคุณของชะอม
- ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากมีวิตามินเอสูง
- ยอดชะอม ช่วยลดความร้อนในร่างกายได้
- ผักรสมันอย่างชะอม มีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ
- ช่วยในการขับถ่าย ป้องกันโรคท้องผูก
- รากชะอม นำมาฝนกิน ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง และช่วยขับลมในลำไส้
- ในชะอม มีส่วนช่วยบำรุงเส้นเอ็น
- ช่วยแก้อาการลิ้นอักเสบเป็นผื่นแดง
ประโยชน์ของชะอม
ประโยชน์ของชะอม ช่วยฟื้นฟูผมแห้งเสีย แตกปลาย ด้วยสูตรน้ำชะอมหมักผม เพียงแค่นำใบชะอมประมาณ 1 กำมือ มาต้มกับน้ำเปล่า 3 ถ้วย จนได้น้ำชะอมเข้มข้น กรองเอาแต่น้ำ เมื่อสระผมเสร็จ ให้นำผ้าขนหนูมาชุบน้ำชะอมที่เตรียมไว้ บิดพอหมาด นำมาเช็ดผมให้ทั่ว แล้วทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วล้างออก จะช่วยทำให้ผมแห้ง ๆ กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ชะอมประโยชน์นำมาทำเป็นเมนูอาหาร ได้หลากหลายเมนู เช่น ไข่ชะอม ไข่ทอดชะอม ชะอมชุบไข่ แกงส้มชะอมกุ้ง แกงส้มชะอมไข่ นำมาลวก หรือนึ่งใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก น้ำพริกกะปิ รับประทานร่วมกับส้มตำมะม่วง ตำส้มโอ หรือจะนำไปปรุงเป็นแกงรวมกับปลา เนื้อ ไก่ กบ เขียด หรือต้มเป็นอ่อม ทำแกงลาว แกงแค เป็นต้น
แนะนำ เมนูชะอม ทำง่าย ๆ
ไข่เจียวชะอมน้ำพริกกะปิ
ชะอมผัดไข่ที่เติมความแปลกใหม่ด้วยการผัดน้ำพริกเข้าไปด้วย เป็นข้าวจานเดียวง่าย ๆ ที่ใช้เวลาทำไม่นาน แต่มีคุณประโยชน์ครบถ้วน ทั้งโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ
วัตถุดิบ
- ชะอม 1 มัด
- ไข่ไก่ 5 ฟอง
- น้ำพริกกะปิ 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำปลาโซเดียมต่ำ 1/2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันพืช สำหรับทอดไข่
วิธีทำ
- ตีไข่ให้เข้ากันดี หั่นชะอมใส่ลงไป ปรุงรสด้วยน้ำปลาเล็กน้อย จากนั้นใส่น้ำพริกกุ้งเสียบลงไป
- ตั้งกระทะใส่น้ำมัน ใช้ไฟปานกลาง รอจนน้ำมันร้อนดี เทไข่ลงไปเจียว
- ทอดไข่จนแห้ง และสุกดี ตักใส่จาน เสิร์ฟพร้อมข้าวสวยร้อน ๆ พร้อมทาน
แกงส้มชะอมกุ้ง
เมนูนี้ทำง่าย ๆ แถมยังใส่ผักที่ชอบได้ตามใจคล้ายเมนูแกงเลียง วิธีทำง่าย ๆ คุณค่าทางอาหารมากมาย และเติมความอร่อยด้วยการใส่ชะอมชุบไข่ทอดลงไปได้เลย
วัตถุดิบ
- ไข่ไก่ 4 ฟอง
- ชะอม 1 มัด
- น้ำมันพืชสำหรับทอดไข่
- กุ้ง 3 ถ้วย
- พริกแกงส้ม 1 ขีด
- น้ำมะขามเปียก 4-5 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลมะพร้าว 2-3 ช้อนโต๊ะ
- น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ
- น้ำเปล่า 2 ถ้วย
วิธีทำ
- ตอกไข่ใส่ชาม จากนั้นตีให้เข้ากัน หั่นชะอมใส่ลงไปแล้วทอดจนสุกดี พักไว้
- แกะเปลือกกุ้ง แล้วล้างให้สะอาด นำไปลวกให้สุก พักไว้
- แบ่งกุ้งออกมาหนึ่งส่วน นำไปโขลกรวมกับพริกแกง
- นำน้ำลวกกุ้ง และน้ำเปล่าใส่หม้อ ตั้งไฟกลาง เมื่อน้ำเดือดดีแล้ว ใส่เครื่องแกงที่โขลกไว้ ปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียก น้ำตาลมะพร้าว ชิมให้เปรี้ยวนำหวานตาม
- เมื่อน้ำเดือดอีกครั้ง ใส่กุ้งที่เหลือ ชะอมชุบไข่ และผักต่าง ๆ ที่เราชอบลงไป รอจนเดือดอีกครั้งจึงปิดเตา
- ตักใส่ชาม พร้อมเสิร์ฟ
แกงคั่วหอยขมใส่ชะอม
แกงคั่วหอยขม ใส่ชะอม และใบชะพลู เพิ่มความหอมจากใบมะกรูด รับรองได้ทานแล้วจะติดใจ
วัตถุดิบ
- หอยขมแกะเนื้อลวกสุก 500 กรัม
- พริกแกง 2 ช้อนโต๊ะ
- กะทิ 2 ถ้วย
- น้ำปลา
- น้ำตาลปี๊บ
- ใบชะพลูหั่นหยาบ 50 กรัม
- ใบชะอม 50 กรัม
- ใบมะกรูดฉีก
- น้ำมันพืช
(ภาพจาก cooking.kapook.com)
วิธีทำ
- ตั้งกระทะใช้ไฟกลาง ใส่น้ำมันพืช พอร้อนใส่พริกแกงลงไปผัดจนหอม ใส่กะทิลงไปผัดจนแตกมัน
- ใส่หอยขมลงไป พอเดือด ปรุงรสด้วยน้ำปลา กับน้ำตาลปี๊บ ชิมรสตามชอบ
- ใส่ใบชะพลู ใบชะอม และใบมะกรูด คนพอเข้ากัน ปิดไฟ ตักใส่ชาม พร้อมเสิร์ฟ
สูตรจาก cooking.kapook.com
ข้อควรระวังในการรับประทานชะอม
- หญิงที่กำลังให้นมบุตร ไม่ควรกินชะอม เพราะอาจทำให้นมแห้งได้
- ในหน้าฝน อาจทำให้ชะอมมีรสเปรี้ยว และมีกลิ่นฉุนกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องได้
- ในชะอม มีกรดยูริกสูง ผู้ป่วยโรคเกาต์ ยังสามารถรับประทานได้ แต่ควรจำกัดปริมาณในการรับประทาน ไม่ให้มากเกินไป แต่หากมีอาการของโรคเกาต์ค่อนข้างหนัก และปวดเข่ามาก ควรหลีกเลี่ยง
- ชะอมนั้น เป็นพืชที่พบการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรคท้องเสีย ท้องร่วง อย่างเช่น ซาลโมเนลลา ได้ ดังนั้น จึงควรล้างผักให้สะอาด และปรุงโดยต้ม ลวก หรือผ่านความร้อนให้สุกอย่างทั่วถึงก่อนรับประทาน
วิธีปลูกชะอม และการเก็บเกี่ยว
วิธีการปลูกชะอม ปลูกโดย การปักชำ การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง หรือการโน้มกิ่งลงดิน โดยไม่ต้องต่อตา หรือชำกิ่ง การปลูกผักชะอมส่วนมาก จะใช้วิธีการเพาะเมล็ด เพราะจะได้ต้นที่แข็งแรงและทนทานต่อสภาพแวดล้อม มีหนามหนากว่าการปลูกด้วยวิธีอื่น
- การปลูกชะอม ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
โดยนำมาเมล็ดชะอม มาใส่ถุงพลาสติก รดน้ำวันละครั้ง เมื่อเมล็ดงอก ก็ให้ทำการย้ายลงดิน โดยปลูกห่างกันประมาณ 1 เมตร และให้ปุ๋ยสด หรือมูลสัตว์ในการบำรุงต้น ถ้าปลูกในฤดูร้อน ให้หมั่นรดน้ำ จะเจริญเติบโตได้ดีกว่าการปลูกในฤดูฝน เพราะเมล็ดชะอม มีโอกาสเน่าได้สูง ผักชะอม ปกติแล้ว จะไม่ค่อยมีโรค และแมลงศัตรูพืชมารบกวนเท่าไหร่ หากพบก็ใช้ปูนขาวโรยไว้รอบโคนต้น แต่ถ้าเป็นแมลงมีหนอนกินยอดชะอม ให้ใช้ยาฆ่าแมลงฉีดทุก ๆ 8 วัน
- การเก็บยอดชะอม
ควรเก็บให้เลือกยอดไว้ 3-4 ยอด เพื่อให้ต้นได้โต เพื่อความปลอดภัยควรเก็บหลังจากการฉีดยาฆ่าแมลงแล้ว ไม่น้อยกว่า 7 วัน และสามารถเก็บเกี่ยวจากต้นที่ปลูกกิ่งตอนได้ 10-15 วัน และตัดยอดขายได้ทุก ๆ 2 วัน
จะเห็นได้ว่าชะอมนั้น เป็นพืชที่มากประโยชน์เหลือเกิน นำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย แต่อย่าลืมรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างครบถ้วน จึงจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงปลอดโรค เพื่อใช้ชีวิตทำกิจกรรมที่คุณรักไปได้ยาวนานด้วยนะจ๊ะ 👌🏻
ข้อมูลจาก : Med Thai, เว็บไซต์เดออะแดนดอตคอม, สถาบันการแพทย์แผนไทย, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
30 มกราคม 2024
โดย
ลำดวน