สรรพคุณ ความเชื่อ บานไม่รู้โรย พร้อมวิธีปลูกให้ได้ผล ออกดอกสวย!
บานไม่รู้โรย ดอกบานไม่รู้โรย พืชล้มลุกที่พบได้ทั่วทุกที่ในประเทศไทย ปลูกไว้ประดับตกแต่งก็ได้ เสริมดวงเรื่องความรักก็ดี หรือจะปลูกเป็นพืชคลุมดินก็เริด
SGE จะพาไปรู้จักพืชชนิดนี้มากขึ้นว่ามีสรรพคุณ ประโยชน์ อะไรที่เราอาจจะยังไม่รู้บ้าง พร้อมแจกวิธีปลูกดอกบานไม่รู้โรยให้สวยออกดอกเยอะ ..อย่ารอช้า ไปดูกันเลย!
รู้จัก บานไม่รู้โรย ไม้ประดับสีสวย
ชื่อวิทยาศาสตร์: Gomphrena globosa L.
ชื่อสามัญ: Bachelor’s button, Globe Amaranthus
วงศ์: Amaranthaceae
ชื่อเรียกอื่น : ตะล่อม (ภาคเหนือ), ดอกสามเดือน, กุนหยี (ภาคใต้), สามปีบ่เหี่ยว (ภาคอีสาน), โขยหยิกแป๊ะ (จีน)
ข้อมูลทั่วไป
ลำต้น: ไม้ล้มลุก พุ่มเตี้ย สูงประมาณ 30- 60 ซม. ลำต้นเป็นเหลี่ยม มีขนสีขาวปกคลุม แตกกิ่งก้านสาขาเป็นจำนวนมาก ตามข้อกิ่งมักจะพองออกเล็กน้อย มีขนละเอียดสั้นปกคลุม ลักษณะของต้นตั้งขึ้นหรือเอนรวมไปกับดิน
ใบ: ใบเดี่ยว รูปรี/รูปขอบขนาน ยาวประมาณ 3-7 ซม. ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ สลับเวียนไปตามข้อต้น ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบหรือมีคลื่นเล็กน้อย ก้านใบสั้น
ดอก: ช่อดอกเป็นกระจุกแน่น มีหลายสีแล้วแต่สายพันธุ์ ส่วนมากมักมีสีขาว ชมพู ม่วง ส่วนมากออกที่ยอด 1-3 ช่อ ใบประดับยาว 3 มม. ใบประดับย่อยยาว 0.7-1.2 ซม.
ถิ่นกำเนิดบานไม่รู้โรย
บานไม่รู้โรย สันนิษฐานว่าพบอยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ บริเวณประเทศเม็กซิโกลงไป ต่อมาจึงกระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่าง ๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย คาดว่า บานไม่รู้โรย น่าจะเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยพบชื่อในตำรายาพื้นบ้านดั้งเดิมหลายตำรับ รวมทั้งในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล ปี พ.ศ.2416
ราคา บานไม่รู้โรย
นิยมขายเป็นเมล็ด แบบบรรจุซอง ประมาณ 10 – 5 0 บาท/ซอง แล้วแต่สายพันธุ์
ความเชื่อเกี่ยวกับบานไม่รู้โรย
ดอกบานไม่รู้โรย เป็นดอกไม้ที่ช่วย เสริมดวงด้านความรักของผู้อยู่อาศัยและคู่รักให้มีความมั่นคงต่อกัน หากนำไปประดับตกแต่งหรือใช้เป็นไม้ประดิษฐ์ จะแสดงถึงความเคารพ เชื่อฟัง ไม่เสื่อมคลายเปรียบเสมือนชื่อดอก ในนปาลเรียกดอกชนิดนี้ว่า Makhamali นำไปใช้ร้อยมาลัยบูชาในเทศกาล Tihar เทศกาลแห่งแสงสว่างของชาวฮินดู เพื่อขอพรต่อท้าวยมราชให้ปกป้องคุ้มครองให้มีชีวิตยืนยาว
ประโยชน์และสรรพคุณ บานไม่รู้โรย
สรรพคุณของบานไม่รู้โรย โครงการอนุรักษ์พันธุ์พืช ได้ให้ข้อมูลไว้ดังนี้
ดอก
บำรุงตับ แก้ตาเจ็บ แก้ไอระงับหอบหืด ขับปัสสาวะ แก้ปวดศีรษะ บิด ไอกรน แผลผื่นคัน ฝีประคำร้อย
ราก
ขับปัสสาวะ แก้พิษต่าง ๆ
วิธีและปริมาณที่ใช้
ดอกแห้ง: ขนาด 3-10 กรัม ต้มน้ำดื่ม
ทั้งต้น: ขนาด 15-30 กรัม ต้มน้ำดื่ม
ใช้ภายนอก – ใช้ตำพอก หรือต้มเอาน้ำชะล้าง
ตำรับยา
- แก้หอบหืด: ดอก 10 ดอก ต้มน้ำผสมเหล้าเล็กน้อย ดื่มวันละ 3 ครั้ง
- แก้บิดมูก: ดอก 10 ดอก ต้มน้ำผสมเหล้าเล็กน้อยดื่ม
- แก้ปัสสาวะขัด: ใช้ดอก 3-10 กรัม ต้มน้ำดื่มบ่อยๆ
- แก้เด็กเป็นโรคลมชัก: ใช้ดอก 10 ดอก รวมกับตั๊กแตนแห้ง (oxya chinensis thumb.) 7 ตัว ตุ๋นรับประทาน
- แก้เด็กตัวร้อนตาเจ็บ: ใช้ดอกสด 10-14 ดอก ต้มน้ำดื่ม หรือผสมกับฟังเชื่อมแห้ง ต้มน้ำดื่ม
ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลทางตำรับยา อย่าลืมศึกษาข้อมูลให้ละเอียด ทั้งสายพันธุ์ ส่วนผสม และขั้นตอนการทำ เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน
วิธีปลูก บานไม่รู้โรย ให้ออกดอกดี
การปลูกและการขยายพันธุ์บานไม่รู้โรย ให้ได้ผลเร็วและออกดอกดีที่สุด คือ การเพาะเมล็ด ดังนั้น เราจะมาแชร์วิธีการเพาะเมล็ดบานไม่รู้โรยง่าย ๆ กัน
วัสดุและอุปกรณ์ปลูก
- เมล็ดดอกบานไม่รู้โรย
- เถ้าแกลบผสมทราย อัตรา 4:1
- กระบะเพาะกล้า / ถาดเพาะกล้า
- น้ำเปล่า (สำหรับแช่เมล็ด)
ขั้นตอนการปลูกบานไม่รู้โรย
- ขั้นแรก นำเมล็ดบานไม่รู้โรย แช่น้ำประมาณ 3-4 ชม. เพื่อให้เปลือกหุ้มเมล็ดดูดซึมน้ำ
- เมื่อครบเวลา ให้นำเมล็ดไปเพาะในเถ้าแกลบผสมทราย ในกระบะเพาะกล้าที่มีรูระบายน้ำ
- รดน้ำให้ชุ่มทุกวัน เมื่อเวลาผ่านไป 1-2 สัปดาห์ เมล็ดจะงอกเป็นต้นกล้า
- เมื่อต้นกล้าเริ่มมีใบจริง 1-2 คู่ สามารถย้ายไปปลูกในแปลงได้ 30×30 หรือ 40×40 ซม. (ปลูกหลุมละ 1 ต้น)
วิธีดูแล ดอกบานไม่รู้โรย
- การให้นํ้า
บานไม่รู้โรยเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี ควรให้น้ำ 1-2 ครั้ง/สัปดาห์ ก็เพียงพอ แต่หากปลูกในดินทราย ควรให้สัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยเวลาที่เหมาะสมในการให้น้ำ คือ ช่วงเช้า เพื่อลดการระบาดของเชื้อรา
- การให้ปุ๋ย
แนะนำให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในปริมาณ 10 กรัม/ต้น ความถี่เดือนละครั้ง โดยครั้งแรกให้ใส่ปุ๋ยหลังจากย้ายลงแปลงดินประมาณ 7 วัน
- การเด็ดยอด
การเด็ดยอดเป็นการเร่งการแตกกิ่งก้าน เพื่อเพิ่มจำนวนและปริมาณดอก แนะนำให้เด็ดยอดเมื่อต้นบานไม่รู้โรยมีความสูงประมาณ 8 – 10 นิ้ว
การกําจัดศัตรูพืช บานไม่รู้โรย
1) หนอนกินใบ ระบาดมากในฤดูฝน
วิธีกําจัด ใช้สารเคมีไทโอดิคาร์บ หรือ คาร์โบซัลแฟน
2) โรคใบจุด อาการเริ่มต้นของโรคนี้ ใบจะมีจุดสีแดงหรือสีน้ำตาลแดงค่อย ๆ ขยายวงออกไปจนลุกลามเต็มใบ ค่อยแห้งไป
วิธีกําจัด ใช้สารเคมีฉีดพ่น เช่น แบนเลท หรือ แคปแทน
3) โรคแอนแทรกโนส ใบเป็นจุดสีน้ำตาลอ่อน แผลขยายวงกว้างออกไป ทําให้ใบเน่าได้
วิธีกําจัด ใช้สารเคมีป้องกันกําจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซบ สลับคาร์เบนดา
เป็นอย่างไรบ้างกับเกร็ดความรู้ พร้อมวิธีการปลูก ดอกบานไม่รู้โรย ให้โตสวย สุขภาพดี ไม่อยากอย่างที่คิดใช่ไหมคะ เพียงปรับสภาพแวดล้อมให้มีความเหมาะสม รดน้ำ ให้แสง ตามที่เราวิธีง่าย ๆ ที่เราแนะนำไป เท่านี้ทุกคนก็จะได้ บานไม่รู้โรย สวย ๆ ปลูกไว้ประดับบ้านและใช้งานได้ตามต้องการแล้ว หากใครสนใจนำพืชไปทำยาสมุนไพร อย่าลืมศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนน้าา
30 มกราคม 2024
โดย
Wishyouwell.