รู้จัก ปุ๋ยเกล็ด คืออะไร? ประโยชน์และการใช้งานเป็นอย่างไร?
ปุ๋ย ธาตุอาหารช่วยบำรุงพืชให้เจริญเติบโต ถือว่ามีความสำคัญต่อพืชอย่างมาก ซึ่งปุ๋ยก็มีหลากหลายแบบให้เลือกใช้ แต่ในบทความนี้ SGE จะพาไปรู้จักกับ ปุ๋ยเกล็ด ว่าคืออะไร? วิธีใช้งานทำได้อย่างไรบ้าง ตามไปดู
ปุ๋ยเกล็ด คือ?
ปุ๋ยเกล็ด คือ เคมีชนิดหนึ่ง เกิดจากการนำแม่ปุ๋ยชนิดต่าง ๆ มาผสมกันให้ได้สูตรตามที่ต้องการ มีลักษณะเป็นผลึกแข็ง ละลายน้ำได้ดี ซึ่งในปุ๋ยเกล็ด จะมีธาตุอาหารพืช 3 ชนิด คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ซึ่งเป็นธาตุที่จำเป็นสำหรับพืช จึงนิยมนำไปใช้ฉีดพ่นทานใบของพืช เป็นปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารพืชทางใบได้ดีกว่าการให้ปุ๋ยทางดิน แต่ก็สามารถใช้ปุ๋ยเกล็ดทางดินได้ แต่ไม่นิยม เพราะมีราคาที่สูงกว่าปุ๋ยเม็ดนั่นเอง
ประเภทของปุ๋ยเกล็ด มีอะไรบ้าง?
สามารถแบ่งปุ๋ยเกล็ด ได้3 ชนิด คือ
- แม่ปุ๋ยเกล็ด จะมีธาตุอาหารหลัก (NPK) ธาตุใดธาตุหนึ่งเท่านั้น เช่น ปุ๋ยเกล็ดเวสโก้ เมก้าลีฟ-เอ็น 46-0-0, ปุ๋ยเกล็ดเวสโก้ เมกาซอล-เค 0-0-50 เป็นต้น
- ปุ๋ยเกล็ดผสม จะมีธาตุอาหารหลัก (NPK) ครบทั้ง 3 ธาตุ เช่น ปุ๋ยเกล็ดออคิเดนซ์ 28-6-5, ปุ๋ยเกล็ดออคิเดนซ์ 8-16-36 เป็นต้น
- ปุ๋ยเกล็ดผสม+จุลธาตุ จะมีธาตุอาหารหลัก (NPK) ครบทั้ง 3 ธาตุ + Trace Element คือ ธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม เพิ่มเติมเข้ามาให้ด้วย
วิธีใช้ปุ๋ยเกล็ด
เราต่างรู้กันอยู่แล้วว่า ปุ๋ยเกล็ดส่วนใหญ่ จะนิยมใช้ในการให้ธาตุอาหารกับพืชทางปากใบ มากกว่าให้ทางดิน โดยวิธีใช้ปุ๋ยเกล็ด สามารถทำได้ ดังนี้
- นำปุ๋ยเกล็ดไปผสมกับน้ำ ในอัตราส่วนที่ต้องการจะใช้พืชในแต่ละชนิด เช่น พืชตระกูลถั่ว ใช้ปุ๋ยเกล็ด 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นต้น โดยน้ำที่ใช้ต้องเป็นน้ำสะอาด ไม่ขุ่น ไม่มีตะกอน
- คนให้ปุ๋ยเกล็ดละลายกับน้ำ ประมาณ 2 นาที พร้อมนำไปใช้งาน โดยจะใช้ฉีดพ่นทุก ๆ 7-10 วัน
- หลังจากการฉีดพ่นปุ๋ยเกล็ดแล้ว ควรใช้สารจับใบร่วมด้วย จะช่วยให้ปุ๋ยเกล็ดติดคงทนอยู่บนใบพืชได้นาน และพืชดูดซึมธาตุอาหารได้มาก ทำให้ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยลงอีกด้วย
ช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการให้ปุ๋ยเกล็ดกับพืชมากที่สุด คือ ช่วงเวลาที่ปากใบของพืชเปิด ปากใบของพืชจะเปิดขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ
- ปัจจัยภายใน พืชโดยทั่วไปโดยธรรมชาติจะเปิดปากใบตอนกลางวัน และปิดปากใบตอนกลางคืน ยกเว้นพวกพืชอวบน้ำ พืชทะเลทราย จะเปิดปากใบตอนกลางคืน และปิดปากใบตอนกลางวัน
- ปัจจัยภายนอก ประกอบด้วย 4 ปัจจัย คือ รังสีจากแสงแดด,ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซต์, ความชื้นรอบ ๆ ใบ และสภาพการขาดน้ำของพืช
ตัวเลขสูตรปุ๋ย ดูอย่างไร?
- ปุ๋ยเกล็ดสูตร 30-20-10 คือ กลุ่มประเภทใบสวย ต้นสวย (เลขหน้าเยอะ เน้นบำรุง ต้น ใบ ราก)
- ปุ๋ยเกล็ดสูตร 10-52-17 คือ กลุ่มประเภทพืชกำลังติดดอก ให้ดอกสวย ผลเยอะ (เลขกลางเยอะ เน้นบำรุง ดอก ผล)
- ปุ๋ยเกล็ดสูตร 21-21-21 คือ กลุ่มประเภทสูตรเสมอ ให้ผลเยอะ ขยายขนาด และเพิ่มความสมบูรณ์ของผล (เน้นบำรุง ผล หรือหัว)
ข้อดี-ข้อเสียของปุ๋ยเกล็ด
ข้อดี
- ช่วยให้พืชเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว หลังจากการย้ายปลูก และตั้งตัวได้
- สามารถใช้กับอาการขาดธาตุอาหารในระยะแรก ๆ ได้ดี อาจใช้ผสมกับการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลง และควบคุมวัชพืชได้
- เป็นตัวช่วยรเสริมธาตุอาหารหลัก คือ ไนโตรเจน ในปุ๋ยยูเรีย และการให้ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริมแก่พืช เพราะพืชสามารถดูดธาตุอาหารโดยทางใบได้มากกว่า และเร็วกว่าการดูดทางราก
ข้อเสีย
- ไม่สามารถให้ธาตุอาหารแก่พืชได้อย่างเพียงพอในปริมาณที่เท่าเทียมกับปุ๋ยทางดิน
- ปุ๋ยเกล็ดมีคุณสมบัติดูดความชื้นจากอากาศได้ง่ายกว่าปุ๋ยเม็ด ทำให้เสื่อมคุณภาพเร็ว
เป็นอย่างไรบ้างกับ สาระดี ๆ จากปุ๋ยเกล็ด วิธีใช้ปุ๋ยเกล็ด ที่เรานำมาฝากกัน เป็นอีกหนึ่งปุ๋ยที่นิยมใช้ฉีดพ่นทางใบ อย่างไรก็ตาม ก่อนเลือกใช้งาน อย่าลืมศึกษาหาข้อมูลให้ดีก่อน เพื่อการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ และผลผลิตงอกงาม
บทความดี ๆ น่าอ่าน:
- ชวนมาทำ ปุ๋ยพืชสด ช่วยบำรุงดินก่อนการปลูก มีประโยชน์อะไรบ้าง?
- สูตรวิธีทำ ปุ๋ยเร่งดอก เร่งการออกดอก ออกผลไว เพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร
- วิธีทำปุ๋ยหมัก แบบง่ายๆ เปลี่ยนขยะให้มีประโยชน์!
- วิธีทำ น้ำยาเร่งราก ปักชำตอนกิ่งง่าย รากงอกออกไว 100%
- วิธีทำ น้ำ em สูตรเร่งโต บำรุงพืชให้เจริญงอกงาม แข็งแรง ไม่เป็นโรค
- เครื่องพ่นยา เครื่องพ่นปุ๋ย เลือกอย่างไรให้เหมาะสม!
นอกจากนี้ SGE ของเรายังมี อุปกรณ์การเกษตร ให้เลือกสรรอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น สแลนกันแดด กระถางผ้าปลูกต้นไม้ ผ้าคลุมดิน และอีกมากมายให้เลือกชมกัน พร้อมบริการดี ๆ หลังการขาย ที่แสนประทับใจอย่างแน่นอน สามารถเลือกชมสินค้าได้ www.sgethai.com
30 มกราคม 2024
โดย
ลำดวน