เครื่องปรุงคู่จานอร่อย “พริกน้ำปลา” ภัยร้ายใกล้ตัวที่ควรรู้!
เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนที่เคยไปร้านอาหารตามสั่ง หรือร้านข้าวแกง แล้วชอบเติม “พริกน้ำปลา” เพิ่มบ้าง เชื่อว่าคงจะมีคนจำนวนไม่น้อย เพราะมันช่วยเพิ่มรสชาติได้ดีเลยที่เดียว แต่รู้หรือไม่ว่าพริกน้ำปลาถ้วยจิ๋วที่เคียงข้างเมนูสุดโปรด หรือบางร้านก็ใส่ถ้วยไว้ให้เติมได้ไม่อั้นที่เราชอบกินในชีวิตประจำวันนี่แหละที่จะทำให้เราเสี่ยงโรคร้ายได้ เพราะ 1 ช้อนชามีโซเดียมถึง 500 มิลลิกรัมเลยนะ 😱
ในวันนี้ SGE ขอพาทุกคนไปรู้จักกับพริกน้ำปลากันให้มากขึ้นกัน
พริกน้ำปลา คืออะไร?
หรือบางคนอาจจะเรียก น้ำปลาพริก เป็นเครื่องปรุงที่ได้รับความนิยมมากในประเทศไทย พบได้ทั่วไปตามร้านอาหารต่าง ๆ ใช้เพิ่มรสเผ็ด และเค็มในอาหาร ทำจากการผสมน้ำปลา และพริกขี้หนูเข้าด้วยกัน ในบางครั้งอาจใส่น้ำมะนาวด้วยเพื่อเพิ่มรสเปรี้ยว
“พริกน้ำปลา” ถือได้ว่าเป็นโซเดียมที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดที่มักถูกมองข้าม และถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของคนไทยไปแล้ว ไม่เชื่อลองสังเกตดูสิว่าร้านอาหารตามสั่งน้อยร้านนักที่จะไม่มีพริกน้ำปลา 😋
โซเดียมในพริกน้ำปลา อันตรายอย่างไร?
โซเดียม คือ แร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยทั่วไปร่างกายต้องการโซเดียมประมาณ 1,500 มิลลิกรัม ต่อวัน แต่ในชีวิตประจำวันของเราอาจจะบริโภคโซเดียมมากกว่านั้น โดยปริมาณโซเดียมสูงสุดที่บริโภคแล้วไม่อันตราย คือ ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม ต่อวัน หรือเกลือประมาณ 1 ช้อนชา เพราะหากได้รับปริมาณโซเดียมเกินความจำเป็นจะก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคความดันโลหิตสูง, โรคไต, โรคหัวใจ และโรคเส้นเลือดในสมองตีบหรือตัน เป็นต้น
ประโยชน์ของ โซเดียม
- ช่วยปรับสมดุลของเหลว และเกลือแร่ในร่างกาย
- ช่วยให้การส่งกระแสไฟฟ้า ไปตามเส้นประสาททำงานได้เป็นปกติ
- ช่วยรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกาย และความดันโลหิต
- ช่วยการหด และคลายตัวของกล้ามเนื้อ
- ช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจ
- หากรับประทานโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น ลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจได้ 10 เปอร์เซ็นต์ , ลดปัญหาหลอดเลือดอุดตันลง 13 เปอร์เซ็นต์ , ยืดอายุไต และไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง และโรคร้ายอื่น ๆ อีกด้วย
โทษของโซเดียม
- โรคไต เพราะปกติร่างกายของเราจะขับโซเดียมออกจากไต แต่ถ้ามีมากเกินไป ขับยังไงก็ไม่หมด ไตก็จะทำงานหนักจนเกิดอาการเสื่อม ทำให้ขับโซเดียมได้น้อยลง
- การรับประทานโซเดียมในปริมาณเกินความจำเป็นของร่างกาย ส่งผลทำให้เป็นความดันโลหิตสูงแบบถาวร ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อีกทั้งความดันโลหิตสูงจะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เต้นเร็วขึ้น และหากปริมาณของเหลวในร่างกายมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดอาการเส้นเลือดอุดตัน และเสี่ยงที่หัวใจจะวาย หัวใจขาดเลือด ไปจนถึงเส้นเลือดในสมองแตก ทำให้เสียชีวิต หรือกลายเป็น อัมพฤกษ์-อัมพาต ได้ในที่สุด
- เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน เพราะเมื่อร่างกายได้รับโซเดียม จะขับน้ำออกทางปัสสาวะมากขึ้น โดยขับเอาแคลเซียมออกมาด้วย ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียม จนเกิดกระดูกเสื่อมได้
- เสี่ยงโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เพราะการกินโซเดียมมาก ๆ จะไปทำลายผนังกระเพาะอาหาร จึงเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหาร และเกิดเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้
- คนที่เป็นโรคหอบหืดอยู่แล้ว การกินโซเดียมมาก ๆ อาจส่งผลกระทบได้
วิธีลดโซเดียม ต้องทำอย่างไร?
- หากปรุงอาหารรับประทานเอง ควรลดปริมาณเครื่องปรุงรสในอาหาร เช่น น้ำปลา ซอสปรุงรส ซีอิ๊ว น้ำมันหอย ผงชูรส และควรกะปริมาณ ก่อนปรุงรสทุกครั้ง
- หากว่าจำเป็นต้องรับประทานอาหารนอกบ้าน ควรหลีกเลี่ยงการปรุงรสเพิ่ม หลีกเลี่ยงการเติมพริกน้ำปลา ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ และไม่ควรซดน้ำแกงหรือน้ำซุปจนหมด เพราะโซเดียมจากเครื่องปรุงรสต่างๆ ส่วนใหญ่จะละลายอยู่ในน้ำแกง หรือน้ำซุปนั่นเอง
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัด อาหารหมักดอง, อาหารแช่อิ่ม, อาหารแปรรูป, อาหารสำเร็จรูป, อาหารกระป๋อง, อาหารแช่แข็ง, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, ขนมขบเคี้ยว ควรอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้ง แล้วเลือกอาหารที่มีโซเดียมน้อยที่สุด
- หลีกเลี่ยงขนมหวานที่มีโซเดียม เช่น กล้วยบวชชี และอาหารที่มีโซเดียมแฝง ขนมอบทุกชนิดที่ใส่ผงฟู เช่น ขนมปัง, เค้ก, คุ้กกี้, โดนัท, พาย, ซาลาเปา รวมทั้งสารกันบูดในอาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ
- เลือกใช้เกลือ หรือน้ำปลาโลว์โซเดียม ที่มีจำหน่ายตามร้านค้าต่าง ๆ มาปรุงรสแทนน้ำปลาทั่ว ๆ ไป
จะเห็นได้ว่า น้ำปลาพริกที่หลายคนชอบทานนั้นก็มีโทษอยู่เหมือนกัน สำหรับคนวัยหนุ่มสาวที่ยังแข็งแรง ก็ต้องระมัดระวัง และควบคุมการรับประทานอาหารรสเค็ม เพื่อเป็นการป้องกัน และไม่ให้เกิดการสะสมโซเดียมไว้ในร่างกายมากเกินไป อีกทั้งควรเลือกใช้เกลือ หรือน้ำปลาโลว์โซเดียม มาปรุงอาหารแทน เพื่อลดความเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ 😉👌 สามารถติดตาม บทความอื่นๆ ได้ที่นี่