รู้จักกับ ลูกยอ ประโยชน์เยอะ มีสรรพคุณต้านโรค ที่หลายคนอาจไม่รู้!
เมื่อพูดถึง ยอ หรือ ลูกยอ คงมีทั้งคนที่รู้จัก และไม่รู้จักอย่างแน่นอน บทความนี้ SGE จะพาไปรู้จักกับ ลูกยอ สรรพคุณ ประโยชน์ เป็นอย่างไรบ้าง ตามไปดูกันเลย
รู้จักกับ ลูกยอ คือ?
ยอ (Morinda citrifolia) ผลไม้เขตร้อน เป็นพืชพื้นเมือง ในแถบโพลีนีเซียตอนใต้ (Polynesia) และได้แพร่กระจายไปยังประเทศอื่น ๆ ในปัจจุบัน พืชชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ในประเทศไทย รู้จักกันในชื่อ ลูกยอ หรือยอ, ในประเทศมาเลเซีย รู้จักกันในชื่อ เมอกาดู (Mergadu), ในเอเชีย เรียกว่า นเฮา (Nhau), แถบหมู่เกาะตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก เรียกกันว่า โนนู และในเกาะซามัว ทองกา ราราทองกา ตาฮิติ เรียกกันว่า โนโน หรือว่า โนนิ
ลักษณะทั่วไปของลูกยอ
- ลำต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 2-6 เมตร ลำต้นมีขนาดเล็ก ขนาดโตเต็มที่ 5-10 เซนติเมตร ขึ้นกับอายุ และความอุดมสมบูรณ์ของดิน เปลือกลำต้นบาง ติดกับเนื้อไม้ ผิวเปลือก ออกสีเหลืองนวลแกมขาว หยาบ และสากเล็กน้อย แตกกิ่งน้อย 3-5 กิ่ง ทำให้แลดูไม่เป็นทรงพุ่ม
- ใบ เป็นใบเดี่ยว (simple leaf) แทงออกตรงข้ามกันซ้ายขวา มีรูปทรงรี หรือขอบขนาน ใบกว้างประมาณ 10-20 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ใบอ่อนสีเขียวสด เมื่ออายุใบมาก จะมีสีเขียวเข้ม ก้านใบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร โคนใบ และปลายใบมีลักษณะแหลม ขอบใบ และผิวใบเป็นคลื่น ผิวใบมันเกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน ด้านบนใบ มักพบเป็นตุ่มที่เกิดจากแบคทีเรีย
- ดอก ออกเป็นช่อกลมเดี่ยว ๆ สีขาว รูปทรงเหมือนหลอด ดอกแทงออกตามง่ามใบ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ไม่มีก้านดอกย่อย จัดเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ที่มีทั้งเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย กลีบรองดอก และโคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน กลีบดอกมีสีขาว เป็นรูปท่อ ยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร ผิวดอกด้านนอกเรียบ ด้านในมีขน ดอกส่วนครึ่งปลายบนแยกเป็น 4-5 แฉก ยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย ยาวประมาณ 15 มิลลิเมตร แยกเป็น 2 แฉก อับเรณูยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร
- ผล ผลเป็นชนิดผลรวม (multiple fruit) เช่นเดียวกับน้อยหน่า และขนุน เชื่อมติดกันเป็นผลใหญ่ดังที่เราเรียกผลหรือหมาก ขนาดผลกว้างประมาณ 3-5 ซม. ยาว 3-10 เซนติเมตร ผิวเรียบเป็นตุ่มพอง ผลอ่อน จะมีสีเขียวสด เมื่อแก่ จะมีสีเหลืองอมเขียว และเมื่อสุก จะมีสีเหลือง และเปลี่ยนเป็นสีขาวจนเน่าตามอายุผล เมล็ดในผล มีจำนวนมาก มีลักษณะแบน ด้านในเมล็ด เป็นถุงอากาศ ทำให้ลอยน้ำได้ ผิวเมล็ดมีสีนํ้าตาลเข้ม
ลูกยอ สรรพคุณ และประโยชน์ มีอะไรบ้าง?
ลูกยอนั้น มีประโยชน์ ทางด้านคุณค่าของอาหารมากมาย ยกตัวอย่างได้ ดังนี้
- ลูกยอเป็นแหล่งของแคลเซียม และยังมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระสูง
- ช่วยในการชะลอวัย และความเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย
- ช่วยบำรุงผิวพรรณ หนังศีรษะ และส้นผม
- น้ำลูกยอ ช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้
- น้ำสกัดจากใบยอ มีส่วนช่วยรักษาโรคเบาหวาน
- น้ำสกัดจากลำต้นยอ, น้ำสกัดจากใบยอ ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง
- ลูกยอ, ใบยอ ช่วยแก้วัณโรค ด้วยการใช้ผล หรือใบทำเป็นยาพอก
- ช่วยแก้อาการ คลื่นไส้ อาเจียนได้
- ช่วยขับลมในลำไส้ ช่วยในการย่อยอาหาร แก้อาการอาหารไม่ย่อย แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง ช่วยลดอาการท้องผูกได้
- ในทางการแพทย์สมัยใหม่ จะใช้ลูกยอ ช่วยบำบัด และรักษาโรคมะเร็ง
ลูกยอ สรรพคุณ จัดเป็นยาสมุนไพร ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ในเรื่องการช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน และถูกบรรจุอยู่ในยาสมุนไพร ในงานสาธารณสุขมูลฐาน โดยลูกยอสุก เป็นยาชั้นเลิศ ในการช่วยขับลม และช่วยย่อยอาหาร แต่สำหรับหญิงที่ตั้งครรภ์ ไม่ควรรับประทานผลยอ เพราะจะมีผลโดยตรงต่อระบบการหมุนเวียนของเลือดในครรภ์ และอาจทำให้แท้งบุตรได้
ประโยชน์ของลูกยอ
- ลูกยอสุก นำมาจิ้มกินกับเกลือ หรือกะปิ
- ลูกห่ามใช้ทำส้มตำ
- ใบอ่อน นำมาลวกกินกับน้ำพริก ใช้ทำแกงจืด แกงอ่อม ผัดไฟแดง หรือนำมาใช้รองกระทงห่อหมก เวลากินห่อหมก ควรกินใบยอด้วย เพราะมีวิตามินสูง
- นำมาใช้ทำสีย้อมผ้า โดยราก นำมาใช้ย้อมสีให้สีแดง และสีน้ำตาลอ่อน ส่วนเปลือก จะให้สีแดง เนื้อเปลือก จะให้สีเหลืองใช้ย้อมผ้าบาติก
- ปัจจุบัน มีการนำลูกไปแปรรูป โดยคั้นเป็นน้ำลูกยอ
- รากยอ มีการนำมาใช้แกะสลัก ทำรงควัตถุ สีเหลือง
- ใบสด มีการนำมาใช้ทำเป็นอาหารสัตว์ หรือนำมาเลี้ยงตัวหนอนไหม
- ลูกยอสุก มีการนำมาใช้ทำเป็นอาหารหมู
- มีการนำมาใช้ทำเป็นยารักษาสัตว์ ในการแพทย์ทางเลือกสมัยใหม่
ข้อควรระวังในการทานลูกยอ
- สารโปรซีโรนีน ที่พบในน้ำลูกยอ ต้องการน้ำย่อย เปปซิน (Pepsin) และสภาพความเป็นกรดในกระเพาะ เพื่อเปลี่ยนเป็นซีโรนิน ดังนั้น หากรับประทานน้ำลูกยอขณะที่ท้องอิ่มแล้ว จะทำให้มีผลทาเภสัชของสารซีโรนินน้อยลง
- คุณค่า และสรรพคุณน้ำลูกยอ จะลดลง เมื่อรับประทานร่วมกับแอลกอฮอล์
- การบด หรือการสกัดน้ำลูกยอ ไม่ควรทำให้เมล็ดยอแตก เพราะสารในเมล็ดยอ มีฤทธิ์เป็นยาระบาย อาจทำให้ถ่ายบ่อยได้
- ผู้ป่วยโรคไต ไม่ควรดื่มน้ำลูกยอ เพราะมีเกลือ โปแตสเซียมสูง อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้
- สตรีมีครรภ์ ไม่ควรบริโภคลูกยอ เพราะผลยอมีฤทธิ์ขับโลหิต อาจทำให้แท้งบุตรได้
การขยายพันธุ์
การปลูกลูกยอ นิยมปลูกด้วยการเพาะเมล็ด แต่สามารถขายพันธุ์ด้วยวิธีอื่นได้เช่นกัน เช่น การปักชำ การตอนกิ่ง แต่การเพาะเมล็ด จะให้ผลที่ดีกว่า และอัตราการรอดจะสูงกว่าวิธีอื่น โดยการเพาะเมล็ด จะใช้วิธีการบีบแยกเมล็ดออกจากผลสุก แล้วล้างด้วยน้ำ และกรองเมล็ดออก ผลที่ใช้ต้องเป็นผลสุกจัด ที่ร่วงจากต้นที่มีสีขาว เนื้อผลอ่อนนิ่ม ซึ่งจะได้เมล็ดที่มีสีดำ หรือสีน้ำตาลเข้ม เมล็ดที่ได้ต้องนำไปตากแห้ง 3-5 วันก่อน และนำมาเพาะในถุงเพาะชำ ให้มีต้นสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ก่อนนำลงปลูก ต้นยอ เป็นพันธุ์ไม้ที่ดูแลง่าย ไม่ค่อยมีแมลงศัตรูพืช หรือโรคพืชมาก และยังเป็นพืชที่ทนทานต่อสภาพดินเค็ม และสภาวะแห้งแล้งอีกด้วย จึงทำให้มีการแพร่กระจายพันธุ์อย่างรวดเร็วด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก : disthai.com, medthai.com
30 มกราคม 2024
โดย
ลำดวน