13,227 Views

คัดลอกลิงก์

กระเจี๊ยบเขียว พืชสมุนไพร กรอบอร่อย ประโยชน์มากมาย

กระเจี๊ยบเขียว พืชสมุนไพรอีกอย่างหนี่ง ที่คนไทยนิยมนำมารับประทาน ไม่ว่าจะในซุป สลัด หรือ ทานคู่กับน้ำพริก ซึ่งด้วยรสชาติที่กรอบ อร่อย จากส่วนของฝักกระเจี๊ยบเขียว ประกอบกับมีสารอาหารและสรรพคุณรักษาโรคได้มากมาย จึงทำให้ไม่เพียงอยู่ในเมนูอาหารของคนไทยเท่านั้น แต่ยังมีในอินเดีย และญี่ปุ่นอีกด้วย

อะไรทำให้ กระเจี๊ยบเขียว ได้รับความนิยมนำไปรับประทานขนาดนี้ และมีสารอาหารและประโยชน์มากมายขนาดไหน SGE จะชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ พืชสมุนไพร ชนิดนี้ กันมากขึ้น

ข้อมูลทั่วไป กระเจี๊ยบเขียว

ประโยชน์ของ กระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบเขียว จัดเป็นพืชล้มลุก เติบโตได้ดีในอากาศร้อนชื้น มีความสูงประมาณ 0.5-2.4 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านมีสีเขียว แต่บางครั้งก็มีจุดประม่วง มีขนอ่อนหยาบ ๆ ขึ้นปกคลุม ส่วนใบ จะเป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ มีเส้นใบออกจากโคนใบ 3-7 ใบ ปลายใบหยักแหลม ดอกจะมีสีเหลืองอ่อน ที่โคนกลีบดอกด้านในจะมีสีม่วงออกแดงเข้ม ส่วนผลจะมีลักษณะเป็นฝักเรียวยาว ปลายแหลม คล้ายนิ้วมือ ตามฝักจะมีขนอ่อน ๆ อยู่ทั่วฝัก ถ้าฝักอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ด้วยความที่ฝักอ่อนมีรสชาติหวานกรอบอร่อย จึงนิยมนำมารับประทานเป็นอาหาร ส่วนฝักแก่จะมีเนื้อเหนียว ไม่นิยมนำมารับประทาน

สำหรับต้นกำเนิดของ กระเจี๊ยบเขียว สันนิษฐานว่า มาจากประเทศซูดาน ทวีปแอฟริกา ก่อนที่จะถูกแพร่พันธุ์ไปทั่วโลก ในประเทศอินเดียเรียกกระเจี๊ยบว่า ภิณฑี ส่วนประเทศในตะวันออกกลาง เรียกว่า บามียะฮ์ ในประเทศไทย ก็มีเรียกอยู่หลายชื่อ โดยคนภาคกลาง นิยมเรียกว่า กระเจี๊ยบ กระเจี๊ยบมอญ มะเขือ มะเขือมอญ มะเขือทะวาย ทวาย ถ้าในภาคเหนือ จะเรียก มะเขือมอญ มะเขือพม่า มะเขือละโว้ มะเขือขื่น มะเขือมื่น ส่วนภาคอีสาน จะเรียกว่า ถั่วเละ โดยพื้นที่ที่มีการปลูกกระเจี๊ยบเขียวกันมากที่สุด ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในภาคกลาง เช่น นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี นครนายก ราชบุรี ระยอง พิจิตร สุพรรณบุรี สมุทรสาคร และกาญจนบุรี

⭐⭐ หากชื่นชอบบทความของ SGE ⭐⭐

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

สรรพคุณของ กระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบเขียว

1. ให้สารอาหารที่มีประโยชน์แก่ร่างกาย

เมื่อทานทั้งส่วนของฝักและเมล็ดพร้อมกัน จะดีต่อสุขภาพและได้รับพลังงานสูง เพราะเมื่อตรวจวัดจากฝักและเมล็ดแห้ง อย่างละ 100 กรัมนั้น พบว่า ให้พลังงานสูงถึง 33 กิโลแคลอรี และมีสารอาหารมากมาย ไม่ว่าจะเป็น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน เส้นใย  โดยเฉพาะโพแทสเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามิน เอ ที่สูงเป็นพิเศษ ซึ่งจะช่วยบำรุงสายตา ประสาทและสมอง ให้ทำงานได้ดี  รวมถึงยังมี แคลเซียม ที่จะช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง

2. ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารลำไส้

กิน กระเจี๊ยบเขียว แล้วดีต่อกระเพาะอาหารและลำไส้ เพราะใน “ผล” หรือ “ฝักกระเจี๊ยบเขียว” มีสารที่เป็นเมือกจำพวกเพกทิน (Pectin) และกัม (Gum) ช่วยเคลือบแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ และยังช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ไม่ให้เกิดการลุกลามได้เป็นอย่างดี

3. ช่วยรักษาโรคเบาหวานได้

ในฝักและเมล็ดกระเจี๊ยบเขียวมีเส้นใยรวมกันสูงถึง 22% ซึ่งด้วยคุณสมบัติของ เส้นใย ที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ได้ รักษาระดับการดูดซึมน้ำตาลจากลำไส้ใหญ่ ยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลและลดระดับไขมันในเลือดได้ กระเจี๊ยบเขียวจึงเป็นผักที่เหมาะอย่างมากสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยมีงานวิจัยหนึ่งทดลองใช้สารสกัดจากเมล็ดและผิวของกระเจี๊ยบเขียว ฉีดเข้าช่องท้องของหนูทดลอง ที่เป็นโรคเบาหวานในปริมาณ 60 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม พบว่าสารสกัดดังกล่าวอาจมีฤทธิ์ต้านเบาหวาน ด้วยการลดระดับน้ำตาลกลูโคส ในเลือดของหนูทดลองลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งแม้ผลการทดลอง เป็นเพียงการทดลองในสัตว์เท่านั้น ยังไม่มีการทดลอองในมนุษย์ แต่ก็ถือว่ามีโอกาสที่จะช่วยรักษาโรคเบาหวานนี้ได้อยู่เหมือนกัน

4. ช่วยบำรุงระบบขับถ่าย ป้องกันท้องผูก

ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของ เส้นใย ที่อยู่ในฝักกระเจี๊ยบเขียว ก็คือ ช่วยในการทำงานของลำไส้ ให้ดูดซึมสารอาหารได้ง่าย ส่งผลให้ระบบขับถ่ายดี ถ่ายอุจจาระได้คล่อง จึงช่วยป้องกันอาการท้องผูก นอกจากนี้ ยังช่วยกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย โดยเส้นใยของกระเจี๊ยบ จะไปจับกับน้ำดีจากตับ ซึ่งมักจับกับสารพิษที่ร่างกายต้องการขับถ่ายอยู่ในลำไส้ เมื่อขับถ่ายออกมาทางอุจจาระ จะทำให้ไม่เหลือสารพิษตกค้างอยู่ในร่างกาย

5. บำรุงรักษาทางเดินปัสสาวะและโรคเกี่ยวกับเพศ

ในตำรายาแผนโบราณของจีน มีการนำราก เมล็ด และดอกกระเจี๊ยบ มาใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ส่วนในประเทศอินเดียนั้นจะใช้ฝักนำมาต้มกับน้ำดื่ม เพื่อช่วยขับปัสสาวะ เมื่อมีอาการกระเพาะปัสสาวะและทางเดินปัสสาวะอักเสบ หรือเมื่อปัสสาวะขัด นอกจากนี้ ชาวอินเดียยังทานฝักกระเจี๊ยบ เพื่อรักษาโรคหนองใน และนำรากต้นกระเจี๊ยบ มาต้มน้ำเพื่อใช้รักษาโรคซิฟิลิส ด้วย

⭐⭐ หากชื่นชอบบทความของ SGE ⭐⭐

เครื่องซีลสูญญากาศ จาก SGE การันตีด้วยยอดขายอันดับ 1

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

การใข้ประโยชน์จากกระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบเขียว

1. รับประทานเป็นอาหาร

ในประเทศไทย นิยมนำฝักกระเจี๊ยบอ่อน มาเป็นผักจิ้มรับประทาน คู่กับน้ำพริก โดยนำมาต้มให้สุกหรือย่างไฟก่อน และยังมีการนำมาใช้ประกอบอาหาร ทำแกงต่าง ๆ เช่น แกงส้ม แกงเลียง แกงจืด หรือ ใช้ใส่ในยำต่าง ๆ ใช้ชุบแป้งทอด ทำเป็นสลัดหรือซุปก็มี โดยเมนูที่ทำจากกระเจี๊ยบเขียว เช่น แกงส้มกระเจี๊ยบเขียว แกงเลียงกระเจี๊ยบเขียว แกงจืดกระเจี๊ยบเขียวยัดไส้ แกงกะหรี่ปลาใส่กระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบเขียวผัดผงกะหรี่ ผัดเมล็ดกระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบผัดขิงอ่อน ห่อหมกกระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบต้มกะทิปลาสลิด ยำกระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบเขียวชุบแป้งทอด สลัดกระเจี๊ยบเขียว ชากระเจี๊ยบเขียว เป็นต้น

สำหรับคนในต่างประเทศ ชาวอียิปต์มักใช้ผลกระเจี๊ยบรับประทานร่วมกับเนื้อสัตว์ หรือนำมาใช้ในการปรุงสตูว์เนื้อน้ำข้น สตูว์ผัก หรือนำไปดอง ส่วนทางตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา จะใช้ผลอ่อนนำมาต้มเป็นสตูว์กับมะเขือเทศที่เรียกว่า “กัมโบ้” ในประเทศอินเดีย จะนำผลกระเจี๊ยบมาผัดหรือใส่ในซอสข้น มีมนูเช่น แกงกระเจี๊ยบ ผัดกระเจี๊ยบใส่เครื่องเทศ ส่วนชาวฟิลิปปินส์จะใช้กินเป็นผักสดและนำมาย่างกิน และชาวญี่ปุ่นจะนำมาชุบแป้งทอดกินกับซีอิ้ว

2. เป็นวัตถุดิบทดแทนในการทำขนมและเบเกอรี่

เพราะเมือกจากฝักของกระเจี๊ยบเขียว มีสารให้ความหนืด และมีไขมันต่ำ จึงมีการผลิตเมือกกระเจี๊ยบเขียวออกมา ทั้งในแบบผง และแบบของเหลว สำหรับใช้ประกอบขนมและเบเกอรี่ที่ดีต่อสุขภาพ โดยในสหรัฐอเมริกา พบว่า เมื่อมีการนำเมือกกระเจี๊ยบเขียวมาใช้ทดแทนเนยเหลว และไข่ในการทำเค้กบราวนี่ จะทำให้เค้กบราวนี่มีปริมาณไขมันลดลงจาก 6.6 กรัม เป็น 0.49 กรัม เลยทีเดียว โดยที่ยังคงรสชาติเดิมได้อยู่ และเมื่อผงกระเจี๊ยบเขียว มาผสมกับแป้งสาลีสำหรับทำขนมปัง เมื่อทดสอบความชื่นชอบ พบว่า ขนมปังที่มีการผสมผงกระเจี๊ยบเขียว มีผู้ชื่นชอบมากกว่าขนมปังที่ไม่ได้ผสมผงกระเจี๊ยบเขียว นอกจากนี้ ยังมีการนำเมือกกระเจี๊ยบเขียว มาใช้สำหรับผลิตฟิล์มห่ออาหารหรือเคลือบอาหารที่สามารถรับประทานได้อีกด้วย

3. เป็นส่วนประกอบในยาและอาหารเพื่อรักษาคนไข้

ทางการแพทย์ มีการนำฝัก และเมือกกระเจี๊ยบเขียว มาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป้นเป็นส่วนผสมของยาถ่ายพยาธิตัวจี๊ด เป็นส่วนผสมอาหารของคนไข้ ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง และกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน นอกจากนี้ เมือกกระเจี๊ยบเขียว ยังถูกใช้เพื่อผลิตแคปซูลบรรจุยาหรือใช้เคลือบตัวยาด้วย

⭐⭐ หากชื่นชอบบทความของ SGE ⭐⭐

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

ข้อควรระวังการบริโภค

ข้อควรระวังในการบริโภค กระเจี๊ยบเขียว

1. ไม่ควรบริโภคฝักกระเจี๊ยบแก่ เพราะเมล็ดกระเจี๊ยบเขียวที่เริ่มแก่ หรือ เมล็ดแก่ จะมีสารพิษที่มีผลต่อระบบประสาท คือ gossypol ที่อยู่รวมกับโปรตีนในเมล็ด เป็นอันตรายต่อร่างกาย

2. สำหรับฝักกระเจี๊ยบอ่อนก็ไม่ควรวางใจ เพราะมีสารพิษต่าง ๆ ตกค้างอยู่มาก เช่น สารคลอร์พิริฟอส สารคาร์โบซัลแฟน และสารกลุ่มไดไทโอคาร์บาเมตส์ ซึ่งอาจมีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เซลล์ประสาททำงานผิดปกติ ชาตามใบหน้า ลิ้น ริมฝีปาก และทำให้ชักได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย จึงควรเลือกซื้อกระเจี๊ยบเขียวจากแหล่งปลอดสาร และล้างกระเจี๊ยบเขียวให้สะอาดก่อนรับประทานทุกครั้ง ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำวิธีการล้างสารพิษตกค้างในผัก ไว้ดังนี้

  • ล้างด้วยน้ำไหล โดยนำกระเจี๊ยบเขียวไปแช่ในน้ำสักพัก ก่อนนำมาใส่ไว้ในตะกร้าหรือตะแกรง แล้วจึงเปิดให้น้ำไหลผ่านกระเจี๊ยบเขียวในความแรงที่พอประมาณ พร้อมกับใช้มือถูกระเจี๊ยบเขียวไปด้วยประมาณ 2 นาที ซึ่งวิธีนี้อาจลดสารพิษตกค้างได้ 25-65 เปอร์เซ็นต์
  • ล้างด้วยน้ำส้มสายชู โดยนำน้ำส้มสายชูปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ กับน้ำ 4 ลิตรมาผสมให้เข้ากัน แล้วจึงนำกระเจี๊ยบเขียวมาแช่ทิ้งไว้ 10 นาทีก่อนจะล้างออกด้วยน้ำสะอาด ซึ่งวิธีนี้อาจลดสารพิษตกค้างได้ 60-84 เปอร์เซ็นต์
  • ล้างด้วยผงฟูหรือเบคกิ้งโซดา โดยนำผงฟูหรือเบคกิ้งโซดาปริมาณ ½ ช้อนโต๊ะ กับน้ำ 10 ลิตรมาผสมให้เข้ากัน แล้วจึงนำกระเจี๊ยบเขียวมาแช่ทิ้งไว้ 15 นาทีก่อนจะล้างออกด้วยน้ำสะอาด ซึ่งวิธีนี้อาจลดสารพิษตกค้างได้ 90-95 เปอร์เซ็นต์

3. ไม่ควรกินแบบดิบ เพราะกลิ่นเหม็นเขียวของกระเจี๊ยบเขียวสด อาจทำให้เกิดอันตราย เช่น อาการเบื่อเมาได้ จึงควรต้มหรือลวกกระเจี๊ยบเขียวให้สุกจัดก่อนบริโภค ส่วนยางหรือเมือกของกระเจี๊ยบเขียวที่คนส่วนใหญ่เป็นกังวลนั้น อาจไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ต่อร่างกาย เพราะเมือกดังกล่าวสามารถละลายน้ำได้ อีกทั้งยังช่วยในการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่มีประโยชน์เมื่อลงสู่ลำไส้ใหญ่อีกด้วย

4. ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภคกระเจี๊ยบเขียวเสมอ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการรักษา เพราะมีงานวิจัยหนึ่งพบว่า กระเจี๊ยบเขียวอาจยับยั้งการทำงานของยาเมทฟอร์มิน ซึ่งเป็นยาที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน

กระเจี๊ยบเขียว เป็นพืชสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะด้วยคุณสมบัติที่สามารถป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยบำรุงระบบขับถ่าย และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จึงเหมาะกับทั้งวัยทำงานที่มักกินข้าวไม่ตรงเวลา และผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ใครที่กำลงัประสบกับโรคดังกล่าว ก็ลองหากระเจี๊ยบเขียวมาทานกันดู อาจจะช่วยรักษาและบรรเทาอาการป่วยให้ลดลงได้

⭐⭐ หากชื่นชอบบทความของ SGE ⭐⭐

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

31 กรกฎาคม 2024

โดย

Pres

ความคิดเห็น (Comments)

guest
0 Comments
โหวตสูงสุด
ใหม่สุด เก่าสุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด