“ลูกเดือย” สรรพคุณ ประโยชน์มากมายที่คุณยังไม่รู้!
สำหรับคนรักสุขภาพ เชื่อเลยว่า ไม่มีใครไม่รู้จักลูกเดือย เป็นธัญพืชที่ดีต่อสุขภาพหลาย ๆ อย่าง เช่น นำมาเป็นส่วนประกอบในอาหารต่าง ๆ แถมยังมีประโยชน์มากมายอีกด้วย ตาม SGE ไปรู้จักกับ ลูกเดือย กันดีกว่า ว่าคืออะไร? และจะมีประโยชน์อะไรบ้าง?
ลูกเดือย คืออะไร?
ลูกเดือย เป็นธัญพืช ตระกูลเดียวกับข้าว เป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในประเทศไทย เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง เพาะปลูกมากแถวภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีเส้นใยอาหารสูง มีลักษณะของต้น คล้าย ๆ ต้นข้าวโพด เม็ดเป็นสีขาวกลม ๆ รี ๆ รสชาติมันเล็กน้อย ลูกเดือยมีทั้งที่ กินได้ และกินไม่ได้ ชนิดที่กินได้ จะมีเปลือกผลอ่อน ซึ่งเรียกว่า เดือยกิน ปลูกไว้เพื่อใช้ทำเป็นอาหาร และยา
ลูกเดือยจัดเป็นพืชล้มลุก ตระกูลเดียวกับหญ้า เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ย วลักษณะลำต้น เป็นไม้เนื้ออ่อน ทรงกลม ตั้งตรง สูงประมาณ 1-3 เมตร แล้วแต่สายพันธุ์ ลำต้นเป็นข้อปล้อง มีนวลขาวปกคลุม ผิวลำต้นเรียบ สีเขียวอมเทา ใบเป็นใบเดี่ยวคล้ายใบขิง มีทั้งดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียบนช่อเดียวกัน จำนวนดอกย่อยต่อ 1 ช่อดอก ประมาณ 10-20 ดอก หรือมากกว่า
ทั้งนี้ ดอกลูกเดือยแต่ละดอก จะมีก้านดอกไว้รองรับกระเปราะที่มีเปลือกหุ้ม ที่จะพัฒนากลายเป็นที่เก็บผลหรือเมล็ด ภายในกระเปราะบรรจุดอกตัวเมีย 1 ดอก และก้านชูเกสรตัวเมียสีแดงคล้ำ 2 อัน ที่ยื่นโผล่มาจากกระเปราะ เพื่อรอรับการผสม ผลของลูกเดือย เรียกว่า ผลปลอม เพราะมีเฉพาะเมล็ดที่อยู่ด้านใน ไม่มีเนื้อผล จะประกอบด้วยเปลือกหุ้มเมล็ดสีน้ำตาล เปลือกหุ้มนี้ ค่อนข้างบาง แต่แข็งติดกับเมล็ด ที่มีลักษณะรูปหัวใจ ซึ่งจะมีร่องเว้าลึกตรงกลางของเมล็ด และมีความยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร
คุณค่าทางโภชนาการของลูกเดือย
ลูกเดือยจัดเป็นธัญพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูง อุดมไปด้วยวิตามิน และแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับร่างกาย เช่น วิตามินเอ, วิตามินบี1, วิตามินบี2, วิตามินอี, ธาตุแคลเซียม, ธาตุฟอสฟอรัส โดยเฉพาะวิตามินบี1 ที่มีปริมาณสูงมาก นอกจากนี้ ยังมีกรดอะมิโนหลายชนิด ที่สูงกว่าความต้องตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) เช่น กรดกลูตามิก ลิวซีน อะลานีน โปรลีน วาลีน ฟินิลอะลานีน ไอโซลิวซีน อาร์จีนีน เป็นต้น และยังมีกรดไขมันจำเป็นชนิดที่ไม่อิ่มตัว เช่น กรดลิโนเลอิก กรดโอเลอิก และกรดไขมันชนิดอิ่มตัว เช่น ปาลมิติก และสเตียริก อีกด้วย
คุณค่าทางโภชนาการของลูกเดือย (100 กรัม)
- พลังงาน 380 แคลลอรี่
- โปรตีน 15.4 กรัม
- ไขมัน 6.2 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 65.5 กรัม
- ไฟเบอร์ 0.8 กรัม
- แคลเซียม25 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 5 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 435 มิลลิกรัม
- วิตามิน B1 0.28 มิลลิกรัม
- วิตามิน B2 0.19 มิลลิกรัม
- วิตามิน B3 4.3 มิลลิกรัม
ประโยชน์ของลูกเดือย
- บำรุงพละกำลัง นิยมทำกันมานาน โดยเฉพาะในประเทศจีน มีผู้คนนิยมนำลูกเดือยมาผสมกับข้าวต้ม ก่อนที่จะนำมารับประทาน เพราะเชื่อว่า สามารถขจัดความอ่อนเพลีย และฟื้นฟูบำรุงกำลังได้
- เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก ในลูกเดือย มีปริมาณของฟอสฟอรัสอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อทานเป็นประจำ จะมีสุขภาพกระดูกที่แข็งแรง มากกว่าคนปกติ รวมไปถึงสุขภาพของฟันอีกด้วย
- ช่วยลดคอเลสเตอรอล จากผลการวิจัยในหนูทดลอง 2 กลุ่ม ที่ถูกเลี้ยงด้วยอาหารที่ทำให้มีคอเลสเตอรอลในร่างกายสูง และกลุ่มหนึ่ง ได้เพิ่มลูกเดือยให้เป็นอาหารด้วย เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าหนูกลุ่มที่กินลูกเดือยนั้น ระดับของคอเลสเตอรอลมีต่ำกว่าหนูที่ไม่ได้กินลูกเดือย
- ลดความเสี่ยงต่อการเกิดเซลล์มะเร็ง จากรายงานการวิจัยของประเทศจีน เมื่อเดือน สิงหาคม ปี 2009 มีรายงานผลจากการทดลองว่า สารสกัดจากลูกเดือย มีกลไกการทำงานในการไปช่วยยับยั้งมะเร็งบางชนิดได้ รวมทั้งอาจจะมีประโยชน์ สำหรับการนำไปใช้เพื่อการรักษาโรคมะเร็งด้วยเช่นกัน
- กระตุ้นการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิต จากการวิจัยพบว่า สารสกัดจากราก หรือเมล็ดเดือย สามารถกระตุ้นการหมุนเวียนของเลือด ทำให้เลือดสามารถไปหล่อเลี้ยงเซลล์ ในสวนต่าง ๆ ของร่างกายได้ดี ทำให้ผิวพรรณสดใส เต่งตึง แก้ปัญหาอาการผมร่วงได้
ลูกเดือยลดความอ้วนได้อย่างไร? พร้อมเมนูแนะนำ
ลูกเดือยเป็นธัญพืช ที่มีไฟเบอร์ เส้นใยอาหารสูงมาก เวลารับประทานแล้ว ทำให้รู้สึกอิ่มเร็ว และเป็นอาหารที่ให้พลังงานไม่เยอะ เมื่อเทียบกับปริมาณที่ทานเข้าไป อีกทั้งเส้นใยอาหารเหล่านั้น ช่วยในการปรับระบบการขับถ่ายได้ดี ช่วยขับกากของเสียอื่น ๆ ออกจากร่างกาย จึงช่วยให้น้ำหนักลดลงได้นั่นเอง
น้ำลูกเดือยลดน้ำหนัก
ส่วนผสม
- ลูกเดือย 100 กรัม
- น้ำเปล่า 6 ถ้วย
- น้ำตาลทรายแดง
- ธัญพืชอื่น ๆ เช่น ถั่วต่าง ๆ งาดำ งาขาว เป็นต้น
วิธีทำ
- นำลูกเดือยไปแช่น้ำไว้ 1 คืน เพื่อให้ลูกเดือยนิ่ม
- ตักลูกเดือยที่แช่น้ำออก แล้วนำมาพักให้สะเด็ดน้ำ
- นำลูกเดือยที่สะเด็ดน้ำแล้วกับธัญพืชอื่น ๆ ที่เตรียมเอาไว้ มาเทรวมกันในเครื่องปั่น
- ใส่น้ำเปล่าลงไป 3 ถ้วย แล้วปั่นให้ละเอียด
- เมื่อปั่นจนละเอียดแล้ว นำส่วนผสมที่ได้ไปกรองด้วยผ้าขาวบาง จะเหลือแต่น้ำลูกเดือย พร้อมน้ำมาดื่ม
หากใครที่เสียดายกากธัญพืช แนะนำให้ตักกากที่ถูกกรองออก นำมาใส่ในน้ำลูกเดือยตามปริมาณที่ต้องการ โดยตักใส่ก่อนที่จะต้ม แล้วนำมาต้มให้สุก จะได้สูตรน้ำลูกเดือยลดน้ำหนักพร้อมดื่ม อุดมไปด้วยใยอาหารสูง อิ่มอร่อย และช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี
ข้าวต้มกระดูกหมูลูกเดือย
ส่วนผสม
- ลูกเดือย
- พริกไทยขาวป่น
- รากผักชี
- กระเทียมเจียว
- ผักชีซอย
- กระดูกอ่อน
- เห็ดหอมสด
- เม็ดเก๋ากี้
- ฟัก
- เกลือ
- ซีอิ๊วขาว
- น้ำเปล่า
วิธีทำ
- นำลูกเดือยมาล้างให้สะอาด จากนั้นนำไปแช่ในน้ำเป็นเวลา 1 ชั่วโมง
- นำลูกเดือยที่ผ่านการแช่น้ำมันแล้วมาล้างให้สะอาดอีก 1 ครั้ง
- นำลูกเดือยใส่หม้อ เติมน้ำพอท่วมแล้วใส่เกลือลงไปเล็กน้อย ต้มลูกเดือยให้สุกนิ่มด้วยไฟปานกลาง
- ตักลูกเดือยที่สุกแล้วขึ้นมาพักให้สะเด็ดน้ำ
- ทำน้ำซุปกระดูกหมูโดยเริ่มต้นจาก ต้มน้ำให้เดือด จากนั้นใส่กระดูกหมู รากผักชี และเกลือเล็กน้อย รอจนเดือดอีกครั้ง แล้วลดระดับไฟเป็นไฟปานกลาง เคี่ยวจนน้ำซุปใส คอยช้อนฟองออก รอจนกระดูกหมูเริ่มนุ่ม
- จากนั้นใส่เห็ดหอม เม็ดเก๋ากี้ ฟัก แครอท แล้วปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว คนให้เข้ากันแล้วปิดไฟ
- ตักลูกเดือยต้มใส่ชาม จากนั้นนำน้ำซุปที่ได้มาราด โรยหน้าด้วยพริกไทย ผักชี และกระเทียมเจียว พร้อมเสิร์ฟ
ข้อควรระวังในการทานลูกเดือย
- ลูกเดือยไม่เหมาะกับผู้มีปัญหาท้องผูกและปัสสาวะบ่อย รวมถึงผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์
- หญิงตั้งครรภ์ ควรระมัดระวังการรับประทานลูกเดือย เนื่องจากมีการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า ลูกเดือยอาจเป็นพิษต่อตัวอ่อนในครรภ์ เป็นเหตุให้มดลูกบีบตัว และเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ได้ รวมถึงยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัย หากรับประทานลูกเดือยในช่วงที่ให้นมบุตร
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรระมัดระวังในการรับประทานลูกเดือย โดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด เพราะลูกเดือย อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากเกินไป
- ในการใช้ลูกเดือยเป็นสมุนไพรรักษาโรค ควรระมัดระวังเช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่น ๆ โดยจะต้องใช้ในขนาดที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับยาต่าง ๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากไป หรือใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้ลูกเดือยเป็นสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
ทิ้งท้ายสักนิด! ข้าวบาร์เลย์ VS ลูกเดือย ต่างกันอย่างไร?
ข้าวบาร์เลย์ มีกลูเตน
ลูกเดือยและบาร์เลย์ ไม่ใช่สายพันธุ์ใกล้เคียงกันเลย ลูกเดือย (Job’s tear หรือ Chinese pearl barley) แค่หน้าตาคล้าย ๆ บาร์เลย์ และมักปลูกกินกันแถบบ้านเรา หรือประเทศจีน ส่วนข้าวบาร์เลย์ คือ Barley ถ้าใครไม่คุ้นเคยกับบาร์เลย์ ก็สังเกตง่าย ๆ เวลากินไมโล หรือโอวัลติน เพราะในนมเหล่านั้น มีบาร์เลย์เป็นส่วนประกอบหลัก รวมไปถึงฮอร์ลิค เครื่องดื่มมอลท์สกัดด้วย ซึ่งความต่าง คือ ข้าวบาร์เลย์มีกลูเตน เลยทำให้หนึบ ๆ นั่นเอง
อ่านบทความ : “กลูเตน” คืออะไร? มักพบในอาหารอะไรบ้าง?
ลูกเดือย ไม่มีกลูเตน และเป็นยาบำรุงจีน
ส่วนลูกเดือยนั้น ไม่มีกลูเตน และเป็นยาจีนอีกด้วย ในศาสตร์จีนบอกว่า ลูกเดือยเป็นอาหารบำรุงกำลัง บำรุงม้าม กระเพาะ มีฤทธิ์เย็น ดับร้อน ต้านมะเร็ง แก้ปวดตามข้อ ดังนั้น คนที่มีปัญหากับกลูเตน สามารถลองกินลูกเดือยแทนข้าวบาร์เลย์ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก pobpad.com, disthai.com, medthai.com, sukkaphap-d.com
จะเห็นได้ว่าลูกเดือย อุดมไปด้วยคุณประโยชน์มากมายจริง ๆ และคงได้คำตอบไปแล้วว่า ลูกเดือยลดความอ้วนได้ด้วยนะ สำหรับใครที่อยากมีหุ่นสวย สุขภาพดี คงต้องให้ลูกเดือยเป็นตัวช่วย และเป็นเมนูประจำของบ้านกันแล้วล่ะ
บทความดี ๆ น่าอ่าน:
- 10 ธัญพืช สุดเจ๋ง ช่วยลดคอเลสเตอรอล และลดไขมัน
- รู้จัก ลูกตาล ผลไม้รสชาติดี สรรพคุณเลิศ ประโยชน์มากมาย
สามารถเก็บลูกเดือนไว้ได้นานขึ้น เมื่อยังไม่ได้นำมาใช้งาน เราอยากแนะนำสินค้าจาก SGE ไม่ว่าจะเป็น เครื่องซีลสุญญากาศ ที่ใช้ร่วมกันกับ ถุงซีลสุญญากาศ เป็นหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้เก็บอาหารได้นานยิ่งขึ้น
30 มกราคม 2024
โดย
ลำดวน