มือใหม่หัดทำเบเกอรี่ เลือกเตาอบแบบไหนดี?
อัปเดตเมื่อ วันที่ 10 กันยายน 2024
สำหรับมือใหม่หัดทำเบเกอรี่ การได้เห็นผลลัพธ์จากสิ่งที่เราลงมือทำเอง เป็นความสุขที่ไม่สามารถหาอะไรมาเปรียบเทียบได้ แต่การที่เบเกอรี่ของเราจะออกมาตามที่คิดนั้น นอกจากสัดส่วนที่ตวงเป๊ะ ๆ และขั้นตอนที่ทำอย่างพิถีพิถันแล้ว เตาอบเบเกอรี่ (Baking Oven) ก็เป็นอีกหนึ่งไอเทมที่เราต้องใส่ใจ แต่ มือใหม่ อย่างเรา จะเลือกเตาอบอย่างไรให้เหมาะสมและคุ้มค่าที่สุด? บทความนี้มีคำตอบ!
รู้จักประเภทของเตาอบเบเกอรี่
1. เตาอบตั้งโต๊ะ (Countertop Oven)
เตาติ๊ง หรือ เตาอบตั้งโต๊ะ (Countertop Oven) เป็นเตาอบไฟฟ้าทั่วไป ติดตั้งง่าย ราคาเริ่มต้นไม่แพง เหมาะกับมือใหม่ แต่ต้องเลือกขนาดให้เหมาะสม เพราะถ้าตัวเล็ก 10 – 20 ลิตร จะไม่เหมาะกับการอบเบเกอรี่ เพราะห้องอบค่อนข้างแคบ ทำให้ความร้อนอยู่ใกล้ขนมมากเกินไป แนะนำให้เลือกขนาด 40 ลิตรขึ้นไป ถึงจะใส่เค้กปอนด์และเบเกอรี่ก้อนใหญ่ได้ มือใหม่ ที่ต้องการ เตาอบเบเกอรี่ ราคาถูก หรือ อยากทำเบเกอรี่ง่าย ๆ ไม่บ่อยครั้ง “เตาติ๊ง” ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
- ประเภทเบเกอรี่ : ขนมทำง่าย เช่น เค้ก คุ้กกี้ บราวนี่
- ข้อดี : ราคาค่อนข้างถูก กะทัดรัด เหมาะกับมือใหม่
- ข้อเสีย : ส่วนมากกระจกฝาจะมีชั้นเดียว กักเก็บความร้อนได้ไม่ดี ทำให้อุณหภูมิด้านในไม่ค่อยเสถียร อาจมีไอร้อนแผ่ออกมาด้านนอก
2. เตาอบแบบชั้น (Deck Oven)
เตาอบขนม Deck Oven มีลักษณะเป็นชั้น ๆ คล้ายลิ้นชัก มีทั้งแบบชั้นเดียวและหลายชั้น เป็นเตาอบที่ออกแบบมาเพื่อทำเบเกอรี่โดยเฉพาะ นิยมในวงการเชฟเบเกอรี่ มีหลายแบบให้เลือก ตามชนิดพลังงานที่ใช้ ดังนี้
2.1) เตาอบแก๊ส (Gas Deck Oven) ใช้แก๊สเป็นแหล่งพลังงาน ร้อนเร็ว แต่ควบคุมอุณภูมิยาก ไม่ค่อยได้รับความนิยม
2.2) เตาอบไฟฟ้า (Electric Deck Oven) ใช้ไฟฟ้าเป็นแหล่งพลังงาน อุณหภูมิเสถียร ใช้งานง่าย ราคาเริ่มต้นไม่แพง เหมาะสถานที่ที่ห้ามใช้แก๊ส เช่น ห้าง คาเฟ่ บูทงาน
2.3) เตาอบแก๊ส ควบคุมด้วยไฟฟ้า (Gas Deck Oven with Electric Control) นวัตกรรมใหม่ ผสมผสานระหว่างแก๊สและไฟฟ้า ร้อนเร็ว อุณหภูมิเสถียร ประหยัดไฟฟ้า ราคาสูงกว่าเตาอบไฟฟ้าเล็กน้อย แต่คุ้มค่าในระยะยาว เพราะใช้กับแก๊ส LPG (แก๊สบ้าน) ได้
- ประเภทเบเกอรี่ : เบเกอรี่ทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเบเกอรี่ที่ต้องเล่นกับไฟ เช่น เค้ก ทาร์ตไข่ ชีสเค้กหน้าไหม้ คัสตาร์ด ครีมคาราเมล ฯลฯ
- ข้อดี : ปรับไฟบน – ล่างได้อิสระ อบขนมได้เยอะขึ้น ราคาเริ่มต้นไม่แพง ใช้งานได้นาน เหมาะกับมือใหม่ที่อยากเริ่มต้นธุรกิจในอนาคต
- ข้อเสีย : ราคาสูงกว่าเตาติ๊ง ดีไซน์ไม่ค่อยหลากหลาย
เตาอบคอนเวคชัน (Convection Oven) ตัวเครื่องพัฒนามาจาก รุ่น Deck Oven โดยการเพิ่มพัดลมเข้าไป ทำให้กระจายความร้อนได้ทั่วถึง ขนมสุกพร้อมกันทั้งเตา อบพร้อมกันได้หลายชั้น ผลิตไว ประหยัดเวลา แถมยังมีลูกเล่นเยอะ เช่น ระบบสเปรย์น้ำ ระบบจดจำสูตร ระบบพรูฟแป้ง ฯลฯ เตาประเภทนี้ นิยมในวงการเชฟมืออาชีพ เหมาะสำหรับมือใหม่ที่ต้องการผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
- ประเภทเบเกอรี่ : เบเกอรี่ทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพสทรี ขนมปังฝรั่งเศส ครัวซองต์ แป้งพัฟ แป้งพาย แป้งเดนิช คุ้กกี้ พิซซ่า มาการอง เมอแร็งก์ บราวนี่ ฯลฯ
- ข้อดี : ระบบทำความร้อน + พัดลม หมุนเวียนอากาศ กระจายความร้อนทั่วทั้งเตา อุ่นเครื่อง (Preheat) เร็ว อบเสร็จไวกว่าเตาอบทั่วไปถึง 25 %
- ข้อเสีย : ราคาสูงกว่าเตาอบแบบชั้นและเตาติ๊ง
อ่านเพิ่มเติม 👉 Convection Oven คือ? ดีอย่างไร ทำไมถูกเรียกว่า “เตาเทพ”
4. เตาอบคอมบิ (Combi Oven)
เตาอบคอมบิ เตาอบคอมบิเนชั่น (Combi Oven) เป็นเตาที่รวมฟังก์ชันเตาอบลมร้อนและเตานึ่ง ใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์ สามารถตั้งโปรแกรมให้ใช้ความร้อนแยก หรือ สองแบบได้พร้อมกัน เหมาะสำหรับใช้ทำอาหารคาวมากกว่า นิยมใช้ในร้านอาหาร โรงแรม หรือภัตตาคาร เนื่องจากมีขนาดใหญ่ ราคาแพง หากนำมาใช้ในบ้าน อาจจะเกินความจำเป็น
- ประเภทเบเกอรี่ : เบเกอรี่ทุกประเภท
- ข้อดี : ทำอาหารได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่อบ ย่าง นึ่ง ตุ๋น และยังสามารถทำอาหารแบบ sous-vide ได้
- ข้อเสีย : เหมาะกับทำอาหารคาวมากกว่า และ ราคาสูง อาจไม่เหมาะเป็น เตาอบเบเกอรี่มือใหม่
ฟังก์ชันที่ควรมองหาในเตาอบ
1. ทำความร้อนได้ไม่ต่ำกว่า 250 °C
เตาอบที่ดีต้องสามารถตั้งอุณหภูมิได้ไม่น้อยกว่า 250 องศาเซลเซียส เพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย โดยปกติเบเกอรี่จะใช้อุณหภูมิในการอบอยู่ที่ 150 – 200 องศาเซลเซียสแล้วแต่ชนิดและประเภทของขนมนั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น ชิฟฟอนเค้กใช้อุณหภูมิ 160-180 องศาเซลเซียสในการอบ ในขณะที่สปันจ์เค้ก ใช้อุณหภูมิประมาณ 180-200 องศาเซลเซียส ดังนั้น ยิ่งเตาอบตั้งค่าความร้อนได้สูงมากเท่าไหร่ ยิ่งทำขนมได้หลายชนิดมากขึ้นเท่านั้น
2. ตั้งเวลาอบได้ ไม่น้อยกว่า 90 นาที
ก่อนการเลือกซื้อ เตาอบเบเกอรี่มือใหม่ ทั้งอุณหภูมิและเวลา เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาในลำดับต้น ๆ โดยทั่วไปขนมหรือเบเกอรี่ จะใช้เวลาในการอบอยู่ที่ 20 – 90 นาที แต่ถ้าหากปริมาณเบอเกอรี่ในเตาอบเยอะ ก็อาจต้องเพิ่มเวลาขึ้น หากเลือกเตาอบที่ตั้งเวลาได้น้อย เมื่อทำขนมที่ต้องใช้เวลานาน เราต้องคอยกลับมาตั้งเวลาใหม่จนครบเวลา แย่ไปกว่านั้น หากลืมกลับมาตั้งเวลา ขนมชิ้นนั้นอาจมีเนื้อสัมผัส รสชาติที่ผิดเพี้ยนไปจากสูตรเดิม เนื่องจากความไม่ต่อเนื่องของอุณหภูมิก็ได้
3. ไฟบน – ไฟล่าง ปรับแยกได้อิสระ
เตาอบไฟฟ้าบางยี่ห้อ ให้ความร้อนจากด้านล่างเพียงอย่างเดียว ทำให้ทำขนมบางชนิดได้ผลลัพธ์ที่ไม่ตรงตามความต้องการ เช่น ทาร์ตไข่ ที่ต้องอาศัยความร้อนจากด้านบนเพื่อทำให้หน้าไหม้ เตาอบที่ดีจึงต้องมีระบบทำความร้อนทั้งด้านบน ด้านล่าง สามารถเลือกปรับได้อิสระ เพื่อให้เราเลือกได้ว่าต้องการให้ขนมชิ้นนั้นสุกในลักษณะไหน เช่น สุกล่าง สุกบน หรือสุกทั้งล่าง-บน เป็นต้น
4. หลอดไฟส่องสว่างภายในเครื่อง
สำหรับมือใหม่แล้ว ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นไปกว่าการสังเกตขนมหรือเบเกอรี่ที่อยู่ภายในเตาว่าสุกอยู่ในระดับใด มีสีสวยหรือไม่ มีความฟูมากน้อยแค่ไหน หรือมีอะไรผิดพลาดหรือไม่ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ หรือ เบเกอรี่ชิ้นนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างที่ต้องการ จะได้แก้ไขได้ทันท่วงที
5. กระจกนิรภัยหนา 2 ชั้น
เนื่องจากเตาอบเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้ความร้อนในการทำงาน ส่วนประกอบทุกชิ้นจึงต้องมีคุณสมบัติในการทนความร้อนสูง ประตูกระจกก็เช่นกัน ควรเลือกกระจกนิรภัย ตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป เพื่อความทนทาน กันความร้อนออกมาภายนอกได้ เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาอุณหภูมิให้คงที่
6. แข็งแรงทนทาน มาตรฐาน Food Grade
เตาอบเบเกอรี่ เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้งานร่วมกับขนมและอาหารอยู่ตลอดเวลา วัสดุที่ใช้ผลิตจึงต้องสามารถสัมผัสอาหารได้ (Food Grade) ที่สำคัญคือต้องมีความแข็งแรง ทนทาน ทนต่อความร้อนและสภาพอากาศภายนอกได้ดี จึงจะคุ้มค่า คุ้มราคา และคุ้มการลงทุน
TIPS
นอกจากจะพิจารณาเตาอบเบเกอรี่มือใหม่ จากประเภทและคุณสมบัติที่จำเป็นในเบื้องต้นแล้ว อย่าลืมเลือกยี่ห้อหรือผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน มีการรับประกันสินค้า พร้อมบริการหลังการขายที่ดี เพื่อความอุ่นใจในการใช้งาน เพราะมือใหม่หลายคนอาจจะยังไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับเตาอบมากนัก การได้รับคำปรึกษาจากผู้ขายหรือผู้ผลิตจึงมีความจำเป็นมาก และที่สำคัญควรมี สินค้าให้ทดลองใช้จริง เพื่อดูสินค้าตัวจริงและทดสอบระบบต่าง ๆ ก่อนซื้อ ยกตัวอย่างเช่น เตาอบเบเกอรี่ของ SGE ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กล่าวมา
ชวนสำรวจความต้องการก่อนซื้อ
1. เบเกอรี่ที่ต้องการอบ
-
- เบเกอรี่ทำง่าย เช่น เค้ก คุ้กกี้ แพนเค้ก แนะนำ เตาติ๊ง (Countertop Oven)
- เบเกอรี่ที่ต้องเล่นกับไฟบน – ไฟล่าง เช่น เค้ก (Cake), เบเกอรี่ Quick Bread บิสกิต มัฟฟิน สโคน ขนมอบโลฟ (Loaf) ขนมปังปอนด์แถว ขนมปังแซนด์วิช ขนมปังรำ ขนมโดนัท เครป แพนเค้ก วาฟเฟิล ขนมปังที่ใช้ผงฟู ขนมปังที่ต้องเล่นกับไฟบน – ล่าง รวมถึงเบเกอรี่จำพวกฟลาน (Flan) เช่น ทาร์ตไข่ คัสตาร์ด ครีมคาราเมล ฯลฯ แนะนำ เตาอบแบบชั้น (Deck Oven)
- เบเกอรี่ที่ต้องการการพองตัว สีที่สม่ำเสมอ กรอบนอกนุ่มใน เช่น เพสทรี ขนมปังฝรั่งเศส ครัวซองต์ แป้งพัฟ แป้งพาย แป้งเดนิช คุ้กกี้ พิซซ่า มาการอง เมอแร็งก์ บราวนี่ ฯลฯ แนะนำ เตาอบคอนเวคชั่น (Ovection Oven)
2. กำลังผลิตที่อยากได้
ในปัจจุบัน เตาอบเบเกอรี่ มีหลายขนาด สามารถเลือกซื้อตามความจุของเตาอบเบเกอรี่ เลือกตามขนาดของถาด หรือสอบถามกับผู้ผลิตเพื่อความแน่ใจ
3. ฟังก์ชันที่ต้องการเพิ่ม
เตาอบเบเกอรี่มือใหม่ เพียงแค่ปรับอุณหภูมิและเลือกใช้ไฟบน – ล่าง และตั้งเวลาได้ ก็สามารถอบขนมได้หลากหลายชนิดแล้ว แต่ถ้าเราต้องการผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น การมีฟังก์ชันเสริมก็จะช่วยให้การทำเบเกอรี่ของเราสนุกและได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจมากขึ้น เช่น ระบบอบด้วยไอน้ำ ระบบหมัก ระบบละลายน้ำแข็ง โปรแกรมจดจำสูตร ฯลฯ
4. ข้อจำกัดของงบประมาณ
หากมีงบประมาณ ประมาณ 3,000 -5,000 แนะนำเป็นเตาติ๊ง แต่หากมีงบประมาณที่มากกว่านี้เล็กน้อย แนะนำเป็น เตาอบแบบชั้น หรือ เตาอบคอนเวคชัน มากกว่า เพราะเตาทั้งสองแบบนี้ ผลิตขึ้นมาเพื่อทำเบเกอรี่โดยเฉพาะ แถมยังราคาสูงกว่าเตาติ๊งนิดหน่อย แต่ใช้งานได้นาน อบขนมได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับมือใหม่
1) การเผาเตาอบก่อนการใช้งาน
การ “เผาเตาอบ” ก่อนการใช้งานจริง เป็นการขจัดสารเคลือบภายในเตาอบด้วยการใช้ความร้อนสูง ทำให้สารเคมีและกลิ่นไม่พึงประสงค์หายไป วิธีทำง่าย ๆ คือ นำอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนของเตาอบ เช่น ถาดรองอบ ตะแกรง เข้าไปในเตา จากนั้นเปิดเครื่อง เปิดไฟบน – ไฟล่าง ปรับอุณหภูมิให้อยู่ที่ 200-250 องศาเซลเซียส แล้วอบทิ้งไว้ประมาณ 30 – 60 นาที เมื่อครบกำหนดเวลา ให้เปิดฝาเตา รอให้เย็นลง จากนั้นนำอุปกรณ์ทั้งหมดไปล้างด้วยน้ำยาล้างจาน ภายในเครื่องให้ทำควาสะอาดด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ด
2) การใช้ถาดอบ กระดาษไข อะลูมิเนียมฟอยล์
- ถาดอบเบเกอรี่ (Baking Tray) เป็นถาดที่ออกแบบพิเศษสำหรับใช้กับเตาอบ หรือ ใช้กับอุณภูมิสูงเป็นพิเศษ นิยมใช้วัสดุที่นำความร้อนได้ดี ทนทาน ปลอดภัย ใช้กับอาหารได้ เช่น ถาดอะลูมิเนียม ถาดสแตนเลส ถาดสแตนเลสเคลือบอีนาเมล เป็นต้น
- กระดาษไขรองอบ (Baking Paper) เป็นกระดาษสำหรับรองอบ มักใช้งานกับถาดอบเบเกอรี่ ช่วยให้ขนมไม่ติดถาด ลดการทาเนย
- อะลูมิเนียมฟอยล์ (Aluminum Foil) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยรักษาความสดของอาหาร ป้องกันการสูญเสียน้ำ การซึมผ่านของไขมันและน้ำมัน แถมยังป้องกันอากาศภายนอกหรือกลิ่นแปลกปลอมเข้าไปสัมผัสกับอาหารอีกด้วย นิยมใช้กับขนมปังที่ต้องการความชื้น ขนมที่มีไส้ เช่น พาย ทาร์ต ขนมที่มีหน้าชีส หน้าผลไม้ เพื่อรักษาความชื้น ป้องกันหน้าขนมไหม้ก่อนสุก
3) การใช้เทอร์โมมิเตอร์ (Thermometer)
เทอร์โมมิเตอร์ เป็นเครื่องมือวัดความร้อนภายในเตาอบ เพื่อตรวจสอบอุณหภูมิจริงในเตาอบและอุณหภูมิที่เราตั้งไว้ที่หน้าจอ ว่าตรงกันหรือไม่ เพราะเตาอบต้องใช้เวลาอุ่นเครื่อง อุณหภูมิค่อย ๆ ร้อนขึ้น ทำให้ช่วงแรกอุณหภูมิในเตาไม่ตรงกับอุณหภูมิที่เราตั้งค่าไว้ การใช้เทอร์โมมิเตอร์จึงช่วยวัดอุณหภูมิจริงในเตาได้ เทคนิค คือ วางไว้ชั้นเดียวกับถาดขนมที่อบ
4) วิธีคำนวนองศาฟาเรนไฮต์ให้เป็นองศาเซลเซียส
มือใหม่ที่เพิ่งหัดทำอาหารหรือขนม หากมีสูตรในการทำขนม ควรสังเกตหน่วยอุณหภูมิของสูตรนั้นให้ดี เพราะอาหารหรือขนมบางสูตรเป็นสูตรของต่างประเทศ อาจใช้เป็นหน่วยฟาเรนไฮต์ ส่วนบ้านเราใช้เป็นองศาเซลเซียส หากต้องการเปลี่ยนจากฟาเรนไฮต์มาเป็นองศาเซลเซียส สูตรคือ C = (℉ – 32) / 1.8 หรืออาจจะใช้วิธีคำนวณในอินเทอร์เน็ตก็ได้
5) คำแนะนำในการใช้งานเตาอบเบื้องต้น
- การใช้งานเตาอบในครั้งแรก แนะนำให้ “เผาเตาอบ” เพื่อทำลายสารเคลือบที่เกิดจากกระบวนการผลิต
- เตาอบทุกประเภท ต้องอุ่นเครื่องก่อนอบ ประมาณ 15 – 30 นาที เพื่อให้อุณหภูมิ
- อย่าเปิดฝาเตาอบหากไม่จำเป็น เพราะความร้อนจะรั่วไหลออก ทำให้อุณหภูมิตกกะทันหั
- ค้นหาจุดร้อนในเตาอบ เตาอบทุกเครื่องจะมีจุดที่ร้อนกว่าจุดอื่น ๆ การรู้จักจุดร้อนจะช่วยให้ปรับตำแหน่งของถาดอบได้อย่างเหมาะสม
- ตำแหน่งชั้นวางในเตาอบก็มีผลต่อการอบขนมเช่นกัน หากต้องการให้ขนมสุกด้านล่าง ควรวางชั้นวางไว้ด้านล่าง แต่ถ้าต้องการให้หน้าขนมกรอบ ควรวางชั้นวางไว้ด้านบน
- ควรติดตั้งเบรกเกอร์ สำหรับเตาอบที่มีกำลังไฟฟ้า 3,000 วัตต์ขึ้นไป
จะเห็นว่าเทคนิคในการเลือก เตาอบเบเกอรี่มือใหม่ ไม่ยากอย่างที่คิด เพียงเลือกประเภทและสเปคของเตาอบให้เหมาะกับการใช้งาน เปรียบเทียบกับงบประมาณที่ตั้งไว้ เท่านี้ก็จะได้เตาอบที่ตอบโจทย์ความต้องการเราแล้ว หากใครที่ยังตัดสินใจไม่ได้ อย่าลืมนำคุณสมบัติที่เราได้แนะนำ ไปพิจารณาร่วมกับจุดเด่นของเตาอบที่เล็งไว้ว่าตรงกันหรือเปล่า หากคุณสมบัติขาดไปมาก แนะนำให้เปลี่ยนยี่ห้อ เพื่อผลลัพธ์การทำขนมที่ดีและตรงตามสูตรน้าา💖
เพื่อไม่ให้พลาดข่าวสารสำคัญ และโปรโมชั่นพิเศษมากมาย สามารถติดตามเราผ่านช่องทางต่างๆได้หลากหลายช่องทางตามด้านล่างนี้เลย