สูตรวิธีทำ ปลากระป๋อง เมนูปลากระป๋อง เมนูแสนประหยัด อิ่มท้องได้ทุกมื้อ
ปลากระป๋อง 🐟 เมนูอาหารคู่ครัวยามยาก หลายบ้านจะต้องมีไว้ติดบ้านกันอยู่เสมอ เพราะนำมาทำอาหารได้ง่ายและสะดวก หรือจะเปิดกินกับข้าวสวยเลยก็ยังได้ เหมาะกับคนที่ไม่มีเวลา เร่งรีบ หรือในวันที่หาเมนูอื่นกินไม่ได้ ก็ได้ปลากระป๋องนี่แหละช่วยชีวิต แต่การจะกินปลากระป๋องบีบมะนาวเฉย ๆ อาจจะเบื่อเกินไป
ตาม SGE ไปดูสูตร เมนูปลากระป๋อง 🐟 ที่ทำง่าย รวดเร็ว แถมประหยัดอีกด้วย ไปดูพร้อม ๆ กันเลย
รู้จักกับปลากระป๋อง สักนิด!
ปลากระป๋อง (Canned fish) คือ ปลาที่ผ่านการบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ เช่น กระป๋องดีบุกและให้ความร้อน เพื่อทำให้อาหารสุก การบรรจุกระป๋อง เป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง และสามารถขยายระยะเวลาการเก็บได้ถึง 1-5 ปี
ปลา มีความเป็นกรดต่ำซึ่งเป็นระดับที่จุลินทรีย์ สามารถแพร่กระจายได้ ดังนั้นอาหารที่มีความเป็นกรดต่ำ (มีค่า pH มากกว่า 4.6) จะต้องผ่านกระบวนการสเตอริไลซ์ภายใต้ความร้อนสูง (116-130 องศาเซลเซียส) เพื่อป้องกันการขยายพันธ์ของจุลินทรีย์ และแบคทีเรีย ที่ทำให้อาหารเน่าเสียได้
6 สูตร เมนูปลากระป๋อง ทำง่าย รสชาติถูกปาก
ไข่เจียวปลากระป๋อง
เมนูง่าย ๆ สุดเบสิคอย่างไข่เจียว แต่นำมาดัดแปลงให้อร่อยและหลากหลายยิ่งขึ้น ด้วยการทำเป็น ไข่เจียวปลากระป๋อง จานอร่อยกับของที่มีในครัว นำมาปรุงคลุกเคล้าทอดออกมาได้ไข่ฟูหอม ๆ เมนูบ้าน ๆ แต่อร่อยจริงจัง ทำไม่ยาก
ส่วนผสม
- ปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศ 1 กระป๋อง
- ไก่ 3 ฟอง
- หอมแดงซอย 2 หัว
- ผักชี 1 ต้น
- น้ำปลา 1 ช้อนชา
- น้ำมันสำหรับทอด
วิธีทำ
- ตอกไข่ใส่ชามผสม ปรุงรสด้วยน้ำปลา
- ใส่หอมแดง ผักชี ลงไป แล้วตีส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากัน
- ใส่เนื้อปลากระป๋องลงไป ยีให้พอแตก แล้วตีเบา ๆ ให้เข้ากันกับส่วนผสมอีกครั้ง
- ตั้งกระทะใช้ไฟกลาง ใส่น้ำมันลงไปเยอะพอสมควร
- จากนั้นเทไข่ลงไปขณะที่น้ำมันยังไม่ร้อน เพื่อให้ได้ไข่ที่กรอบฟู ทอดจนไข่ฟูและสุกทั้ง 2 ด้าน ตักใส่จาน พร้อมเสิร์ฟ
ข้าวผัดปลากระป๋อง
เมนูปลากระป๋องที่เด็กกินได้ผู้ใหญ่กินดี เปลี่ยนการกินปลากระป๋องแบบเดิม ๆ ให้มีสีสันและรสชาติยิ่งขึ้นจากของก้นครัว เหมาะในชั่วโมงเร่งด่วน ทำง่าย รวดเร็ว อร่อยเต็ม ๆ คำกับเนื้อปลา ที่คลุกเคล้ากับข้าวผัด ออกมาเป็นเมนูข้าวผัดปลากระป๋องสุดเข้มข้น
ส่วนผสม
- ข้าวสวย 1 ถ้วย
- ปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศ 1 กระป๋อง
- ไข่ไก่ 1 ฟอง
- หอมแดง 2 หัว
- กระเทียม 2 กลีบ
- พริกขี้หนู 5 เม็ด
- ผงปรุงรส 1/2 ช้อนชา
- ซอสปรุงรส 1 ช้อนชา
- น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา
- ต้นหอม ผักชี เล็กน้อย
- น้ำมันพืชสำหรับผัด
วิธีทำ
- ตั้งกระทะใส่น้ำมัน ผัดกระเทียมให้หอม แล้วใส่หอมแดง กับพริกขี้หนูลงไป
- ตอกไข่ใส่ลงไป รอให้ไข่ขาวสุกเล็กน้อยแล้วขยี้
- ใส่ข้าวสวยลงไปผัด ปรุงรสด้วยผงปรุงรส ซอสปรุงรส และน้ำตาลทราย ผัดให้เข้ากัน
- ใส่เนื้อปลากระป๋องลงไปพร้อมน้ำซอส แล้วค่อย ๆ ยีให้พอแตก และผัดอย่างเบามือ อย่าบี้แรงเกินไป เนื้อปลากระป๋อง จะเละ ไม่น่าทาน
- เมื่อผัดคลุกเคล้าทุกอย่างเข้ากันดีแล้ว โรยต้นหอมผักชีลงไป
- ตักใส่จานพร้อมเสิร์ฟ กินคู่กับเครื่องเคียงมะนาว แตงกวา ต้นหอม พร้อมทาน
ผัดผักคะน้าปลากระป๋อง
เมนูก้นครัว อิ่ม ง่าย ราคาประหยัดจานนี้ เป็นเมนูที่โปรดปรานของหลายคน ผัดผักคะน้านอกจากจะอร่อยมีประโยชน์แล้ว ยังสามารถเอามาประยุกต์เข้ากับเนื้อสัตว์ได้หลากหลาย และได้ออกมาเป็นเมนูที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงคะน้าปลากระป๋องจานนี้ ที่ทำง่ายใช้วัตถุดิบน้อย
ส่วนผสม
- ปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศ 2-3 กระป๋อง
- ผักคะน้าหั่นชิ้นพอคำ 2 ถ้วย
- พริก 3 เม็ด หรือตามชอบ
- กระเทียม 3 กลีบ
- น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทราย 1/2 ช้อนโต๊ะ
- ซอยหอยนางรม 1/2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมัน สำหรับผัด
วิธีทำ
- โขลกพริก กระเทียม พอหยาบ เตรียมไว้
- ตั้งกระทะใส่น้ำมันลงไป
- ใส่พริก กระเทียม ที่โขลกไว้แล้วลงไป ผัดให้หอม
- ใส่ผักคะน้าลงไป ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาล ซอสหอยนางรม
- เติมน้ำเปล่าลงไปเล็กน้อยแล้วผัดส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน
- พอคะน้าสุกดีแล้ว ใส่เนื้อปลากระป๋องลงไป แล้วผัดให้เข้ากันอย่างเบามือ พร้อมเสิร์ฟ
ผัดมาม่าปลากระป๋อง
เมนูอร่อยสำหรับคนงบน้อย เป็นเมนูฮิตของเด็กหอ รวมถึงเมนูประจำยามสิ้นเดือน เพราะใช้วัตถุดิบน้อย ราคาประหยัด แต่อิ่มท้องนาน อร่อยถูกใจทุกคน เป็นเมนูปลากระป๋องที่นิยมทำกินกันบ่อย ๆ
ส่วนผสม
- ปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศ 1 กระป๋อง
- มาม่า หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ห่อ
- กระเทียมสับ 1 ช้อนโต๊ะ
- พริกขี้หนูซอย 1/2 ช้อนโต๊ะ
- หอมแดงซอย 1 หัว
- ผักชีฝรั่ง 1 ต้น
- ผักชีไทยเล็กน้อย
- ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมะนาว ½ ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา
- น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันสำหรับผัด
วิธีทำ
- โขลกพริก และกระเทียมให้พอแหลกเตรียมไว้
- ตั้งกระทะใส่น้ำมัน ใส่พริกกับกระเทียม และหอมแดง ลงไปผัดให้พอหอม
- ใส่เนื้อปลากระป๋องลงไป ตามด้วยเส้นมาม่าที่ลวกไว้แล้ว
- ปรุงรสด้วยซอสปรุงรส น้ำมะนาว น้ำตาลทราย น้ำปลา และผัดให้เข้ากัน
- ตามด้วยพริกขี้หนู ผักชีฝรั่ง แล้วคลุกให้เข้ากันอีกครั้ง
- ตักใส่จาน ตกแต่งด้วยผักชี พร้อมเสิร์ฟ
ต้มยำปลากระป๋อง
ต้มยำปลากรป๋อง เมนูที่ทำง่าย วัตถุดิบหาไม่ยาก ส่วนมากจะมีติดก้นครัวทุกบ้าน อร่อย น้ำซุปแซ่บ ๆ และประหยัดอีกด้วย
ส่วนผสม
- ปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศ 1-2 กระป๋อง
- เห็ดฟาง 2 ถ้วย
- ข่า 3-4 แว่น
- ตะไคร้ 2 ต้น
- ใบมะกรูด 3 ใบ
- หอมแดง 3 ลูก
- พริกขี้หนูตามชอบ
- มะเขือเทศลูกเล็ก 5 ลูก
- ผักชีฝรั่ง และผักชีไทย เล็กน้อย
- น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา
วิธีทำ
- ตั้งหม้อต้มน้ำให้เดือด ใส่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และหอมแดงลงไป
- ใส่เห็ดฟาง มะเขือเทศตามลงไป
- ใส่เฉพาะเนื้อปลากระป๋องลงไป
- ปรุงรสด้วย น้ำปลา น้ำตาลทราย คนให้เข้ากัน
- พอน้ำเดือดอีกครั้ง ให้ใส่น้ำมะนาวลงไป ตามด้วยผักชีฝรั่ง เป็นอันเสร็จ
- ตักใส่ชาม ตกแต่งหน้าด้วยผักชีไทย พร้อมเสิร์ฟ
ปลากระป๋องกรอบคลุกฝุ่น
เมนูดัดแปลงที่อยากแนะนำ ปลากระป๋องมาคลุกแป้งทอดจนแห้ง คลุกกับผงปรุงรสลาบ เป็นได้ทั้งกับข้าว และอาหารรองท้อง กินกับผักสด อีกหนึ่งเมนูที่อยากให้ลอง
ส่วนผสม
- ปลาซาดีนในซอสมะเขือเทศ 2 กระป๋อง
- แป้งสาลีอเนกประสงค์ 1/3 ถ้วย
- ผักชีใบเลื่อยซอย 3 ใบ
- หอมแดงซอย 2 หัว
- ผงปรุงรสลาบ 2-3 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันพืชสำหรับทอด
- ผักสด เช่น แตงกวา แครอตลวก ข้าวโพดอ่อนลวก ผักกาด
วิธีทำ
- แยกเนื้อปลาซาดีนกับซอสมะเขือเทศ นำเนื้อปลามาแยกเป็นชิ้นอีกครั้ง ซับซอสมะเขือเทศออก
- คลุกเนื้อปลากับแป้งสาลีให้ทั่ว ใส่ลงทอดในน้ำมันร้อนให้สุกเหลือง
- ตักขึ้นใส่ชามผสม ใส่ผงปรุงรสลาบ ผักชีใบเลื่อยซอย หอมแดงซอย คลุกเบา ๆ ให้เข้ากัน จัดใส่จาน เสิร์ฟพร้อมผักสด
ภาพและสูตรจาก gourmetandcuisine.com
ประโยชน์จาก “ปลากระป๋อง”
อาหารกระป๋องส่วนใหญ่จะถูกมองว่าไม่ค่อยมีคุณค่าทางสารอาหาร แต่อันที่จริงแล้วสำหรับ “ปลากระป๋อง” คุณค่าทางสารอาหารที่มีอยู่ในเนื้อปลายังคงอยู่ และถือเป็นหนึ่งในอาหารที่มอบสารอาหารให้กับร่างกายได้ดีในยามฉุกเฉิน
แต่ปลากระป๋องก็มีทั้งประโยชน์และโทษในตัวของมันเอง ดังนั้น หากเราเลือกกินอย่างถูกวิธี เราก็จะเลือกส่วนที่เป็นประโยชน์มาใช้กับร่างกายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งส่วนประกอบของปลากระป๋อง มีดังนี้
- ปลาทะเล เช่น ปลาทูน่า, ปลาโอ, ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอเรล
- ซอสมะเขือเทศ
- น้ำมันปลา
- น้ำเกลือ
คุณค่าทางสารอาหารของปลากระป๋อง
- โปรตีน เนื้อปลากระป๋องเป็นโปรตีนที่ย่อยง่าย ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และบำรุงร่างกายในส่วนที่สึกหรอ
- โอเมก้า-3 จากปลาทะเล บำรุงสมอง ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ
- ทอรีน ช่วยในการทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ และเกล็ดเลือด หากเด็กได้รับทอรีนไม่เพียงพอ อาจจะมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองได้ โดยเฉพาะเด็กที่ดื่มนมวัว
นอกจากนี้ ทอรีน ยังช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด ช่วยขับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีออกจากร่างกาย ช่วยป้องกันตับอักเสบ ช่วยควบคุมน้ำตาลในรายที่เป็นเบาหวาน ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้คล่อง และช่วยป้องกันอาการซึมเศร้า - กรดลิโนเลอิก ลดการเกิดไขมันอุดตันในเส้นเลือด บำรุงสมอง ป้องกันหัวใจเต้นผิดจังหวะ
นอกจากนี้ ยังมีสารอาหารอย่าง ไขมัน, แคลเซียม, แมกนีเซียม, ฟอสฟอรัส, โพแทสเซียม, สังกะสีทองแดง, แมงกานีส, วิตามินเอ, วิตามินดี, วิตามินอี, วิตามินเค, วิตามินบี6, วิตามินบี9 และวิตามินบี12 โดยสารอาหารหลาย ๆ อย่างนี้ ช่วยบำรุงกระดูก และการที่ปลากระป๋อง เป็นปลาที่เราสามารถได้ทั้งกระดูก ทำให้ได้รับสารอาหารมากกว่าการกินเนื้อปลาเพียงอย่างเดียวอีกด้วย - ไลโคปีน จากซอสมะเขือเทศที่ผ่านความร้อน ต้านอนุมูลอิสระ และลดการอักเสบในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งของโรคกระดูกพรุน
อันตรายจากปลากระป๋อง
แม้ว่าปลากระป๋อง จะมีสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพไม่ใช่น้อย แต่พบว่า การปรุงรสในปลากระป๋อง ทำให้มีปริมาณโซเดียมสูง โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าปลากระป๋องขนาด 85 กรัม 1 กระป๋อง มีโซเดียมสูงถึง 300 มิลลิกรัม หรือคิดเป็น 1 ใน 7 ของปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ถ้ากินมากเกินไปนี่ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงโรคไตและโรคเรื้อรังหลายอย่าง
นอกจากนี้ ยังอาจมีอันตรายจาก “ฮีสทามีน” ที่เกิดขึ้นจากแบคทีเรียย่อย กรดอะมิโนในตัวปลา ระหว่างการขนส่ง และจัดเก็บปลาทะเล ซึ่งบางครั้งความเย็นอาจไม่มากพอ โดยพบบ่อยในปลาทูน่า ปลาโอแถบ ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอเรล ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของปลากระป๋อง
การรับประทานเนื้อปลาที่มีปริมาณฮีสทามีนสูงกว่า 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทำให้เกิดผลกระทบกับสุขภาพได้ โดยเฉพาะกับผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเสี่ยง คนที่ควรระวัง คือ คนที่แพ้อาการทะเล ผู้สูงอายุ และเด็ก ซึ่งวัยนี้ไม่มีความจำเป็นที่ต้องกินปลากระป๋อง รวมทั้งคนที่เป็นภูมิแพ้อาหารทะเลบางอย่าง ก็ต้องระวัง ส่วนอาการแพ้ก็ขึ้นอยู่กับการบริโภคมาก ๆ มีทั้งผื่นขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายท้องร่วมด้วย
การทานปลากระป๋องให้ได้ประโยชน์ และปลอดภัย
- ไม่กินมากหรือบ่อยครั้งจนเกินไป ควรเลือกเป็นโปรตีนในยามที่จำเป็น โดยไม่ควรรับประทานเกิน 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
- ไม่เลือกกินปลาชนิดเดียวกันซ้ำ ๆ ควรเปลี่ยนชนิดของปลาบ้าง
- ไม่ปรุงรสเค็มเพิ่มมากจนเกินไป หรือไม่ต้องปรุงเค็มเพิ่ม เพราะมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูงอยู่แล้ว
- เพิ่มผักอื่น ๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าทางสารอาหารในการปรุงเพิ่มได้
- เลือกกระป๋องของปลากระป๋องที่มีสภาพสมบูรณ์ ไม่บุบ เบี้ยว ไม่มีรูรั่ว หรือมีสนิมขึ้น และสังเกตวันหมดอายุก่อนรับประทาน
- หากรู้สึกว่ารสชาติ สี กลิ่น ไม่เหมือนปกติ ไม่ควรรับประทาน
เป็นอย่างไรบ้าง เมนูปลากระป๋อง ปลากระป๋อง สามารถรังสรรค์เมนูอร่อย ๆ มากมาย สามารถทำตามได้ง่าย ๆ ไม่ต้องเก่งงานครัวก็สามารถทำได้ ปลากระป๋อง เป็นเมนูสุดประหยัดที่เราสามารถเอามารังสรรค์เป็นเมนูได้มากมาย ทำเป็นอาหารกินกับข้าวก็ดี เป็นกับแกล้มก็เริ่ด เรียกได้ว่าปลากระป๋องเป็นอาหารคู่ครัวชาวไทยจริง ๆ นอกจากเมนูมาม่า ก็มีเมนูปลากระป๋องนี่แหละที่สุดแสนจะประหยัด แถมอร่อยด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง :
30 มกราคม 2024
โดย
ลำดวน