เรื่องน่ารู้ของ เห็ดหลินจือ และ วิธีเพาะเห็ดหลินจือ ที่หลายคนไม่รู้
เห็ดหลินจือ หลายคนคงได้ยินบ่อย ๆ โดยเฉพาะในโฆษณาอาหารเสริม แต่รู้หรือไม่ว่า มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง และ มี วิธีเพาะเห็ดหลินจือ อย่างไร หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากปลูกเห็ดหลินจือ เพื่อนำมารับประทานเอง หรือ ผลิตขายแล้วละก็ SGE มีคำตอบมาให้แล้ว พร้อมพาคุณไปรู้จักทุกแง่มุมที่ควรรู้ของเห็ดหลินจือ
ทำความรู้จัก เห็ดหลินจือ
เห็ดหลินจือ เป็นเห็ดป่าหายากชนิดหนึ่ง เดิมมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน ในเทือกเขาสูงที่มีชื่อว่า เทือกเขาฉางไป๋ซาน ก่อนที่ภายหลังจะถูกนำมาเพาะเลี้ยงในฟาร์มปิด เพื่อนำมาใช้ประโยชน์กันมากขึ้น ลักษณะเป็นดอกเห็ดขนาดใหญ่ เนื้อแข็งคล้ายไม้ ผิวด้านบนเป็นมันเงา มีสีน้ำตาลแดงไปจนถึงสีน้ำตาลม่วงและสีดำ ใต้หมวกของดอกเห็ดไม่มีครีบ ต่างกับเห็ดชนิดอื่น ๆ แต่จะมีรูเล็ก ๆ จำนวนมาก ซึ่งภายในรูนั้นเป็นที่กำเนิดของสปอร์ (Spores)
ด้วยความเชื่อของคนจีนโบราณที่ว่า เห็ดหลินจือนั้นมีสรรพคุณทางยาสูง จึงถูกบัญญัติให้เป็นสมุนไพรจีนในตำรายาโบราณที่มีชื่อว่า เสินหนงเปินเฉ่า ตั้งแต่เมื่อ 2,000 ปีก่อน โดยเชื่อกันว่ามีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยให้ชีวิตยืนยาว เป็นอมตะ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น เทพเจ้าแห่งชีวิต ถึงขนาดที่ช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพ เมื่อ ฉินซีฮ่องเต้ จักรพรรดิองค์แรกของจีน ปรารถนาชีวิตอมตะ ก็ได้ออกเดินทางตามหายาอายุวัฒนะไปทั่วประเทศ เพื่อนำมาเสวยให้มีชีวิตยืนยาว ซึ่งยาอายุวัฒนะที่ว่านั้น เชื่อกันว่าก็คือ เห็ดหลินจือ นั่นเอง
ประโยชน์ของเห็ดหลินจือ
ประโยชน์ของเห็ดหลินจือมีมากมาย โดยจาก 150 สายพันธุ์ เห็ดหลินจือที่ดีต่อสุขภาพมากที่สุดก็คือ เห็ดหลินจือสายพันธุ์สีแดง หรือ ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า กาโนเดอร์ม่า ลูซิดั่ม (Ganoderma lucidum) เนื่องจากมีสารสำคัญเช่น โพลีแซคคาไรด์ ไตรเทอร์พีนอยด์ เยอร์มาเนียม และ สารในกลุ่มนิวคลีโอไทด์ ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพดังนี้
1. ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง
โพลิแซคคาไรด์ในเห็ดหลินจือแดง ช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้ เนื่องจากประกอบด้วยสสารสำคัญ คือ เบต้ากลูแคน ที่จะกระตุ้นเม็ดเลือดขาวขนาดใหญ่ชื่อ แมคโครฟาจ (Macrophage) ซึ่งเป็น NK Cells หรือ เซลล์เพชฌฆาต ให้ออกมาทำงาน กำจัดเซลล์มะเร็งให้หมดไปได้ดียิ่งขึ้น
2. ลดระดับน้ำตาลในเลือด
นอกจากช่วยป้องกันโรคมะเร็ง โพลิแซคคาไรด์ยังช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ด้วย เนื่องจากมีสสารที่ชื่อว่า กาโนเดอแรนส์ ทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตอินซูลินมากขึ้น ซึ่งจะเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้กลับไปเป็นไขมัน ให้ร่างกายนำไปใช้เป็นพลังงาน ส่งผลให้เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดลงแล้ว ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานได้อีกด้วย
3. ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง
ใครมีความดันโลหิตสูง ควรรับประทานเห็ดหลินจือ เพราะมีสสารที่ชื่อว่า อะดีโนชีน (Adenosine) ในสารกลุ่มนิวคลีโอไทด์ มีฤทธิ์ในการลดการแข็งตัวของเกล็ดเลือด ทำให้เลือดลมหมุนเวียนได้ดี ช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูง รวมถึงโรคลิ่มเลือดแข็งตัวในเส้นเลือด และ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ได้
4. เสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
ในเห็ดหลินจือมีสารที่ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น โพลิแซคคาไรด์ ที่ช่วยกระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้กำจัดเชื้อไวรัส และ แบคทีเรีย ต่าง ๆ สารเยอร์มาเนียม ที่จะทำหน้าที่กระตุ้นให้เม็ดเลือดแดงได้รับออกซิเจนมากขึ้น และ สารไตรเทอร์พีนอยด์ ที่ช่วยลดการหลั่งของสารฮีสตามีน ทำให้อาการภูมิแพ้ลดลง ส่งผลให้สุขภาพโดยรวมแข็งแรง ระบบต่าง ๆ ในร่างกายมีความสมดุล สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. ป้องกันโรคไขมันอุดตันในหลอดเลือด
สารไตรเทอร์พีนอยด์ นอกจากช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ได้แล้ว อีกหน้าที่ที่สำคัญก็คือ ช่วยยับยั้งกระบวนการสังเคราะห์ของคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีในหลอดเลือด เพราะมี กรดกาโนเดอริค เป็นส่วนประกอบสำคัญ ทำให้ช่วยลดระดับไขมัน ป้องกันโรคไขมันอุดตันในหลอดเลือดได้ นอกจากนี้ ยังเข้าไปช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งตับ ป้องกันโรคมะเร็งตับได้อีกด้วย
วิธีบริโภค เห็ดหลินจือ ให้ปลอดภัย
เนื่องจาก เห็ดหลินจือ เป็นสมุนไพรจีนที่ใช้บริโภคเป็นยากันมาตั้งแต่โบราณ รวมถึงมีงานศึกษาและวิจัยในปัจจุบัน ที่ยืนยันถึงสรรพคุณและประสิทธิภาพในการรักษาโรคต่าง ๆ ทำให้เห็ดหลินจือมักถูกนำมาทำเป็นยารักษาโรค ตลอดจน ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เพื่อสุขภาพกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น นำดอกเห็ดมาหั่นเป็นแผ่นใส่ถุงขาย หรือทำเป็น น้ำเห็ดหลินจือ เครื่องดื่มชาเห็ดหลินจือ กาแฟเห็ดหลินจือ สำหรับดื่ม
อย่างไรก็ตาม ในทางการแพทย์ ยังคงไม่มีการกำหนดอย่างชัดเจนว่า ควรบริโภคเห็ดหลินจือที่ปริมาณเท่าไหร่ต่อวัน เพราะประสิทธิภาพและผลข้างเคียงจากการบริโภค อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยที่แตกต่างของผู้บริโภคด้วย เช่น อายุ สุขภาพ รูปแบบของการบริโภค และ จุดประสงค์ของการบริโภค ดังนั้น จึงควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเห็ดหลินจือ และ ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการบริโภค เพราะแม้เห็ดหลินจือในแต่ละรูปแบบจะเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ แต่สารเคมีและส่วนประกอบต่าง ๆ อาจส่งผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้
วิธีบริโภค เห็ดหลินจือ ให้ปลอดภัย จึงควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม โดยหากเป็นแบบอบแห้ง ไม่ควรเกิน 1.5 – 9 กรัม/วัน แบบผงสกัด ไม่ควรเกิน 1.5 กรัม/วัน และ สารละลายเห็ดหลินจือไม่ควรบริโภคเกิน 1 มิลลิลิตร/วัน สำหรับผู้ที่ไม่ควรบริโภคเห็ดหลินจือ ได้แก่ สตรีมีครรภ์หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตร ผู้ป่วยที่ต้องรับการผ่าตัด ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเช่น เป็นโรคความดันโลหิตต่ำ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ หรือ มีภาวะเลือดออกผิดปกติ
นอกจากนี้ หากต้องการซื้อ ผลิตภัณฑ์จากเห็ดหลินจือ ไม่ว่าจะเป็นแบบอบแห้ง ผงสกัด หรือ แคปซูล ควรเลือกซื้อแบรนด์ที่ใช้เห็ดหลินจือจากฟาร์มระบบปิดที่มีมาตรฐานในการปลูกสูง มีการควบคุมอุณหภูมิ การใช้สารสกัดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้แน่ใจได้ว่า เห็ดหลินจือ นั้น ๆ จะบริสุทธิ์ อุดมไปด้วยสารสำคัญ ๆ นานาชนิด ที่สำคัญคือ ไม่ปนเปื้อนสารเคมี เพื่อให้เวลาบริโภคแล้ว จะได้ส่งผลดีต่อสุขภาพได้อย่างแท้จริง
วิธีเพาะเห็ดหลินจือ ด้วยตัวเอง
โดยธรรมชาติแล้ว เห็ดหลินจือ เป็นเห็ดที่เติบโตได้ดีบนพื้นที่ที่มีระดับสูงกว่าน้ำทะเล 1000 เมตรขึ้นไป อีกทั้งต้องมีอากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิควรอยู่ที่ 24 – 28 องศาเซลเซียส และ มีความชื้นพอสมควร ถึงจะเติบโตได้ดี
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีการเพาะเลี้ยงเห็ดหลินจือในระบบฟาร์มปิดกันมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนมากสำหรับมาใช้ในการทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ดังนั้น หากต้องการเพาะเห็ดหลินจือด้วยตัวเองแล้วละก็ สามารถทำได้ แต่จะต้องควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เพื่อเอื้อให้เห็ดหลินจือสามารถเจริญเติบโตได้ดีด้วย ซึ่งสิ่งที่จะต้องเตรียมในการเพาะเห็ดหลินจือได้แก่
วัสดุปลูก
- หัวเชื้อข้าวฟ่าง
- ขี้เลื่อยไม้ยางพารา
- น้ำตาลทรายแดง
- ยิปซัม (แคลเซียมซัลเฟต)
- ปูนขาว’
- รำละเอียด
- น้ำเปล่า (ไม่ควรใช้น้ำประปา เพราะมีคลอรีนสูง)
- ถุงสำหรับใช้เพาะเห็ด
วิธีเพาะเห็ดหลินจือ
- ผสมวัสดุปลูก ได้แก่ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา น้ำตาลทรายแดง ยิปซั่ม ปูนขาว รำละเอียด ให้เข้ากัน จากนั้น ฉีดน้ำเปล่าเป็นละอองฝอยลงไป ให้วัสดุปลูกมีความชื้น โดยระหว่างผสม แนะนำให้ทำในที่ร่ม
- ตักวัสดุปลูกใส่ถุงสำหรับใช้เพาะเห็ด แล้วอัดให้แน่น มัดปากถุงให้เรียบร้อย โดยใช้ฝาขวดพลาสติกปิด แล้วนำไปนึ่งที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เพื่อฆ่าเชื้อโรค เป็นเวลา 3 ชั่วโมง พอครบเวลา ให้นำมาพักไว้ในโรงเรือนปิด
- เทหัวเชื้อข้าวฟ่างลงในถุงวัสดุปลูก ประมาณ 30 – 50 เมล็ด/ถุง จากนั้น หากระดาษมาคลุมฝาปิดอีกชั้นหนึ่งให้มิดชิด
- นำไปบ่มในโรงเรือนปิด โดยควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ที่ 24 – 28 องศาเซลเซียส ตลอดเวลา รอประมาณ 50 วัน ดอกเห็ดหลินจือก็พร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยว
- พอตัดเอาดอกเห็ดมาแล้ว ให้นำไปหั่นซอยให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ แล้วนำไปอบแห้งทันที เพื่อไม่ให้เชื้อราขึ้น เป็นอันเสร็จ
เห็ดหลินจือ เป็นเห็ดอีกหนึ่งชนิดที่ดีต่อสุขภาพมาก ๆ และ ยังคงเป็นอาหาร ยา ตลอดจนส่วนผสมในอาหารเสริมที่ยังคงเป็นที่ต้องการอยู่ทุกยุคทุกสมัย ดังนั้น หากใครอยากปลูกเห็ดหลินจือ ไว้บริโภคเอง หรือ ปลูกเพื่อเก็บผลผลิตสำหรับสร้างรายได้แล้วละก็ ลองไปทำตาม วิธีเพาะเห็ดหลินจือ ที่นำมาฝากกัน รับรองว่าทำตามได้ง่าย ๆ เก็บผลผลิตเพื่อสร้างรายได้ ได้อย่างแน่นอน
30 มกราคม 2024
โดย
Pres