“โปรตีนเกษตร” คืออะไร? ทำเมนูอะไรได้บ้าง?
วัตถุดิบหลักในการประกอบอาหารเจที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีอย่าง โปรตีนเกษตร หลายคนอาจเคยแอบสงสัยว่าแท้จริงแล้ว ทำมาจากอะไรกันแน่ กินแล้วจะได้โปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์จริง ๆ รึเปล่า หรือทำมาจากแป้งล้วน ๆ เหมือนอาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์อย่าง หมี่กิง ที่ผู้เฒ่าผู้แก่พากินมาตั้งแต่สมัยโบราณกันแน่
บทความนี้ SGE จะพาไม่ทำความรู้จักกับ โปรตีนเกษตร ให้มากขึ้น และแนะนำ เมนูโปรตีนเกษตร ให้ไปลองทำกัน ไปดูกันดีกว่า
โปรตีนเกษตรเกิดขึ้นได้อย่างไร?
โปรตีนเกษตรเกิดจากการค้นคว้าและวิจัยโดย สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุดประสงค์หลัก คือ ต้องการผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโปรตีนสูงจากพืชมาแทนเนื้อสัตว์ เริ่มทำการค้นคว้าและวิจัยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2512 จนถึงปี 2517 รวมระยะเวลา 6 ปี โดยในช่วงแรก ใช้ชื่อเรียกว่า “เกษตรโปรตีน” จากนั้น มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนสูตร วัตถุดิบหลักและกรรมวิธีการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาเป็นตัวช่วยให้มีรสชาติ สี กลิ่นที่น่ารับประทานมากขึ้น ลดระยะเวลาการเตรียมและนำไปประกอบอาหารได้สะดวกขึ้น ดูดซึมน้ำได้เร็วขึ้นกว่าเดิม วางจำหน่ายครั้งแรกในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ.2523 และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทำให้มีความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลกินเจ จึงทำให้โปรตีนเกษตรได้รับการปรับปรุงและพัฒนาให้มีรูปแบบอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมายจนกลายมาเป็นโปรตีนเกษตรที่เป็นที่รู้จักจนถึงปัจจุบันนั่นเอง
โปรตีนเกษตรทำมาจากอะไร?
โปรตีนเกษตรทำมาจากแป้งถั่วเหลือง ที่ผ่านการสกัดไขมันออกไป (defatted soy flour) นำมาผ่านกระบวนการเอ็กซทรูชั่นด้วยความดัน และอุณหภูมิสูงจนได้มาเป็นโปรตีนเกษตรแห้งรูปทรงต่าง ๆ ที่วางขายให้เห็นตามท้องตลาด พร้อมให้นำไปประกอบอาหารเป็นแหล่งโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ได้
โปรตีนเกษตรทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้จริงหรือ?
ผลิตจากถั่วเหลือง ทำให้โปรตีนเกษตรมีโปรตีนสูงถึง 49.47% มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบถ้วน โดยเฉพาะ ไลซีน ซึ่งพบในปริมาณสูงมาก และยังให้คาร์โบไฮเดรตถึง 37.20%, ไขมัน 0.26%, มีไฟเบอร์ 1.10% และยังมีวิตามิน และแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายอย่าง โพแทสเซียม, ฟอสฟอรัส, แคลเซียม, เหล็ก, โซเดียม และวิตตามินบีอีกด้วย คุณภาพโปรตีนที่ได้จากพืชนี้พบว่ามีค่า PER ใกล้เคียงกับเคซีนในน้ำนมวัวเลยทีเดียว
รู้ไหม? กินเจก็ไม่ทำให้ร่างกายขาดโปรตีน หากรู้จักเลือกกินอาหารให้ถูก เน้นไปที่อาหารที่ทำจากเต้าหู้ ผัก เห็ดต่าง ๆ ผลไม้และโปรตีนเกษตร หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำมาจากอาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ เพราะทำมาจากแป้งล้วน ๆ เลี่ยงอาหารประเภทผัด ๆ ทอด ๆ เท่านี้เราก็จะได้สารอาหารครบทั้ง 5 หมู่โดยไม่ต้องเบียดเบียนชีวิตสัตว์ เเถมไม่อ้วนด้วย กินเจสวย ๆ ไปจนครบ 9 วันได้อย่างไม่มีอะไรต้องกังวลแล้ว
แนะนำ 4 เมนูโปรตีนเกษตร ทำกินง่าย ได้คุณค่าทางอาหาร
วัตถุดิบสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับคนกินเจและมังสวิรัติบริสุทธิ์ โปรตีนเกษตรเป็นอาหารอย่างแรกที่หลายคนนึกถึง เพราะเมนูโปรตีนเกษตร หรือเนื้อสัตว์เทียม เป็นโปรตีนจากพืชที่ถูกคิดค้นขึ้นมาแทนเนื้อสัตว์ปกติ ทำให้คนกินเจ หรือมังสวิรัติได้รับสารอาหารครบถ้วน ไม่ขาดสารอาหารสำคัญอย่างโปรตีนนั่นเอง แต่ถ้าใครยังนึกไม่ออกว่าจะทำ เมนูโปรตีนเกษตร อะไรดี ไปดูกัน
👉 โปรตีนเกษตรผัดกะเพรา
เมนูโปรตีนเกษตรทำง่าย อร่อยได้ในไม่กี่ขั้นตอน เอาใจคนชอบกินอาหารรสจัดจ้านสไตล์คนไทย ที่สำคัญยังเป็นเมนูเจ เพราะเราไม่ใส่กระเทียม
วัตถุดิบ
- โปรตีนเกษตรลวกจนนิ่ม 1 ถ้วย
- ใบกะเพรา ตามชอบ
- พริกจินดาแดงสับละเอียด 2 เม็ด
- ซอสเห็ดหอม 1 ช้อนโต๊ะ
- ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ
- ผงปรุงรสเห็ดหอม 1 ช้อนชา
- น้ำมันมะพร้าว 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
- ตั้งกระทะให้ร้อน ใส่น้ำมันมะพร้าว เมื่อน้ำมันร้อนให้ใส่พริกลงไปผัด
- ใส่โปรตีนเกษตรและเครื่องปรุงทั้งหมดลงไปผัดจนสุก ตามด้วยใบกะเพรา ผัดจนหอม ตักใส่จาน พร้อมเสิร์ฟ
สูตรจาก A Lady Named Fern
ภาพจาก A Lady Named Fern
👉 โจ๊กโปรตีนเกษตรเห็ดหอม
เมนูอ่อน ๆ กินง่าย สบายท้อง เหมาะสำหรับทำเป็นอาหารมื้อเช้า หรือมื้อเย็นแบบเบา ๆ แถมยังกินได้แบบไม่ต้องกลัวอ้วนด้วย
วัตถุดิบ
- ข้าวสวยบดละเอียด 1 ถ้วย
- เห็ดหอมแช่น้ำร้อนจนนิ่ม หั่นเป็นเส้น 5-6 ชิ้น
- โปรตีนเกษตร ตามชอบ
- น้ำเปล่า 1 ถ้วย
- น้ำจากการแช่เห็ดหอม 1 ถ้วย
- คื่นช่าย 1 ต้น
- ซีอิ๊วขาวเจ 2 ช้อนโต๊ะ
- เกลือ พริกไทย เล็กน้อย
วิธีทำ
- ตั้งหม้อ ใส่น้ำมันเล็กน้อย นำเห็ดหอมลงไปผัดแล้วตักขึ้นพักไว้
- เทน้ำแช่เห็ดหอมลงไปในหม้อ ใส่ข้าวสวยลงไปต้มจนเดือด
- คนบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้ข้าวไหม้ เติมเครื่องปรุงลงไป ชิมรสตามชอบ
- ใส่เห็ดหอม และโปรตีนเกษตร ตักใส่ถ้วย พร้อมเสิร์ฟ
สูตรจาก A Lady Named Fern
👉 สเต็กโปรตีนเกษตร
เมนูแปลกใหม่อย่างการนำโปรตีนเกษตรมาทำสเต็ก ทำไม่ยากแถมยังช่วยแก้เบื่อได้ดี นอกจากนี้ ยังได้ประโยชน์จากสลัดผักที่เป็นเครื่องเคียงด้วย
วัตถุดิบ
- โปรตีนเกษตรชนิดแผ่น 4 แผ่น
- ซีอิ๊วขาวสูตรเจ 2 ช้อนชา
- ซอสเห็ดหอม 2 ช้อนชา
- ไข่ไก่ 1 ฟอง
- เกล็ดขนมปัง 100 กรัม
- ผักสลัดมิกซ์ ตามชอบ
- น้ำสลัดไขมันต่ำ 1-2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
- นำโปรตีนเกษตรไปแช่น้ำจากนั้นบีบน้ำออกพอหมาด หมักด้วยซีอิ๊วขาว และซอสเห็ดหอม ทิ้งไว้ 10 นาที
- นำโปรตีนเกษตรที่หมักแล้ว มาชุบไข่และเกล็ดขนมปัง ทอดด้วยไฟอ่อนจนเหลือง พักให้สะเด็ดน้ำมัน
- ตักสเต็กใส่จาน เคียงด้วยผักสลัด ราดน้ำสลัดไขมันต่ำตามชอบ พร้อมเสิร์ฟ
สูตรจาก JJ Jessica
ภาพจาก JJ Jessica (ซ้าย), Benjaphat Jaturonrusami (ขวา)
👉 บร็อคโคลี่โปรตีนเกษตรลุยสวน
ลุยสวนรสแซ่บ อุดมไปด้วยแคลเซียม ซิลิเนียม และวิตามินอีจากบร็อกโคลี เป็นเมนูโปรตีนเกษตรง่าย ๆ ที่ทำกินแก้เบื่อได้ทุกวัน หากจะทำสูตรเจไม่ต้องใส่กระเทียม และใช้ซอสเห็ดหอมแทนซอสหอยนางรม
วัตถุดิบ
- บร็อกโคลี 1 หัว
- โปรตีนเกษตร 6-7 ก้อน
- กระเทียม 1 หัว
- พริกขี้หนู ตามชอบ
- น้ำมันงา 1 ช้อนโต๊ะ
- ซอสหอยนางรม 2 ช้อนโต๊ะ
- ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำส้มสายชู
วิธีทำ
- ล้างและเด็ดบร็อกโคลีเป็นช่อ จากนั้นแช่ในน้ำส้มสายชู 10 นาที ล้างออกให้สะอาด ระหว่างนี้นำโปรตีนเกษตรไปแช่น้ำจนนิ่ม
- ตั้งกระทะ เติมน้ำมันงา เจียวกระเทียมให้เหลืองหอม เติมโปรตีนเกษตรและพริกขี้หนูลงไป จักนั้นตักใส่จาน พักไว้
- ลวกบร็อกโคลีจนสุกปานกลาง เติมซอสหายนางรม และซอสปรุงรส ชิมรสชาติตามชอบ
- ตักใส่จาน โรยหน้าด้วยโปรตีนเกษตรที่เตรียมไว้ พร้อมเสิร์ฟ
สูตรจาก Benjaphat Jaturonrusami
รับประทานโปรตีนเกษตรมาก ๆ ร่างกายจะเป็นอย่างไร?
แม้ว่าโปรตีนเกษตร จะมีปริมาณโปรตีนสูง แต่ไม้ได้เป็นอาหารที่มีแต่โปรตีนแต่เพียงอย่างเดียว ยังมีสารอาหารอื่น ๆ ที่ให้พลังงานเช่นกัน เช่น มีคาร์โบไฮเดรต (ที่มีกากใยอาหารด้วย) ในปริมาณที่ใกล้เคียงกับโปรตีน เป็นอาหารที่ให้พลังงาน (366 กิโลแคลอรี่ต่อโปรตีนเกษตร 100 กรัม) และยังมีปริมาณฟอสฟอรัสสูง อาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไต และการรับประทานโปรตีนเกษตรมากเกินไป ก็อาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินจำเป็น เรียกง่าย ๆ คือกินมาก ๆ ก็อาจอ้วนได้เช่นกัน
ปริมาณที่แนะนำให้รับประทานในแต่ละวัน คือ ไม่ควรเกิน 100-150 กรัม จะได้รับโปรตีน 50-75 กรัมต่อวัน (หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่ออกกำลังกายหนัก ๆ เท่านั้นถึงควรจะรับประทานโปรตีนมากกว่า 75 กรัมต่อวัน)
วิธีรับประทานโปรตีนเกษตร
หากซื้อโปรตีนเกษตรมาปรุงอาหารเอง ควรนำมาแช่ในน้ำเย็น โดยใช้โปรตีนเกษตร 1 ส่วนต่อน้ำ 2 ส่วน ใช้เวลาประมาณ 5 นาที จะดูดน้ำจนพองนิ่ม หรือแช่ในน้ำเดือดใช้เวลา 2 นาที บีบน้ำออก จากนั้นจึงนำไปประกอบอาหารได้
จะเห็นได้ว่าโปรตีนเกษตรนั้นก็มีประโยชน์อยู่ไม่ใช่น้อย และยังสามารถนำไปทำเมนูต่าง ๆ ได้อีกหลายเมนู อย่างไรก็ตามก็ควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ด้วย เพื่อร่างกายที่แข็งแรง และรับสารอาหารครบถ้วย
ตัวช่วยดี ๆ ที่อยากบอกต่อ ถนอมอาหารได้ดี เก็บได้ยาวนาน เพิ่มมูลค่าสินค้าให้ยาวนานยิ่งขึ้น
👉 เครื่องซีลสูญญากาศ และ ถุงซีลสูญญากาศ 👈
บทความที่เกี่ยวข้อง : 8 เมนู อาหารเจ ทำง่าย ๆ อร่อยไม่จำเจ!
30 มกราคม 2024
โดย
ลำดวน