รู้จักกับ “กะเพรา” สมุนไพรไทย ประโยชน์ดี ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม!
เมื่อนึกถึงเมนูยอดนิยมของคนไทย ก็มีเมนู เช่น ผัดกะเพรา ต้องอยู่ในใจของหลาย ๆ คนอย่างแน่นอน ถึงขั้นขึ้นชื่อว่า เป็นเมนูสิ้นคิด รู้ไหม ต้นกะเพรา เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณมากมาย และยังสามารถทำสารพัดเมนูทั้งต้ม ผัด แกง ทอด แต่ด้วยความที่กะเพรามีกลิ่นเฉพาะตัว บางคนจึงอาจไม่ชอบ และมักอาจจะเขี่ยทิ้งไว้ข้างจานอยู่บ่อย ๆ
วันนี้ SGE จะพาไปทำความรู้จัก กะเพรา ให้มากขึ้นว่า มีสรรพคุณ และมีประโยชน์มากกว่าที่พวกเราคิด!
มารู้จักกับ กะเพรา
กะเพรานั้น เป็นไม้ล้มลุก มีความสูง ประมาณ 30-60 เซนติเมตร โคนต้นออกแข็ง กะเพราแดง จะมีลำต้นสีแดงอมเขียว กะเพราขาว จะมีลำต้นสีเขียวอมขาว และยอดอ่อนมีขนสีขาว มีใบ เป็นใบเดี่ยวสีเขียวรูปรีออกตรงข้ามกัน ปลายใบมน หรือแหลม โคนใบแหลม ขอบใบ เป็นจักฟันเลื่อย และเป็นคลื่น แผ่นใบ มีขนสีขาว ส่วนดอกกะเพรา จะออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกสีขาวแกมม่วงแดง ผลเป็นผลแห้ง ขนาดเล็ก เมื่อแตกออก จะมีเมล็ดสีดำถึงน้ำตาลคล้ายรูปไข่
กะเพราจัดเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง มีสรรพคุณทางยา ช่วยรักษาโรคได้หลายชนิด ทั้งตำรับยาไทย และต่างประเทศ โดยตำราสมุนไพรไทยบ้านเรา ได้บรรยายสรรพคุณของกะเพราเอาไว้ว่า รสฉุน ร้อน ช่วยขับลมแก้ซาง แก้ท้องขึ้น จุกเสียดแน่นท้อง ปวดท้อง ช่วยในการย่อยอาหาร และช่วยบำรุงธาตุ เป็นต้น และในต่างประเทศ มีการใช้กะเพราในการรักษาโรคกันอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าบ้านเราเสียอีก โดยเฉพาะประเทศอินเดีย ถือว่ากะเพรา เป็นยารักษาโรคได้ทุกโรค และยังจัดเป็นราชินีแห่งสมุนไพร (The Queen of herbs) หรือเป็นยาอายุวัฒนะ (The Elixir of life) เลยทีเดียว
กะเพรามีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ กะเพราแดง และกะเพราขาว โดยกะเพราแดง จะมีฤทธิ์ที่แรงกว่ากะเพราขาว ในสรรพคุณทางยา จึงนิยมใช้กะเพราแดง โดยส่วนที่นำมาใช้ทำเป็นยาสมุนไพร ได้แก่ ส่วนของใบ ยอดกะเพรา (ทั้งสดและแห้ง) และทั้งต้น แต่ถ้านำมาใช้ประกอบอาหารจะนิยมใช้กะเพราขาวเป็นหลัก
ประโยชน์ทางยาของกะเพรา
ใบและยอด ทั้งสด และแห้ง มีรสเผ็ดร้อนฉุน ใช้แก้จุกเสียด แน่นท้อง โรคกระเพาะ ลดน้ำตาลในเลือด ใบแห้งบดเป็นยานัตถุ์แก้คัดจมูก
การใช้รักษาอาการแน่นจุกเสียด
- สำหรับผู้ใหญ่ และเด็กโต ใช้ใบสด 1 กำมือ หรือใบสด 25 กรัม ต้มกับน้ำให้เดือด แล้วเอาน้ำนั้นดื่ม หากใช้ใบกะเพราแห้ง ควรมีน้ำหนัก 4 กรัม เอามาต้มกับน้ำแล้วดื่มครั้งละ 1 แก้ว จนมีอาการดีขึ้น
- สำหรับเด็กอ่อน ใช้ใบสด 3 ใบ ผสมเกลือบดให้ละเอียด ผสมกับน้ำผึ้งหยอดใส่ปากเด็กอ่อน 2-3 หยด นาน 2-3 วัน จะช่วยขับลมออกมาได้หมด
การใช้รักษาโรคกระเพาะ
- กินใบกะเพราสดทุกวัน แก้โรคกระเพาะได้ การทดลองในสัตว์ทดลองได้ผลดี
การใช้ลดน้ำตาลในเลือด
- กินใบกะเพราสดทุกวัน ลดน้ำตาลในเลือดได้ หรือใช้ในรูปของการต้มก็ได้ ชงเป็นชาก็ได้ ควรกินควบคู่ไปกับยาแผนปัจจุบัน แล้วสังเกตอาการกับดูระดับน้ำตาลในเลือดแต่ละครั้งที่เจาะเลือด จากการทดลองป้อนสารสกัดใบกะเพราด้วยแอลกอฮอล์ 50% พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้มากกว่าร้อยละ 30
สำหรับราก และต้น มีรสเผ็ดร้อน ต้มน้ำกินเป็นยาขับเหงื่อ ในคนไข้มาลาเรีย แก้พิษตานซาง แก้ไข้สันนิบาต แก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงธาตุ
สรรพคุณของกะเพรา และประโยชน์ในการรักษาโรค
- กะเพรามีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง แก้อาการมวนท้อง ช่วยขับลม ลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ได้ด้วย
- ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น ป้องกันอาการเจ็บป่วยจากอาการหวัดได้ดี
- ช่วยยับยั้งการอักเสบได้เป็นอย่างดี เพราะกะเพรา มีสารระเหยสำคัญที่มีฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบได้ ซึ่งให้ผลลัพธ์เทียบเท่ากับยาแอสไพริน ที่ลดอาการอักเสบนั่นเอง
- กะเพรา ช่วยต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดได้
- ช่วยลดระดับของไขมัน และปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกาย ทำให้ระดับของน้ำตาลลดลง ช่วยรักษาและป้องกันโรคเบาหวาน แถมยังมีประสิทธิภาพในการช่วยเพิ่มไขมันดีในร่างกายด้วย
- ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ลดการเกิดกรด แล้วเพิ่มการหลั่งสารเยื่อเมือกในกระเพาะอาหาร ช่วยสมานแผลและป้องกันไม่ให้เยื่อบุกระเพาะอาหารถูกทำลายได้
- กะเพราเป็นยาช่วยบำรุงหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจที่ไม่แข็งแรง สามารถกลับมาทำงานได้ปกติ ลดโอกาสที่จะเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจได้
- ช่วยขยายหลอดเลือด สามารถลดความดันเลือดได้ ช่วยยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด เพิ่มเวลาในการแข็งตัวของเลือด
- กะเพรามีประโยชน์ต่อตับ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดสารพิษของตับได้เป็นอย่างดี ช่วยลดการตกค้างของสารพิษ ที่อาจสะสมอยู่ในร่างกาย
- กะเพรามีสารที่เป็นน้ำมันหอมระเหย ชื่อว่า ยูจีนอล แกมมาคาร์โยฟิลีน และเมทิลยูจินอล มีฤทธิ์ช่วยต่อต้านการเกิดเชื้อสิว ที่ปัจจุบันมีการทดลองพัฒนา เพื่อนำสารสกัดไปใช้ช่วยรักษาสิวได้ด้วย
ทานกะเพราอย่างไร ให้ปลอดภัย และดีต่อสุขภาพ
โดยทั่วไป กะเพราเป็นเมนูที่เห็นได้บ่อยบนโต๊ะอาหาร การรับประทานกะเพราในปริมาณพอดี จะไม่ส่งผลร้ายต่อร่างกาย สำหรับผู้ที่บริโภคกะเพรา เพื่อหวังสรรพคุณทางยา ควรคำนึงถึงภาวะสุขภาพตนเองเป็นสำคัญ ดังนี้
- การบริโภคกะเพราระยะสั้น อาจปลอดภัยต่อสุขภาพ แต่ไม่ควรทานกะเพราติดต่อกันเป็นเวลานาน เพื่อรักษาปัญหาสุขภาพ เนื่องจากยังไม่ปรากฏข้อมูลทางการแพทย์ว่าจะปลอดภัย
- สตรีมีครรภ์ และให้นมบุตร ควรเลี่ยงการบริโภกะเพรา เนื่องจากยังไม่ปรากฏข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการใช้พืชชนิดนี้ สำหรับสตรีมีครรภ์ หรือให้นมบุตร
- ควรหยุดบริโภค หรือใช้กะเพราก่อนวันเข้ารับการผ่าตัด อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะกะเพรา มีฤทธิ์ชะลอการแข็งตัวของเลือด อาจทำให้เสี่ยงเลือดออกมากขึ้นระหว่างและหลังผ่าตัดได้
- ผู้ที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือยาที่ชะลอการแข็งตัวของเลือด ได้แก่ แอสไพริน โคลพิโดเกรล อีนอกซาพาริน เฮพาริน ทิโคลพิดีน วาร์ฟาริน หรือยาอื่น ๆ ห้ามบริโภคกะเพรา เเพราะการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับกะเพรา อาจทำให้เสี่ยงเกิดรอยช้ำ และเลือดออกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรากฏข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับประเด็นนี้
- ผู้ที่ใช้ยาเพนโทบาร์บิทอล ควรปรึกษาแพทย์ หรือเลี่ยงการบริโภคกะเพรา เพราะยานี้ ทำให้เกิดอาการง่วงซึม หากบริโภคร่วมกับกะเพราอาจทำให้ง่วงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรากฏข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว
ปลูกกะเพรา ให้โตไว เก็บทานได้ทั้งปี ทำได้อย่างไร?
การปลูกกะเพราทำได้ทั้งแบบ วิธีเพาะเมล็ด และวิธีปักชำกิ่ง แต่วิธีเพาะเมล็ดจะโตช้ากว่า จึงแนะนำให้ใช้วิธีปักชำกิ่ง สามารถทำได้ ดังนี้
- การเลือกกิ่งพันธุ์ ให้เลือกกิ่งกลางแก่กลางอ่อน ที่ยังไม่เคยออกดอก ตัดกิ่งยาวประมาณ 4-5 นิ้วมาปักชำในกระถาง โดยปักเอียง 45 องศา รดน้ำให้ชุ่ม เพียงไม่กี่วัน กะเพราก็แตกรากแตกใบ และมีต้นโตเร็วกว่าวิธีเพาะเมล็ดด้วย
- นำไปปลูกในกระถางต่อ หรือนำไปปลูกลงดินก็ได้ ข้อแตกต่าง คือ ถ้าย้ายมาปลูกลงดิน จะได้กะเพราที่ต้นสูงใหญ่กว่า วิธีปลูกลงดิน ถ้ามีพื้นที่เหลือพอ ก็ปลูกหลายต้นได้เลย โดยปลูกให้ต้นห่างกัน 20-30 เซนติเมตร
- การเก็บกะเพรา มีเทคนิค คือ อย่าใช้วิธีเด็ดใบ แต่ให้ตัดมาทั้งยอดจะดีกว่า เพราะเมื่อตัดยอดมาแล้ว กะเพราจะแตกยอดใหม่ และใบหนากว่าเดิม หรือถ้าหากไม่ได้เก็บยอดกะเพรามาทำอาหารบ่อย ควรหมั่นดูแลตัดยอดทิ้งทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะยอดไหนออกดอก ต้องตัดทิ้งให้หมดทันที
- การดูแล รดน้ำ รดน้ำให้พอ ใส่ปุ๋ยบ้าง และคอยตัดยอดตัดดอกทิ้ง อย่าปล่อยให้กะเพราออกดอกเด็ดขาด เพราะจะทำให้ต้นกะเพราโทรมง่าย และหมดอายุเร็ว
เป็นอย่างไรกันบ้าง กับสรรพคุณต่าง ๆ ของกะเพรา เรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งพืชสมุนไพรไทย ผักสวนครัวที่มีประโยชน์ ทำเมนูได้หลากหลาย แต่อย่างไรก็ตาม อย่าลืมทานอาหารหลากหลาย และอาหารครบหลัก 5 หมู่ด้วย บทความหน้าจะมีสาระดี ๆ อะไรมาฝากกันอีกนั้น อย่าลืมติดตามกันด้วยนะจ๊ะ
บทความดี ๆ น่าอ่าน:
- รวม 10 สูตร เมนูกะเพรา รสเด็ด เผ็ดอร่อย ทำง่าย ไม่จำเจ
- วิธีทำ กะเพราหมูสับ หอมกลิ่นใบกะเพรา อาหารจานอร่อยของคนสิ้นคิด
- 8 สูตร ผัดกะเพรา เมนูของคนสิ้นคิด หอมฟุ้งเตะจมูก เผ็ดร้อนถึงใจ
- วิธีทำ กะเพราไก่ เมนูผัดกะเพรา เนื้อนุ่มเคี้ยวง่าย กินกับไข่ดาวยิ่งอร่อย
SGE ของเราก็มีสินค้า สินค้าทางการเกษตร หลากหลายแบบ ให้เลือกสรร ทั้งกระถางปลูกต้นไม้ กระบะปลูกต้นไม้ สแลนกันแดด รวมไปถึงเครื่องตัดหญ้า เครื่องสับหญ้า และอื่น ๆ อีกมากมาย รับรองสินค้าดี มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน พร้อมบริการหลังการขายที่ประทับใจอย่างแน่นอน!! เลือกชมสินค้า ได้ที่นี่เลย สินค้าทางการเกษตร >>คลิกเลย<<
อ้างอิงข้อมูลจาก pobpad.com, npkthailand.com
30 มกราคม 2024
โดย
ลำดวน