ชวนทำ ขนมอี๋ บัวลอยแบบจีน ใช้ในงานมงคล กินแล้วโชคดี!
พอถึงเวลาวันไหว้หรือวันมงคลจากฝั่งจีนทีไร ลูกหลานคนไทยเชื้อสายจีน อาจจะเคยเห็น ขนมอี๋ ผ่านหน้าผ่านตากันมาบ้าง แต่อาจจะยังไม่รู้จักชื่อของมัน แถมสับสนกับขนมไทยน้ำกะทิที่หน้าตาแอบคล้ายกันอีกต่างหาก บทความนี้จะพาไปรู้จักทั้งประวัติ ความเชื่อ และวิธีทำแบบง่าย ๆ ทำเองได้ที่บ้านกัน!
ขนมอี๋ คืออะไร?
ขนมอี๋ คือขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว นำมาปั้นเป็นลูกกลม ๆ เล็ก ๆ ต้มกินคู่กับน้ำตาลทราย ตัวแป้งเหนียวนุ่มรับกับรสชาติหวานแหลมของน้ำเชื่อมน้ำตาลทราย หน้าตาคล้ายกับขนมบัวลอยน้ำกะทิของไทย เป็นของไหว้สำคัญของเทศกาลวันไหว้ตังโจ่ย (ตงจื้อ: 冬至) หนึ่งในแปดเทศกาลสำคัญของชาวเชื้อสายจีน ที่มีความสำคัญเทียบเท่ากับวันตรุษจีนเลยทีเดียว
โดยที่มาของเทศกาลนี้มาจาก ในสมัยโบราณช่วงที่ตรงกับเทศกาลตังโจ่ยคือช่วงที่ผลัดเปลี่ยนเข้าสู่หน้าหนาวของปีพอดี ชาวบ้านจึงทำขนมอี๋ขึ้นมา แล้วนำไปตั้งโต๊ะหมู่บูชาสำหรับกราบไหว้ฟ้าดิน เจ้าที่เจ้าทาง และสิ่งศักดิ์สิทธ์ เพื่อขอพรให้คนในครอบครัวสุขภาพแข็งแรง พืชผลการเกษตรเจริญงอกงามดี และขอให้ช่วยคุ้มครองสัตว์เลี้ยงให้พ้นจากภัยหนาว ทั้งยังเป็นการไหว้ขอบคุณที่สิ่งศักดิ์สิทธ์ปกป้องคุ้มครองจนมีชีวิตราบรื่นมาได้อีก 1 ปีอีกด้วย
ขนมอี๋ กับความเชื่อของคนเชื้อสายจีน
ขนมอี๋เป็นขนมมงคลอีกชนิดที่ไม่เพียงแต่ใช้ไหว้ในเทศกาลไหว้บัวลอย แต่ยังถูกนำไปไหว้ในวันพระจีนหรือวันไหว้ตามเทศกาลจีนอื่น ๆ ไม้เว้นแม้แต่วันสำคัญของชีวิตอย่างวันแต่งงาน ขนมอี๋ก็ยังเป็นขนมมงคลชามสำคัญที่คนเชื้อสายจีนขาดไปไม่ได้
นั่นเป็นเพราะ ชาวจีนโบราณเรียกขนมชนิดนี้ว่า ฝูหยวนจื่อ (浮圆子) ซึ่ง ฝู 浮 แปลว่า ลอย และ หยวนจึ 圆子 แปลว่า ลูกกลม ๆ ภายหลังขนมชนิดนี้ถูกเรียกว่า ทังถวน (汤团) โดย ทัง 汤 แปลว่า น้ำแกง ส่วน ถวน 团 แปลว่า ทรงกลม หรือเรียกรวม ๆ ทั้งชื่อเก่าชื่อใหม่ว่า ทังหยวน (汤圆) ซึ่งมีความหมายเหมือนกันและออกเสียงใกล้เคียงกัน นอกจากนั้น อักษรถวนหยวน 团圆 เมื่อนำรวมกันแล้วมีความหมายว่า การได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันของคนในครอบครัว
ดังนั้นขนมอี๋จึงมีความหมายมงคลที่สื่อถึง ความรัก ความกลมเกลียวของคนในครอบครัว จึงทำให้ถูกนำมาใช้ในพิธีมงคลสมรส เพราะเป็นเหมือนการอวยพรให้บ่าวสาวมีความสุข รักใคร่กลมเกลียวกันนั่นเอง
วิธีทำ ขนมอี๋ บัวลอยแบบจีน และการเตรียม ของไหว้บัวลอย
วัตถุดิบขนมอี๋
- แป้งข้าวเหนียว 500 กรัม
- สีผสมอาหารสีชมพู
- น้ำสะอาด 2 ถ้วยตวงสำหรับปั้นแป้ง
- น้ำสะอาด 5 ถ้วยตวงสำหรับต้ม
- น้ำตาลทรายขาว 200 กรัม
- เกลือป่น ½ ช้อนชา
- ขิงแก่หั่น 4-5 แว่น
ขั้นตอนการทำขนมอี๋
- นำแป้งข้าวเหนียวร่อนผ่านกระชอน แบ่งไว้เป็น 2 ถ้วย เตรียมไว้
- ผสมสีผสมอาหารกับน้ำเปล่า 1 ถ้วยตวง คนให้สีละลายกับน้ำดี จากนั้นให้เทน้ำสีผสมอาหารลงในถ้วยแป้งที่แบ่งไว้ แล้วนวดแป้งจนกลายเป็นก้อนแป้งสีชมพูเนียนเสมอกัน
- นวดแป้งที่เหลือผสมกับน้ำเปล่า 1 ถ้วย จนกลายเป็นก้อนแป้งสีขาวเนื้อเดียวกัน
- ปั้นก้อนแป้งที่นวดเตรียมไว้เป็นลูกกลม ๆ ขนาดตามความต้องการ จากนั้นตั้งหม้อใส่น้ำรอจนเดือด แล้วนำแป้งที่ปั้นใส่ลงไปต้มจนสุก แล้วตักขึ้นพักไว้
- ตั้งหม้อแยก ใส่น้ำต้มรอเดือด ใส่น้ำตาล เกลือ และขิงแว่นลงไป รอจนละลายดี ยกหม้อลงจากเตา
- นำแป้งขนมอี๋ที่ต้มไว้ ใส่ลงไปในน้ำเชื่อม จากนั้นสามารถตักใส่ชามพร้อมเสิร์ฟได้เลย
การเตรียม ของไหว้บัวลอย
- กระถางธูป
- เทียนแดง 1 คู่
- ธูป 3 หรือ 5 ดอก/คน (ตามความเชื่อ)
- ผลไม้ 5 อย่าง เช่น กล้วยหอม ส้ม แอปเปิล สาลี่ องุ่น
- น้ำชา 5 ถ้วย
- ขนมบัวลอย 5 ถ้วย
- กระดาษเงินกระดาษทอง เครื่องกระดาษตามความเชื่อ
ขนมอี๋เป็นขนมมงคลที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีสำหรับลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีน เนื้อแป้งนุ่มหนึบกับน้ำเชื่อมหวาน ๆ รสชาติอร่อยคุ้นลิ้น แถมยังมีความเชื่อที่แฝงความหมายดี ๆ ที่สื่อถึงความรักใคร่กลมเกลียวของครอบครัวด้วยค่ะ
บทความที่น่าสนใจ
ข้อมูลอ้างอิง : topspicks, prachachat, thansettakij
30 มกราคม 2024
โดย
จันทร์เจ้า