มารู้จักกับ ดอกคําฝอย พืชสมุนไพร สรรพคุณเยอะ มีดีที่มากกว่า “ลดไขมัน”
ดอกคำฝอย หลายคนอาจรู้จัก จากตำราแพทย์แผนจีน หรือ คำบอกเล่าปากต่อปากว่า มีคุณสมบัติ ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด บำรุงหัวใจ แต่จริง ๆ แล้วจากงานวิจัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่า สารสกัดและน้ำมันจากดอกคำฝอย ยังมีสรรพคุณอื่น ๆ ที่ช่วยลดโรคร้าย บรรเทาอาการเจ็บป่วยในร่างกาย ตลอดจนยังเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ประโยชน์อื่น ๆ ไปจนถึงทำอาหารได้
SGE จึงจะชวนทุกคนมารู้จัก ดอกคำฝอย กันมากขึ้น พร้อมสรรพคุณ ประโยชน์ใช้งาน รวมถึงแง่มุมอื่น ๆ ที่คุณอาจไม่เคยรู้ จากพืชชนิดนี้ดอกคำฝอย คือ ?
ดอกคำฝอย เป็นส่วนหนึ่งของต้นคำฝอย มีลักษณะออกดอกรวมกันเป็นช่ออัดแน่น บนฐานดอกที่ปลายยอด มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ลักษณะเด่นคือ จะเป็นดอกกลมคล้ายดอกดาวเรือง เมื่อบานใหม่ ๆ จะมีกลีบดอกสีเหลือง แล้วจึงค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีส้ม เมื่อแก่จัด ดอกจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดง ที่ดอกมีใบประดับแข็ง เป็นหนามรองรับช่อดอกอยู่
สำหรับต้นคำฝอยนั้น ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากแต่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคตะวันออกกลาง มีลักษณะเป็นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 40-130 เซนติเมตร มีลำต้นเป็นสัน แตกกิ่งก้านมาก เป็นพืชที่มีอายุสั้น ทนแล้ง เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีระดับความสูงต่ำกว่า 1,000 เมตร ชอบดินร่วนปนทรายหรือดินที่มีการระบายน้ำได้ดี โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกจะอยู่ระหว่าง 5-15 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิที่เหมาะสมในช่วงออกดอกคือ 24-32 องศาเซลเซียส ใช้ระยะเวลาการปลูกประมาณ 80-120 วันจนเก็บเกี่ยว ลักษณะเด่นที่สังเกตได้คือ ใบของต้นคำฝอย จะเป็นใบยาวคล้ายใบหอก ขอบเป็นใบหยักคล้ายฟันเลื่อย และมีปลายหนามแหลม
ปัจจุบันมีการเพาะปลูกมากในประเทศอินเดีย เม็กซิโก เอธิโอเปีย และสหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศไทยมีการนำมาปลูกมากในภาคเหนือ โดยแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญคือ อำเภอพร้าว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ที่นิยมปลูกกันในภาคเหนือ นั่นก็เพราะมีอากาศหนาว ซึ่งเหมาะกับการเจริญเติบโตของต้นคำฝอย
สรรพคุณของ ดอกคำฝอย
1. ช่วยลดและป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือด
เนื่องจากดอกคำฝอยมีกรดไลโนเลอิก (Linoleic Acid) อยู่มาก ซึ่งกรดชนิดนี้จะเข้าไปทำปฏิกิริยากับไขมันในเลือดและขับออกทางปัสสาวะและทางอุจจาระ จึงมีสรรพคุณช่วยลดและป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือด และเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการป้องกันโรคนี้ แต่ไม่ชอบรับประทานหัวหอมหรือกระเทียมที่มีสรรพคุณเช่นเดียวกัน
2. ลดความดันโลหิต บำรุงหัวใจ
จากงานวิจัยของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ พบว่า น้ำมันจากดอกคำฝอย ช่วยลดระดับความดันโลหิตได้ โดยเมื่อให้ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง รับประทานน้ำมันดอกจากดอกคำฝอยทุกวัน เป็นเวลา 3 สัปดาห์ (วันละ 57 กรัม) ผลการทดลองพบว่า น้ำมันจากดอกคำฝอย สามารถช่วยลดระดับความดันโลหิตและระดับไขมันหรือคอเลสเตอรอลได้ ในขณะที่ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงชนิด Mild hypertension เมื่อรับประทานน้ำมันจากดอกฝอยทุกวันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ (วันละ 5.9 กรัม) ผลการทดลองพบว่า ค่าความดัน Systolic ลดลงมา 6.5 mm.Hg และค่าความดัน Diastolic ลดลงมา 4.4 mm. จึงสรุปได้ว่า น้ำมันดอกคำฝอย มีผลในการช่วยลดความดันโลหิตได้จริง
3. แก้อาการปวดประจำเดือน บำรุงโลหิตสตรี
ส่วนของดอกคำฝอย ไม่ว่าจะเกสร เมล็ด กลีบดอก ช่วยบำรุงโลหิตสตรีได้ดี โดยเฉพาะอาการปวดประจำเดือน เพราะมีฤทธิ์ช่วยขับระดูโลหิต กระจายเลือดแก้ประจำเดือนคั่งค้างที่มาไม่เป็นปกติ อีกทั้งการวิเคราะห์ทางคลินิกพบว่า สารสกัดจากดอกคำฝอย มีคุณสมบัติคล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิง ที่จะมีฤทธิ์กระตุ้นมดลูกและฮอร์โมนเพศหญิง ให้ทำงานได้ปกติ ช่วยให้มดลูกและกล้ามเนื้อเรียบหดตัวได้ ทั้งยังสามารถแก้อาการตกเลือด อาการปวดท้องหลังคลอด น้ำคาวปลาไม่หมด สำหรับคุณแม่มือใหม่ ได้อีกด้วย
4. มีฤทธิ์ช่วยลดระดับคอเลลสเตอรอลในหลอดเลือด
เพราะในน้ำมันของดอกคำฝอย มีกรดไลโนเลอิกมากกว่า 80% ที่จะไปรวมตัวกับคอเลสเตอรอล (cholesterol) เพื่อขนส่งไปในกระแสเลือด มีผลทำให้ระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ในเลือดลดลง จึงช่วยลดการสะสมของไขมันที่ผนังหลอดเลือด โดยมีงานวิจัยยืนยันว่า หากให้อาหารปกติผสมกับน้ำมันดอกคำฝอย 4% ในหนูทดลองที่มีคอเลสเตอรอลสูง ติดต่อกันเป็นเวลา 30 วัน จะพบว่าหนูทดลองมีระดับคอเลสเตอรอลลดลงถึง 36% แต่ถ้าหากให้อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงผสมกับน้ำมันดอกคำฝอย 4% กลับพบว่าหนูทดลองมีระดับคอเลสเตอรอลที่สูงขึ้น
5. แก้อาการปวดตามผิวหนัง แผลกดทับได้
น้ำมันจากเมล็ดดอกคำฝอย ใช้แก้อาการปวดตามผิวหนังได้หลากหลาย เช่น ปวดบวม ฟกช้ำดำเขียว แสบร้อนตามผิวหนัง สำหรับใครที่เป็นอัมพาต ก็ทาเป็นยาแก้อาการขัดตามข้อต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ ดอกคำฝอย ยังใช้รักษาตาปลา แผลกดทับได้
- แก้ตาปลา ให้ใช้ดอกคำฝอยสดและตี้กู่ฝีในปริมาณที่เท่ากัน นำมาตำผสมรวมกัน แล้วใช้ปิดบริเวณที่เป็นตาปลา โดยเปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง ไม่เกิน 5 วันก็จะดีขึ้น
- แผลกดทับ ใช้ดอกคำฝอยประมาณ 3 กรัมนำมาแช่กับน้ำพอประมาณจนน้ำเป็นสีแดง แล้วนำมาถูกบริเวณที่กดทับ โดยถูครั้งละ 10-15 นาที หากทำอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยป้องกันแผลกดทับได้ถึง 100% โดยไม่มีผลข้างเคียง
การใช้ประโยชน์จากดอกคำฝอย
1. นำมาชงเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร
ด้วยสรรพคุณมากมาย จึงทำให้มีการนำดอกคำฝอยมาชงเป็นเครื่องสมุนไพร เพื่อดื่มบำรุงสุขภาพ โดยแพทย์แผนจีน จะใช้ส่วนดอก 3-9 กรัม มาต้มเอาน้ำดื่ม ในกรณีดื่มเพื่อลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือด จะใช้ดอกคำฝอยแห้งประมาณ 2 หยิบมือ (2.5 กรัม) นำมาชงกับน้ำร้อนครึ่งถ้วยแล้วใช้ดื่ม หากต้องการดื่มเพื่อลดความอ้วน ใช้ดอกคำฝอยประมาณ 5 กรัม นำมาชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว
2. ใช้น้ำมันในการทอดอาหาร
เนื่องจากน้ำมันจากดอกคำฝอย มีกรดไลโนเลอิก ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว ช่วยลดคอเลสเตอรอล และไขมันในเส้นเลือด ดีต่อสุขภาพ จึงเหมาะกับการนำมาใช้เป็นน้ำมันทอด เพื่อลดการซึมซับไขมันที่ไม่ดีเข้าสู่ร่างกาย โดยกรดไลโนเลอิก ยังช่วยพัฒนาการทำงานของสมองและการสืบพันธุ์ ช่วยให้ร่างกายเผาผลาญกรดไขมันอิ่มตัวได้ดีขึ้น ให้เซลล์ได้รับสารอาหารได้มากขึ้น รักษาสมดุลของระบบการแข็งตัวของเลือด และช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่ผนังหลอดเลือดและเยื่อหุ้มเซลล์
3. ใช้น้ำมันเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์และใช้ในงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ
น้ำมันจากดอกคำฝอย ถูกใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น สีทาบ้าน สบู่ น้ำมันชักเงา น้ำยาเคลือบผิว เคลือบหนังไม่ให้เปียกน้ำ ในภาคอุตสาหกรรม ยังมีการนำน้ำมันคำฝอย มาใช้เป็นวัตถุดิบผลิต Alkyd resins สำหรับเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสี และกาวเหนียว และยังใช้เป็นน้ำมันหล่อลื่นในกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมทอผ้า อีกด้วย เป็นต้น
4. ใช้แต่งสีและผสมอาหาร
สีจากดอกคำฝอย สามารถนำมาสกัดสีเพื่อย้อมผ้าได้ โดยวิธีการคือ นำดอกคำฝอย มาตากให้แห้ง แล้วบด เพื่อสกัดเป็นสีย้อมผ้า ถ้าเป็นดอกอ่อน ก็จะได้สีเหลืองของสารคาร์ทามีดีน (carthamidine) ส่วนดอกแก่ จะได้สีแดงจากสารคาร์ทามีน (carthamine) สามารถย้อมติดได้ดีในเส้นใยฝ้ายหรือเส้นใยจากพืช
นอกจากนี้ ยังนิยมนำมาแต่งสีและผสมอาหาร เช่น เนยเทียม หรือเครื่องดื่มต่าง ๆ รวมถึงข้าว ซึ่งถ้าใช้ดอกคำฝอยนำมาต้มกับข้าว โดยใช้อัตราส่วนข้าว 1 ถ้วยตวงต่อกลีบดอก 2 ช้อนโต๊ะ และน้ำซุป 2 ถ้วยครึ่ง โดยต้มข้าวให้เดือดก่อน แล้วค่อยใส่กลีบดอกซึ่งอยู่ในถุงผ้า ต้มต่อจนน้ำหมดไป ใช้เวลาประมาณ 20 นาที จะได้ข้าวที่มีสีเหลืองและมีกลิ่นหอม
ข้อแนะนำในการใช้ดอกคำฝอย
1. ไม่ควรทานต่อเนื่อง
ไม่ควรชงดื่มเองอย่างต่อเนื่อง เพราะการรับประทานอย่างต่อเนื่องหรือในปริมาณที่มากเกินไป อาจจะส่งผลทำให้โลหิตจางได้ มีผลทำให้มีเลือดน้อยลง มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีอาการวิงเวียนศีรษะ หรือกลายเป็นคนขี้โรคได้
2. ใช้อย่างระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
แม้ว่า ดอกคำฝอย จะมีสรรพคุณที่หลากหลาย แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อระบบเลือดได้ หากไม่รู้จักใช้ให้ถูกวิธี ซึ่งแพทย์แผนจีนมักจะใช้ดอกคำฝอย ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นอยู่เสมอ จะไม่ใช้เป็นยาเดี่ยว ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และไม่ควรใช้ในระยะยาว สำหรับคนที่ทานยากลุ่มต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด (Anticoagulant) อยู่แล้ว ไม่ควรใช้ดอกคำฝอย ทานคู่กันเพิ่มเติม
3. สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้
สำหรับ สตรีมีครรภ์ ไม่ควรบริโภคสมุนไพรดอกคำฝอย เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้ มีฤทธิ์เป็นยาบำรุงเลือดและช่วยขับประจำเดือน หากรับประทานหรือรับประทานในปริมาณมาก ๆ ก็อาจจะทำให้แท้งบุตรได้ แนะนำให้ใช้เพื่อบรรเทาอาการข้างเคียงหลังการคลอดเท่านั้น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
30 มกราคม 2024
โดย
Pres