พารู้จัก ถั่วเหลือง สุดยอดประโยชน์ที่ดีต่อร่างกาย!
ถั่วเหลือง จัดเป็นพืชสำคัญและเก่าแก่ชนิดหนึ่งของโลก ตามประวัติศาสตร์แล้วถั่วเหลืองนั้นมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนทางตอนกลางหรือทางเหนือ สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารจากถั่วเหลืองนั้นมีมากมาย ไม่เฉพาะในแถบเอเชียบ้านเราเท่านั้น แต่ยังแพร่หลายไปยังอเมริกา และยุโรป แต่ว่าเขาเริ่มหันมานิยมกันทีหลังเราเท่านั้นเอง วันนี้ SGE จะมาแชร์ความรู้เกี่ยวกับถั่วเหลือง จากเพจเทคโนโลยีชาวบ้าน ว่ามันคืออะไรและมีประโยชน์อย่างไร ไปดูกันเลย..
ถั่วเหลือง (Soybean) คืออะไร
ถั่วเหลืองจัดเป็นพืชสำคัญและเก่าแก่ชนิดหนึ่งของโลก ตามประวัติศาสตร์แล้วถั่วเหลืองนั้นมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนทางตอนกลางหรือทางเหนือ ซึ่งชาวจีนได้รู้จักการใช้ประโยชน์จากถั่วเหลือง และมีการปลูกถั่วเหลืองมายาวนานมากกว่า 4,700 ปีแล้ว ซึ่งประโยชน์ของถั่วเหลืองมีมากมายหลายประการและยังถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย ในปัจจุบันถั่วเหลืองเป็นพืชที่มีการเพาะปลูกกันอย่างแพร่หลายในเขตร้อนและเขตอบอุ่น แต่ให้ผลผลิตได้ดีในเขตอบอุ่น แต่อย่างไรก็ตามผู้ผลิตถั่วเหลืองที่สำคัญที่สุดกลับเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลผลิตมากถึง 56% ของผลผลิตทั่วโลก
ในถั่วเหลืองเมล็ดหนึ่งจะมีโปรตีนอยู่ประมาณ 30-50% น้ำประมาณ 13-25% คาร์โบไฮเดรต อีก 14-24% และน้ำมันในถั่วเหลืองยังเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ซึ่งกินดีกว่าน้ำมันชนิดกรดไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ คือมีกรดไลโนเลอิก 55% โอเลอิก 21% ที่เหลือเป็นกรดไขมันชนิดอิ่มตัว คิดเป็นสัดส่วนกันแล้วจะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวประมาณ 80% และกรดไขมันอิ่มตัวประมาณ 20% จึงนับว่าเยี่ยมมากและหาพืชอื่นใดมาทดแทนได้ยาก และยังช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด
อาหาร และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง
ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองในเอเชีย ต้นกำเนิดส่วนใหญ่ล้วนมาจากประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็น เต้าหู้ (ทำมาจากการตกตะกอนโปรตีนของถั่วเหลือง) บางชนิดก็ปล่อยให้เกิดการหมักจนเกิดกลิ่นและฟู อาหารที่ทำจากถั่วเหลือง แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองที่ไม่ผ่านการหมัก เช่น เต้าหู้ ถั่วงอกเพาะ ฝักอ่อน ยอดอ่อนสด หรือต้นอ่อน เมล็ดถั่วเหลืองอบหรือทอด เป็นต้น ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมักถั่วเหลือง เช่น ซอสถั่วเหลือง เต้าเจี้ยว น้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์ | ลักษณะและการใช้ประโยชน์ |
---|---|
เต้าหู้ | ลักษณะเป็นก้อน ขนาดมีให้เลือกหลายรูปแบบ ทำจากนมถั่วเหลือง เต้าหู้สามารถเปลี่ยนรสชาติได้หลากหลายตามแต่การปรุงแต่งด้วยความหลากหลายนั้นเอง เต้าหู้จึงถูกนำมาใช้แทนชีส ไปจนถึงแทนเนื้อสัตว์ เต้าหู้แข็งจะมีโปรตีน ไขมัน และแคลเซียมสูงกว่าเต้าหู้อื่นๆ เหมาะกับการนำมาทำอาหาร |
ถั่วงอกเพาะ | เกิดจากเมล็ดถั่วเหลืองที่ถูกนำมาเพาะเป็นเวลาประมาณ 6 วัน เป็นแหล่งของโปรตีน และเส้นใยอาหารที่ดี สามารถเติมลงในอาหารจานผักได้ง่ายๆ |
ซอสถั่วเหลือง | หนึ่งในเครื่องปรุงอาหารที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก ซอสรสเค็มชนิดหนึ่งทำมาจากการหมักถั่วเหลือง ข้าวสาลี และเชื้อราเข้าด้วยกัน ซอสถั่วเหลืองไม่มีไอโซฟลาโวน แต่การศึกษาบางชิ้นพบว่ามันมีสารต้านมะเร็งตัวอื่นๆ เนื่องจากซอสถั่วเหลืองมีความเค็มจากเกลือ หากสามารถเลือกซอสถั่วเหลืองแบบโซเดียมต่ำก็จะดีต่อสุขภาพผู้บริโภค |
เต้าเจี้ยว | เป็นการแปรรูปถั่วเหลือง ให้อยู่ในลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่เก็บไว้ได้นาน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้มาจากการหมักถั่วเหลือง เพื่อการถนอมอาหาร ที่จัดอยู่ในกลุ่มอาหารหมักเกลือ เต้าเจี้ยวนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของการปรุงรสชาติอาหาร ซึ่งนอกเหนือจากจะได้รสชาติที่ดีแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโปรตีนในอาหารอีกด้วย โดยเฉพาะในการปรุงอาหาร ที่ปราศจากเนื้อสัตว์ เช่น อาหารเจ อาหารมังสวิรัติ |
ประโยชน์ของ ถั่วเหลือง
ถั่วเหลือง เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและหลากหลาย เพราะอุดมไปด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต กรดอะมิโน มีไขมันชนิดดีสูง มีเส้นใยอาหารสูง มีวิตามินและเกลือแร่สูง และยังเป็นอาหารที่หาได้ง่าย ราคาไม่แพง การเก็บรักษาก็ง่าย และผู้ผลิตยังเติมสารอาหารที่มีประโยชน์อื่น ๆ ลงไปอีกด้วย โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลืองสำเร็จรูป และการบริโภคนมถั่วเหลืองเป็นประจำยังมีประโยชน์ต่อรูปลักษณ์ภายนอกอีกด้วย เช่น ช่วยทำให้ผิวพรรณสดใส เปล่งปลั่ง ดูมีน้ำมีนวล ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดแข็งตัว โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน
แต่ก็มีข้อควรระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์ปรุงรสต่างๆ จากถั่วเหลืองอยู่ว่า พวกนี้ล้วนแต่มีเกลือสูง เช่น ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ กินเป็นแค่เครื่องปรุงรสไม่ใช่อาหาร กินเค็มมากไปและติดต่อกันทุกวันย่อมไม่ดีแน่นอน โดยเฉพาะความดันจะสูง ไตจะพังเอาง่ายๆ แถมไม่ดีกับโรคหัวใจด้วย และหากว่าท่านจะกินอะไร ก็ควรให้พอเหมาะพอดี ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป เพื่อสุขภาพที่ดีและแข็งแรง จึงควรคำนึงถึงความปลอดภัยของท่านและบุคคลในครอบครัวด้วย
คำแนะนำ ในการรับประทานถั่วเหลือง
- สำหรับวิธีการเพิ่มการบริโภคถั่วเหลืองในชีวิตประจำวันมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี เช่น การดื่มนมถั่วเหลือง ใช้เนื้อเทียมหรือโปรตีนเกษตร ใช้น้ำนมถั่วเหลืองในการทำเค้ก ใช้แป้งถั่วเหลืองแทนแป้งสาลี ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วเหลืองต่าง ๆ หรือใช้ถั่วเหลืองฝักอ่อนและถั่วงอกหัวโตเป็นส่วนประกอบในอาหาร หรือใช้ถั่วงอกในการทำอาหารเมนูต่าง ๆ เช่น ผัดกับผัก ทำเป็นแกงจืด เป็นต้น
- เมล็ดถั่วเหลืองแก่มีสารยับยั้งเอนไซม์บางชนิดที่ช่วยย่อยโปรตีน จึงต้องทำให้สุกเสียก่อนจึงจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่และสำหรับผู้ที่เกิดอาการอาเจียนหรือมีอาการท้องร่วงหลังการดื่มน้ำเต้าหู้ จนเข้าใจว่าเป็นอาการแพ้ สาเหตุอย่างหนึ่งของอาการดังกล่าวอาจเกิดจากการดื่มน้ำเต้าหู้ที่ไม่เดือดเต็มที่ ทำให้ไม่สามารถทำลายสารซาโพนีนได้
- แม้ว่านมถั่วเหลืองจะสามารถใช้ทดแทนนมวัวได้ แต่สำหรับในเด็กที่ไม่ได้แพ้นมวัวก็ไม่ควรที่จะดื่มนมถั่วเหลืองแทนนมวัว เนื่องจากอยู่ในช่วงวัยเจริญเติบโต เพราะนมวัวมีแคลเซียมมากกว่านมถั่วเหลือง ให้พลังงานมากกว่า มีโปรตีนที่สมบูรณ์กว่า แต่ทั้งนี้ยังสามารถดื่มร่วมกับนมวัวได้
- การเลือกซื้อนมถั่วเหลือง ควรดูรายละเอียดที่ข้างกล่องด้วย ซึ่งนมถั่วเหลืองที่ดีต่อสุขภาพนั้นนอกจากจะมีโปรตีนที่สูงแล้ว ยังต้องมีแคลเซียมสูงด้วย
- น้ำมันถั่วเหลือง ไม่ควรนำมาใช้ในการทอดอาหาร เพราะเป็นน้ำมันที่ไม่คงตัวและเสื่อมสภาพเร็ว แต่น้ำมันถั่วเหลืองจะนิยมนำมาใช้ผัด
- การเก็บถั่วเหลืองไว้นานเกินไป หรือเก็บรักษาไม่ดี เต้าหู้หรือเต้าเจี้ยว อาจมีการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ได้ ซึ่งเป็นสารที่ก่อมะเร็ง