รู้จักกับ ถ่านชีวภาพ หรือ ไบโอชาร์ คืออะไร? ช่วยปรับดินเค็มในที่นาปลูกข้าวได้อย่างไร?
หลาย ๆ คนคงเคยได้ยิน ชื่อของ ถ่านชีวภาพ หรือ ไบโอชาร์ กันมาบ้างแล้ว เป็นอีกหนึ่งถ่านที่มีคุณสมบัติเด่น ๆ หลายด้าน ตาม SGE ไปรู้จักกับถ่านชีวภาพ และวิธีเผาถ่านชีวภาพกัน จะเป็นอย่างไร และทำได้อย่างไรบ้าง ไปดู
ถ่านชีวภาพ (Biochar) คืออะไร?
ถ่านชีวภาพ หรือ ไบโอชาร์ คือ ถ่านที่อุดมด้วยคาร์บอน ผลิตจากวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น เหง้ามันสำปะหลัง ฟางข้าว ซังข้าวโพด กิ่งไม้ เป็นต้น นำมาผ่านกระบวนการแยกสลายด้วยความร้อน (pyrolysis) โดยไม่ใช้ออกซิเจน ซึ่งมี 2 วิธีหลัก ๆ คือ การแยกสลายอย่างเร็ว และการแยกสลายอย่างช้า
- วิธีการแยกสลายอย่างช้า ที่อุณหภูมิเฉลี่ย 500 องศาเซลเซียส จะได้ผลผลิตของถ่านชีวภาพมากกว่า 50% แต่จะใช้เวลานานเป็นชั่วโมง
- วิธีการแยกสลายอย่างเร็ว ที่อุณหภูมิเฉลี่ย 700 องศาเซลเซียส ซึ่งใช้เวลาเป็นวินาที ผลผลิตที่ได้จะเป็นน้ำมันชีวภาพ 60% แก๊สสังเคราะห์ 20% และถ่านชีวภาพ 20%
ไบโอชาร์ หรือถ่านชีวภาพนั้น จะใช้ประโยชน์เพื่อกักเก็บคาร์บอนลงในดิน และปรับปรุงสภาพทางกายภาพของดิน เนื่องจากคุณสมบัติ มีรูพรุนตามธรรมชาติ เมื่อใส่ลงดิน จะช่วยการระบายอากาศ การซึมน้ำการอุ้มน้ำ ดูดยึดธาตุอาหาร เป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ ลดความเป็นกรดของดิน และยังช่วยเพิ่มคุณภาพของปุ๋ยให้สูงขึ้น ทำให้ประหยัดการใช้ปุ๋ย ลดต้นทุน เพิ่มรายได้เพิ่มผลผลิตได้
ที่สำคัญ ถ่านไบโอชาร์ ยังมีศักยภาพในการเป็นวัสดุปรับปรุงดินเค็ม เพื่อช่วยส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดิน ลดระดับความเค็มของดิน ทำให้ต้นข้าวสามารถเจริญเติบโต สร้างผลผลิตได้ดีอีกด้วย
วิธีทำถ่านชีวภาพ
ถ่านไบโอชาร์ เป็นถ่านที่ใช้ประโยชน์ เพื่อการกักเก็บคาร์บอนลงดิน และปรับปรุงบำรุงดิน สำหรับเกษตรกรที่อยากทำถ่านชีวภาพ สามารถทดลองทำเองได้ง่าย ดังนี้
วัสดุและอุปกรณ์
- วัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น ไม้มะขาม เปลือกทุเรียน กะลามะพร้าว แกลบ เป็นต้น
- ฟืน สำหรับเป็นเชื้อเพลิง
เตาเผาถ่าน เป็นเตาแบบตั้ง 2 ถัง ดังนี้
- ถังขนาด 100 ลิตร
- ถังขนาด 200 ลิตร
- ฝาปิดถังชั้นนอก พร้อมท่อใยหินขนาด 6 นิ้ว เป็นป่อง
วิธีเผาถ่านชีวภาพ
- นำถัง 100 ลิตร ไปเจาะรูรอบ ๆ ถัง ประมาณ 20 รู เพื่อระบายแก๊สที่ไม้ระบายออกระหว่างเผา
- นำถัง 200 ลิตร มาเจาะรูขนาด 1 นิ้ว รอบ ๆ ตัวถังด้านบน ส่วนด้านล่างของตัวถังให้เจาะทะลุ สำหรับฝาปิดนั้น เจาะรูตรงกลางให้เป็นปากฉลาม สำหรับทำเป็นท่อป่องควัน หรือจะทำเป็นท่อเสียบก็ได้
- ใส่วัสดุเหลือใช้จากการเกษตร ลงไปในถัง 100 ลิตร จนเต็ม แล้วปิดฝาให้สนิท
ข้อควรระวัง: ในระหว่างกระบวนการเผาถ่าน วัสดุนำมาทำถ่านชีวภาพ จะต้องไม่สัมผัสกับไฟโดยตรง - ยกถังขึ้นวางบนอิฐที่ทำเป็นฐาน จากนั้น นำถังขนาด 200 ลิตร มาครอบทับถัง 100 ลิตรลงไป รองฐานด้วยอิฐเช่นเดียวกัน
- เติมฟืนลงไประหว่างช่องว่างในเตาผาจนเต็ม แล้วจุดไฟ แล้วปิดฝาให้สนิท แล้วใส่ป่องควันลงไป
- หลังจากไฟเริ่มติด ก็จะเริ่มเผาลามไปเรื่อย ๆ โดยกระบวนการเผาถ่านชีวภาพนี้ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากไม้ด้านในเตาได้รับความร้อน จะคลายซีลแก๊สออกมา จนกระทั่งแก๊สในไม้ที่ใส่ในเตาหมด กลายเป็นถ่านแบบสมบูรณ์นั่นเอง และปล่อยให้ไฟดับเอง
- เมื่อไฟดับหมดแล้ว ปล่อยให้ถ่านเย็นลง ประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วค่อยเปิดเตา พร้อมนำถ่านไปใช้งานด้านอื่น ๆ ต่อไป
รู้ไหม? การเผาถ่านไบโอชาร์ จะไม่มีควัน แต่จะมีเปลวไฟออกทางปล่องไฟ และควรเผาในที่โล่ง
ถ่านชีวภาพใช้งานอย่างไรบ้าง?
อย่างที่รู้กันว่าคุณสมบัติเด่น ๆ ของ ถ่านไบโอชาร์ คือ รูพรุนที่ผิวถ่าน ที่สามารถเก็บกักน้ำ และธาตุอาหาร เป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ดินที่เป็นประโยชน์ โดยก่อนนำถ่านชีวภาพไปใช้ ทำได้ดังนี้
- ใช้ปรับปรุงดิน ควรเติมจุลินทรีย์ และธาตุอาหารก่อน
- ใช้เป็นปุ๋ย ควรใส่เฉพาะบริเวณใกล้ ๆ กับรากฝอยของพืช โดยผสมกับปุ๋ยหมักฮิวมัส หรือปุ๋ยคอกก่อน 1-2 วัน ในอัตราตั้งแต่ 1:1-1:4 (ถ่านชีวภาพ:ปุ๋ยคอก/ปุ๋ยหมัก) แล้วค่อยนำไปใส่รองก้นหลุมปลูก หรือใส่โคนต้น
- สำหรับใช้เป็นส่วนผสมในการเพาะเมล็ด เพาะกล้า แนะนำให้ใช้ในอัตรา 1-4 ลิตร/ตารางเมตร
ประโยชน์ของถ่านชีวภาพ
- ช่วยในการปรับปรุงเนื้อดิน ที่มีความแข็งดาน ให้ร่วนซุย และสามารถอุ้มน้ำได้มากขึ้น
- ปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง ของเนื้อดิน ให้มีสภาพเป็นกลาง
- เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนลงในดิน ช่วยกำจัดกลิ่นเหม็น และดูดความขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- นำไปใช้เป็นปุ๋ยในการทำเกษตรได้อีกด้วย
- ช่วยเก็บธาตุอาหารจากปุ๋ย และเป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ ช่วยปลดปล่อยธาตุอาหารให้แก่พืชได้นาน ทำให้ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยลงได้
- ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเกษตรได้
- ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และเพิ่มรายได้มากขึ้น
จบไปแล้วกับความรู้เรื่องถ่านชีวภาพ ไบโอชาร์ ถ่านไบโอชาร์ ที่เรานำมาแชร์นี้ ทำให้หลาย ๆ คนได้รู้จักกับถ่านชนิดนนี้มากขึ้น และเลือกไปลองใช้ในงานเกษตรของคุณได้ แถมยังเป็นการนำวัสดุที่เหลือจากการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์อีกด้วย
บทความดี ๆ น่าอ่าน:
30 มกราคม 2024
โดย
ลำดวน