เกร็ดความรู้ ประเภทของ น้ำตาล ที่ใช้ทำขนมและการเลือกซื้อ
เมื่อพูดถึง ❝น้ำตาล❞ สารให้ความหวาน ที่มักเป็นสิ่งสำคัญในการประกอบอาหารต่าง ๆ รวมไปถึงการทำอาหาร คาว-หวาน ทำขนม เบเกอรี่ ซึ่งเราจะเห็นว่ามีการใช้น้ำตาลอยู่ไม่กี่ประเภท บางประเภทก็มีลักษณะหน้าตาที่คล้ายคลึงกัน ผู้ที่เริ่มทำเบเกอรี่ใหม่ ๆ อาจจะยังสับสนอยู่บ้าง วันนี้ SGE จะมาอธิบายเกี่ยวกับน้ำตาลประเภทต่าง ๆ ที่มักพบบ่อยในการทำ ขนม เบเกอรี่ต่าง ๆ ว่าลักษณะเป็นอย่างไร? และเหมาะสำหรับใช้ทำอะไรบ้าง?
น้ำตาลเป็นสารประกอบที่เป็นผลึก ละลายได้ดีในน้ำและมีรสหวาน ให้สารอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต และน้ำตาลที่ใช้ในการทำเบเกอรี่ หมายถึง น้ำตาลซูโครส ซึ่งเป็นน้ำตาลทรายขาว ที่ผลิตจากอ้อย โดยน้ำตาลที่ใช้ในการทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่มีหลายชนิด การเลือกใช้ชนิดของน้ำตาลขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ที่จะทำนั่นเอง
น้ำตาลชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ทำขนม และการเลือกซื้อ มีอะไรบ้าง?
น้ำตาล หนึ่งในวัตถุดิบหลักของการทำขนมและเบเกอรี่ ซึ่งน้ำตาลที่มักถูกใช้ในการทำขนมนั้น แบ่งแยกย่อยออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายแดง และน้ำตาลไอซิ่ง
1. น้ำตาลทรายขาว (Granulated Sugar)
มีความละเอียดต่างกัน คือ แบบละเอียดมาก แบบธรรมดา และแบบหยาบ น้ำตาลที่ใช้ในการทำเบเกอรี่ได้ดี ควรมีความละเอียด สีขาว และสะอาด เพราะจะผสมเข้ากับส่วนผสมอื่น ๆ ได้ดี ถ้าใช้น้ำตาลทรายที่หยาบ จะผสมกับเนยได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะผลึกที่หยาบของน้ำตาลทรายจะละลายไม่หมดคงอยู่เป็นเม็ดผลึกของน้ำตาล และไม่สามารถละลายด้วยความร้อนของเตาอบ ทำให้น้ำตาลทรายที่อยู่ใกล้ผิวหน้าขนมเป็นจุด ๆ
ในการทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ มักใช้น้ำตาลทรายขาว ส่วนน้ำตาลทรายขาวแบบหยาบเหมาะสำหรับโรยบนคุกกี้ ย้อมสีต่าง ๆ หรือใช้ทำไส้ขนม
2. น้ำตาลทรายแดง (Yellow or Brown Sugar)
คือ น้ำตาลที่มีพวกคาราเมล แร่ธาตุและความชื้นปนอยู่สูง เป็นน้ำตาลที่ไม่บริสุทธิ์เรียกว่าน้ำตาลดิบ มีสีน้ำตาลอ่อนจนถึงเข้ม เป็นผงละเอียดร่วน จับตัวเป็นก้อนง่าย ก่อนนำมาใช้ต้องนำมาร่อนก่อน นิยมใช้ในการทำผลิตภัณฑ์ที่ต้องการกลิ่น รส และสีของน้ำตาลทรายแดง
3. น้ำตาลไอซิ่ง (Icing or Confectionery Sugar)
เป็นน้ำตาลที่มีผงละเอียดได้จากการบดน้ำตาลทราย และมีแป้งข้าวโพดผสมอยู่ประมาณร้อยละ 3 เพื่อป้องกันการจับตัวกันเป็นก้อน หรือป้องกันการเป็นผลึกของน้ำตาล นิยมใช้เป็นส่วนผสมของคุกกี้ชนิดต่าง ๆ และโรยหน้าบนผลิตภัณฑ์ ขนม เบเกอรี่ชนิดต่าง ๆ นั่นเอง
👉 นอกจากนี้ ยังมีน้ำตาลข้าวโพด หรือเด็กซโตรส ซึ่งทำจากแป้งข้าวโพด จะมีความหวานประมาณร้อยละ 75 ของน้ำตาลทรายซูโครส ส่วนมากใช้ในการทำขนมปัง หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยีสต์ น้ำตาลจากนม หรือแลคโตส เป็นน้ำตาลที่มีอยู่ในนมสด หรือหางนม น้ำตาลชนิดนี้จะช่วยเพิ่มความหวาน รส และกลิ่น ซึ่งการใช้น้ำตาลแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับวิธีการ เช่น การคนด้วยตะกร้อมือ ควรใช้น้ำตาลทรายป่นเพื่อให้น้ำตาลละลายได้ดีเป็นเนื้อเดียวกันกับเนย หากใช้เครื่องตีไฟฟ้า ควรใช้น้ำตาลทรายธรรมดาชนิดเม็ดละเอียด น้ำตาลทรายแดง หรือน้ำตาลอ้อย ก่อนนำมาใช้ต้องร่อนให้ได้เนื้อน้ำตาลที่ละเอียดเสียก่อน เมื่อนำมาผสมจะได้ไม่มีเม็ดน้ำตาลเหลืออยู่ เพราะเม็ดน้ำตาลจะทำให้ชิ้นขนมไม่สวย และเห็นเป็นจุดสีน้ำตาล |
ประโยชน์ของน้ำตาลต่อผลิตภัณฑ์เบเกอรี่
- ให้ความหวานแก่ผลิตภัณฑ์ กลิ่น และรสแก่ผลิตภัณฑ์
- เป็นอาหารของยีสต์ในระหว่างการหมัก
- ถูกย่อยด้วยเอนไซม์เป็นโมเลกุลน้ำตาลเล็ก ๆ
- ช่วยในการตีครีม และการตีไข่ ให้ส่วนผสมมีความคงตัว
- ช่วยเก็บความชุ่มชื้นภายในผลิตภัณฑ์
- ทำให้สีผิวของผลิตภัณฑ์สวยขึ้น
- เพิ่มคุณค่าอาหารในผลิตภัณฑ์ โดยให้สารอาหารพวกคาร์โบไฮเดรท
การเลือกซื้อน้ำตาล
- เลือกน้ำตาลให้เหมาะสมกับชนิดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการทำ
- น้ำตาลต้องแห้งสนิท สะอาด และไม่มีฝุ่นละอองเจือปน
- น้ำตาลต้องไม่จับตัวเป็นก้อน หรือมีลักษณะเหลว
การเก็บรักษาน้ำตาล
► น้ำตาลทรายขาว และน้ำตาลทรายแดง มีคุณสมบัติเป็นตัวดูดความชื้น ควรเก็บไว้ในภาชนะพลาสติก หรือแก้วที่มีฝาปิดสนิท เนื่องจากน้ำตาลจะดูดความชื้นจากอากาศจนถึงจุดที่น้ำตาลละลาย ซึ่งพวกจุลินทรีย์จะเจริญเติบโตได้ดี ทำให้น้ำตาลมีรสเปรี้ยว
► น้ำตาลละเอียด หรือน้ำตาลไอซิ่ง เมื่อไม่ใช้จะต้องเก็บไว้ในที่แห้ง เพื่อป้องกันการจับตัวเป็นก้อน และไม่ควรใช้ภาชนะที่เป็นโลหะเพราะอาจจะเกิดสนิมได้
🤔รู้ไหม? นอกจากน้ำตาลที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เรายังมีน้ำตาลอีก 2 ชนิดที่คุ้นเคยกัน คือ
- น้ำตาลกรวด (Crystalline Sugar) มีรสหวานอ่อน ๆ ไม่หวานแหลมเหมือนน้ำตาลทราย คนจีนนิยมใส่ในน้ำซุป, นำไปตุ๋นรังนก, ตุ๋นสาลี่, ใส่ในน้ำรากบัว ซึ่งเชื่อว่ากินน้ำตาลกรวดแล้วร่างกายเย็นชุ่มชื่น
- น้ำตาลที่ไม่ตกผลึก เช่น น้ำตาลโตนด, น้ำตาลมะพร้าว มีกลิ่นหอมเฉพาะที่เข้ากันได้ดีกับน้ำกะทิ มักใช้ทำขนมหวานของไทย สำหรับเมเปิลไซรัป, น้ำผึ้ง, ใช้ราดแพนเค้ก ส่วนคอร์นไซรัปนั้นเหนียวข้น ช่วยให้เนื้อขนมไม่เหลว ใช้ใส่ในเนื้อของพีแคนพาย
แม้น้ำตาลเหล่านี้จะให้รสหวานเหมือนกัน แต่มีกลิ่น รส ที่แตกต่างกันไป และขนมจะหอมละมุน น่ากิน ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่การใช้น้ำตาลให้เข้ากับขนมด้วย 👌