ประโยชน์ของ “ชาอู่หลง” ที่คุณอาจยังไม่รู้!
ปัจจุบันคนไทยเริ่มตระหนักถึงการคัดสรรอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ รวมถึงเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ อย่างการดื่มชา เครื่องดื่มที่เป็นที่รู้จักในด้านสุขภาพ หนึ่งในตัวเลือกที่ถูกพูดถึงมากที่สุด คือ “ชาอู่หลง” ☕ ซึ่งเป็นชาประเภทกึ่งหมักที่ผ่านการหมักเพียงบางส่วน ทำให้มีสี กลิ่นหอม และรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยกระบวนการหมักที่ไม่เหมือนใครนี้ ยังทำให้ชาอู่หลงอุดมไปด้วยคุณประโยชน์มากมายที่จะช่วยให้วันที่ยุ่งเหยิงของคนยุคใหม่กลายเป็นวันเบาๆ สบายๆ ที่สุขภาพดีได้
บทความนี้ SGE จะพามารู้จักกับหนึ่งในเครื่องดื่มทางเลือก เพื่อคนรักสุขภาพที่ถูกพูดถึงมากที่สุด อย่างชาอู่หลง คุณประโยชน์ดี ๆ ที่ช่วยให้เบากาย สบายอารมณ์ และวิธีการเลือกดื่มชาอู่หลงที่ปริมาณเหมาะสม และส่งผลดีต่อสุขภาพ
ชาอู่หลง คืออะไร?
ชาอู่หลงเป็นชาจีน ที่คนชื่นชอบในรสชาติ และกลิ่นหอม อีกทั้งเชื่อกันว่ามีสรรพคุณรักษา และป้องกันโรคมากมาย เช่น ลดความอ้วน, รักษา และป้องกันโรคเบาหวาน, ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ และอาจช่วยพัฒนาการทำงานของสมองได้
ชาอู่หลงนั้น ประกอบไปด้วย วิตามิน และเกลือแร่หลากชนิด ทั้งฟลูออไรด์, แมงกานีส, โพแทสเซียม, แมกนีเซียม, โซเดียม, ไนอาซิน และสารพอลิฟีนอล ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เช่น สารฟลาโวนอยด์ (Flavonoids), สารทีอะฟลาวิน (Theaflavins), สารทีรูบิจิน (Thearubigins) และสารเอพิกัลโลคาเทชินกัลแลต (Epigallocatechin Gallate) ที่ล้วนเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และยังมีสารคาเฟอีน ซึ่งเป็นสารกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง หัวใจ และกล้ามเนื้อด้วย
12 คุณประโยชน์ของชาอู่หลง
1. ประโยชน์ต่อหัวใจ และหลอดเลือด
การดื่มชาอู่หลงจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจไปด้วย การวิจัยพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่ดื่มชาอู่หลง 1-6 ถ้วยในหนึ่งสัปดาห์ จะมีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด
2. ต้านอนุมูลอิสระ ชะรอความชรา
ไขมันผิวหนัง (Skin lipids) มีความจำเป็นสำหรับการที่เราจะมีผิวพรรณที่ดูดีมีชีวิตชีวา อนุมูลอิสระจะเป็นตัวเร่งกระบวนการของการเกิดริ้วรอยโดยการแปลงไขมันผิว (Skin Lipids) เป็นไขมันเปอร์ออกไซด์ (Lipid Peroxide) ซึ่งส่งผลให้เกิดจุดด่างดำ และสีเข้มของผิวหนัง สารพอลิฟีนอลที่พบในใบชาอู่หลง จะช่วยขจัดอนุมูลอิสระออกจากร่างกายของเรา การดื่มชาอู่หลงจึงช่วยชะลอความชราได้
3. ช่วยเรื่องการลดน้ำหนัก และควบคุมโรคอ้วน
สารพอลิฟีนอลในชาอู่หลง จะช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมันในร่างกาย การดื่มชาอู่หลงทุกวันจึงช่วยในการลดน้ำหนัก และลดความอ้วนไปในตัว โดยการเร่งกระบวนการ Lipolysis ที่จะช่วยให้ร่างกายเผาผลาญไขมันได้มากขึ้น ดังนั้นการดื่มชาอู่หลง จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก
4. ป้องกันฟันผุ
สารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า พอลิฟีนอลที่มีอยู่ในชาอู่หลง จะช่วยเสริมสุขภาพช่องปากและฟัน โดยการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุของฟันผุ และโรคมะเร็งในช่องปาก การดื่มชาอู่หลง ช่วยป้องกันการสะสมของคราบจุลินทรีย์ ช่วยต่อสู้ และสกัดกั้นการเกิดฟันผุ
5. มีคุณสมบัติต้านมะเร็ง
นักดื่มชาโดยทั่วไปจะมีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง ด้วยความเข้มข้นของสาร Polymeric Polyphenols เช่น Thearubigin และ Theaflavin ที่มีอยู่สูงในชาอู่หลง เมื่อเทียบกับชาพันธุ์อื่น ๆ สารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้ ช่วยต้านสารก่อมะเร็ง และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง พอลิฟีนอลช่วยส่งเสริมการตาย (Apoptosis) และการเจริญเติบโตของเซลมะเร็งในกระเพาะอาหาร และทำหน้าที่เสมือนคีโมป้องกันการพัฒนาเซลมะเร็งต่าง ๆ โดยเฉพาะมะเร็งรังไข่ในสตรี
6. ส่งเสริมสุขภาพกระดูกให้แข็งแรง
สารต้านอนุมูลอิสระที่มีอยู่ในชาอู่หลง นอกจากช่วยป้องกันฟันผุแล้ว ยังเสริมสร้างโครงสร้างกระดูก การดื่มชาอู่หลงจึงเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากในการช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนในร่างกายมนุษย์
7. รักษาโรคเบาหวาน
ชาอู่หลงมีความเข้มข้นสูงของสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่าพอลิฟีนอล นอกเหนือไปจากวิตามิน และแร่ธาตุในชาอู่หลง เช่น วิตามิน, แคลเซียม, โพแทสเซียม, ซีลีเนียม, ฟลูออรีน, แมกนีเซียม และฟอสฟอรัส สารอาหารเหล่านี้ช่วยขจัดสารพิษในร่างกาย ช่วยกระบวนการย่อยอาหาร และลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ชาอู่หลงจึงได้รับพิจารณาให้เป็นพืชสมุนไพรในการรักษาโรคเบาหวาน (Type 1 Diabetes) อีกด้วย
8. ช่วยขจัดความเครียด
สารพอลิฟีนอลที่มีในชาอู่หลง เปรียบดังมือปราบความเครียด และกำจัดอารมณ์แปรปรวน การดื่มชาอู่หลงในระหว่างวัน จึงช่วยทำให้ร่ายกายปรับสมดุล ผ่อนคลาย ลดความเครียดให้หายไปได้
9. ต้านการติดเชื้อแบคทีเรีย
สารต้านอนุมูลอิสระที่มีอยู่ในชาอู่หลง ช่วยต้านการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยไปยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อบางชนิดได้
10. รักษาโรคผิวหนังอักเสบ
โรคผิวหนังอักเสบ (Atopic Dermatitis) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังซึ่งจะมีอาการคัน, บวม, แดง ทำให้เกิดแผลเป็น และการติดเชื้อเนื่องจากการเกาแผลบ่อย ๆ มีการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยที่รับการรักษาอาการผิวหนังอักเสบที่ได้ดื่มชาอู่หลงอย่างน้อยวันละ 3 ถ้วย ควบคู่กับการรักษา จะมีอาการดีขึ้นกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้ดื่มชาอู่หลง
11. การต้านริ้วรอย (Anti-Aging)
สารอนุมูลอิสระ ที่เกิดจากการที่ผิวหนังที่ต้องเผชิญกับแสงแดด และมลภาวะมาก ๆ จะเร่งกระบวนการเกิดริ้วรอย และเกิดการผลัดเซลล์ผิวลดลง ส่งผลให้เกิดริ้วรอย และจุดด่างดำก่อนวัยอันควร สารต้านอนุมูลอิสระที่มีอยู่ในชาอู่หลง จะช่วยลดปฎิกริยาออกซิเดชั่น ซึ่งส่งผลช่วยให้ผิวพรรณดูอ่อนเยาว์สุขภาพดี
12. ช่วยให้ผิวพรรณดูมีน้ำมีนวล
ปกติของการดื่มชาอู่หลง จะช่วยในเรื่องของการลดริ้วรอย และเพิ่มความยืดหยุ่นของเซลส์ผิวหนัง ซึ่งส่งผลให้เราแลดูอ่อนเยาว์มากขึ้น สารพอลิฟีนอลที่มีอยู่ในชาสามารถช่วยปกป้องการทำลายผิวหนัง ที่เกิดจากการสัมผัสแสงแดด และมลพิษโดยตรง
วิธีการเลือกดื่มชาอู่หลง เพื่อสุขภาพที่ดี
การเลือกดื่มชาอู่หลง ที่ปริมาณเหมาะสม และส่งผลดีต่อสุขภาพ คือ ควรเลือกดื่มชาอู่หลงที่มีปริมาณ OTPP 70 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอสำหรับประสิทธิภาพการลดการดูดซึมไขมัน และส่งผลดีต่อร่างกายมากที่สุด การดื่มชาอู่หลง ไม่ควรดื่มเกิน 2 แก้วต่อวัน เพราะหากบริโภคมากเกินไปอาจส่งผลต่อการดูดซึมธาตุเหล็กของร่างกายได้
OTPPs คืออะไร? OTPP หรือที่เรียกเต็ม ๆ ว่า Oolong Tea polymerized-polyphenols คือ สารที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตชาอู่หลง หรือกระบวนการหมักชานั่นเอง
บริโภคชาอู่หลงอย่างไร? ให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ
โดยทั่วไปควรดื่มชาอู่หลงในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะหากดื่มเกินวันละ 5 แก้ว อาจทำให้มีคาเฟอีนในร่างกายสูง และอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน อาเจียน ท้องเสีย แสบร้อนกลางอก ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ นอนไม่หลับ หงุดหงิด สับสน มีอาการทางประสาท หรือชัก เป็นต้น
ส่วนบุคคลในกลุ่มต่อไปนี้ ควรบริโภคชาอู่หลงอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ
- หญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร: ชาอู่หลงมีส่วนผสมของคาเฟอีน หากดื่มในปริมาณน้อยอาจไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่หากกำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ห้ามดื่มเกินวันละ 2 แก้ว เพราะการบริโภคคาเฟอีนในปริมาณมากระหว่างตั้งครรภ์ อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ส่งผลให้ทารกคลอดก่อนกำหนด และมีน้ำหนักตัวน้อย และหากบริโภคคาเฟอีนปริมาณมากในช่วงที่ให้นมบุตร คาเฟอีนอาจถูกส่งผ่านทางน้ำนมจนกระตุ้นการขับถ่ายของทารก และทำให้เด็กงอแงได้
- เด็ก: การดื่มชาอู่หลงในปริมาณที่เหมาะสม ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับเด็ก
- ผู้ที่มีอาการท้องเสีย และผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน: หากร่างกายได้รับคาเฟอีนจากชาอู่หลงในปริมาณมาก อาจทำให้อาการท้องเสียแย่ลงได้
- ผู้ป่วยโรคต้อกระจก: คาเฟอีนจากชาอู่หลง อาจส่งผลให้ความดันดวงตาเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายใน 30 นาที และความดันภายในดวงตาจะสูงต่อเนื่องอย่างน้อยประมาน 90 นาที
- ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน: ห้ามดื่มชาอู่หลงเกินวันละ 3 แก้ว เพราะอาจทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากเกินไป ซึ่งกระทบต่อสุขภาพ และความแข็งแรงของกระดูก ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน อาจรับประทานอาหารเสริมแคลเซียมเพื่อชดเชยส่วนที่ร่างกายขับออกไป รวมถึงผู้ที่มีปัญหาทางพันธุกรรมที่ส่งผลต่อการผลิตวิตามินดีของร่างกาย ควรปรึกษาแพทย์ถึงความปลอดภัยก่อนดื่มชาอู่หลง
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน: ควรปรึกษาแพทย์ก่อนดื่มชาอู่หลง เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้บริโภคเอง เนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่าคาเฟอีนจากชาอู่หลงนั้นมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหรือไม่
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง: คาเฟอีนจากชาอู่หลง อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีระดับความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น แต่อาจไม่กระทบต่อระดับความดันโลหิตในผู้ที่ดื่มชาอู่หลง หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนเป็นประจำ
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจ: คาเฟอีนจากชาอู่หลง อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้
- ผู้ป่วยภาวะเลือดออกผิดปกติ: การศึกษาบางส่วนพบว่า การดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง และอาจทำให้ผู้ป่วยภาวะเลือดออกผิดปกติมีอาการแย่ลงได้
- ผู้ป่วยโรควิตกกังวล: คาเฟอีนจากชาอู่หลง อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลง
- ผู้ที่กำลังใช้ยากระตุ้นประสาท: เช่น แอมเฟตามีน, โคเคน, เอฟีดรีน เป็นต้น ไม่ควรดื่มชาอู่หลง รวมถึงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน หากกำลังใช้ยากระตุ้นประสาท เนื่องจากชาอู่หลงก็มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทเช่นเดียวกัน หากรับประทานร่วมกันอาจทำให้รู้สึกกระวนกระวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรืออาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรงอื่น ๆ ได้
จะเห็นได้ว่า การดื่มชาอู่หลงเป็นประจำ จึงเป็นตัวช่วยที่เหมาะเป็นอย่างยิ่งกับวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ 🥰 ที่ต้องทุ่มเทพละกำลังกาย และกำลังสมองอย่างหนักในการทำงานตลอดทั้งวัน จนไม่ค่อยมีเวลาให้กับตัวเอง เพื่อมอบช่วงเวลาที่ผ่อนคลาย เบากาย และสบายใจ ในทุก ๆ วันของชีวิต และยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย
บทความดี ๆ น่าอ่าน:
30 มกราคม 2024
โดย
ลำดวน