ประเภทของ ผักกินใบ พร้อมเทคนิคการปลูกให้ได้ผลผลิตตลอดปี!
เมื่อพูดถึง “ผัก” ใคร ๆ ต้องรู้จัก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มีหลากหลายชนิดมาก ๆ ตามท้องตลาด บางครั้งอยากจะจำแนกชนิดของผัก ก็อาจจะสับสนอยู่บ้าง ว่าเป็นผักชนิดไหน กินใบ หรือกินหัว บทความนี้ SGE จะพาไปรู้จักกับ ผักกินใบ ว่ามีอะไรบ้าง พร้อมเทคนิคการปลูกแบบง่าย ๆ ที่บ้านไว้ทานได้ตลอดทั้งปี จะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน
ผัก คือ ผลิตผลทางพืชสวน ส่วนใหญ่เป็นพืชล้มลุก ส่วนที่มักนำมาทานเป็นอาหารนั้น จะมีส่วน ราก ลำต้น ใบ ดอกอ่อน เมล็ดอ่อน ผลแก่ หน่อ เป็นต้น เป็นแหล่งของวิตามิน แร่ธาตุ ต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ และมีความจำเป็นต่อร่างกาย จะทานสด ๆ หรือนำไปปรุงเป็นอาหารได้ ผักส่วนใหญ่จะเก็บรักษาไว้ได้ในระยะเวลาสั้น ๆ มีเพียงไม่กี่ชนิดที่เก็บรักษาไว้ได้นาน
ผักกินใบ มีอะไรบ้าง?
อย่างที่รูกกันว่า สามารถจำแนกผักได้หลากหลายชนิดมาก ๆ โดยเฉพาะ ผักกินใบ คือ ผักที่นิยมทานส่วนใบนั่นเอง ซึ่งก็มีหลายชนิดที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ดังนี้
1. สะระแหน่
สะระแหน่ (kitchen Mint) เป็นพืชสมุนไพรตามธรรมชาติ ที่มีการนำใบ และน้ำมันมาใช้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ใช้เป็นยาพื้นบ้าน รักษาโรค และอาการต่าง ๆ เช่น บรรเทาอาการปวด ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร ใช้เป็นสารต้านเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น นอกจากนี้ หลาย ๆ คนอาจคุ้นเคยกับรส หรือกลิ่นของสะระแหน่จากยาสีฟัน ขนม อาหารจานต่าง ๆ รวมถึงใช้เป็นสารแต่งกลิ่นในสบู่ และเครื่องสำอางอีกด้วย
วิธีปลูกผักสะระแหน่
- เตรียมดินสำหรับการเพาะ โดยนำดินร่วน 2 ส่วน ทราย 1 ส่วน ปุ๋ยหมัก 1 ส่วน และปูนขาวเล็กน้อย มาคลุกให้เข้ากัน
- เลือกกิ่งสะระแหน่ ที่มีสภาพสมบูรณ์ ไม่อ่อน หรือแก่จนเกินไป นำไปปักลงในภาชนะที่เตรียมเพาะ
- ปักกิ่งสะระแหน่ให้เอนทาบกับดิน แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ระวังอย่าให้แฉะจนเกินไป
- นำแกลบมาโรยกลบดิน เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้กับหน้าดิน
- เมื่อการเพาะปลูกเข้าสู่วันที่ 5 จะเริ่มแตกยอดเลื้อยคลุมดิน
อ่านบทความ: สะระแหน่ สรรพคุณมากมาย พร้อมวิธีปลูกยังไงให้โตไว
2. ผักชี
ผักชี (Coriander) ผักที่มีสีเขียวทั้งต้น รากเป็นสีขาว หาทานได้ตลอดปี ผักชีทุกส่วนนั้น สามารถนำมาเป็นเครื่องเทศปรุงอาหาร ยารักษาโรค หรือเป็นน้ำกระสายยา และสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารหลากหลายชนิดได้ แต่ที่นิยมที่สุด คือ การนำผักชี มาโรยหน้าอาหาร ช่วยเพิ่มสีสัน และแต่งกลิ่นให้อาหารน่ารับประทานมากขึ้น
วิธีปลูกผักชี
- นำเมล็ดพันธุ์ มาล้างให้สะอาด และแช่ด้วยน้ำสะเดาประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนนำมาหว่านที่แปลง เพื่อช่วยป้องกันแมลงมากัดกินเมล็ดพันธ์ุผักชี ก่อนการงอก
- สำหรับการแช่ อาจแช่ใส่ถังน้ำ หรือใส่ห่อผ้ามัด และแช่ในถังก็ได้ ไม่ควรหว่านเมล็ดเยอะ จนขึ้นเบียดกันแน่น เพราะจะทำให้ต้นเน่า หรือนำเมล็ดที่เตรียมไว้แล้ว มาผสมกับทรายหยาบ แล้วหว่านเมล็ดไปพร้อมทราย เพื่อให้เมล็ดกระจายตัว ควรใช้ฟางข้าวที่มีการบด หรือสับขนาดสั้น ๆ และไม่หว่านโปรยให้หนาจนเกินไป พร้อมทำการรดน้ำให้ชุ่ม
- เมื่อต้นผักชีเริ่มงอกให้นำ สแลน หรือตาข่ายกรองแสงมาคลุมสูงประมาณ 1 เมตร โดยเปิดให้ผักชีได้รับแสงแดดในช่วงเช้า แล้วจึงคลุมด้วยสแลนในเวลาแดดแรง รวมทั้งคลุมตอนที่ฝนตก เพื่อลดการกระแทกของฝน (เลือกซื้อสินค้า สแลนกันแดด ตาข่ายกรองแสง ได้ที่นี่)
- ระยะเริ่มแรกหลังการหว่านเมล็ด จะให้น้ำประมาณ 2 ครั้งต่อวัน ในช่วงเช้า-เย็นทุกวัน จนถึงระยะประมาณ 30 วัน ให้เว้นช่วงวันให้น้ำ ประมาณ 2-3 วันต่อครั้ง โดยให้น้ำเช้า-เย็นเช่นกัน สำหรับช่วงก่อนการเก็บเกี่ยว ประมาณ 1 สัปดาห์ ควรให้น้ำน้อยลงประมาณ 3-4 วันต่อครั้ง
- การใส่ปุ๋ย ให้ใช้น้ำแช่ปุ๋ยคอก เช่น มูลโค กระบือ ไก่ หมู โดยทำการแช่น้ำใส่ถังทิ้งไว้ ประมาณ 1 สัปดาห์ และนำเอาส่วนที่เป็นน้ำ รดในแปลงผักชี ประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเป็นการร่วมกับการให้น้ำทั่วไป ทั้งนี้ ให้เริ่มการให้ปุ๋ยน้ำประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากการงอก นอกจากนั้น ให้นำเศษมูลสัตว์ ที่เป็นตะกอนหลังการแช่น้ำ โปรยหว่านในแปลงเป็นระยะ ประมาณ 2 ครั้งต่อเดือน
อ่านบทความ: แชร์วิธี ปลูกผักชี นอกฤดูกาลแบบง่ายๆ ทำได้อย่างไร?
3. ผักแคล
ผักเคล (Kale) หรือผักคะน้าใบหยิก เป็นหนึ่งใน ผักกินใบ สีเขียวจัด และมีสีม่วงเข้มแซมอยู่บ้างในบางใบ และใคร ๆ มีรสชาติกรอบ อร่อย อุดมไปด้วยคุณประโยชน์มากมาย นำไปทำเมนูผักเคลได้อีกหลากหลายเมนู อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ มีวิตามินซีสูง มีไฟเบอร์สูง ช่วยลดน้ำหนัก ช่วยลดไขมัน ลดน้ำตาลในเลือด เป็นต้น
วิธีปลูกผักแคล
- นิยมใช้ระยะปลูก 50 x 50 เซนติเมตร ยิ่งปลูกห่างมาก ๆ ยิ่งดี เพราะเคลค่อนข้างโตเร็ว และมีทรงพุ่มกว้าง แถมยังช่วยป้องกันโรคและแมลงศัตรูได้ดี
- ควรรดน้ำวันละ 1 ครั้ง และใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อเพิ่มธาตุอาหารทุก ๆ 20-30 วัน
- สามารถเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่อายุ 45 วันเป็นต้นไป นิยมทยอยตัดใบด้านล่างไปรับประทาน
4. ขึ้นฉ่าย
ขึ้นฉ่าย (Celery) เป็นผัก และสมุนไพร ที่มีกลิ่นหอม นิยมใช้ในการปรุงอาหาร เพื่อดับกลิ่นคาว สามารถทานเป็นผักสด หรือนำไปคั้นเป็นน้ำผักสดก็ได้ มีประโยชน์มากมายต่อสุขภาพ เช่น มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการอักเสบในกลุ่มโรคลูปัส (Lupus) ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด มีสารสำคัญที่มีฤทธิ์กล่อมประสาท ช่วยให้ผ่อนคลาย นอนหลับได้ดีขึ้น เป็นต้น
วิธีปลูกผักขึ้นฉ่าย
- การปลูกด้วยการหว่านเมล็ด ถือเป็นวิธีที่นิยม โดยหว่านเมล็ดลงแปลง หลังการไถพรวนครั้งสุดท้าย ในอัตราเมล็ดพันธุ์ 0.5-1 กก./ไร่ แต่ไม่ควรให้ถี่มาก
- การปลูกด้วยการหยอดหลุม ให้ระยะห่างของหลุมในแนวขวาง และแนวยาวที่ 10-15 เซนติเมตร โดยหยอดเมล็ดพันธุ์ 3-5 เมล็ด/หลุม
- หลังจากการหว่านเมล็ด หรือการหยอดเมล็ด ให้คราดเกลี่ยกลบดินเล็กน้อย พร้อมวางทับด้วยฟางบาง ๆ และรดน้ำให้ชุ่ม
- การรดน้ำ สามารถให้น้ำตั้งแต่การหว่านเมล็ดครั้งแรก จนถึงระยะเก็บเกี่ยว วันละ 1-2 ครั้ง เช้า-เย็น
- การใส่ปุ๋ย อาจใช้วิธีการหว่าน หรือการละลายน้ำรดก็ได้ ในอัตรา 50 กก./ไร่ โดยจะเริ่มให้ปุ๋ย เมื่อต้นกล้าตั้งต้นได้แล้ว หรือประมาณ 1-2 อาทิตย์ หลังเมล็ดงอก และให้อีกครั้ง ก่อนการเก็บเกี่ยวประมาณ 2 อาทิตย์ หลังจากเมล็ดงอก จนถึงการเก็บเกี่ยว จะใช้เวลาประมาณ 40-50 วัน ควรเก็บในช่วงเช้าตรู่ หรือช่วงเย็น
อ่านบทความ: มารู้จัก ขึ้นฉ่าย พืชสมุนไพรมากประโยชน์ สรรพคุณเด่น
5. ผักร็อกเก็ต
ผักร็อกเก็ต (ARUGULA) หรือ Rocket Salad เป็นผักใบเขียว มีถิ่นกำเนิดในโซนยุโรป ความโดดเด่นของผักร็อกเก็ต คือ รสชาติที่มีรสเผ็ด ปนขมนิด ๆ มีกลิ่นเฉพาะตัว นิยมใช้ในอาหารอิตาเลียน และทานแบบสดในเมนูสลัด เป็น ผักกินใบ ที่อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ มีระดับของกรดโฟลิคสูง มีวิตามิน A, C และ K ช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ดี
**ข้อควรระวัง ผักร็อกเก็ต เป็นผักที่มีรสชาติเฉพาะตัว แต่ความเผ็ดจะหายไป หากโดนความร้อน จึงไม่เหมาะกับการนำไปทำซุป หรือเมนูอื่น ๆ ที่มีความร้อนนั่นเอง
วิธีปลูกผักร็อกเก็ต
- นำเมล็ดพันธ์ุมาล้างนํ้า และแช่เมล็ดพันธ์ุในนํ้าเย็น ทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน
- เตรียมดิน โดยตากดินที่จะลงแปลงเพาะ ประมาณ 1 วัน
- โรยเมล็ดพันธ์ุลงไปให้ทั่วดิน จากนั้น ใช้ฟางข้าวที่แห้งกลบหน้าดิน เพื่อความชุ่มชื้น
- รดนํ้าให้พอชุ่ม ในระหว่างช่วงเติบโตควรใส่ปุ๋ยหมัก และฮอร์โมน เพื่อทำให้ผักงาม และได้ผลดี
- สามารถเก็บผลผลิตได้ เมื่อมีอายุประมาณ 40-50 วัน หลังปลูกลงแปลง เก็บใบที่อ่อน ๆ ใช้มีดคม ๆ ในการตัดตรงโคนต้น แล้วตัดแต่งใบเสียทิ้งไป นำใส่ในภาชนะที่เตรียมไว้ ให้ระวังอย่าให้โดนความร้อน หรือแสงแดด จะทำให้เหี่ยวได้
ผักร็อคเก็ตชอบอากาศหนาวเย็น เป็นพืชชอบน้ำ ระบายน้ำดี น้ำไม่ขัง ชอบแสงแดด ต้องหมั่นรดน้ำทุกวัน โดยรดน้ำเช้าเย็น ให้โดนแดดตลอดวัน จะทำให้ผักร็อคเก็ตโตได้เร็ว ต้องให้น้ำตลอด
6. ผักโขม
ผักโขม (Amaranth) เป็นผักใบเขียว ผักกินใบที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย มีรสชาติออกหวาน ทานง่าย และมีโปรตีนสูง รวมถึงมีกรดอะมิโนครบทุกชนิด เหมาะกับผู้ที่ทานอาหารมังสวิรัติ นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณ ช่วยระบบย่อยอาหาร และการขับถ่ายให้ดีขึ้น ช่วยบำรุงสายตา ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ เป็นต้น และสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ซุป สมูทตี้ และสลัด
รู้ไหม? ผักโขม กับ ปวยเล้ง คือ ผักคนละชนิดกัน ในการ์ตูนเรื่องป๊อปอายที่บอกว่าทานผักโขมจะเพิ่มพลังได้ แต่จริง ๆ แล้ว ผักที่ป๊อปอายทาน คือ ปวยเล้ง หรือ Spinach ซึ่งผัก 2 ชนิดนี้ เป็นผักสปีชีส์เดียวกัน และคุณสมบัติทางด้านโภชนาการจะคล้าย ๆ กันนั่นเอง (อ่านบทความ: ผักปวยเล้ง ผักดี มีประโยชน์ รังสรรค์ได้หลายเมนู)
วิธีปลูกผักโขม
- การปลูก โดยใช้เมล็ดหว่านห่าง ๆ ในแปลงที่เตรียมไว้ แล้วใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักหว่านคลุมทับเมล็ดให้หนาพอเหมาะ
- คลุมด้วยฟางข้าว เพื่อรักษาความชื้น และรดน้ำให้ชุ่มทุก ๆ วัน
- ควรให้ปุ๋ย ครั้งที่ 1 และ 2 เมื่อต้นพืชอายุได้ 30 วัน จากนั้น เมื่ออายุ 55-60 วัน ก่อนออกดอก ควรใส่ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกที่ผ่านการหมักแล้วลงไป
- การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ให้พอเหมาะกับพืช ไม่ควรให้แห้ง หรือแฉะมากเกินไป
- การเก็บเกี่ยว 20-25 วัน สามารถทยอยเก็บเกี่ยวได้
อ่านบทความ: ผักโขม กินแล้วแข็งแรง รักษาโรคได้จริงหรือไม่?
7. ผักวอร์เตอร์เครส
ผักวอร์เตอร์เครส (WATERCRESS) หรือ ผักสลัดน้ำ เป็นผักที่กินง่าย จะกินสด ๆ กินเป็นสลัด หรือนำไปประกอบอาหารเมนูอื่น ๆ ก็ได้ โดยวอเตอร์เครส ให้พลังงานประมาณ 11 แคลอรี่เท่านั้นต่อปริมาณ 100 กรัม ทั้งยังปราศจากไขมัน และอุดมด้วยสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองได้
วิธีปลูกผักวอร์เตอร์เครส
- เลือกยอดแก่ของผักที่จะเอาไปขยายพันธุ์ต่อ จากนั้นเด็ดใบออก ให้เหลือแค่ตรงส่วนก้าน
- นำไปปักลงวัสดุปลูก จะเป็นฟองน้ำ หรือเพอร์ไลน์ ตามสะดวก
- รดน้ำวันละครั้ง และควรวางในที่ร่ม เพราะผักชนิดนี้จะไม่ชอบแดด รอให้ผักโต ประมาณ 5-6 อาทิตย์ พร้อมนำไปประกอบอาหารได้
อ่านบทความ: ประโยชน์ของ วอเตอร์เครส ที่สายสุขภาพไม่ควรพลาด
8. ผักกวางตุ้ง
ผักกวางตุ้ง (BOK CHOY) เป็นผักสีเขียว ปลายใบมนกลม ก้านใบหนามีสีขาวอมเขียว สามารถนำมาผัด หรือ ต้มให้สุก แล้วรับประทาน ด้วยรสสัมผัสที่หวานกรอบ จึงนิยมนำมาทำเมนู เช่น ผัดน้ำมันหอย หรือเป็นผักเคียง ในบะหมี่เกี๊ยว บะหมี่หมูแดง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีวิตามินซี สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอวัย บำรุงกระดูก ป้องกันโรคกระดูกพรุน เป็นต้น
วิธีปลูกผักกวางตุ้ง
- เตรียมถาดพลาสติกสำหรับเพาะกล้า จากนั้น นำดินพร้อมปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ผสมกันในอัตรา 2 : 1 และใส่ดินผสมในถาดที่เตรียมไว้
- หาเศษไม้เล็กๆ กดลงไปในดิน โดยความลึกประมาณ 0.5 ซม. นำเมล็ดหยอดลงในหลุม โดยหลุมละ 1-2 เมล็ด แล้วนำดินกลบ และรดน้ำ
- เมื่อปลูก เข้าสู่วันที่ 7-10 ผักกวางตุ้ง จะเริ่มเจริญเติบโต ควรรดน้ำวันละ 1-2 ครั้ง ทั้งเช้า-เย็น
- พอเข้าสู่วันที่ 20-25 สามารถย้ายกล้าลงปลูกในกระถางได้
- สามารถเก็บผลผลิตได้เมื่อเข้าสู่วันที่ 40-45 ด้วยการใช้มีดตัดโคนต้น พร้อมนำไปประกอบอาหาร
อ่านบทความ: รู้จัก ผักกวางตุ้ง พืชผักสมุนไพร ที่สรรพคุณเพียบ
9. ผักกาดหอม
ผักกาดหอม (LETTUCE) เป็นผักกินใบ ที่มีหลายชนิด เช่น กรีนคอส ผักไอซ์เบิร์ก บัตเตอร์เฮด และอื่น ๆ มีเนื้อสัมผัสกรุบกรอบ รสชาติไม่ขม ทานง่าย มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งลดน้ำหนัก บำรุงผิวสวย ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย เป็นต้น
วิธีปลูกผักกาดหอม
- การเตรียมดิน สามารถปลูกได้หลายแบบ เช่น ถุงดิน หรือปลูกในถาดหลุม ตามสะดวก นำดิน ปุ๋ยคอก และขุยมะพร้าว ผสมกันในอัตรา 1:1 จากนั้น รดน้ำให้ชุ่มแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน ทิ้งไว้ในที่ร่มเป็นเวลา 7 วัน
- นำปุ๋ยที่ผสมแล้ว มาใส่ในดิน หรือถาดหลุม ให้เต็มแล้ว ใช้ไม้จิ้มลงกลางหลุม หยอดเมล็ดผักกาดหอมลงไป 1-2 เมล็ด แล้วกลบด้วยดิน
- รดน้ำแล้วนำไปไว้ในที่ร่มรำไร ควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
- เมล็ดผักกาดหอม จะงอกหลังจากหยอดเมล็ดประมาณ 3-5 วัน เมื่อครบ 7 วัน ให้นำถุงดินไปวางที่แดด เพราะผักกาดหอมเป็นพืชที่ชอบแดด
- เมื่อครบ 40-45 วัน สามารถนำมาไปประกอบอาหารได้ **ควรรีบตัดผักกาดหอม อย่าปล่อยให้แก่เพราะจะทำให้แข็ง และขมไม่น่าทานได้
10. กะหล่ำปลี
กะหล่ำปลี (Cabbage) เป็นพืชผักสวนครัว นิยมรับประทานมากในปัจจุบัน มีเนื้อกรอบ และหวาน นำไปประกอบอาหารได้หลายเมนู เช่น แกงจืด ต้มจืด ผัดกะหล่ำปลี เป็นต้น และยังนิยมทานสด หรือลวกสุกคู่กับกับข้าวเมนูอื่น ๆ เช่น น้ำพริก ลาบ และไส้กรอกอีสาน และยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอลในเลือด บำรุงกระดูกและฟัน ช่วยย่อยอาหารและล้างพิษ เป็นต้น
วิธีปลูกผักกะหล่ำปลี
-
การเพาะเมล็ดในแปลงเพาะกล้า
- เตรียมแปลงกว้าง 1-1.5 เมตร ความยาวขึ้นอยู่กับพื้นที่ยกแปลงให้สูง 15-20 ซม. ปรับหน้าดินให้ละเอียด ผสมปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้ว คลุกเคล้าให้เข้ากัน
-
จากนั้น หว่านเมล็ดให้กระจายอย่างสม่ำเสมอทั่วแปลง คลุมด้วยฟางข้าว และรดน้ำให้ชุ่ม
-
เมื่อต้นกล้าเริ่มมีใบ 1-2 ใบ ฉีดยาป้องกันโรคและแมลง โดยใช้อะโซดรินผสมไดเทนเอ็ม 45 หรือคาโดนิลทุก 7-10 วัน และควรย้ายปลูกเมื่อต้นกล้ามีใบจริง 4 ใบ หรืออายุประมาณ 25-30 วัน
- การเพาะเมล็ดลงในกระบะเพาะกล้า
- ใส่วัสดุเพาะ เรียกว่า มีเดีย(Media) ที่ใช้แทนดินเพาะ ใส่ลงไปปรับให้เรียบ รดน้ำให้ชุ่ม
-
จากนั้น นำเมล็ดพันธุ์เพาะลงไปหลุมละ 1-2 เมล็ด รดน้ำทุกวัน หลังจากเพาะ 3-4 วัน
-
พอเมล็ดเริ่มงอก ดูแลรักษาต่อไป 20-25 วัน ต้นกล้ามีใบจริง 4 ใบ สามารถย้ายลงไปปลูกในแปลงได้
- การเก็บเกี่ยว เลือกต้นกะหล่ำปลีที่ห่อหัวแน่น โดยใช้มีดตัด ให้มีใบติดมากับหัวกะหล่ำปลีด้วย
อ่านบทความ: กะหล่ำปลี สรรพคุณ ประโยชน์มากมายที่ควรรู้
จบไปแล้วกับ 10 ผักกินใบ ที่เรานำมาฝากกัน เรียกได้ว่าผักแต่ละชนิด คงคุ้นหน้าคุ้นตากันอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม การเลือกทานผัก ถือว่ามีประโยชน์ ต่อร่างกายทั้งนั้น อย่าลืมเลือกทานให้หลากหลาย และทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ด้วย เพื่อร่างกายที่แข็งแรง สารอาหารครบถ้วยนั่นเอง ติดตามสาระดี ๆ ได้อีกในบทความหน้านะจ๊ะ
บทความดี ๆ น่าอ่าน:
- ผักสวนครัว ปลูกง่าย โตไว ปลูกไว้กินเองที่บ้านได้
- การเลือกซื้อผัก ให้สด สะอาด ปลอดภัย ทำได้อย่างไร?
- มารู้จัก ผักพื้นบ้าน ประจำถิ่น ทำกับข้าวอร่อย กินเป็นยาได้
- ทำความรู้จัก พีทมอส (Peat Moss) คืออะไร? ต่างจาก ดินถุง อย่างไร?
- การปลูกพืชไร้ดิน ด้วยระบบ ไฮโดรโปนิกส์ สร้างรายได้ แบบไม่ง้อดิน!
นอกจากนี้ SGE ของเรายังมี อุปกรณ์การเกษตร ให้เลือกสรรอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น สแลนกันแดด กระถางผ้าปลูกต้นไม้ ผ้าคลุมดิน และอีกมากมายให้เลือกชมกัน พร้อมบริการดี ๆ หลังการขาย ที่แสนประทับใจอย่างแน่นอน สามารถเลือกชมสินค้าได้ www.sgethai.com
30 มกราคม 2024
โดย
ลำดวน