รู้จักกับ ลองกอง ประโยชน์มากมาย คุณค่าโภชนาการสูง
ลองกองคือ?
ลองกอง(Longkong) ผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในหมู่เกาะชวา เกาะมลายู ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และทางภาคใต้ ของประเทศไทย ในจังหวัดนราธิวาส และยังมีในประเทศทางแถบซูรินัม เปอร์โตริโก ออสเตรเลีย และฮาวาย โดยประเทศไทย สามารถผลิตลองกองที่มีคุณภาพได้ดีที่สุด เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมในการปลูกที่เหมาะสม แต่พื้นที่ ที่สามารถทำการปลูกลองกองได้ ยังมีจำกัด ทำให้มีผลผลิตน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงทำให้ผลไม้ชนิดนี้ มีราคาสูง และจัดได้ว่าเป็นผลไม้เศรษฐกิจ ที่สำคัญของประเทศอีกชนิดหนึ่ง โดยแหล่งเพาะปลูกลองกองในประเทศ ส่วนใหญ่ จะอยู่ทางภาคใต้ รองลงมา คือ ภาคตะวันออก ส่วนภาคเหนือ และภาคกลาง ก็มีปลูกอยู่บ้างเล็กน้อยนั่นเอง
ลักษณะลองกอง
- ต้นลองกอง ลำต้นไม่กลม มีสันนูน และรอยเว้าอยู่บ้าง ผิวเปลือกค่อนข้างหยาบ ไม่เรียบ แตกกิ่งแขนงภายในเป็นทรงพุ่ม ไม่กลมตรง มีแอ่งเว้าตามรอยของง่ามกิ่งและตามลำต้นให้เห็นเป็นระยะ ลักษณะเป็นรอยสูงต่ำ เป็นคลื่น ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ปลูกด้วย ขยายพันธุ์ได้หลายวิธีทั้งวิธีการเพาะเมล็ด การทาบกิ่ง การต่อกิ่ง หรือการเสียบยอด และเสียบข้าง และวิธีการติดตา
- ใบลองกอง เป็นใบรวมมี 5-9 ใบย่อย ใบกว้างประมาณ 2-6 นิ้ว และยาวประมาณ 4-8 นิ้ว มีก้านใบย่อย ใบแก่มีสีเขียวเข้ม ดำ เป็นมัน และมีรอยหยักเป็นคลื่นหนากว่าใบของลางสาด ผิวใบด้านบน จะเข้มกว่าผิวใบด้านล่าง ปลายใบเรียวแหลม ส่วนโคนใบแหลม ขอบใบเรียบ
- ดอกลองกอง มีลักษณะเป็นตุ่มแข็ง มีสีน้ำตาลอมเขียว มีความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ดอกลองกอง เมื่อบาน จะมีสีเหลืองนวล มีกลีบเลี้ยงลักษณะอวบสีเขียว และจะติดอยู่จนกระทั่งผลแก่
- ผลลองกอง ออกผลเป็นช่อแน่นติดกับก้านช่อ ลักษณะของผลมีทั้งทรงกลม และทรงยาวรี ซึ่งการที่มีผลในช่อแน่นอาจทำให้รูปทรงของผลแตกต่างกันออกไป ส่วนลักษณะของเปลือก จะหนากว่าลางสาดอยู่มาก เนื้อในผลมีรสหวานหอม
- เมล็ดลองกอง ในผลลองกองหนึ่งผล จะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 1-2 เมล็ด โดยเมล็ดที่สมบูรณ์ จะมีขนาดใหญ่ ภายในผลส่วนใหญ่แล้ว จะมีช่องอยู่ 5 ช่อง และเมล็ดมักจะลีบ ลักษณะเมล็ดเป็นรูปไข่ มีสีเขียวอมเหลือง ตัวเมล็ด จะมีรอยแตกร้าวเป็นส่วนมาก ส่วนรสชาติของเมล็ดไม่ขม ถ้าหากนำมาเพาะ จะขึ้นหลายต้นจากเมล็ดเดียว
สายพันธุ์ลองกอง
พันธุ์ลองกองในประเทศไทย มีอยู่หลายสายพันธุ์ โดยมีลักษณะที่แตกต่างกันบ้าง โดยสายพันธุ์ลองกอง ที่สามารถรวบรวมได้ทั้งหมด มีอยู่ด้วยกัน 7 สายพันธุ์ ได้แก่ ลองกองทั่วไป, ลองกองแกแลแมร์ หรือลองกองแปรแมร์, ลองกองคันธุลี, ลองกองธารโต, ลองกองไม้, ลองกองเปลือกบาง, และลองกองกาญจนดิษฐ์ ซึ่งในแต่ละสายพันธุ์นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่
- ลองกองแห้ง: ลองกองแห้ง เนื้อใสแห้ง รสหวาน กลิ่นหอม เปลือกเหลืองคล้ำ และไม่มียาง
- ลองกองน้ำ: ลองกองน้ำ เนื้อฉ่ำน้ำ สีเปลือกจะเหลือง โทนสว่างกว่าพันธุ์ลองกองแห้ง
- ลองกองแกแลแม หรือลองกองแปร์แม: ช่อผลของลองกองแกแลแม จะค่อนข้างยาว ผลลองกองมีลักษณะกลม เปลือกบาง มีสีเหลืองนวล ๆ ไม่มียาง เนื้อนิ่ม และมีกลิ่นค่อนข้างฉุน
โดยลองกองแห้ง จะเป็นชนิดที่ได้รับความนิยมในการปลูก ในทางการค้ามากที่สุด เนื่องจาก เป็นชนิดที่มีผลคุณภาพดี เนื้อมีรสหวานหอม มีเมล็ดน้อย หรือไม่มีเลย และเมล็ดยังไม่ขมอีกด้วย
ประโยชน์ และสรรพคุณของลองกอง
ประโยชน์ลองกอง
- โดยทั่วไป จะนิยมรับประทานเป็นผลไม้สด ให้รสชาติหวานอร่อย อีกทั้งยังมีคุณค่าทางอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย
- เปลือกผลแห้ง นำมาเผาเพื่อให้ได้กลิ่นน้ำมันหอมระเหย มีประโยชน์ในการใช้ไล่ยุงได้
- ลองกองสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ เช่น ทำเป็นน้ำเชื่อม ลูกอม แยมลองกอง ลองกองกวน น้ำลองกอง ไวน์ลองกอง ลองกองผสมวุ้นมะพร้าวในน้ำเชื่อม เป็นต้น
- เปลือกผล และเมล็ด มีส่วนประกอบของสาร ที่มีความสำคัญทางการแพทย์ และทางด้านอุตสาหกรรม เนื่องจากมีสาร Tannin อยู่เป็นจำนวนมาก
- มีการนำส่วนผลของลองกองมาสกัดด้วยเอทานอล และละลายสารสกัด 2-5% ในโพรไพลีนไกลคอล (Propylene glycol) เพื่อใช้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ สำหรับทำเป็นเครื่องสำอาง สำหรับผิวหนัง ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น และช่วยลดรอยด่างดำ อีกด้วย
สรรพคุณลองกอง
- เมล็ดลองกอง มีสารสำคัญที่ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย และรักษาอาการไข้ได้
- ช่วยลดความร้อนในร่างกาย หากรับประทานเป็นประจำจะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นไข้ตัวร้อน และยังช่วยลดอาการร้อนในช่องปากได้ด้วย
- มีการนำเปลือกต้นมาสกัดเพื่อใช้เป็นยารักษาโรคมาลาเรียได้
- เปลือกผล นำไปตากแห้งแล้วเผาให้เกิดควัน ใช้สูดดม เพื่อช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยที่เป็นวัณโรค
- น้ำจากผล มีการนำไปใช้หยอดตา เพื่อช่วยรักษาอาการตาอักเสบ
- เปลือกต้นลองกอง สามารถนำมาใช้เป็นยาต้มกิน เพื่อช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ได้
- เปลือกต้น และใบ ใช้เป็นยาต้มสำหรับรักษาโรคบิด
- ในเปลือก มีสารประเภท Oleoresin จำนวนมาก จึงมีการนำมาใช้ในการรักษาโรคท้องร่วง อาการปวดท้องได้
- เมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิ สารสกัดจากเปลือกต้น สามารถช่วยแก้พิษแมงป่องได้
- เปลือกต้น ใช้เป็นยาสมานแผล ส่วนเมล็ด มีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมาน
คุณค่าทางโภชนาการ
เนื้อลองกอง 100 กรัม พลังงาน 66 กิโลแคลอรี และให้สารอาหารอื่น ๆ ดังนี้
- คาร์โบไฮเดรต 15.3 กรัม
- โปรตีน 0.9 กรัม
- ไขมัน 0.1 กรัม
- เส้นใยอาหาร 0.3 กรัม
- น้ำ 80%
- วิตามินเอ 15 หน่วยสากล
- วิตามินบี 1 0.08 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.04 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 1.7 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 24 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 5 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.7 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 35 มิลลิกรัม
ลองกอง vs ลางสาด ต่างกันอย่างไร?
หลาย ๆ คน คงอาจจะสับสน และแยกลองกอง กับลางสาดไม่ออก เพราะผลไม้ 2 ชนิดนี้ คล้ายกันมาก ตั้งแต่เปลือกยันเนื้อข้างใน ซึ่งผลไม้ทั้ง 2 ชนิดนี้ แตกต่างกัน คือ
- ลองกองผลจะมีลักษณะกลม เปลือกจะหนา
- ลางสาด ผลจะมีลักษณะกลมรี เปลือกจะบาง
- เปลือกลองกองมีสีเหลืองซีด แต่เปลือกลางสาด มีสีเหลืองสดใส
- ลองกองมีผิวหยาบเล็กน้อย เปลือกจะไม่มียาง เปลือกจะแกะล่อนออกจากเนื้อง่าย เม็ดไม่ขม มีเนื้อเยอะกว่าลางสาด เนื้อจะมีรสหวาน ช่อจะยาว เมื่อสุก เนื้อลองกอง จะแห้ง ขาว และใส
- ลางสาด มี ผิวจะละเอียด เปลือกจะมียางขุ่น เปลือกจะแกะล่อนออกจากเนื้อยาก เม็ดจะขม เนื้อจะมีรสหวาน อมเปรี้ยว ช่อจะสั้น
การเลือกซื้อลองกอง ต้องดูอย่างไร?
- การเลือกซื้อลองกองที่มีคุณภาพดี ๆ นั้น ต้องสังเกตจากผลภายในช่อ ผลในช่อต้องแน่นแบบได้สัดส่วน ผลไม่บิดเบี้ยว ช่อยาว
- ลักษณะของเปลือก ต้องเป็นสีเหลือง ปนสีขาวนวล ประด้วยจุดสีน้ำตาล หรือสีดำ เปลือกหนา มียางน้อยไม่เหนียวติดมือ มีสีเข้มเด่นชัด ผิวของผลเรียบสม่ำเสมอ และเปลือกต้องไม่มีสีเขียวให้เห็น จึงจะได้ชื่อว่าสุกเต็มที่แล้ว
- แกะเปลือกได้ง่าย ไม่มีรอยช้ำ หรือรอยตำหนิ เนื้อข้างในแน่นสดสะอาดคล้ายแก้ว ไม่เละ หรือมียาง ในผลมีเมล็ดเล็ก หรือไม่มีเลย และมีรสชาติหอมหวาน
เป็นอย่างไรกันบ้าง ผลไม้เมืองร้อน ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และมีสรรพคุณทางยา อย่าง ลองกอง เพราะภายในเปลือกลองกอง ประกอบไปด้วยสารบางชนิด ที่ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย ส่วนเมล็ดลองกองบด อาจช่วยลดไข้ รวมทั้งสรรพคุณการรักษาโรคร้ายแรงอย่างมาลาเรีย มะเร็ง หรือคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระอันเป็นที่กล่าวถึงจากสูตรยาพื้นบ้าน บอกเลยว่า ผลไม้ชนิดนี้ มีดีกว่าที่คิด
>> สามารถอ่านบทความ สาระดี ๆ และสูตรอาหารต่าง ๆ ได้ที่นี่ <<
อ้างอิงข้อมูลจาก : medthai.com
30 มกราคม 2024
โดย
ลำดวน