ยาฆ่าแมลง มีกี่แบบ ใช้แบบไหน มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากที่สุด
ยาฆ่าแมลง ในทางการเกษตร ที่นิยมใช้กัน มีกี่ประเภท แบบไหนปลอดภัย หรือ ให้โทษมากกว่ากัน หากคุณเป็นเกษตกรมือใหม่ ที่ต้องการปลูกพิชพรรณให้สวยงาม และได้ผลผลิตที่สมบูรณ์ ปลอดภัย SGE จะมาแนะนำถึงยาฆ่าแมลงที่มีในท้องตลาด ว่ามีอะไรบ้าง พร้อมเคล็ดลับในการเลือกว่า แบบไหนใช้แล้ว มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยมากที่สุด
ยาฆ่าแมลง มีกี่ประเภท
ยาฆ่าแมลง ที่มีวางขายกันอยู่ในท้องตลาด เฉพาะประเภททีใช้เพื่อกำจัดแมลง ในกลุ่มแมลงขาปล้อง เช่น มด เพลี้ย แมลงสาบ ฯลฯ ที่มักทำลายพืชผลทางการเกษตร สามารถแบ่งออกได้ ตามสูตรโครงสร้างทางเคมี เป็น 6 ประเภทด้วยกัน คือ
1) กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphate)
มีส่วนประกอบของฟอสฟอรัส เป็นของเหลวสีเหลืองหรือสีน้ำตาลเข้ม มีกลิ่นเหม็น สามารถสลายตัวได้ตามธรรมชาติเมื่อถูกแสงแดด ซึ่งมีความร้อนสูง หรือ เมื่อละลายในน้ำมันหรือแอลกอฮอล์ สารในกลุ่มนี้ที่นิยมใช้กัน ได้แก่ มาลาไธออน (malathion) พาราไธออน (parathion) ไดอาซินอน (diazinon) เฟนธิออน (fenthion) ไดคลอวอฟ (dichlorvos) คลอพีริฟอส (chlorpyrifos)
2) กลุ่มคาร์บาเมต (Carbamate)
มีสูตรโครงสร้าง คุณสมบัติทางเคมี กลไกการออกฤทธิ์ และความเป็นพิษ คล้ายกับ ออร์กาโนฟอสเฟต ทำให้นิยมใช้ควบคู่กัน โดยสารในกลุ่มนี้ที่นิยมใช้กัน ได้แก่ คาร์บาริล (Carbaryl) คาร์โบฟูแรน (Carbofuran) และ เมโทมิล (Methomyl) เป็นต้น
3) กลุ่มออร์กาโนคลอรีน (Organochlorine)
เป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีส่วนประกอบของธาตุไฮโดรเจน คาร์บอน และคลอรีน ละลายได้ดีในไขมัน แต่สลายตัวช้า จึงมักตกค้างในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ สารในกลุ่มนี้ที่นิยมใช้กัน ได้แก่ ดีดีที (DDT) ดีลดริน (Dieldrin) ออลดริน (Aldrin) ท็อกซาฟีน (Toxaphene) คลอเดน (Chlordane) ลินเดน (Lindane) เป็นต้น
4) กลุ่มไพรีทรินและไพรีทรอยด์ (Pyrethrins & Pyrethroid)
ไพรีทริน เป็นสารสกัดจากพืชในตระกูลดอกเบญจมาศ ส่วนไพรีทรอยด์นั้นเป็นสารสังเคราะห์ที่ถูกสร้างขึ้นให้มีฤทธิ์คล้ายไพรีทริน เนื่องจากมีความคงตัวสูงกว่า ไพรีทรอยด์จึงมักนำมาใช้เป็นยาฆ่าแมลง มากกว่าไพรีทริน สารในกลุ่มนี้ที่นิยมใช้กัน ได้แก่ เพอร์เมธริน (Permethrin) เรสเมธริน (Resmethrin) และ เดลตาเมธริน (Deltamethrin) เป็นต้น โดยสารในกลุ่มไพรีทรอยด์บางชนิดยังมีส่วนผสมของไซยาไนด์ ทำให้มีความเป็นพิษสูง
5) กลุ่มฟิโปรนีล (Fipronil)
ฟิโปรนีล เป็นสารเคมีกลุ่มเฟนนีลไพราซอล (phenylpyrazole) ที่มีขอบเขตการกำจัดแมลงกว้าง สามารถกำจัดแมลงขาปล้อง (arthropod) ได้ทุกชนิด ตั้งแต่ มด เพลี้ย แมลงสาบ เห็บ หมัด ไร ปลวก เหา รวมถึงแมลงชนิดอื่น ๆ จึงสามารถใช้ในการแก้ไขแมลงที่มีความต้านทานต่อสารเคมีกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต คาร์บาเมต และไพรีทรอยด์สังเคราะห์ได้ดี
6) กลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ (Neonicotinoids)
มีโครงสร้างเป็นอนุพันธ์ของนิโคติน เป็นสารกำจัดแมลงกลุ่มใหม่ ที่มีความเป็นพิษต่อแมลงสูง แต่มีความเป็นพิษต่ำต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทำให้เป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายมากที่สุด สารในกลุ่มนี้ที่นิยมใช้กันได้แก่ อิมิดาโคลพริด (Imidacloprid) อะซีตามิพริด (Acetamiprid) โคลเทียนิติน (Clothianidin) ไดโนทีฟูเรน (Dinotefuran) ไทอาคลอพริด (Thiacloprid)
ยาฆ่าแมลง ชนิดใดมีประสิทธิภาพมากที่สุด
เมื่อเทียบประสิทธิภาพในกลุ่มของยาฆ่าแมลง ที่มีองค์ประกอบทางเคมีทั้งหมด ฟิโปรนีล อาจเป็น ยาฆ่าแมลง ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดก็ว่าได้ เนื่องจากสามารถกำจัดแมลงขาปล้อง (arthropod) ตั้งแต่ มด เพลี้ย แมลงสาบ เห็บ หมัด ไร ปลวก เหา รวมถึงแมลงชนิดอื่น ๆ จึงสามารถกำจัดแมลงได้ทุกชนิด ตั้งแต่ครั้งแรกที่ใช้งาน และยังสามารถใช้ในการแก้ไขแมลงที่มีความต้านทานต่อสารเคมีกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต คาร์บาเมต และไพรีทรอยด์สังเคราะห์ได้ดีอีกด้วย
ยาฆ๋าแมลงแบบไหน ใช้แล้วปลอดภัยสุด
ยาฆ่าแมลงทุกชนิด ส่วนใหญ่แทบจะสลายตัวไม่ได้เองตามธรรมชาติ และมักตกค้างตามสภาพแวดล้อม จนอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายเกษตรกรเอง สัตว์เลี้ยง ไปจนถึงผู้บริโภค การใช้ยาฆ่าแมลงในทางการเกษตร จึงควรเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยง อย่างไรก็ตาม หากต้องการใช้จริง ๆ ควรใช้ยาฆ่าแมลงในกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ เพราะมีความเป็นพิษต่อแมลงสูง แต่มีความเป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต่ำ และยังไม่มีงานวิจัยที่พบว่า ทำให้คนหรือสัตว์เลี้ยงถึงขั้นเสียชีวิต จึงอาจกล่าวได้ว่า ใช้งานแล้ว ปลอดภัยสุด
อย่างไรก็ตาม หากร่างกายคนเราได้รับสารในกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์มาก ๆ ผ่านทางการกิน สัมผัส หรือ สูดดม ก็อาจจะเกิดการสะสมในร่างกาย จนเกิดโรคร้ายตามมาได้ในอนาคตเช่นกัน การใช้ยาฆ่าแมลงที่ส่วนผสมของสารเคมี จึงควรเป็นทางเลือกสุดท้ายของเกษตรกร ในการใช้ดูแลพืชผลทางการเกษตร
สารสกัดจากพืช ทางเลือกใหม่ในการป้องกันแมลง
จากการใช้ยาฆ่าแมลง ในการดูแลพืชผลทางการเกษตรกันอย่างแพร่หลาย จนพบว่ามีสารตกค้างในพืชผักจำนวนมาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายและโรคร้ายต่อผู้บริโภค ทำให้กรมวิชาการเกษตร ได้ทำการวิจัยการใช้สารสกัดจากพืช ในการป้องกันแมลง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับเกษตกร ซึ่งจากการศึกษาค้นคว้า พบว่ามีสารสกัดจากพืชอยู่ 6 ชนิดด้วยกัน ที่ใชแล้ว มีประสิทธิภาพ คือ
1. สะเดา
มีสาร Azadirachtin ช่วยไล่แมลงและยับยั้งการลอกคราบของแมลงได้ สามารถใช้ควบคุมแมลง เช่น เพลี้ยอ่อนกะหล่ำ หนอยใยผัก หนอบคืบกะหล่ำ หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก หนอนเจาะหล่ำ หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนม้วนใบถั่ว ด้วงหมัดผัก
2. หางไหล
มีสาร Rotenone สามารถฆ่าแมลง เช่น เพลี้ยไฟพริก เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่นฝ้าย เพลี้ยอ่อนกะหล่ำ เพลี้ยถั่วฝักยาว หนอนเจาะถั่วฝักยาว หนอนผีเสื้อสีน้ำเงิน หนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด ด้วงถั่วเขียว
3. หนอนตายหยาก
ส่วนรากของต้น มีสารกลุ่มอัลคาลอยด์ สามารถฆ่าแมลง ยับยั้งการกินของแมลง ตลอดจนฆ่าเห็บในลัตว์เลี้ยง และฆ่าหนอนแมลงวัน ในอาหารหมักดองอย่างเช่น ปลาร้า ได้อีกด้วย
4. ว่านน้ำ
สารออกฤทธิ์ที่สำคัญคือ Asarona สามารถยับยั้งการแพร่พันธุ์ของแมลง และการเจริญเติบโตของเชื้อราและแบคทีเรีย เหมาะกับใช้กำจัดแมลง เช่น หนอนกระทู้หอม ด้วงหมัดผัก ด้วงงวงข้าวโพด มอดข้าวสาร แมลวงวันแตง แมลงวันผลไม้
5. น้อยหน่า
ในส่วนของเมล็ดมีสาร Annonin ใช้ฆ่าแมลงและไข่ของแมลง เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่นฝ้าย หนอนใยผัก ได้
6. กากเมล็ดชาน้ำมัน
มีสารซาโปนิน เหมาะกับการกำจัดหอยที่เป็นศัตรูพืช เช่น หอยเชอรี่ หอยเจดีย์ใหญ่ หอยเจดีย์เล็ก
สนใจ อุปกรณ์ทางการเกษตร ทั้ง กระถางต้นไม้ กรรไกรตัดกิ่งไฟฟ้า เครื่องสับหญ้า เลื่อยตัดไฟฟ้า เครื่องตัดหญ้าไฟฟ้า ฯลฯ สามารถคลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sgethai.com/อุปกรณ์การเกษตร/ หรือ สอบถามเพิ่มเติมทาง โทรศัพท์ หรือ Line ของเราได้เลย
30 มกราคม 2024
โดย
Pres