วิธีทำปุ๋ยหมัก แบบง่ายๆ เปลี่ยนขยะให้มีประโยชน์!
❝ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำมักชีวภาพ คือ หัวใจสำคัญของการปลูกผัก ที่จะทำให้ผักในแปลงเติบโตงอกงาม มีรสชาติหวาน กรอบอร่อย ซึ่งเจ้าของฟาร์มผักเล็ก ๆ หลายท่านยืนยันว่าปุ๋ยอินทรีย์ให้ประโยชน์มากมายจริง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักใช้น้ำหมักชีวภาพ สำหรับให้ปุ๋ยทางใบ และผสมปุ๋ยหมักเพื่อให้ทางดิน ❞
รู้ไหม? ปุ๋ยหมักจากเศษอาหารต่างๆ ช่วยลดขยะในบ้าน ในครัวเรือน และร้านอาหารมักมีเศษอาหารเหลือทิ้งจากการบริโภคและจำหน่ายมากมายในแต่ละวัน วิธีจัดการขยะที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้ คือ วิธีทำปุ๋ยหมัก บทความนี้ SGE จะพาทุกคนไปทำ ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ ทำเองแบบง่าย ๆ
รู้จักกับ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ กันก่อนดีไหม?
ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นสารประกอบอินทรีย์ ที่มีธาตุอาหารพืชเป็นองค์ประกอบที่มาจากอินทรีย์วัตถุชนิดต่าง ๆ ได้แก่ซากพืช ใบไม้ มูลสัตว์ หมักย่อยสลายจนเกิดสารอาหารที่พืชต้องการ ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งแบ่งเป็น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งปุ๋ยแต่ละชนิดจะมีประโยชน์ และสรรพคุณที่แตกต่างกัน แต่ประการหลัก คือ จะช่วยให้พืชผลเจริญงอกงามดี
ต้นไม้ทุกชนิดต้องการอาหารเพื่อการเจริญเติบโต เช่นเดียวกับต้องการแสงแดดและน้ำ พูดง่าย ๆ เราต้องใส่ปุ๋ยในไร่นา แปลงผัก สวนสวย พืชผลจึงจะงามดี ปุ๋ยอินทรีย์ เปรียบเสมือนโรงงานแปรสภาพธาตุอาหารที่ในดินให้กลับมาอยู่ในรูปของปุ๋ย ซึ่งรากพืช สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ “ปุ๋ย” กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
ปุ๋ยที่เป็นธาตุอาหารสำหรับพืช แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยเม็ด ข้อดีของปุ๋ยเม็ด คือ อุดมไปด้วยสารอาหารที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่ต้นไม้ต้องการ แต่การปลูกผักโดยใช้ปุ๋ยเคมีในจำนวนมาก ๆ ก่อให้เกิดสารตกค้างในพืชผักได้เช่นกัน ดังนั้นปุ๋ยอินทรีย์ จึงเป็นเหมือนทางออกสำหรับคนรักสุภาพและอยากได้อาหารที่ปลอดภัยนั่นเอง
วิธีทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ต่าง ๆ
รวมวิธีทำปุ๋ยหมัก จากขยะอินทรีย์ชนิดต่าง ๆ เพื่อกำจัดและลดปริมาณขยะ ด้วยการนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ แถมยังช่วยปลูกต้นไม้ และบำรุงดิน โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมีเลยอีกด้วย
การทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร
วัสดุและอุปกรณ์
- เศษอาหารแห้ง เช่น เศษข้าว เศษขนมปัง ก้างปลา เปลือกไข่ เปลือกผลไม้ 1 ส่วน
- มูลสัตว์ เช่น ขี้วัว ขี้ไก่ ขี้ม้า 1 ส่วน
- ใบไม้ 1 ส่วน
- ถังขนาด 20 ลิตร
- ตาข่ายกันแมลง
วิธีทำ
- นำถังขนาด 20 ลิตร มาเจาะรูไว้รอบถัง แล้วใช้ตาข่ายกันแมลงพันให้รอบ เพื่อช่วยระบายอากาศ และป้องกันแมลงรบกวน
- ผสมเศษอาหารแห้งที่มีขนาดเล็กและไม่มีน้ำ เช่น เศษข้าว เศษขนมปัง ก้างปลา เปลือกไข่ และเปลือกผลไม้ เข้ากับมูลสัตว์ เช่น ขี้วัว ขี้ไก่ ขี้ม้า และเศษใบไม้ ในอัตรา 1:1:1 ส่วน
- คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วปิดฝาให้สนิท ถ้าหากวันต่อไปมีเศษอาหารเพิ่ม ก็นำมาเติมเข้าไปได้ แต่อย่าลืมผสมในอัตราส่วนเท่าเดิมด้วย
- พลิกกลับส่วนผสมวันละ 1-2 ครั้ง เป็นประจำทุกวัน
เคล็ดลับ : ในช่วงแรกไม่จำเป็นต้องเติมน้ำ เพราะเศษอาหารมีความชื้นอยู่แล้ว แต่เมื่อเห็นว่าส่วนผสมเริ่มแห้งลง ก็สามารถพรมน้ำเข้าไปได้เล็กน้อย โดยจะใช้เวลาในการหมักประมาณ 1 เดือน ก็จะได้ปุ๋ยหมักสีดำขนาดเล็ก ที่แห้งสนิทและไม่มีกลิ่นเหม็นไว้ใช้บำรุงต้นไม้แล้ว
การทำปุ๋ยหมักจากต้นกล้วย
วัสดุและอุปกรณ์
- หน่อกล้วย 3 ส่วน
- กากน้ำตาล 1 ส่วน
- น้ำมะพร้าวอ่อน
- น้ำสะอาด
- บัวรดน้ำ
วิธีทำน้ำหมักชีวภาพ
- ทำน้ำหมักชีวภาพก่อน โดยนำหน่อกล้วย 3 ส่วนมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วผสมให้เข้ากันกับกากน้ำตาล 1 ส่วน
- เทน้ำมะพร้าวอ่อนลงไปให้พอท่วม ปิดฝาให้แน่นสนิท เพื่อไล่อากาศ 1 วัน แล้วรอประมาณ 10-15 วัน ค่อยนำมากรองใส่ขวดพร้อมเก็บไว้ในที่ร่มเพื่อรอใช้งาน
วิธีทำปุ๋ยหมัก
- นำหน่อกล้วยสับละเอียด 3 ส่วน กากน้ำตาล 1 ส่วน และน้ำมะพร้าวอ่อนมาผสมกัน
- นำน้ำหมักจุลินทรีย์ จากขั้นตอนข้างต้น กากน้ำตาล และน้ำใส่ลงไปในบัวรดน้ำ
- นำไปรดให้ชุ่มกองส่วนผสมที่เตรียมไว้ คนให้เข้ากันจนกว่าจะกำแล้วก้อนไม่แตก
- นำส่วนผสมมาใส่ในกระสอบปุ๋ย โดยไม่ต้องมัดปาก แล้วนำไปวางไว้ในที่ร่มประมาณ 5-7 วัน ก็จะได้ปุ๋ยหมักที่หอม มีจุลินทรีย์ และอินทรีย์ต่าง ๆ พร้อมแก่การนำไปใช้ประโยชน์ แต่ทางที่ดีอย่าลืม ผสมปุ๋ยหมักกล้วย 1 ส่วน เข้ากับปุ๋ยคอก 10 ส่วน เพื่อประสิทธิภาพที่ดี
การทำปุ๋ยหมักจากฟางข้าว
วัสดุและอุปกรณ์
- ฟางข้าว หรือตอซังข้าว 500-1,000 กิโลกรัม
- น้ำหมักชีวภาพ ที่มีจุลินทรีย์มีชีวิต 5-10 ลิตรต่อไร่
- รถแทรกเตอร์
วิธีทำ
- เกลี่ยฟางข้าวให้กระจายทั่วแปลงนา จากนั้น ปล่อยน้ำสะอาดเข้ามาในนา ให้ระดับน้ำสูง 3-5 เซนติเมตร
- ใช้รถแทรกเตอร์กดให้ฟางข้าวจมน้ำ เสร็จแล้วนำ น้ำหมักชีวภาพ สูตรที่มีจุลินทรีย์รดให้ทั่วแปลงนา
เคล็ดลับ : ถ้าใช้ฟางข้าวประมาณ 500-800 กิโลกรัม ให้ใช้น้ำหมัก 5 ลิตรต่อไร่ แต่ถ้าใช้ฟางข้าวประมาณ 800-1,000 กิโลกรัม ให้ใช้น้ำหมัก 10 ลิตรต่อไร่ หมักทิ้งไว้นานราว 10 วัน จนกระทั่งฟางข้าวและตอซังข้าวอ่อนนุ่มและย่อยสลาย หลังจากนั้นก็พรวนดินและเตรียมดินสำหรับปลูกข้าวได้ตามปกติเลย
การทำปุ๋ยหมักจากขี้วัว
วัสดุและอุปกรณ์
- มูลสัตว์ เช่น ขี้วัว ขี้หมู หรือขี้ไก่ 1,000 กิโลกรัม
- หินฟอสเฟต 25 กิโลกรัม
- ปุ๋ยยูเรีย 2 กิโลกรัม
วิธีทำ
- นำมูลสัตว์มาหมักปรับความชื้น 50%
- นำมูลสัตว์ที่ได้ไปผสมหินฟอสเฟต (K. B. K. 0-3-0) และปุ๋ยยูเรีย (สูตร 46-0-0) เข้าด้วยกัน
- นำส่วนผสมข้างต้นใส่ลงในถังหมัก พร้อมคลุมผ้าปิด รอประมาณ 1 เดือน ก็จะได้ปุ๋ยที่พร้อมแก่การใช้งาน
- หมั่นพลิกกลับกองปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ โดยจะแบ่งออกเป็น 4 ครั้ง ได้แก่ ครั้งแรกเมื่อหมักได้ 3 วัน, ครั้งที่ 2 เมื่อหมักได้ 10 วัน, ครั้งที่ 3 เมื่อหมักได้ 17 วัน และครั้งที่ 4 เมื่อหมักได้ 24 วันนั่นเอง
การทำปุ๋ยหมักจากเศษหญ้า
วัสดุและอุปกรณ์
- เศษหญ้า หรือเศษพืชอื่น ๆ 1,000 กิโลกรัม
- มูลสัตว์ 200 กิโลกรัม
- ปุ๋ยยูเรีย 2 กิโลกรัม
- สารเร่ง (พด.1) 1 ซอง
- น้ำสะอาด 5 ลิตร
วิธีทำ
- นำเศษหญ้า หรือเศษพืชอื่น ๆ เช่น ฟางข้าว ต้นข้าวโพด หรือต้นอ้อย มาสับให้ละเอียด
- นำส่วนผสมมากองเป็น 3 ชั้น ในพื้นที่ร่มไร้แสงแดด โดยให้รองพื้นด้วยมูลสัตว์ ตามด้วยเศษหญ้า และปุ๋ยยูเรียทุกชั้น
- ผสมสารละลาย ประกอบด้วยสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 กับน้ำสะอาด 5 ลิตร แล้วนำมาราดบนกองส่วนผสมแต่ละชั้น
- หาวัสดุมาคลุม พร้อมรดน้ำให้พอชุ่ม คอยดูแลกลับกองปุ๋ยทุก ๆ สัปดาห์ ใช้เวลาในการหมักนาน ประมาณ 45 วัน ก็จะได้เป็นปุ๋ยหมักชีวภาพที่พร้อมแก่การใช้งาน
ประโยชน์จากการใช้ปุ๋ยหมัก
ปุ๋ยหมักนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะได้ทางหนึ่งแล้ว กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้อธิบายถึงประโยชน์ของปุ๋ยหมักไว้อีกมากมาย เช่น
- ปุ๋ยหมักเป็นการนำขยะอินทรีย์มาใช้ประโยชน์ใหม่ จึงช่วยลดปริมาณขยะอินทรีย์ เข้าระบบการจัดการขยะได้
- ปุ๋ยหมักบางชนิด มีจุลินทรีย์ที่ช่วยยับยั้งและป้องกันจุลินทรีย์ที่ทำให้พืชเป็นโรคได้
- ปุ๋ยหมักมีธาตุอาหารครบถ้วน ทั้งธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม
- ปุ๋ยหมักเป็นแหล่งอาหารของสิ่งมีชีวิตในดิน ที่เป็นประโยชน์ จึงช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดีขึ้น
- ปุ๋ยหมักมักจะปล่อยธาตุอาหารให้พืชอย่างช้า ๆ ทำให้อยู่ในดินได้ค่อนข้างนาน จึงมีโอกาสเสียน้อยกว่าปุ๋ยเคมี
- ปุ๋ยหมักช่วยปรับค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน ให้เหมาะสมได้ ต่างจากปุ๋ยเคมีที่มีแอมโมเนียเป็นส่วนประกอบ จึงอาจจะทำให้ดินแปรสภาพเป็นกรด
- ปุ๋ยหมักช่วยเพิ่มจุลินทรีย์และอินทรียวัตถุ ทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้น เช่น ร่วนซุย ระบายน้ำดี ถ่ายเทอากาศสะดวก และรากแผ่กระจายหาอาหารง่ายขึ้น ในขณะที่ปุ๋ยเคมีไม่มีคุณสมบัติในการปรับปรุงดินใด ๆ
- ปุ๋ยหมักช่วยลดค่าใช้จ่าย และทำให้ประหยัดเงิน เพราะสามารถใช้แทนปุ๋ยเคมีได้ สามารถลดปริมาณการซื้อปุ๋ยเคมีลงได้ แถมยังไม่ต้องเสียเงินซื้อสารเคมี หรือยาป้องกันแมลงศัตรูพืชด้วย
การทำปุ๋ยไว้ใช้เอง โดยที่ไม่พึ่งพาสารเคมี ทำให้เรามั่นใจได้ว่า ปุ๋ยที่เราใส่บำรุงพืชผักที่เราปลูกจะปลอดภัยแน่นอน ซึ่งการทำปุ๋ยนี้ นอกจากจะได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ปลอดภัยแล้ว เรายังสามารถนำมาใช้เป็นกิจกรรมยามว่างร่วมกันภายในครอบครัว หรือในชุมชนได้อีกด้วย การทำปุ๋ยโดยมีหลักการ คือ เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช และให้พืชเลี้ยงเรา
จะเห็นได้ว่ามีเศษขยะอินทรีย์หลายชนิด ที่สามารถนำกลับมาทำปุ๋ยหมักได้ แถมประโยชน์ยังดีงาม คุ้มค่า มีประสิทธิภาพไม่แพ้ปุ๋ยเคมีเลยด้วย เอาเป็นว่าต่อไปนี้นอกจากจะคัดแยกขยะก่อนทิ้งแล้ว อย่าลืมนำขยะอินทรีย์ที่คัดแยกไว้มาใช้ให้เกิดประโยชน์กันด้วยนะจ๊ะ
สามารถติดตาม บทความอื่นๆ ได้ที่นี่
▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾
ตัวช่วยดี ๆ ที่จะทำให้คุณหมักปุ๋ยได้ง่ายขึ้น เราขอแนะนำ ถังหมักเศษอาหาร ถังหมักปุ๋ย จาก SGE ออกแแบบให้สามารถหมุนได้ เพื่อง่ายต่อการคลุกเคล้าส่วนผสม ผลิตจากวัสดุคุณภาพ และมีความแข็งแรงทนทานต่อการใช้งาน รับรองสินค้ามีคุณภาพอย่างแน่นอน!
ขอบคุณข้อมูลจาก :
ดร.กัญณภัทร ชื่นวงศ์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ. ดร.สุธาทิพย์ สินยัง สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ดร.เพ็ญศิริ ประชากิตติกุล สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ สำนักสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
ดร.ธนิตา อารีรบ สาขาวิชาเทคโนโลยีและการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
กรมควบคุมมลพิษ
กรมพัฒนาที่ดิน
2 พฤษภาคม 2024
โดย
ลำดวน