“หญ้าแฝก” พืชมหัศจรรย์ ประโยชน์และการขยายพันธุ์เป็นแบบไหน?
หญ้าแฝก พืชสารพัดประโยชน์ ช่วยลดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินและสภาพแวดล้อม ขึ้นชื่อในการป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน
หญ้าชนิดนี้มีประโยชน์อะไรอีกบ้าง แล้วมีวิธีการปลูกและขยายพันธุ์อย่างไร ตาม SGE ไปดูกัน!
รู้จัก หญ้าแฝก พืชมหัศจรรย์
หญ้าแฝก เป็นหญ้าที่ขึ้นเป็นกอ หน่อเบียดกันแน่น ใบของหญ้าแฝกมีลักษณะแคบยาว ขอบขนานปลายสอบแหลม ด้านท้องใบจะมีสีจางกว่าด้านหลังใบ มีรากเป็นระบบรากฝอยที่สานกัน แน่นยาว หยั่งลึกในดิน มีข้อดอกตั้ง ประกอบด้วยดอกขนาดเล็ก ดอกจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นหมัน หญ้าแฝก เป็นหญ้าที่นอกจากจะปลูกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินแล้ว ยังปลูกเพื่อประโยชน์ในการเก็บรักษาความชื้น ปรับปรุงบํารุงดิน ฟื้นฟูดินและรักษาสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่ทําการเกษตรที่มีปัญหาความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ หรือดินเสื่อมโทรม การนําหญ้าแฝกไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรมีหลายรูปแบบ เช่น การปลูกในพื้นที่พืชผัก พืชไร่ สวนไม้ผล ไม้ยืนต้น
พันธุ์หญ้าแฝก
แฝก เป็นหญ้าที่พบอยู่ทั่วไป ทั้งโลกพบประมาณ 12 ชนิด ส่วนในประเทศไทยพบ 2 ชนิด ได้แก่
1) กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกลุ่ม ได้แก่ พันธุ์สุราษฎร์ธานี กำแพงเพชร 2 ศรีลังกา สงขลา 3 และพระราชทาน ฯลฯ
2) กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกดอน ได้แก่ พันธุ์ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยเอ็ด กำแพงเพชร 1 นครสวรรค์ และเลย เป็นต้น
ลักษณะเด่นของหญ้าแฝก
สาเหตุที่หญ้าแฝกถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการเกษตร หรือนำมาปลูกเพื่อป้องกันหน้าดิน เนื่องจากมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากหญ้าทั่วไป คือ มีการแตกหน่อรวมเป็นกอ เบียดกันแน่น ไม่แผ่ขยายออกด้านข้าง ดูแลง่าย ควบคุมการขยายพันธุ์ได้ และขยายพันธุ์ได้ตลอดปี แฝกมีใบยาว ตัดและแตกใหม่ง่าย ระบบรากยาว แน่น อุ้มน้ำได้ ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ และมีความทนทานต่อโรคพืชต่าง ๆ ได้ดี
ประโยชน์ของ หญ้าแฝก
ด้านการเกษตร
- วัสดุคลุมดิน (Mulch) ในดินแดนเขตร้อนน้ำจะระเหยออกจากผิวดิน จากการแผดเผาของแสงแดดทำให้เกิดความแห้งแล้งแก่พืชที่ปลูกไว้ การใช้พืชคลุมดินเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุดอันหนึ่งในการสงวนความชุ่มชื้นไว้ในดิน
- ปุ๋ยหมัก (Compost) ส่วนต้นและใบหญ้าแฝกที่ถูกตัดออกมานี้ สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ยหมักได้เช่นเดียวกับซากพืชชนิดอื่นๆ กล่าวคือ ภายในระยะเวลา 60 – 120 วัน ต้นและใบหญ้าแฝกจะย่อยสลายเป็นปุ๋ยหมักอย่างสมบูรณ์ ลักษณะอ่อนนุ่ม ยุ่ยสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ ได้มีการคำนวณว่าปุ๋ยหมักจากใบหญ้าแฝก 1 ตัน มีคุณค่าเทียบเท่ากับปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต 43 กิโลกรัม
แท่งเพาะชำ/วัสดุปลูกพืช (Nursery Block/Planting Medium) โครงการพัฒนาดอยตุงสามารถผลิตแท่งเพาะชำและวัสดุปลูกพืชจากใบและต้นหญ้าแฝก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้การได้ดี - อาหารสัตว์ (Fodder) ใบอ่อนของหญ้าแฝกหอม เช่น หญ้าแฝกพันธุ์ “กำแพงเพชร 2” สามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ โดยนำไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควายได้ ควรตัดในช่วงอายุ ๒ – ๔ สัปดาห์
- เพาะเห็ด (Mushroom Cultivation) ต้นและใบของหญ้าแฝกมีองค์ประกอบพวกเซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส ลิกนินและโปรตีนหยาบ รวมทั้งแร่ธาตุต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุสำหรับเพาะเห็ดได้ โดยนำต้นและใบหญ้าแฝกมาหั่นเป็นชิ้นขนาด 2-4 เซนติเมตร แช่น้ำและหมักนานประมาณ 3-4 วัน บรรจุถุงนึ่งฆ่าเชื้อตามกรรมวิธีของการเตรียมวัสดุเพาะเห็ด ต่อจากนั้นจึงใส่เชื้อเห็ด เห็ดที่ขึ้นได้ดีในวัสดุเพาะที่เตรียมจากต้นและใบหญ้าแฝก ได้แก่ เห็ดนางรม เห็ดภูฐาน เห็ดนางฟ้า เห็ดเป๋าฮื้อ และเห็ดหอม
วัสดุรองคอก (Livestock Bedding) ใบหญ้าแฝกสามารถใช้เป็นวัสดุรองพื้นคอกปศุสัตว์ ซึ่งมีความทนทานเช่นเดียวกับฟางข้าว แต่ทนทานกว่าหญ้าคา
ด้านสรรพคุณทางยา
ราก
- กลิ่นของรากช่วยกล่อมประสาท
- ช่วยลดไข้ แก้ไข้ แก้ไข้พิษ แก้ไข้ซาง
- ช่วยแก้ท้องร่วงท้องเดิน
- ช่วยแก้โรคประสาท
- ช่วยบำรุงโลหิต
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง
- ช่วยแก้โลหิตและดี
- ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
- ใช้ต้มอาบทำให้กระชุ่มกระชวย
- ช่วยแก้คุดทะราด
- ช่วยแก้ร้อน
- ช่วยระบบไหลเวียนเลือด
หัว
- ช่วยแก้ไข้หวัด
- ช่วยแก้ท้องร่วงท้องเดิน
- ใช้เป็นยาขับลมในลำไส้
- แก้อาการท้องอืด จุกเสียด
- ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย
ด้านอื่น ๆ
ส่วนประโยชน์ของหญ้าแฝกอื่น ๆ เช่น การนำมาเย็บเป็นตับเพื่อ ใช้มุงหลังคา ใช้ในคอกสัตว์ รองนอนให้เล้าสัตว์เลี้ยง ใบใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ ใช้เพาะเห็ด ทำเป็น ปุ๋ยหมัก และพืชคลุมดิน หรือใช้รากนำมาทำพัดให้ความเย็นและให้กลิ่นหอมเย็น และใช้ในงานหัตถกรรม เช่น ทำเชือก หมวก ตะกร้า เครื่องประดับ เครื่องตกแต่งบ้าน ของใช้สำนักงาน ไม้อัด งานประดิษฐ์ งานจักสานต่าง ๆ นอกจากนี้ หญ้าแฝกเป็นพืชที่สะสมน้ำมันหอมไว้ในส่วนของราก คนไทยสมัยก่อนจึงใช้รากของหญ้าแฝกเป็นเครื่องหอมสำหรับอบเสื้อผ้า แก้กลิ่นอับในตู้เสื้อผ้า ใช้ขับไล่แมลง ด้วยการใช้รากแห้งนำมาแขวนในตู้เสื้อผ้า และยังใช้ผสมกับน้ำมันให้เกิดกลิ่นหอม หรือนำไปผลิตเป็นเครื่องสำอาง
การปลูก ขยายพันธุ์ หญ้าแฝก
การขยายแม่พันธุ์ คือ การนำแม่พันธุ์หญ้าแฝกที่มีลักษณะดีมาทำการขยายเพิ่มปริมาณทั้งการปลูกลงดิน ปลูกลงถุงพลาสติกขนาดใหญ่ หรือการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ส่วนการขยายพันธุ์กล้าหญ้าแฝก คือการนำหน่อที่ได้จากการขยายแม่พันธุ์มาเพาะชำ เพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ ได้แก่ กล้าในถุงพลาสติกขนาดเล็ก และกล้าหญ้าแฝกแบบรากเปลือย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. การขยายแม่พันธุ์หญ้าแฝก
- การขยายพันธุ์ในแปลงขนาดใหญ่ เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีการชลประทานและระบายน้ำดี สามารถปลูกเป็นแปลงขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องยกร่องก็ได้ การเตรียมต้นพันธุ์โดยแยกหน่อจากกอ นำมาตัดใบให้เหลือความยาว 20 เซนติเมตร และตัดรากให้สั้นแช่ในระดับน้ำสูง 5 เซนติเมตร เป็นระยะเวลา 5-7 วัน รากจะแตกออกมาใหม่นำไปปลูกโดยใช้ระยะปลูกห่างต้น 5 เซนติเมตร และระหว่างแถว 50 เซนติเมตร หลังจากปลูกต้องให้นำอย่างสม่ำเสมอ เมื่ออายุได้ 1 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ต้นละ 1 ช้อนชา เมื่อถึงอายุ 4-6 เดือน ให้ขุดน้ำไปเพาะชำในถุงพลาสติก หรือเตรียมเป็นกล้ารากเปลือยสำหรับใช้ประโยชน์ได้ต่อไป
- การขยายพันธุ์ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ โดยวางเป็นแถวคู่ติดกันระยะห่างระหว่างแถวคู่ 1 เมตร ยาวตามพื้นที่ใช้วัสดุปลูกที่มีการระบายน้ำดี เช่น ดินร่วนทราย และขี้เถ้าแกลบ หรือขุยมะพร้าว ในสัดส่วน 1: 2 : 1 การติดตั้งระบบน้ำพ่นฝอย หรือมีตาข่ายพรางแสง นำหน่อมาปักชำดูแล จนกระทั่งอายุ 4 เดือน จึงนำไปแยกหน่อเพาะชำต่อไป
2. การขยายกล้าหญ้าแฝกสำหรับใช้ปลูก
- การเตรียมกล้าหญ้าแฝกในถุง โดยตัดรากให้สั้นและแยกหน่อจากกอตัดใบให้ยาว 10 เซนติเมตร นำมาล้างน้ำ มัดรวมกันวางลงบนขุยมะพร้าวที่ชื้น หรือแช่ในระดับน้ำสูง 5 เซนติเมตร ในที่ร่มเงา 4 วัน แล้วจึงคัดหน่อที่ออกรากมาปักชำในถุงพลาสติกขนาดเล็ก (2×6 นิ้ว) และใส่วัสดุเพาะชำที่ระบายน้ำดีมีธาตุอาหารสมบูรณ์ ดูแลรดน้ำในสภาพเรือนเพาะชำ เมื่ออายุ 45-60 วัน ให้นำไปปลูกในพื้นที่ขณะที่ดินมีความชื้น
- การเตรียมกล้าหญ้าแฝกแบบรากเปลือย โดยการแยกหน่อจากกอ ตัดใบให้ยาว 20 เซนติเมตร ตัดรากให้สั้น วางบนขุยมะหร้าวที่ชื้น หรือแช่ในน้ำให้ท่วมราก จนกระทั่งรากงอกขึ้นมายาว 1-2 เซนติเมตร นานประมาณ 5-7 วัน จึงนำไปปลูกในช่วงต้นฤดูฝน และหลังจากปลูกดินควรมีความชื้นติดต่อกันอย่างน้อย 15 วัน
วิธีปลูกหญ้าแฝก ในพื้นที่เกษตรกรรม
1. พื้นที่ลาดชัน
ควรปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับขวางความลาดเทในต้นฤดูฝน โดยการทำแนวร่องปลูกตามแนวระดับ ใช้ระยะระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือยและระยะ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง ระยะห่างแถวตามแนวดิ่งไม่เกิน 2 เมตร หญ้าแฝกจะเจริญเติบโตแตกกอชิดกันภายใน 4-6 เดือน
2. พื้นที่ดอน
การปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ โดยการขุดร่องปลูกตามแนวระดับ ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง ควรใช้ปุ๋ยหมักรองพื้นก่อนปลูกหญ้าแฝก หรือปลูกหญ้าแฝกเป็นแนะระหว่างแถวปลูกพืชไร่ และควรปลูกในสภาพดินที่มีความชุ่มชื้น ในช่วงต้นฤดูฝน
3. พื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่ม
ในสภาพพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่ม ที่มีการปรับสภาพเป็นแปลงยกร่องเพื่อปลูกพืชนั้น สามารถปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวรอบขอบเขตพื้นที่ หรือปลูกที่ขอบแปลงยกร่องหญ้าแฝก จะช่วยยึดดินไม่ให้พังทลาย และรักษาความชื้นในดินเอาไว้
3. บริเวณร่องน้ำ
นำกล้าหญ้าแฝกในถุงพลาสติกที่มีการแตกกอ และแข็งแรงดีแล้วไปปลูกในร่องน้ำ โดยขุดหลุมปลูกขวางร่องน้ำ เป็นแนวตรง หรือแนวหัวลูกศรชี้ย้อนไปทิศทางน้ำไหล อาจใช้กระสอบทรายหรือก้อนหิน ช่วยทำคันเสริมฐานให้มั่นคงตามแนวปลูกหญ้าแฝก ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง และระหว่างแนวปลูกหญ้าแฝกไม่เกิน 2 เมตร ตามแนวตั้งหลังจากเกิดคันดินกั้นน้ำ ควรปลูกหญ้าแฝกต่อจากแนวคันดินกั้นน้ำออกไปทั้งสองข้าง เพื่อเป็นการกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก
4. บริเวณขอบสระ
ควรปลูกตามแนวที่ระดับน้ำสูงสุดท่วมถึง 1 แนว และปลูกเพิ่มขึ้นอีก 1-2 แนวเหนือแนวแรก ซึ่งขึ้นอยู่กับความลึกของขอบสระ ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง โดยขุดหลุมปลูกต่อเนื่องกันไป ในระยะแรกควรดูแลปลูกซ่อมแซมให้แถวหญ้าแฝกเจริญเติบโตหนาแน่น เมื่อน้ำไหลบ่ามาลงสระ ตะกอนดินที่ถูกพัดพามากับน้ำ จะติดค้างอยู่กับแถวหญ้าแฝก ส่วนน้ำจะค่อย ๆ ไหลผ่านลงสู่สระ และระบบรากของหญ้าแฝกยังช่วยยึดติดดินรอบ ๆ ขอบสระไม่ให้เกิดการพังทลาย
5. สวนผลไม้
ควรปลูกหญ้าแฝกในสวนผลไม้ ระยะที่ไม้ผลยังไม่โต หรือปลูกก่อนที่จะลงไม้ผล โดยปลูกแถวหญ้าแฝกขนานไปกับแถวของไม้ผลที่ระยะกึ่งกลางของแถวไม้ผล หรือปลูกเป็นรูปครึ่งวงกลมให้ห่างจากโคนต้นไม้ผล 2.5 เมตร เพื่อไม้ผลเจริญเติบโตขึ้นมาคลุมพื้นที่ หญ้าแฝกจะตายไปกลายเป็นอินทรีย์วัตถุในดินต่อไป
การดูแลรักษาหญ้าแฝก
- การคัดเลือกกล้า กล้าที่มีความแข็งแรง จะส่งผลให้แนวรั้วหญ้าแฝกมีความแข็งแกร่ง เติบโตอย่างสม่ำเสมอ โดยทั่วไปจะใช้ “กล้าที่มีอายุประมาณ 45-60 วัน”
- การคัดเลือกเวลาปลูก การปลูกแฝกในช่วง “ต้นฤดูฝน” จะช่วยให้ดินมีความชุ่มชื้น
- การตัดใบ ขั้นตอนการตัดใบ มีจุดประสงค์เพื่อให้หญ้าแฝกเกิดการแตกหน่อใหม่ กำจัดหน่อแก่ที่ตาย ในช่วงต้นฤดูฝนให้ตัดใบหญ้าแฝกให้สั้น สูงจากพื้นผิว 5 ซม. และในช่วงกลางฤดูฝนให้เกี่ยวใบสูง ไม่ต่ำกว่า 45 ซม.เพื่อแนวกอหนาแน่นในการรับแรงปะทะของน้ำไหลบ่า และในช่วง ปลายฤดูฝน เกี่ยวใบให้สั้น 5 ซม. อีกครั้งเพื่อให้หญ้าแฝกแตกใบเขียวในฤดูแล้ง
- การดูแลรักษาในต้นฤดูฝนให้ ใส่ปุ๋ยหมัก ตามแถวหญ้าแฝกก็จะเป็นการช่วยให้หญ้าแฝกมีการเจริญเติบโตดีขึ้นและกำจัดวัชพืชข้างแนวจะเป็นการช่วยให้สังเกตแนวหญ้าแฝกได้ชัดเจน ช่วยให้หญ้าแฝกเจริญเติบโตได้ และเพื่อป้องกันการไถแนวทิ้งเนื่องจากสังเกตไม่เห็น
- การปลูกซ่อม และ แยกหน่อแก่ การปลูกซ่อมแซมในช่วงฤดูฝนจะทำให้ได้แนวรั้ว หญ้าแฝก แข็งแรง และควรตัดแยกหน่อแก่ที่ออกดอก หรือแห้งออกไป เพื่อจะให้หน่อใหม่ได้แทรกขึ้นมาได้อย่างเต็มที่
จะเห็นว่า หญ้าแฝก เป็นหญ้าที่มีประโยชน์มาก หากนำมาประยุกต์ใช้ให้ถูกวิธี จะช่วยให้หน้าดินมีความชุ่มชื้น อุ้มหน้าได้ดี ป้องกันชะล้างการทำลายหน้าดิน หวังว่าบทความนี้จะทำให้ทุกคนได้ทราบถึงวิธีการและขั้นตอนในการนำหญ้าแฝกไปใช้ประโยชน์ เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำและปรับปรุงสภาพแวดล้อม และรู้จักประโยชน์ด้านอื่นของหญ้าแฝกมากขึ้น
บทความอื่นที่น่าสนใจ:
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมพัฒนาที่ดิน, สำนักงาน กปร. , สสน.
30 มกราคม 2024
โดย
Wishyouwell.