แกะสูตร หลนเต้าเจี้ยว เครื่องจิ้มตำรับไทย อร่อยหอมมัน ละมุนลิ้น
บทความนี้เอาใจคนไม่กินเผ็ด กับเครื่องจิ้มละมุนลิ้นอย่าง หลนเต้าเจี้ยว อาหารตำรับโบราณ รสกะทิ เค็ม เปรี้ยว หวาน หอมมัน สูตรนี้ทำตามง่าย กินคู่กับผักแนม และข้าวสวยร้อน ๆ ฟินอย่าบอกใคร อย่าปล่อยให้น้ำลายสอ คว้าตะหลิวแล้วเข้าครัวมาทำพร้อมกันเลย!
หลนเต้าเจี้ยว คืออะไร? ใช่น้ำพริกหรือไม่?
หลนเต้าเจี้ยว แท้จริงแล้วไม่ใช่น้ำพริก แต่ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องจิ้มคู่สำรับ ใช้กินแนมกับผักสด ที่มีมาตั้งแต่โบราณ โดยคำว่า “หลน” เป็นวิธีการปรุงอาหารแบบโบราณ ที่ทำให้อาหารสุกด้วยกะทิข้น ๆ มี 3 รส เปรี้ยว เค็ม หวาน ซึ่งมีส่วนประกอบหลักคือ กะทิ ของหมักดอง และเนื้อสัตว์ ตัวอย่างเช่น หลนเต้าเจี้ยว หลนเต้าหู้ยี้ หลนปลาร้า หลนปูเค็ม และหลนกะปิ เป็นต้น
วิธีทำ หลนเต้าเจี้ยว ฉบับง่าย แต่อร่อยมาก
ส่วนผสมหลนเต้าเจี้ยว
- เต้าเจี้ยวขาว 100 กรัม
- หมูสับ 100 กรัม
- กุ้งสับ 50 กรัม
- หัวกะทิ 400 กรัม
- ตะไคร้ซอย 30 กรัม
- หอมแดงซอย 50 กรัม
- พริกชี้ฟ้าเขียว-แดงหั่น 50 กรัม
- หางกะทิ 3 ถ้วยตวง
- น้ำตาลปี๊บ 3 ช้อนโต๊ะ
- มะขามเปียก 3 ช้อนโต๊ะ
- เกลือ ½ ช้อนโต๊ะ
ขั้นตอนการทำหลนเต้าเจี้ยว
- นำตะไคร้ หอมแดง มาซอยให้บาง ตามด้วยหั่นพริกชี้ฟ้าเป็นท่อน เตรียมไว้
- จากนั้นให้นำเต้าเจี้ยวขาวที่ได้มา ใส่กระชอนนำไปล้างผ่านน้ำเพื่อลดความเค็ม แล้วนำไปโขลก หรือ ปั่น ให้เนื้อเนียนละเอียด เตรียมไว้
- ตั้งหม้อยังไม่ต้องเปิดไฟ ใส่เต้าเจี้ยวขาวโขลก หมูสับ กุ้งสับ และหัวกะทิลงไป คนผสมให้เข้ากันดี
- ปิดเตาใช้ไฟกลาง คอยใช้ทัพพีคนส่วนผสมอยู่เรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้ติดก้นหม้อ
- พอส่วนผสมเริ่มร้อน ไม่ต้องรอเดือด ให้ใส่หอมแดงซอย ตะไคร้ซอย ลงไป คนผสมให้เข้ากันจนทุกอย่างเดือด และสุกดี
- ชิมรสชาติ จากนั้นเริ่มปรุงด้วย น้ำมะขามเปียก น้ำตาลปี๊บ และเกลือป่น (หากชิมแล้วรสชาติเต้าเจี้ยวมีความเค็ม อาจไม่ต้องใส่เกลือป่น ปรุงเพียงน้ำมะขามเปียก และน้ำตาลปี๊บ) ให้ได้ 3 รส เปรี้ยว เค็ม หวาน เป็นอันใช้ได้
- ใส่พริกชี้ฟ้าที่หั่นไว้ลงไป คนให้เข้ากัน รอเดือดอีกครั้งจนพริกสุกดี ปิดเตาตักใส่ถ้วย พร้อมรับประทาน
เคล็ดลับความอร่อยเมนู หลนเต้าเจี้ยว
- หลนเต้าเจี้ยวนิยมใช้ เต้าเจี้ยวขาว ในส่วนประกอบหลัก เพราะมีความหอม และเค็มน้อยกว่า เต้าเจี้ยวดำ
- หลนเต้าเจี้ยวมีวัตถุดิบที่สำคัญอีกชนิดนั่นคือ กะทิ หากใช้ กะทิสด จะทำให้ได้หลนรสชาติหอมหวานมัน แต่ถ้าไม่มีสามารถใช้ กะทิสำเร็จรูป นมสด นมถั่วเหลือง หรือ กะทิธัญพืชแทนได้เช่นกัน
- เนื้อสัตว์ที่ใช้ในหลนเต้าเจี้ยว สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความชอบ เช่น เนื้อหมูสับ เนื้อไก่สับ เนื้อกุ้งสับ เนื้อปูม้า
- หลนเต้าเจี้ยวนิยมกินคู่กับ หัวปลี ใบมะกอกอ่อน ผักชี ต้นหอม ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือเปราะ มะเขือพวง แตงกวา แตงร้าน ใบโหระพา ยอดใบมะยมอ่อน ผักกระสัง ผักแว่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด ผักกาดหอม ผักกาดขาว ใบทองหลางอ่อน ใบชะพลู รวมทั้งใบไม้อ่อนทุกชนิดที่กินได้
- กินหลนเต้าเจี้ยว คู่กับ ข้าวสวยร้อนๆ ไข่ต้ม ไข่เจียว ปลาทูทอด หรือข้าวตังหน้าตั้งก็เด็ดอย่าบอกใคร
เมนูรับประกับความฟิน หลนเต้าเจี้ยว กินคุ่กับข้าวสวยร้อน ๆ แนมด้วยผักสดแช่เย็นกรอบ ๆ และไข่ต้มสักฟอง บอกเลยว่า ต่อให้ใครเอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม เรียกได้ว่าเป็นอีกเมนูข้าวหมดหม้อเลยล่ะ!
บทความที่น่าสนใจ
- วิธีทำ น้ำพริกกุ้งเสียบ เผ็ดหูจี้ หรอยแรง สไตล์คนใต้แท้ ๆ
- วิธีทำ น้ำพริกตาแดง สูตรล้านนา เผ็ดจี๊ดจ๊าด ทำกินง่าย ทำขายรวย
- 7 สูตร น้ำพริกอ่อง แซ่บซี้ดสะใจ ทำกินได้ไม่มีเบื่อ แบบคนภาคเหนือแต้ ๆ
- แจกสูตร น้ำพริกนรก อร่อยแซ่บ เผ็ดจัดจ้าน ทำง่าย เก็บไว้ได้นาน
- แจกสูตร น้ำพริกกากหมู วิธีทำน้ำพริกกากหมู ทำเองง่ายๆ ทำขายก็เริ่ด!
ข้อมูลอ้างอิง : springnews, หมอชาวบ้าน, กินได้อร่อยด้วย
30 มกราคม 2024
โดย
จันทร์เจ้า