ใบย่านาง สรรพคุณ ใช้รักษาโรค ทำอาหาร อะไรได้บ้าง
ใบย่านาง หลายคนอาจสงสัยว่าคืออะไร ซึ่งฟังเผิน ๆ อาจดูแล้วเหมือนชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง ทั้งที่จริง ๆ แล้ว เป็นใบของต้นย่านาง พืชชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถนำมากิน ประกอบอาหาร และรักษาโรคได้มากมาย จนถึงกับถูกบรรจุให้เป็นเป็นพืชสมุนไพร ในตำรับยาโบราณของไทย และได้รับฉายาว่า ราชินีแห่งสมุนไพร เลยทีเดียว
หากใครอยากรู้แล้วว่า ใบย่านาง เป็นยังไง และรักษาโรคต่าง ๆ ได้จริงมั้ย และนำมาประกอบเป็นอาหารอะไรได้บ้าง SGE จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับพืชสมุนไพรชนิดนี้กันมากขึ้น รับรองว่าจะต้องทึ่งแน่นอน กับคุณประโยชน์ที่มากมายของพืชชนิดนี้ใบย่านาง คือ ?
ด้วยคนส่วนใหญ่มักนำ ส่วนที่เป็นใบของต้นย่านาง มาใช้ประโยชน์ ทำให้อาจเรียกกันจนชินปากว่า ใบย่างนาง ซึ่งที่จริงแล้ว ต้องเรียกว่า ต้นย่านาง โดยเป็นพืชชนิดหนึ่ง อยู่ในตระกูลไม้เลื้อย หรือ เถา เลื้อยได้ไกล 2-3 เมตร มักเจออยู่ตามต้นไม้ หรือกิ่งไม้ เมื่อยังอ่อน เถาจะมีสีเขียว แต่เมื่อแก่จะมีสีคล้ำ รากมีขนาดใหญ่ มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ลักษณะเด่นที่สังเกตได้คือ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกติดกับลำต้นแบบสลับ รูปใบคล้ายรูปไข่ ขอบขนานปลายใบเรียว ฐานใบมีความมน ผิวใบเป็นคลื่นเล็กน้อย มีความเรียบมัน เนื้อใบคล้ายกระดาษ แต่แข็ง เหนียว ส่วนดอกย่านาง จะออกดอกเป็นช่อเล็กๆ แบบแยกแขนงตามข้อและซอกใบ มีดอก 1-3 ดอก มีสีเหลือง สำหรับผล รูปร่างกลมรีขนาดเล็ก เมื่อยังอ่อนจะมีสีเขียว แต่ถ้าแก่ จะกลายเป็นสีเหลืองอมแดงและกลายเป็นสีดำ
โดยต้นย่านางนั้น คนในแต่ละภาคก็เรียกชื่อแตกต่างกันไปเช่น คนภาคเหนือ นิยมเรียกว่า จอยนาง หรือ จ้อยนาง ถ้าในภาคกลาง เรียกว่า เถาย่านาง เถาวัลย์เขียว หญ้าภคินี ส่วนภาคใต้ จะเรียกว่า ย่านนาง นางวันยอ ขันยอยาด ซึ่งด้วยเติบโตได้ดี ในภูมิประเทศแบบป่าเขตร้อนและป่าไม้ผลัดใบ จึงสามารถพบได้ในทุกภาคของประเทศไทย และในประเทศ พม่า ลาว กัมพูชา ด้วย
เนื่องจากคุณประโยชน์มากมาย ทั้งสามารถนำมาทำอาหาร และใช้ในการรักษาโรคได้ จึงทำให้ในปัจจุบัน คนนิยมนำมาปลูกในบริเวณบ้าน เพื่อใช้บริโภคและใช้เป็นยาสมุนไพรกันมากขึ้น
สรรพคุณของใบย่านาง
จริง ๆ แล้ว ต้นย่านาง สามารถใช้ประโยชน์ได้แทบทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็น ราก เถา หรือ ใบ โดยแต่ละส่วนจะมีสรรพคุณ ดังต่อไปนี้
1. ให้พลังงานและสารอาหารมากมาย
เมื่อรับประทาน ใบย่านาง ไม่ว่าจะในส่วนของยอดอ่อน นำใบมาคั้นน้ำ ดื่มเพื่อสุขภาพ หรือว่าใช้เป็นส่วนประกอบในอาหาร จะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานและสารอาหารต่าง ๆ มากมาย โดยจะได้รับพลังงานสูงสุดถึง 95 กิโลแคลอรี่ และยังได้รับวิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก และเบต้าแคโรทีนในปริมาณค่อนข้างสูง ซึ่งล้วนแล้วแต่ดีต่อสุขภาพและบำรุงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้แข็งแรง
2. มีฤทธิ์ต่อต้านสารอนุมูลอิสระ
ด้วยมีสารเบต้าแคโรทีนและวิตามินซีสูง ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อร่างกาย ทำให้หากทานใบย่านางแล้ว จะช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอลในกระแสเลือด ช่วยให้เม็ดเลือดไม่จับตัวเป็นก้อนจนอุดตัน ป้องกันการเกิดมะเร็ง และต้านจุลินทรีย์ที่ไม่ดีต่อร่างกายได้อีกด้วย โดยจากการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของผักพื้นบ้านไทย ด้วยการทำสารสกัดจาก ใบย่านาง ด้วยแอลกอฮอลล์ เปรียบเทียบกับตัวควบคุม วิตามินซี และวิตามินอี สารสกัดจากย่านางส่วนที่ละลายน้ำและส่วนที่ไม่ละลายน้ำ จะให้ค่า IC50 499.24 และ 772.63 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ เมื่อเทียบกับค่าที่ได้จากวิตามินซี และวิตามินอีที่ IC50 9.34 และ 15.91 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ จึงแสดงให้เห็นว่า ใบย่านาง เป็น 1 ในพืชสมุนไพร ที่ดีต่อการรับประทาน เพื่อเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระภายในร่างกาย
3. ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งท่อน้ำดีได้
จากการตรวจสอบองค์ประกอบเคมี แล้วพบสาร tiliacorinine ซึ่งเป็นสาร กลุ่ม alkaloid ที่พบในใบย่านาง เมื่อนำมาฉีดทดลองเพื่อรักษาเนื้องอกของหนู ที่ได้รับเซลล์มะเร็งท่อน้ำดี พบว่า tiliacorinine มีนัยสำคัญในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งท่อน้ำดีในหลอดทดลอง โดยกลไกการกระตุ้นกระบวนการ apoptosis ซึ่งเป็นขบวนการในการกำจัดเซลล์ผิดปกติ และเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย และการทดสอบในหนูพบว่าสามารถลดการเจริญของก้อนเนื้องอกในหนูได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีผลการทดลองที่วิจัยในคน การทดลองนี้จึงยังไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ และยังคงต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมจากนี้ต่อไป
4. ใช้ต้านเชื้อมาลาเรียได้
เมื่อนำ รากต้นย่านาง มาทำสารสกัด ทั้งแบบส่วนที่ละลายน้ำ และส่วนที่ไม่ละลายน้ำ ซึ่งต่างมี alkaloid เป็นองค์ประกอบ พบว่าเฉพาะสาร alkaloid ที่ไม่ละลายน้ำ (water-insoluble alkaloid) มีฤทธิ์เพิ่มการยับยั้งเชื้อมาลาเรีย โดยเฉพาะสารที่ระบุโครงสร้างไม่ได้อย่าง สาร alkaloid G ที่มีฤทธิ์สูงสุดในการกำจัดเชื้อมาลาเรียระยะที่แพร่ขยายเข้าสู่เซลล์ จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่า ใบย่านาง สามารถใช้รักษาโรคไข้มาลาเรียได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีผลการทดลองที่วิจัยในคน การทดลองนี้จึงยังไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ และไม่ควรใช้รักษาพลการ โดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
5. รากและใบ ใช้ถอนพิษ แก้ไข้ได้
ทั้งรากและใบย่านางถือเป็นยาเย็น จึงมีความโดดเด่นด้านการถอนพิษและแก้ไข้ โดยราก สามารถใช้แก้ไข้ได้ทุกชนิด เช่น ไข้พิษ ไข้เหนือ ไข้หัด สุกใส ไข้กาฬ ขับกระทุ้งพิษไข้ ถอนพิษผิดสำแดง และแก้เบื่อเมา ส่วนใบและเถา จะใช้แก้ไข้ ลดความร้อน และแก้พิษตานซาง ซึ่งด้วยความที่ รากย่านาง ใช้แก้ไข้ได้มากมาย จึงถูกบันทึกให้เป็นหนึ่งในส่วนประกอบของตำรับยาเบญจโลกวิเชียร หรือ แก้วห้าดวง ซึ่งเป็นตำรับยาแก้ไข้ ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้ ในบัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ร่วมกับรากอีก 4 ชนิดคือ รากชิงชี่ รากท้าวยายหม่อม รากคนทา และรากมะเดื่อชุมพร
ประโยชน์ของ ใบย่านาง
1. ใช้รับประทานหรือเป็นส่วนประกอบในการทำอาหาร
ใบย่านาง สามารถทานสดได้ ด้วยการนำยอดอ่อน มาทานเป็นผักเคียงกับอาหารต่าง ๆ หรือจะนำไปประกอบอาหาร คั้นน้ำจากใบไปทำเป็นแกงก็ได้เหมือนกัน โดยที่นิยมนำมาเป็นส่วนประกอบในอาหารคือ แกงหน่อไม้ หรือซุปหน่อไม้ เพราะน้ำจากใบย่านาง ช่วยลดฤทธิ์กรดยูริกและความขมในหน่อไม้ได้ นอกจากนี้ ก็ยังใส่ในแกงเห็ด ต้มเปรอะ แกงขี้เหล็ก แกงขนุน แกงผักอีลอก แกงยอดหวาย แกงอีลอก แกงขี้เหล็ก ในปัจจุบันก็ยังมีคนนิยมนำใบมาคั้นน้ำสด ดื่มเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอีกด้วย
2. เป็นยารักษาโรค
ด้วยคุณสมบัติทางยามากมาย โดยเฉพาะการถอนพิษและแก้ไข้ ทำให้มีการนำ รากและใบย่านาง มาต้ม เพื่อดื่มกิน จะช่วยรักษาอาการไข้ต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะแก้ไข้ แก้ปวดท้อง ถอนพิษจากการกินอาหารที่มีพิษ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ โดยในภาคอีสาน นิยมใช้ราก ต้มเป็นยาแก้อีสุกอีใส ตุ่มผื่น แก้ไข้มาลาเรีย นอกจากนี้ เมื่อนำน้ำย่านาง มาผสมกับดินสอพองหรือปูนเคี้ยวหมากผสมจนเหลว สามารถนำมาทารักษา สิว ฝ้า ตุ่มคัน ตุ่มใส ผื่นคัน พอกฝีหนองได้อีกด้วย
3. แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย
ด้วยคุณประโยชน์ที่หลากหลาย ทั้งสามารถกินเพื่อสุขภาพ ใช้ในการรักษาโรค จึงมีการนำ ใบย่านาง ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย ไมว่าจะเป็น เครื่องดื่ม แคปซูลแบบยา แชมพู หรือสบู่บำรุงผิว ก็มีเช่นกัน
การทำน้ำใบย่านาง
สำหรับใครที่ต้องการนำ ใบย่านาง มาต้มกิน เพื่อบำรุงสุขภาพหรือรักษาโรคต่าง ๆ ควรศึกษาสัดส่วนที่ต้องใช้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีและปลอดภัย ส่วนใครที่ต้องการต้มเอาแต่น้ำจากใบย่านางอย่างเดียว เพื่อมาดื่มกินหรือประกอบอาหาร มีวิธีการดังนี้
ส่วนผสม
- ใบย่านาง 10-20 ใบ (ตามความเข้มข้นที่ต้องการ)
- ใบเตย 3 ใบ
- ใบบัวบก 1 กำมือ
- หญ้าปักกิ่ง 3-5 ต้น
- ใบอ่อนเบญจรงค์ 1 กำมือ
- ใบเสลดพังพอน 1 กำมือ
- ว่านกาบหอย 5 ใบ
วิธีทำ
- เตรียมใบย่านาง 10-20 ใบ (ตามความเข้มข้นที่ต้องการ) / ใบเตย 3 ใบ / ใบบัวบก 1 กำมือ / หญ้าปักกิ่ง 3-5 ต้น / ใบอ่อนเบญจรงค์ 1 กำมือ / ใบเสลดพังพอน 1 กำมือ / ว่านกาบหอย 5 ใบ (จะใช้หลายอย่างรวมกันก็ได้หรือจะแค่ใบย่านางอย่างเดียวก็ได้ตามแต่สะดวก)
- นำใบสมุนไพรต่าง ๆ ที่เตรียมมาตัดให้เป็นชิ้นเล็ก
- นำใบไปโขลกหรือนำไปปั่นด้วยเครื่องปั่นให้ละเอียดจนเป็นน้ำ (ปั่นประมาณ 30 วินาทีเพื่อคงคุณค่าของสมุนไพรให้มากที่สุด)
- นำมากรองผ่านผ้าขาวบางหรือกระชอนอีกที เป็นอันเสร็จ
*ข้อควรระวัง
- ถ้ารู้สึกว่ากินยาก หรือ เหม็นเขียว แนะนำให้นำน้ำย่านางไปต้มให้เดือด แล้วนำมาดื่มหรือจะผสมกับน้ำสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ก็ได้ เช่น ขิง ตะไคร้ ขมิ้น น้ำมะพร้าว น้ำมะนาว น้ำตาล หรือแม้แต่น้ำเฮลส์บลูบอย เพื่อเพิ่มความหวาน หรือลดกลิ่นเหม็นเขียว
- ควรดื่มน้ำย่านางสด ๆ ก่อนอาหาร หรือ ตอนท้องว่าง
- ควรดื่มแต่พอดี หากดื่มแล้วรู้สึกแพ้ พะอืดพะอม ให้ลดความเข้มข้นของสมุนไพรที่ใส่ลงไป
- เมื่อทำเสร็จแล้วควรดื่มทันที เพราะถ้าทิ้งไว้นานเกินไปจะเกิดกลิ่นเหม็นเปรี้ยวได้ แต่สามารถนำมาเก็บในตู้เย็นได้ ภายใน 3 วัน
30 มกราคม 2024
โดย
Pres