15 สูตร ขนมนึ่ง ทำเองง่าย ๆ อร่อย ไม่ใช้เตาอบ
ขนมนึ่ง ทั้งไทยและเทศ มีอะไรบ้าง SGE มี 15 สูตรขนมนึ่ง มาฝาก ใครมีซึ้งนึ่ง หรือ ลังถึง อยู่ที่บ้าน เตรียมคว้ามาทำตามได้เลย ทำง่าย แน่นอน
1. ขนมเข่ง
ขนมเข่ง เป็น ขนมนึ่ง ที่คนจีนมักใช้เซ่นไหว้ เนื่องในโอกาสสำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็น วันตรุษจีน หรือ วันสารทจีน ซึ่งถ้าหากใครอยากทำ ขนมเข่ง เพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษ หรือ เทพเจ้าแล้วละก็ ทำตามสูตรนี้ได้เลย รับรองว่าจะได้แป้งสีขาวนวลเหนียวนุ่ม ทานอร่อยแน่นอน
ส่วนผสม
- แป้งข้าวเหนียว 500 กรัม
- น้ำตาลทราย 400 กรัม
- น้ำ 400 มิลลิลิตร
- สีผสมอาหารสีแดง
- กระทงใบตอง
- น้ำมันพืชสำหรับทากระทง
วิธีทำขนมเข่ง
- เตรียมชามผสม ใส่แป้งข้าวเหนียว น้ำตาลทราย จากนั้น ให้ค่อย ๆ เทน้ำเปล่าลงไป พร้อมกับนวดแป้งเป็นระยะ ๆ จนกว่าน้ำตาลทรายจะละลาย และแป้งเริ่มจับตัวเป็นก้อนเดียวกัน
- เสร็จแล้ว ให้เติมน้ำเปล่าทั้งหมดลงไป นวดแป้งให้ละลายดี จนมีความข้นเหนียว ในระดับที่ยกมือขึ้นมาแล้ว เห็นแป้งไหลเป็นสายลงไป ไม่ขาดช่วง
- ตั้งซึ้งนึ่ง ต้มน้ำให้เดือด นำน้ำมันพืชมาทาในกระทงใบตองให้ทั่ว จากนั้น หยอดแป้งขนมเข่งลงไป 3/4 เสร็จแล้ว นำไปนึ่งด้วยไฟกลาง ใช้เวลา 30 นาที
- นำขนมเข่งออกมา พักให้เย็นสนิท จากนั้น ใช้ตะเกียบไม้จุ่มสีผสมอาหารสีแดง แต้มลงไปตรงกลาง รอให้แห้งสนิท เป็นอันเสร็จ
2. ขนมเทียน
ขนมเทียน เป็น ขนมนึ่ง ที่ถูกดัดแปลงมาจากขนมเข่ง โดยคนไทยเชื้อสายจีน ลักษณะเป็นขนมที่ห่อด้วยใบตองเป็นรูปทรงกรวย ตัวแป้งทำจากแป้งข้าวเหนียวผสมกับน้ำตาลมะพร้าว น้ำเปล่าหรือกะทิ สอดไส้ด้วยถั่วเขียวซีกเลาะเปลือกและมะพร้าวขูดฝอย ให้รสชาติเค็มและหวาน มักใช้เป็นของเซ่นไหว้ในเทศกาลสำคัญเช่น วันสารทจีน เพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษ โดยขนมเทียน มีความหมายคือ การมีชีวิตที่ราบรื่น ด้วยรูปร่างขนมที่เป็นกรวยแหลมเหมือนเจดีย์ในวัด จึงกลายมาเป็นขนมมงคลที่นิยมใช้ในวันสำคัญทั้งของชาวไทยและชาวจีน
ส่วนผสมแป้งขนมเทียน
- แป้งข้าวเหนียว 500 กรัม
- น้ำตาลมะพร้าวอย่างดี 350 กรัม
- น้ำเปล่า 300-400 มิลลิลิตร
ส่วนผสมไส้ขนมเทียน
- ถั่วเขียวซีกเลาะเปลือก 250 กรัม
- กระเทียมไทยบดละเอียด 50 กรัม
- น้ำมันพืช 2-3 ช้อนโต๊ะ
- เกลือป่น 1/2 ช้อนโต๊ะ
- พริกไทยป่น 1/2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทรายขาว 100 กรัม
- ต้นหอมซอย 1-2 ต้น
วิธีทำ
- เริ่มทำแป้งขนมเทียน โดยเตรียมชามผสม ใส่แป้งข้าวเหนียว ตามด้วยน้ำตาลมะพร้าว ใช้มือค่อย ๆ นวด และเติมน้ำเปล่าลงไปเป็นระยะ จนกว่าส่วนผสมทุกอย่างเข้ากันดี และแป้งจับตัวกันเป็นก้อนเนื้อเนียนนุ่ม เสร็จแล้ว พักแป้งไว้ 4 ชั่วโมง
- ทำไส้เค็ม โดยนำถั่วเขียวซีกเลาะเปลือก ไปล้างน้ำ 4 – 5 รอบ จนกว่าน้ำจะใส จากนั้น แช่น้ำทิ้งไว้ 4 ชั่วโมง พอครบเวลาให้นำไปนึ่งซึ้งนึ่ง เป็นเวลา 30 นาที เพื่อให้สุก เสร็จแล้ว ใส่เครื่องปั่น ปั่นให้เนื้อเนียนละเอียด
- ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันลงไป ตามด้วยกระเทียมบด ผัดให้มีกลิ่นหอม จากนั้น ใส่ถั่วเขียวซีกเลาะเปลือกและน้ำตาลลงไป ผัดทุกอย่างให้เข้ากัน
- ปรุงรสด้วยพริกไทย เกลือ ผัดทุกอย่างให้เข้ากัน พอเข้ากันดีแล้ว ใส่ต้นหอมลงไป คลุกเคล้าให้เข้ากันอีก 1 รอบ เสร็จแล้ว ตักขึ้นมาใส่ชาม พักไว้ให้เย็น
- นำไส้ที่ผัดไว้ ขึ้นมาปั้นเป็นก้อนกลม ๆ ก้อนละ 15 กรัม จากนั้น นำแป้งขนมเทียนที่พักไว้ขึ้นมา ชั่งให้ได้ก้อนละ 30 กรัม นำขึ้นมาแผ่เป็นแผ่นบาง ๆ แล้วนำไส้ที่ปั้นไว้ ขึ้นมาห่อให้เรียบร้อย วางลงในชามที่เทน้ำมันรองไว้ เพื่อไม่ให้แป้งแต่ละก้อนติดกัน
- เตรียมใบตองมาห่อ สองแผ่น แผ่นเล็กกับแผ่นใหญ่ (แผ่นใหญ่ให้ตัดด้านหนึ่งเป็นเส้นตรง อีกด้านหนึ่งเป็นปลายแหลม) นำไปลนไฟ เพื่อให้นิ่ม เสร็จแล้ว นำมาซ้อนทับกัน แล้ววางขนมเทียนลงไป ห่อเป็นรูปกรวยให้เรียบร้อย
- ต้มน้ำในซึ้งนึ่งให้เดือด วางขนมเทียนลงไป นึ่งด้วยไฟกลางค่อนไฟแรง เป็นเวลา 40 นาที เป็นอันเสร็จ
3. ขนมใส่ไส้
ขนมใส่ไส้ หรือ ขนมสอดไส้ (Steamed flour with coconut filling) เป็น ขนมนึ่ง โบราณ มักใช้ในงานพิธีหมั้น เพื่อเป็น 1 ในขนม 9 อย่าง ที่ใส่ในขันหมากโทคู่ขันหมากเอก ในขบวนแห่ขันหมากเพื่อไปสู่ขอเจ้าสาว ลักษณะเป็นขนมที่ใช้แป้งข้าวเหนียวขาวและแป้งข้าวเหนียวดำ ห่อหุ้มไส้ข้างใน ทำจากมะพร้าวเคี่ยวน้ำตาล หยอดด้วยแป้งข้าวเจ้า กะทิ และเกลือ ที่กวนสุก แล้วห่อด้วยใบตองให้เป็นทรงสูงคาดด้วยทางมะพร้าว จะได้ขนมที่มีกลิ่นหอม ไส้หวาน เค็มมันด้วยกะทิที่ข้นมัน
ส่วนผสมไส้มะพร้าว
- ลูกมะพร้าวอ่อน
- ลูกมะพร้าวทึนทึก
- น้ำมะพร้าว 50 กรัม
- เกลือ 1/2 ช้อนชา
- น้ำตาลโตนด 480 กรัม
ส่วนผสมแป้งโตนดห่อไส้มะพร้าว
- แป้งข้าวเหนียว 300 กรัม
- เนื้อตาลโตนด 170 กรัม
ส่วนผสมกะทิ
- แป้งข้าวเจ้า 120 กรัม
- แป้งถั่วเขียว 1 ช้อน
- หัวกะทิ
- หางกะทิ
- น้ำตาลทราย 2 ช้อน
- เกลือ 3/4 ช้อน
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
- เทียนอบขนม
- ใบตอง
- ใบมะพร้าวคาดเตี่ยว
วิธีทำไส้มะพร้าว
- ใช้มีดเล็ก ขูดเนื้อมะพร้าวจากลูกมะพร้าวอ่อน ลูกมะพร้าวทึนทึก ออกมาเป็นฝอยเล็ก ๆ
- ตั้งกระทะ เปิดไฟกลาง เทน้ำมะพร้าว 50 กรัม ลงไป ตามด้วยเกลือ 1/2 ช้อนชา น้ำตาลโตนด 480 กรัม เคี่ยวจนกว่าน้ำตาลโตนดจะละลาย
- ใส่เนื้อมะพร้าวขูดลงไป ผัดให้ไส้แห้ง และ เหนียว เสดแล้วให้ตักขึ้น พักให้เย็น
- ปั้นไส้เป็นลูกกลม ๆ ขนาดเล็ก ใส่ลงในหม้อ วางชามแก้วอยู่ตรงกลาง แล้วจุดไฟเทียนอบขนม เมื่อไฟลุกให้ดับไฟ จนเทียนส่งควันสีขาว แล้วจึงวางลงในชามที่เตรียมไว้ ปิดฝาให้สนิท เพื่ออบไส้ เป็นเวลา 20 นาที
วิธีทำแป้งห่อไส้มะพร้าว
- เตรียมชามผสมอาหาร เทแป้งข้าวเหนียว 300 กรัมลงไป ตามด้วยเนื้อตาลโตนด 170 กรัม ใช้มือคนให้เข้ากัน แล้วเทน้ำเย็นจัดลงไปเล็กน้อย นวดแป้งจนกว่าเนื้อเนียนนุ่ม ไม่ติดมือ
- นำเนื้อแป้งออกมาเล็กน้อย ห่อไส้มะพร้าวที่ปั้นไว้เข้าด้วยกัน จนเป็นลูกกลม ๆ แล้วใช้ผ้าขาวบาง ปิดพักไว้
วิธีทำกะทิ
- เตรียมชามผสมใหม่ ใส่แป้งข้าวเจ้า 120 กรัม แป้งถั่วเขียว 1 ช้อน น้ำตาลทราย 2 ช้อน เกลือ 3/4 ช้อน ใช้ตะกร้อมือคนให้เข้ากัน
- ใส่หัวกะทิลงไป 700 กรัม คนเข้าด้วยกัน จนกว่าแป้งจะละลายเข้ากันทั้งหมด ตามด้วยหางกะทิอีก 300 กรัม แล้วนำไปตั้งไฟ เปิดไฟกลาง คนจนกว่าเนื้อแป้งข้นขึ้น จึงปิดไฟ
- ใส่ไส้มะพร้าวที่ห่อไว้ ลงไปในหม้อจนหมด แล้วใช้ช้อน ตักเนื้อแป้งพร้อมไส้ขึ้นมาทีละลูก ใส่ในใบตอง
วิธีทำห่อใบตอง
- วิธีทำห่อใบตอง จะใช้ใบตอง 2 ใบ ใบที่ 1 ให้ตัดใบตองออกเป็นสี่เหลี่ยมมุมเฉียงทั้ง 4 ด้าน (เหมือนสามเหลี่ยมชนกัน) หรือ จะเป็นวงรีก็ได้ โดยให้ตัดเป็นแผ่นใหญ่ ใบที่ 2 ตัดใบตองเหมือนกัน แต่ให้มีขนาดเล็กกว่า แล้วนำใบที่ 1 ใบใหญ่ หันด้านมันออก ใบที่ 2 หันด้านมันเข้า มาวางซ้อนกัน ตักแป้งและไส้มาวางแล้วเริ่มห่อ
- วิธีห่อ ให้พับด้านที่สั้นสุด เข้าหากัน จากนั้น ค่อยพับด้านยาวเข้ามาประกบ ใช้ใบมะพร้าวมาคาดเตี่ยวตรงจุดประกบ คล้องขึ้นเข้าหากันด้านบน แล้วนำไม้จิ้มฟันมากลัดใบมะพร้าว
- เรียงห่อขนมทั้งหมดลงในซึ่ง นึ่งเป็นเวลา 20 นาที เป็นอันเสร็จ
4. ขนมตาล
ขนมนึ่ง แบบไทย ๆ ที่ได้รสหวานจากลูกตาล ผสมกับแป้งข้าวเจ้า น้ำตาลทราย กะทิหอมมัน เพิ่มความกรุบกรอบด้วยมะพร้าวขูดคลุกเกลือไว้ด้านบน ทำให้ได้ขนมตาลที่มีสีเหลืองทอง น่ารับประทาน หวานอร่อยอย่าบอกใคร
ส่วนผสม
- น้ำตาลทราย 400 กรัม
- กะทิ 3 ถ้วย
- เนื้อลูกตาลสุก 350 กรัม
- แป้งข้าวเจ้า 500 กรัม
- ผงฟู 1 ช้อนโต๊ะ
- มะพร้าวทึนทึกขูดเส้นเล็ก คลุกเกลือเล็กน้อยสำหรับโรยหน้า 2 ถ้วย
วิธีทำ
- ละลายน้ำตาลทรายในกะทิ เติมเนื้อลูกตาลลงไป คนให้เข้ากัน จากนั้นใส่แป้งและผงฟูลงไป คนจนเนียน
- กรองส่วนผสมด้วยผ้าขาวบาง พักไว้ประมาณ 10 นาทีให้ส่วนผสมขึ้น
- ระหว่างรอขนมขึ้น ใส่น้ำในลังถึง ตั้งไฟกลางเตรียมไว้ เรียงถ้วยตะไลลงในลังถึง พอส่วนผสมครบเวลา ตักส่วนผสมยอดลงในถ้วยตะไลจนเต็มถ้วย โรยด้วยมะพร้าวทึนทึก นึ่งบนน้ำเดือดประมาณ 15-20 นาที จนกระทั่งสุก ยกลงจากเตา พักให้เย็นแซะออกจากถ้วย พร้อมเสิร์ฟ
5. ขนมถ้วย
ขนมถ้วย หน้ากะทิเข้มข้น สอดไส้แป้งผสมกับน้ำตาล เป็น ขนมนึ่ง ที่หาทานได้ง่ายมาก ๆ ในสมัยก่อน และ มีราคาถูกด้วย แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้หาทานได้ยากขึ้นทุกวัน หากใครอยากให้รุ่นลูกรุ่นหลาน รู้จักกับขนมหวานนี้แล้วละก็ ลองทำให้ทานกันดู นอกจากจะได้ย้อนวัยเด็กแล้ว ยังทำให้ลูกหลานรู้จักกับขนมหวานไทยชนิดนี้อีกด้วย
ส่วนผสมไส้แป้ง
- แป้งข้าวเจ้า 65 กรัม
- แป้งมันหรือแป้งท้าวยายม่อม 15 กรัม
- น้ำตาลโตนด 120 กรัม
- กะทิถุงพาสเจอร์ไรส์ 200 กรัม
- น้ำใบเตย 200 กรัม
ส่วนผสมหน้ากะทิ
- กะทิถุงพาสเจอร์ไรส์ 400 กรัม
- แป้งข้าวเจ้า 20 กรัม
- น้ำตาลทราย 30 กรัม
- เกลือ 3 กรัม (1 ช้อนชา)
วิธีทำไส้แป้ง
- นำใบเตยมาหั่นหยาบ ๆ ใส่เครื่องปั่น ตามด้วยน้ำเปล่าเล็กน้อย จากนั้น ปั่นให้ละเอียด แล้วนำไปกรองผ่านถุงชา ก็จะได้น้ำใบเตยเข้มข้นออกมา
- เตรียมชามผสม ใส่แป้งข้าวเจ้า แป้งมัน น้ำตาลโตนด กะทิ และน้ำใบเตย จากนั้น คนส่วนผสมทั้งหมดให้ละลายเข้ากัน
- เตรียมซึ้งนึ่ง ต้มน้ำให้เดือด แล้ววางถ้วยตะไลลงไป นึ่งถ้วยให้ร้อน ใช้เวลาประมาณ 5 นาที
- พอครบเวลา ให้ตักแป้งหยอดลงไปครึ่งถ้วย จากนั้น ปิดฝา ใช้ไฟกลาง นึ่งต่ออีก 5-8 นาที
วิธีทำหน้ากะทิ
- เตรียมชามผสม ใส่แป้งข้าวเจ้า น้ำตาลทราย เกลือป่น คนให้เข้ากัน
- จากนั้น เทหัวกะทิลงไป คนให้น้ำตาลและแป้งละลายเข้ากัน
- ตักกะทิหยอดใส่ถ้วยตะไลให้พอดี อย่าล้นเกินขอบถ้วย
- เตรียมซึ่งนึ่ง ต้มน้ำให้เดือด วางขนมถ้วยลงไป แล้วปิดฝา นึ่งโดยใช้ไฟแรง เป็นเวลา 7 นาที
- พอหน้ากะทิแตกมันดีแล้ว ให้ยกมาพักไว้ให้เย็น เป็นอันเสร็จ
6. ขนมชั้น
ขนมชั้น มีเนื้อสัมผัสที่นุ่ม เด้ง เคี้ยวสู้ฟัน ทำให้เป็น ขนมนึ่ง ที่คนไทยแทบทุกคนคงได้ทานกันตั้งแต่เด็ก ซึ่งด้วยความเชื่อที่ว่า ทานแล้ว จะมีความสุข ความเจริญก้าวหน้า แก่ผู้รับประทาน รวมถึงผู้ที่ทำ ทำให้เป็น ขนมไทย ที่ยังคงได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน
ส่วนผสม
- แป้งมันสำปะหลัง 480 กรัม
- แป้งข้าวเจ้า 30 กรัม
- แป้งท้าวยายหม่อม 150 กรัม
- หัวกะทิ 900 กรัม
- หางกะทิ 100 กรัม
- ใบต้นใบเตย
- น้ำใบเตยเข้มข้น 100 กรัม
- น้ำลอยดอกมะลิ 100 กรัม
- น้ำตาล 950 กรัม
- เกลือ 1 ช้อนชา
วิธีทำ
- นำแป้งข้าวเจ้า แป้งมัน และ แป้งท้าวยายหม่อม ผสมกัน อบด้วยควันเทียนไว้ 1 คืน
- นำหัวกะทิ มาเคี่ยวจนกว่าจะได้น้ำมันใส ๆ ซึ่งเรียกว่า น้ำมันขี้โล้ กรองเอาแต่น้ำมัน ไม่เอากาก สำหรับไว้ทาถาดอบขนม
- นำใบต้นใบเตยมาล้างทำความสะอาด แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เสร็จแล้วใส่เครื่องปั่น เทหัวกะทิลงไปเล็กน้อย ปั่นจนละเอียด นำมากรองเอากากออก จนเหลือแต่น้ำใบเตย
- จากนั้น นำน้ำใบเตยที่กรองมาแล้ว ใส่เครื่องปั่นใหม่ เป็นครั้งที่ 2 พร้อมกับใบเตยที่หั่นไว้ ปั่นให้ละเอียด เสร็จแล้ว นำมากรองเอากากออก จนเหลือแต่น้ำใบเตย แล้วเทใส่เครื่องปั่นพร้อมกับใบเตยหั่น ปั่นอีกครั้ง ทำอย่างนี้ซ้ำ 3-4 รอบ เสร็จแล้ว จนเมื่อได้น้ำใบเตยออกมาในรอบสุดท้าย ให้นำไปกรองด้วยผ้าขาวบาง ก็จะได้น้ำใบเตยที่เข้มข้นออกมา
- เตรียมชามผสมอาหาร ใส่น้ำตาลทรายขาวผสมกับเกลือเพียงเล็กน้อย แล้วใส่น้ำหางกะทิลงไป เสร็จแล้วนำไปตั้งไฟ ค่อย ๆ คนให้น้ำตาลละลายจนหมด จนกลายเป็นน้ำเชื่อม
- ต่อมา ให้ค่อย ๆ ตักน้ำหัวกะทิที่เคี่ยวไว้ ใส่ลงในชามผสมแป้งทั้ง 3 ชนิด แล้วใช้มือค่อย ๆ นวด จนเนื้อแป้งเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ติดภาชนะ ไม่ติดมือ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที
- เสร็จแล้ว ให้เทน้ำหัวกะทิลงในชาม ค่อย ๆ นวดให้แป้งละลายไปกับน้ำหัวกะทิ จนเป็นเนื้อเดียวกัน (ไม่เทเยอะจนเกินไป แค่พอให้แป้งละลายจนหมด)
- จากนั้น นำน้ำเชื่อมที่เคี่ยวไว้จนเดือด ค่อยเท ๆ ลงไป ระหว่างเท ให้ใช้ตะกร้อมือคนไปด้วย ขั้นตอนนี้สำคัญ ควรคนอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้แป้งจับตัวกันเป็นเม็ด
- แยกน้ำแป้งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่เป็นสีขาวและสีเขียว โดยสีขาว ให้เติมด้วยน้ำลอยดอกมะลิ 100 กรัม สีเขียวเติมน้ำใบเตยเข้มข้น 100 กรัม แล้วนำส่วนผสมสีขาวมากรองกับผ้าขาวบาง แล้วค่อยกรองสีเขียว
- นำน้ำมันขี้โล้ทาถาด ให้ทั่วรวมถึงขอบด้านข้างด้วย แล้วนำเฉพาะถาดไปนึ่งก่อน ประมาณ 5 นาที แล้วค่อยเทแป้งสีเขียวสลับกับสีขาว เป็นชั้นบาง ๆ ลงไปให้ทั่วถาด เป็นจำนวน 9 ชั้น โดยระหว่างเทแต่ละชั้น ต้องดูให้ดีว่า ระดับเท่ากันหรือไม่ เพื่อให้ทุกชั้นระดับเท่ากัน แล้วนึ่งแต่ละชั้นแยกกัน โดยชั้นที่ 1 – 5 นึ่งชั้นละ 5 นาที ชั้นที่ 6 ใช้เวลานึ่ง 6 นาที ชั้นที่ 7 – 8 ใช้เวลานึ่ง 7 นาที และชั้นที่ 9 นึ่งเป็นเวลา 7นาที
- อบเสร็จแล้ว นำมาตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ตกแต่งตามสะดวก เป็นอันเสร็จ
7. ขนมปุยฝ้าย
ขนมปุยฝ้าย คนเฒ่าคนแก่ ผู้หลักผู้ใหญ่ มักจะนำมาเป็นขนมมงคล ใช้เซ่นไหว้ในพิธีสำคัญต่าง ๆ ซึ่งด้วยสีสันที่สวยงาม และความเป็นฟูฟ่องอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้นิยมเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า ขนมถ้วยฟู โดยขนมปุยฝ้าย ยังถือเป็น ขนมนึ่ง ต้นแบบ ที่ถูกนำมาดัดแปลง จนกลายเป็น ขนมสาลี่ ในจังหวัดสุพรรณบุรีอีกด้วย แต่แตกต่างตรงที่ขนมปุยฝ้าย พอนึ่งเสร็จแล้ว หน้าขนมจะแตก ไม่เหมือนกับขนมสาลี่ ที่หน้าขนมจะเรียบเนียน
ส่วนผสม
- แป้งเค้ก 2+½ ถ้วย ประมาณ 300 กรัม
- ผงฟู 1 ช้อนชา
- ไข่ไก่ (อุณหภูมิห้อง) 3 ฟอง
- น้ำตาลทราย 1+¼ ถ้วย หรือ 250 กรัม
- น้ำเปล่า (อุณหภูมิห้อง) 1 ถ้วย
- สารเสริมคุณภาพสำหรับทำขนมเอสพี (SP) 4 ช้อนชา
- นมข้นจืด 3 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำหอมกลิ่นมะลิ 1 ช้อนชา หรือกลิ่นนมแมว 2 หยด
- สีผสมอาหาร ตามชอบ
วิธีทำ
- เตรียมอ่างผสม ร่อนแป้งเค้กกับผงฟูเข้าด้วยกัน เตรียมไว้
- ใส่ไข่ไก่ น้ำตาลทราย และน้ำ ลงในอ่างผสม จากนั้นป้ายสารเสริมคุณภาพสำหรับทำขนมเอสพี (SP) บนหัวตีรูปตะกร้อ ตีผสมด้วยความเร็วสูง นานประมาณ 3-5 นาที หรือจนส่วนผสมขึ้นฟูเป็น 3 เท่า
- ลดความเร็วเครื่องตีลง ใช้ความเร็วต่ำ จากนั้นค่อย ๆ ตักแป้งใส่ลงไปตีผสมจนหมด ปาดข้างอ่าง ตีผสมจนเข้ากันเป็นเนื้อเดียว ค่อย ๆ เทนมข้นจืดลงไป ตามด้วยน้ำมะนาวและน้ำหอมกลิ่นมะลิ ตีต่อประมาณ 30 วินาที ปิดเครื่อง คลุมอ่างผสมด้วยผ้าขาวบางชุบน้ำหมาด ๆ พักทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที เพื่อให้ส่วนผสมขึ้นฟู
- ใส่น้ำลงในชุดนึ่ง นำขึ้นตั้งไฟแรงจนน้ำเดือดจัด เมื่อครบเวลา ใช้พายยางคนตะล่อมแป้งให้เข้ากันอีกครั้ง แบ่งแป้งผสมสีผสมอาหารตามชอบ เตรียมไว้
- วางถ้วยกระดาษ (ถ้วยจีบ) ลงในพิมพ์อะลูมิเนียม ตักส่วนผสมแป้งใส่ประมาณ ¾ พิมพ์ จากนั้นวางเรียงในชุดนึ่ง โดยวางถ้วยให้ระยะห่างกันประมาณ 2 ซม. เพื่อให้ความร้อนกระจายขึ้นมาอย่างทั่วถึง
- จากนั้นนำไปนึ่งด้วยไฟแรง นานประมาณ 15 นาที นำออกจากชุดนึ่ง แกะขนมออกจากพิมพ์ พร้อมเสิร์ฟ
8. ขนมสาลี่
ขนมสาลี่ เป็น ขนมนึ่ง ที่มีเฉพาะในจังหวัดสุพรรณบุรี เท่านั้น ถือเป็นสินค้า OTOP ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัด โดยปัจจุบัน ขนมสาลี่มีหลายรสชาติ แต่ถ้าเป็นรสดั้งเดิมแล้วละก็ ต้องเป็น ขนมสาลี่นมสด เลย ซึ่งจะนอกจากจะได้รสสัมผัสของนมสดแล้ว ยังมีกลิ่นนมแมว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของขนมชนิดนี้อีกด้วย รับรองว่าทำออกมาแล้ว รสชาติเหมือนต้นฉบับแน่นอน
ส่วนผสม
- แป้งเค้ก 110 กรัม
- ผงฟู 1/2 ช้อนชา
- น้ำตาลทรายชนิดละเอียด 125 กรัม
- ไข่ไก่ (เบอร์ 1) 2 ฟอง
- นมสดรสจืดแช่เย็น 65 กรัม
- กลิ่นนมแมว 2-3 หยด
- สาร SP 8 กรัม
- น้ำมะนาว 1/2 ช้อนชา
- สีผสมอาหารสีแดง 4-5 หยด
- ลูกเกดสำหรับแต่งหน้าขนม
วิธีทำ
- ร่อนแป้งเค้กกับผงฟู ลงในชามผสม จากนั้น ใส่น้ำตาลทรายลงไป คนให้เข้ากัน
- เตรียมชามผสมอีก 1 ใบ ตอกไข่ไก่ใส่ชาม ตามด้วยนมสดรสจืด และกลิ่นนมแมว ตีให้เข้ากัน จากนั้น นำไปผสมกับแป้งเค้ก คนให้เป็นเนื้อเดียวกัน
- ป้ายสาร SP ที่หัวตะกร้อ หรือ เครื่องดี จากนั้น เปิดสปีดต่ำสุด ตีแป้งเค้กเป็นเวลา 1 นาที
- พอครบเวลา ให้ใช้ไม้พายปาดปากโอ่งถึงก้นโอ่ง แล้วเปิดสปีดสูงสุด ตีแป้งเค้กต่อเป็นเวลา 6 นาที
- พอครบเวลา ให้ใช้ไม้พายปาดปากโอ่งถึงก้นโอ่ง จากนั้น ใส่น้ำมะนาว สีผสมอาหารสีแดง เสร็จแล้ว เปิดสปีดต่ำสุด ตีแป้งเค้กเป็นเวลา 3 นาที
- รองกระดาษไขลงบนถาดอบขนม จากนั้น เทแป้งเค้กลงไป เกลี่ยหน้าให้เรียบ
- ต้มน้ำในซึ้งนึ่งให้เดือด ใช้ผ้าขาวบางห่อฝาปิดให้เรียบร้อย กันหยดน้ำหกลงบนหน้าขนม จากนั้น นำขนมสาลี่ไปนึ่งด้วยไฟแรง เป็นเวลา 15 นาที
- พอครบเวลา ให้ยกออกจากถาด พักให้เย็น ตัดแบ่งออกเป็นชิ้น ๆ แล้วตกแต่งหน้าขนมด้วยลูกเกด เป็นอันเสร็จ
9. ขนมบุหลันดั้นเมฆ
ขนมนึ่ง แบบไทยโบราณ ที่มีมานานตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จากเหตุการณ์ทรงมีพระสุบิน เห็นดวงจันทร์ลอยออกจากก้อนเมฆ จนกลายเป็นที่มาของบทเพลง บุหลันลอยเลื่อน อันไพเราะ และเป็นแรงบันดาลใจในการประดิษฐ์ เมนูขนมหวานไทยโบราณ ที่ชื่อว่า บุหลันดั้นเมฆ ในเวลาต่อมา ซึ่งสีสันของขนมนั้น ก็สอดคล้องกับเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางตัวขนมที่ทำจากไข่แดง สื่อถึงดวงจันทร์ที่ส่องสว่างในเวลากลางคืน และส่วนสีฟ้าของตัวขนมก็เปรียบเหมือนสีของก้อนเมฆในยามค่ำคืน ทำให้เป็นขนมไทยที่มีสีสันสวยงามไม่เหมือนใคร
ส่วนผสมแป้งขนม
- แป้งข้าวเจ้า 110 กรัม
- แป้งถั่วเขียว 50 กรัม
- แป้งมันสำปะหลัง 20 กรัม
- น้ำลอยดอกมะลิ 500 กรัม
- น้ำตาลทราย 120 กรัม
- ดอกอัญชัน 10-15 ดอก
ส่วนผสมหน้าไข่แดง
- ไข่ไก่ใช้แต่ไข่แดง 6 ฟอง
- น้ำตาลทรายบดละเอียด 30 กรัม
- น้ำตาลปี๊บ 20 กรัม
วิธีทำ
- ตั้งหม้อ เปิดไฟกลาง วอร์มให้กระทะร้อนแล้ว ใส่น้ำลอยดอกมะลิลงไป ตามด้วยน้ำตาลทราย คนให้น้ำตาลทรายละลายเข้ากัน
- นำดอกอัญชัน มาเด็ดก้านเขียวออก จากนั้น จุ่มกับน้ำร้อนเล็กน้อย เพื่อดึงให้สีของดอกอัญชันออกมา เสร็จแล้ว นำไปใส่ในหม้อต้มน้ำเชื่อมที่มีน้ำร้อนจัด คนไปเรื่อย ๆ จนกว่าน้ำเชื่อมจะเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำเงิน
- เตรียมชามผสม ใส่แป้งข้าวเจ้า แป้งถั่วเขียว แป้งมัน จากนั้น ค่อย ๆ เติมน้ำเชื่อมดอกอัญชันลงไป นวดผสมให้เข้ากัน จนกว่าเม็ดแป้งจะละลายดี ไม่ติดกันเป็นเม็ด และเป็นแป้งเหลวที่มีลักษณะข้นกำลังดี
- นำถ้วยตะไลที่จะจัดเสิร์ฟ ไปนึ่งในซึ้งนึ่งเตรียมไว้ พอร้อนได้ที่แล้ว ให้หยอดแป้งเหลวลงไป ให้เต็มถ้วย ใช้เวลานึ่ง 2 – 3 นาที ระหว่างนี้ ให้ตอกไข่ไก่ แยกเอาเฉพาะไข่แดง ใส่ลงในชามผสม จากนั้น ใส่น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลทราย คนส่วนผสมทุกอย่างให้ละลายเข้ากัน เพื่อทำตัวหน้าไข่แดง
- พอครบเวลาแล้ว ให้นำถ้วยตะไลออกมา เทน้ำแป้งที่ยังไม่แห้งออก จากนั้น หยอดเอาไข่แดงลงไปในรูตรงกลาง เสร็จแล้ว นึ่งต่อด้วยไฟแรงอีก 5 – 10 นาที เป็นอันเสร็จ
10. ข้าวต้มมัด
ข้าวต้มมัด สูตรนี้ ถือว่าเป็นสูตรดั้งเดิม และ สูตรโบราณของการทำข้าวต้มมัดเลยก็ว่าได้ ด้วยการสอดไส้กล้วยไว้ตรงกลาง และ โปะด้วยถั่วดำไว้ด้านบน เสร็จแล้ว จึงนำไปนึ่งจนสุก ทำให้เป็น ขนมนึ่ง ที่มีรสชาติอร่อย และ เป็นที่นิยมมของคนทุกยุคสมัย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ส่วนผสม
- กล้วยน้ำว้าสุก 1 หวี
- ข้าวเหนียว 500 กรัม
- หัวกะทิ 400 กรัม
- ถั่วดำ 50 กรัม
- น้ำตาลทราย 175 กรัม
- เกลือ 9 กรัม (1 2/3 ช้อนชา)
อุปกรณ์
- ใบตอง
- ตอกไม้ไผ่
- ซึ้งนึ่ง
วิธีทำ
- นำถั่วดำไปแช่น้ำ แล้วทิ้งไว้ข้ามคืน จากนั้น นำมาต้มในน้ำเดือด จนกว่าจะสุกนิ่ม ใช้เวลา 20 นาที
- แช่ข้าวเหนียวในน้ำ ประมาณ 3 ชั่วโมง จากนั้น นำมาสะเด็ดน้ำ แล้วเทใส่ลงในกระทะ
- ใส่หัวกะทิ และเกลือลงไป เปิดไฟกลาง ผัดข้าวเหนียวให้กะทิงวดและแห้งลง ให้เคลือบข้าวเหนียวจนทั่ว
- พอกะทิงวดลง จนเคลือบข้าวเหนียวเหนียวทั้งหมดแล้ว ให้ใส่น้ำตาลทรายลงไป ผัดให้น้ำตาลทรายละลายเข้ากัน พอเข้ากันดีแล้ว ให้ปิดไฟ พักทิ้งไว้ ให้เย็นตัวลง
- เริ่มห่อข้าวต้มมัด โดยให้เตรียมแผ่นใบตองมารองไว้ ในลักษณะหันมุมแหลมเข้าหาตัว ตักถั่วดำเล็กน้อยมาวาง ตามด้วยข้าวเหนียว กล้วยผ่าครึ่งชิ้นวางหงาย และข้าวเหนียว ซ้อนไว้ด้านบน จากนั้น จับปลายแหลมของใบตอง ด้านที่หันเข้าหาตัว ม้วนเข้าหากัน ห่อข้าวเหนียวให้แน่น เสร็จแล้ว ให้จับปลายสองข้างพับเข้าหากัน แล้วมัดด้วยตอกไม้ไผ่ให้เรียบร้อย
- นำข้าวต้มมัดไปนึ่ง หรือ ต้มด้วยน้ำเดือด ก็ได้ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง – 1 ชั่วโมงครึ่ง เป็นอันเสร็จ
11. สาคูไส้หมู
สาคูไส้หมู อาจจะไม่ใช่ ขนมนึ่ง เชิงขนมหวานไทยเสียทีเดียว แต่ก็ถือเป็นของทานเล่น ที่อร่อยมาก ๆ เหมาะกับการทำขาย เพื่อสร้างรายได้สุด ๆ ซึ่งด้วยเนื้อสัมผัสที่นุ่มหนุบหนับจากแป้งสาคู สอดไส้ด้วยไส้หมูที่ผัดกับไชโป๊และถั่วลิสง จนมีรสเค็มอร่อย ทำให้ใครต่อใครเมื่อได้ทาน ต่างก็ต้องหลงรักเมนูนี้แทบทุกคน
ส่วนผสม
- สาคูเม็ดเล็ก 200 กรัม
- หมูบด 150 กรัม
- ไชโป๊หวาน 150 กรัม
- ถั่วลิสงคั่ว 100 กรัม
- หอมแดง 80 กรัม
- กระเทียม 30 กรัม
- พริกไทยเม็ด 1/2 ช้อนโต๊ะ
- รากผักชี 15 กรัม
- น้ำตาลปี๊บ 2 1/2 ช้อนโต๊ะ
- ซีอิ๊วขาว 1/2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
- เตรียมครกกับสาก ใส่พริกไทยเม็ดลงไป บดให้ละเอียด ตามด้วยกระเทียม รากผักชี โขลกให้ละเอียดเข้ากัน
- นำหอมแดงและกระเทียมอีกส่วนหนึ่งมาสับให้ละเอียด ใช้มีดหรือเครื่องปั่นก็ได้ จากนั้น ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันลงไป ใส่กระเทียมลงไป เจียวให้มีสีเหลืองทอง เสร็จแล้ว ตักขึ้นพักไว้
- เปิดไฟกลางค่อนไฟอ่อน ใส่พริกไทย กระเทียม รากผักชี ที่โขลกไว้ลงไป ผัดให้มีกลิ่นหอม จากนั้น ใส่เนื้อหมูลงไป รวนให้เนื้อหมูสุก เสร็จแล้ว ใส่หอมแดง ไชโป๊หวาน ลงไป ผัดให้เข้ากัน
- ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ ซีอิ๊วขาว ผัดให้น้ำตาลละลายเข้ากัน พอได้รสชาติที่ต้องการแล้ว ให้ใส่ถั่วลิสงคั่วลงไป คลุกเคล้าทุกอย่างให้เข้ากัน เสร็จแล้ว ตักขึ้นพักไว้
- ใส่สาคูเม็ดเล็กลงในกระชอน ร่อนเอาผงแป้งที่ยังคงติดอยู่กับเม็ดสาคูออกให้หมด จากนั้น เตรียมชามผสมใส่น้ำสะอาด เทเม็ดสาคูลงไป แช่น้ำทิ้งไว้ 15 นาที ระหว่างรอเม็ดสาคูอิ่มน้ำ ให้นำไส้สาคู มาปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ เตรียมไว้
- พอครบเวลา ให้เทกรองเอาน้ำแช่เม็ดสาคูออก เตรียมซึ้งนึ่งรองด้วยใบตองทาน้ำมัน กันแป้งเม็ดสาคูติดให้เรียบร้อย จากนั้น ใช้มือหยิบเอาแป้งเม็ดสาคูขึ้นมา ปั้นให้เป็นแผ่น เสร็จแล้ว นำเอาไส้สาคูมาวางไว้ตรงกลาง ห่อแป้งเม็ดสาคูให้เป็นทรงกลมให้เรียบร้อย วางลงในซึ้งนึ่ง ทำอย่างนี้จนกว่าจะได้ปริมาณสาคูตามที่ต้องการ
- ต้มน้ำในซึ้งนึ่งให้เดือด จากนั้น นำเอาสาคูไปนึ่ง ด้วยไฟแรง 3 – 4 นาที พอครบเวลา ให้ยกออกมา ใช้แปรงจุ่มน้ำมันทาลงบนสาคู เพื่อกันแป้งสาคูแต่ละลูกติดกัน
- จัดจาน เสิร์ฟพร้อมผักกาดหอม พริกขี้หนูสวน โรยด้วยกระเทียมเจียว เป็นอันเสร็จ
12. เค้กฟักทองนึ่ง
เค้กฟักทอง เป็น ขนมนึ่ง อีกหนึ่งอย่างที่ไม่ควรพลาด เพราะจะได้รสหวานจากธรรมชาติ โดยไม่ต้องใส่น้ำตาลเพิ่มเลย เหมาะกับคนที่ชอบทานเค้ก แต่อยากลดน้ำหนัก
ส่วนผสม
- ฟักทองบด 400 กรัม
- งาขาว งาดำ (ตามชอบ)
- ข้าวโอ๊ตบดละเอียด 50 กรัม
- ผงฟู 1/2 ช้อนชา
- ไข่ขาว 2 ฟอง
- ไข่แดง
อุปกรณ์
- ซึ้งนึ่ง
- ถ้วยอลูมิเนียม
- กระดาษฟอยล์
วิธีทำ
- ใช้ช้อนบดฟักทองให้ละเอียด ใส่ไข่แดงผสมให้เข้ากัน ตามด้วย งาขาว งาดำ ข้าวโอ๊ตบดละเอียด
ผสมให้เข้ากัน เสร็จแล้ว ใส่ผงฟูตามลงไป - นำไข่ขาวแช่เย็นประมาณ 30 นาที หลังจากนั้น นำมาตีให้เนียนขึ้นฟู จากนั้น ผสมกับฟักทองที่เตรียมไว้ คนให้เข้ากัน
- เตรียมซึ้ง ตั้งหม้อให้ร้อน นำถ้วยอลูมิเนียมไปนึ่งให้ร้อนก่อน พอสุกแล้ว เนื้อเค้กจะได้ไม่ติดถ้วย จากนั้น นำฟักทองที่เตรียมไว้ใส่ถ้วย โรยหน้าให้สวยงามด้วยธัญพืชตามชอบ เสร็จแล้ว นำกระดาษฟอยล์มาห่อเพื่อไม่ให้น้ำหยดใส่เค้ก
- นำเค้กฟักทองนึ่งในซึ้งด้วยไฟกลาง ใช้เวลา 30 นาที จากนั้น ยกออกพักให้เย็น พร้อมเสิร์ฟ
13. ฟักทองสังขยา
ของหวานจากฟักทอง สุดครีเอท ที่มาพร้อมกับความสวยงามและรสชาติที่อร่อย ใครอยากทำ ขนมนึ่ง จาก ฟักทอง แบบใหม่ ๆ ห้ามพลาด
ส่วนผสม
- ฟักทองแก่ 1 ลูก
- ไข่ไก่ เบอร์1 4 ฟอง
- หัวกะทิ 130 มิลลิลิตร
- น้ำตาลมะพร้าว 250 กรัม (ปรับเพิ่มได้ตามชอบ)
- เกลือ 1/2 ช้อนชา
- ใบเตย 5 ใบ
วิธีทำ
- ใช้มีดเจาะตรงกลางฟักทอง ให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม จากนั้น ดึงขั้วฟักทองออกมา คว้านเอาเมล็ดฟักทองด้านในออกให้เกลี้ยง เสร็จแล้ว นำไปล้างน้ำให้สะอาด ใช้แปรงขัด เพื่อให้เปลือกฟักทองด้านนอก สะอาดมากขึ้น
- เตรียมชามผสม ตอกไข่ไก่ 3 ฟอง ลงไป ตามด้วย เกลือ น้ำตาลมะพร้าว หัวกะทิ จากนั้น ใช้มือฉีกใบเตยให้แยกออกจากกัน ขยำส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากัน จนกว่าน้ำตาลมะพร้าวจะละลายเข้ากันดีกับหัวกะทิ
- พอเข้ากันดีแล้ว ให้นำใบเตยออก นำส่วนผสมไปกรองผ่านกระชอน เพื่อให้ได้สังขยา เนื้อเนียนละเอียด
- หาชามมารองฟักทอง เพื่อเตรียมนำเข้าไปนึ่ง นำสังขยามาเทผ่านกระชอนอีกรอบ ลงไปในฟักทอง
- ตั้งซึ้ง ต้มน้ำให้เดือด พอเดือดดีแล้ว ให้ลดไฟลงเป็นไฟอ่อน นำฟักทองไปนึ่งในซึ้ง เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที โดยทุก ๆ 15 นาที ต้องเปิดฝาออกพักหนึ่ง เพื่อระบายความร้อนออก ลูกฟักทองจะได้ไม่แตก
- พอครบเวลา ให้ยกฟักทองออกมา พักทิ้งไว้ให้เย็น วิธีเช็กสังขยาด้านในว่าสุกหรือยัง ให้ใช้ไม้จิ้มลงไป ถ้าไม่มีน้ำติดขึ้นมาแสดงว่าสุกได้ที่แล้ว พอเย็นลงดีแล้ว ให้ตัดเป็นชิ้น ๆ รับประทานได้ เป็นอันเสร็จ
14. คัพเค้กช็อกโกแลตนึ่ง
คัพเค้กแบบตะวันตก ไม่ต้องใช้เตาอบเสมอไป เพียงแค่ผสมแป้งเค้กให้เสร็จเรียบร้อย แล้วนำไปนึ่ง เพียงเท่านี้ก็จะได้คัพเค้กที่นุ่มฟู อร่อย ไม่แพ้ใช้เตาอบเช่นดัน โดยสูตรนี้เป็นสูตร คัพเค้กช็อกโกแลตนึ่ง รับรองว่า จะได้รสชาติของช็อกโกแลตเต็ม ๆ คำแน่นอน
ส่วนผสม (สำหรับ 2 ชิ้น)
- แป้งข้าวเจ้า 35 กรัม
- น้ำตาลทราย 25 กรัม
- ผงฟู ½ ช้อนชา
- ผงโกโก้ 15 กรัม
- นมสด (ในสูตรใช้นมอัลมอนด์) 65 กรัม
- กลิ่นวานิลลา ½ ช้อนชา
- ช็อกโกแลตชิพ จะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ 15 กรัม
วิธีทำ
- นำแป้ง น้ำตาลทราย ผงฟู และผงโกโก้ใส่ลงในชามผสม คนให้เข้ากัน เติมนม กับกลิ่นวานิลลา คนผสมให้เข้ากันดี อย่าให้มีก้อนแป้งเหลืออยู่ ใส่ช็อกโกแลตชิพ 2/3 ส่วน ผสมให้เข้ากัน
- เทส่วนผสมแป้งใส่ในพิมพ์ ประมาณ 2/3 ส่วน แต่งหน้าด้วยช็อกโกแลตชิพก่อนนำไปนึ่ง
- ตั้งหม้อ เติมน้ำเปล่าพอท่วมก้นพิมพ์ ใช้ไฟกลางต้มจนน้ำเริ่มร้อน ใส่พิมพ์เค้กลงไปนึ่งในหม้อด้วยความร้อนปานกลาง ประมาณ 10-12 นาที หรือจนสุก นำออกมา จัดใส่จาน พร้อมเสิร์ฟ
15. คัพเค้กกาแฟนึ่ง
ปิดท้ายกับ คัพเค้กอีกหนึ่งสูตร ที่จะทำให้คุณตาสว่างทั้งวันกับ คัพเค้กกาแฟนึ่ง ซึ่งนอกจากจะได้กลิ่นหอมของกาแฟผสมนมสดแล้ว ยังได้สัมผัสเนื้อแป้งนุ่ม ๆ กินกับเครื่องดื่มอะไรก็อร่อย
ส่วนผสม
- ผงกาแฟ 2 ช้อนโต๊ะ
- นมจืด อุณหภูมิห้อง 60 มิลลิกรัม
- น้ำมันรำข้าว 20 มิลลิกรัม
- น้ำตาลทราย 120 กรัม
- ผงฟู 1+½ ช้อนชา
- เบกกิ้งโซดา ¼ ช้อนชา
- แป้งสาลี ตราว่าว 60 กรัม
- แป้งเค้ก ตรามงกุฎม่วง 60 กรัม
วิธีทำ
- ละลายผงกาแฟในนมสดรสจืด คนจนผงกาแฟละลาย เตรียมไว้
- ตอกไข่ไก่ใส่ชาม เติมน้ำตาลทราย คนจนน้ำตาลละลาย เติมน้ำมันรำข้าว คนจนเข้ากัน ใส่น้ำกาแฟลงไป คนผสมให้เข้ากัน พักไว้
- ร่อนแป้งกับผงฟูลงในอ่างผสม 1 รอบ เทส่วนผสมกาแฟลงไป โดยทยอยผสมคนให้เข้ากัน คนพอแป้งละลาย พักแป้งไว้ประมาณ 30 นาที หรือจนแป้งเริ่มฟู
- เมื่อพักแป้งครบตามเวลาให้คนไล่ฟองอากาศ จากนั้น ตักใส่พิมพ์คัพเค้กที่รองด้วยถ้วยกระดาษประมาณ 2/3 ส่วน นำไปนึ่งหลังน้ำเดือด ใช้ไฟปานกลางนึ่ง ประมาณ 15-20 นาที หรือจนขนมสุก พร้อมเสิร์ฟ
ขนมนึ่ง ถือเป็นทางเลือกสำหรับคนที่อยากทำขนมหวาน แต่ไม่มีเตาอบ ซึ่งถ้าหากใครสนใจอยากจะทำขนมนึ่งแล้วละก็ สามารถลองทำตาม 15 สูตรขนมนึ่งที่ SGE นำมาฝากกันได้เลย รับรองว่าทำได้เอง ไม่ยาก ทานเองก็อร่อย ทำขายก็ขายดีแน่นอน
สำหรับใครที่อยากจะนวดแป้งขนม สำหรับทำขนมต่าง ๆ ได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็น ขนมเข่ง ขนมเทียน ขนมปุยฝ้าย ขนมสาลี่ คัพเค้กรสชาติต่าง ๆ แนะนำให้ใช้ เครื่องตีแป้งของ SGE มีหัวตี 3 แบบ ช่วยให้คุณสามารถผสมแป้งขนมได้แบบง่ายดาย ทำขนมนึ่ง รวมถึงเค้กและเบเกอรี่อื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ราคาเริ่มต้นที่หลักร้อยเท่านั้น หากสนใจคลิกดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sgethai.com/stand-mixer/
19 เมษายน 2024
โดย
Pres