รวม 6 เมนู “ผลไม้เชื่อม” ยอดนิยม ทำขายกำไรงาม
❝
อากาศร้อน ๆ แบบนี้ หลาย ๆ คนคงจะนึกถีง ของหวานเย็น ๆ ใส่น้ำแข็งใสกันใช่ไหม ซึ่งก็มีสูตรขนมไทยหลากแบบ กินแล้วสดชื่นคลายร้อน และที่นิยมกันมาก หนึ่งในนั้น คือ “ผลไม้เชื่อม” ที่มักนำมาเป็นเครื่องใส่ เพื่อเพิ่มความอร่อยมากยิ่งขึ้นนั่นเอง บางคนอาจจะนำไปทำขาย ก็สร้างรายได้ไม่เบา 🍧💕
ตาม SGE ไม่ดูกันว่า การเชื่อม นั้นคืออะไร? และ 6 เมนูผลไม้เชื่อม จะมีอะไรกันบ้าง? ไปดูกันเลย . . .
❞
การเชื่อม คืออะไร?
การเชื่อมผลไม้ คือ เป็นรูปแบบหนึ่งของการถนอมหารและแปรรูปอาหาร โดยวิธีการเพิ่มปริมาณน้ำตาลในผลไม้ และใช้ความร้อนทำให้สุก โดยใช้น้ำ และน้ำตาลใส่ภาชนะตั้งไฟเคี่ยวให้น้ำตาลละลายเหนียวจนเป็นน้ำเชื่อมก่อน จากนั้น จึงใส่อาหารลงเคี่ยวต่อไปด้วยไฟอ่อน ๆ จนอาหารนั้นอิ่มชุ่มด้วยน้ำเชื่อม อาหารที่นิยมนำมาเชื่อม ได้แก่ กล้วย, เผือก, มัน, มะยม, ฟักทอง เป็นต้น การเชื่อมแบ่งออกได้ 3 วิธี ได้แก่
- การเชื่อมแบบธรรมดา จะใช้น้ำตาลไปคลุกเคล้าหรือผสมในอาหารที่ต้องการ เพื่อให้น้ำตาลไปยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในอาหาร ทำให้อาหารยังคงสภาพอยู่ได้นานโดยไม่เน่าเสีย เช่น ลูกตาลเชื่อม, กล้วยเชื่อม เป็นต้น
- การเชื่อมแบบแช่อิ่ม การนำเอาผักหรือผลไม้ไปแช่ในน้ำเชื่อม เพื่อให้น้ำเชื่อมซึมเข้าสู่ผัก หรือผลไม้ จนกระทั่งเกิดการอิ่มตัว แล้วจึงเอาผัก หรือผลไม้ลงแช่ ปรับเพิ่มความเข้มข้นตามความต้องการ ผลไม้ที่นิยมนำมาแช่อิ่ม เช่น มะม่วง, มะขาม, มะกอก, มะยม เป็นต้น
- การเชื่อมโดยการฉาบ เคี่ยวน้ำตาลให้เป็นน้ำเชื่อมจนเป็นเกล็ด แล้วเทลงผสมคลุกเคล้ากับของที่ทอดไว้ ทิ้งไว้ให้เย็นจนน้ำเชื่อมเกาะเป็นเกล็ดติดอยู่บนผิวอาหารที่ฉาบ นิยมใช้กับผักหรือผลไม้ เช่น เผือกทอด, มันทอด, กล้วยทอด เป็นต้น
6 เมนู ผลไม้เชื่อม มีอะไรบ้าง?
ทุเรียนเชื่อม
ทุเรียนสีทองอำพัน เมนูผลไม้ตามฤดู หวานมันกำลังดี นำมาเชื่อมยิ่งอร่อย
วัตถุดิบ
1. ทุเรียนดิบ 2 กิโลกรัม
2. น้ำตาลทรายขาว 1 ½ กิโลกรัม
3. น้ำตาลทรายสีทอง 1 กิโลกรัม
4. น้ำเปล่า 6 ถ้วยตวง
5. น้ำปูนแดง สำหรับแช่ทุเรียน
วิธีทำ ทุเรียนเชื่อม
ขั้นแรก : เตรียมทุเรียน
- นำทุเรียนดิบมาปอกเอาเปลือกออก โดยเราจะนำทุเรียนออกมาแกะเอาเมล็ดออก และใช้มีดเฉือนตรงขั้วทุเรียนสีขาว ๆ ออก เพื่อไม่ให้เวลาเชื่อมแล้วทุเรียนจะได้ไม่มีรสฝาด
**ควรใช้ทุเรียนที่ใกล้สุกเกือบ 80% เพราะถ้าเราใช้ทุเรียนสุก เวลาเชื่อมทุเรียนจะเละได้
ขั้นที่ 2 : แช่ทุเรียน และเชื่อมทุเรียน
- นำทุเรียนที่เราเตรียมเรียบร้อยแล้ว ใส่ลงในน้ำปูนแดงให้ท่วมทุเรียน แช่ทิ้งไว้ในน้ำปูนแดง เป็นเวลา 6-8 ชั่วโมง เพื่อให้ทุเรียนรัดตัว และไม่เละเวลานำไปเชื่อม เมื่อครบเวลาแล้วนำทุเรียนไปล้างน้ำให้สะอาดก่อนนำมาเชื่อม
**น้ำปูนแดงใช้อัตราส่วน น้ำ 1.5 ลิตร ต่อปูนแดง 1 ทัพพี
- ตั้งหม้อบนเตาแก๊ส โดยใช้ไฟปานกลาง จากนั้นใส่น้ำเปล่าลงไปในหม้อ เมื่อน้ำเริ่มเดือด ให้ใส่น้ำตาลทรายขาว และน้ำตาลทรายสีทองลงไปคนให้เข้ากัน
- เมื่อน้ำเริ่มเดือด ให้ลดไฟลงแล้วใส่ทุเรียนลงไป ต้มเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เพื่อให้น้ำเชื่อมซึมเข้าในเนื้อทุเรียน และเมื่อครบเวลาแล้ว ให้ปิดไฟทิ้งทุเรียนในน้ำเชื่อมเอาไว้ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง
**เคล็ดลับของการทำให้ทุเรียนมีสีเหลืองทองคือ เราจะใส่น้ำตาลทรายสีทองลงไปทำให้สีของทุเรียนสวยและรสชาติไม่หวานแหลมจากน้ำตาลทรายขาวมากเกินไป
- เมื่อแช่ทุเรียนครบเวลาแล้ว ตักใส่จาน พร้อมเสิร์ฟ หรือเก็บใส่กล่องแช่เย็นก็ได้เช่นกัน
กล้วยเชื่อม
เมนูขนมไทย อิ่มอร่อย ทำง่าย ไม่ยุ่งยาก กินเพลินกันทั้งบ้าน
วัตถุดิบ
1. กล้วยไข่ 1 หวี
2. น้ำปูนใส 1 ลิตร
3. น้ำตาลทราย 300 กรัม
4. เกลือ (สำหรับกล้วย) ½ ช้อนชา
5. น้ำเปล่า 150 มิลลิลิตร
6. น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
7. กะทิ 400 มิลลิลิตร
8. เกลือ (สำหรับกะทิ) ½ ช้อนชา
9. แป้งข้าวเจ้า 1 ช้อนโต๊ะ
10. ใบเตย 3 ใบ
วิธีทำ กล้วยเชื่อม
ขั้นแรก : เตรียมกล้วย
- นำเกลือ (สำหรับกล้วย) ผสมกับน้ำปูนใส
- ปอกกล้วยไข่ แล้วแช่น้ำปูนใสประมาณ 1 ชั่วโมง
ขั้นที่ 2 : เชื่อมกล้วย
- นำกระทะขึ้นตั้งไฟปานกลาง เทน้ำเปล่าลงไป ตามด้วยใบเตย แล้วรอจนเดือด
- ใส่น้ำตาลทราย และน้ำมะนาว รอจนน้ำตาลละลาย ไม่ต้องคน
- ใส่กล้วยไข่ลงไปเชื่อม ต้มด้วยไฟเบาประมาณ 30 นาที จนกล้วยไข่เงา
- นำกระทะขึ้นตั้งไฟปานกลาง เทกะทิลงไป ตามด้วยแป้งข้าวเจ้า และเกลือ (สำหรับกะทิ) คนให้เข้ากัน แล้วรอจนเดือด ยกออกพักไว้
- ตักกล้วยเชื่อมใส่จาน ราดด้วยกะทิ พร้อมเสิร์ฟ
ฟักทองเชื่อม
ฟักทองเชื่อม เมนูขนมไทย ทานกับอะไรก็อร่อย หรือจะราดด้วยน้ำกะทิ ก็ลงตัวสุด ๆ
วัตถุดิบ
1. ฟักทอง 500 กรัม
2. น้ำปูนใส 3-4 ถ้วยตวง
3. น้ำ 500 มิลลิลิตร
4. น้ำตาลทราย 230 กรัม
5. น้ำมะนาว 1 ช้อนชา
6. กะทิ 130 มล.
7. แป้งข้าวเจ้า 1 ช้อนชา
8. เกลือ ½ ช้อนชา
วิธีทำ ฟักทองเชื่อม
ขั้นแรก : เตรียมฟักทอง
- ปอกเปลือก และควักไส้ฟักทองให้เรียบร้อย จากนั้น ตัดเป็นชิ้นค่อนข้างหนา ถ้าตัดบางเกินไปเวลาเชื่อม อาจจะทำให้ฟักทองเละได้
- นำไปแช่ในน้ำปูนใส 20-30 นาที เมื่อครบเวลาแล้ว ล้างฟักทอง 2-3 น้ำให้สะอาด
ขั้นที่ 2 : เชื่อมฟักทอง
- ผสมน้ำ และน้ำตาลทราย คนให้น้ำตาลละลาย แล้วใส่น้ำมะนาว เอาฟักทองลงเชื่อมด้วยไฟกลางค่อนอ่อน พยายามกดชิ้นฟักทองให้จมลงในน้ำเชื่อม และหมั่นพลิกฟักทอง ให้ถูกเชื่อมเท่า ๆ กัน ทั้งด้านหน้า และด้านหลัง
- เชื่อมฟักทอง 45-60 นาที เมื่อฟักทองเริ่มใสแสดงว่าใช้ได้แล้ว อาจตัดชิ้นเล็ก ๆ แล้วชิมว่าได้ที่หรือยัง ได้ที่แล้วยกขึ้นพักไว้
- ทำน้ำกะทิ โดยตั้งไฟอ่อน ต้มกะทิ ใส่แป้งข้าวเจ้า และเกลือคนให้เข้ากัน คนจนนำกะทิเริ่มข้น ยกลงทิ้งไว้ให้เย็น
- จัดใส่จาน ราดน้ำกะทิ พร้อมเสิร์ฟ
มะกรูดเชื่อม
เมนูของหวานสไตล์ไทย ๆ หลายคนอาจไม่ค่อยคุ้นหู แต่รับรองว่าได้ลองแล้วจะติดใจ ยิ่งแช่เย็น ๆ ยิ่งอร่อย ทานได้ทั้งครอบครัว
วัตถุดิบ
1. มะกรูด 20 ลูก
2. น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม
3. สีผสมอาหารสีเขียว
4. มะนาว 1 ลูก
5. น้ำเปล่า 1 ลิตร
วิธีทำ มะกรูดเชื่อม
- ปอกผิวมะกรูด กรีดเป็นแนวยาวรอบผลลึก ๆ 8 กลีบ
- คว้านเนื้อ และเม็ดออก ล้างน้ำเปล่า แช่น้ำปูน 30 นาที
- ใส่สีผสมอาหารสีเขียวเชื่อม ให้สีเขียวเข้าเนื้อมะกรูด
- เชื่อมได้ที่แล้ว บีบมะนาวใส่ แล้วเชื่อมต่ออีก 5 นาที
- นำไปแช่ให้เย็น พร้อมเสิร์ฟ
เปลือกส้มโอเชื่อม
เปลือกส้มโอที่ดูขมสามารถกินได้ เป็นเมนูของหวานโบราณ ได้ทานแล้ว ชุ่มฉ่ำ หอมสดชื่นจากกลิ่นของส้มโอ
วัตถุดิบ
1. ส้มโอ 1 ผล
2. น้ำตาลทราย 700 กรัม
3. น้ำเปล่า 1 ลิตร
4. น้ำปูนใส 1 ลิตร
5. เกลือ 2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ เปลือกส้มโอเชื่อม
- ปอกผิวสีเขียวด้านนอกของส้มโอทิ้งไป ให้เหลือแต่เนื้อของเปลือกสีขาว
- ผ่าเอาเนื้อของส้มโอออก แล้วหั่นเปลือกสีขาวเป็นชิ้น ๆ ขนาดพอดีคำ
- นำเปลือกของส้มโอที่หั่นแล้ว มาขยำกับน้ำผสมเกลือจนช้ำ แล้วนำไปขยำกับน้ำเปล่า เพื่อล้างน้ำเกลือออก
- แช่น้ำปูนใสเป็นเวลา 2 ชั่วโมง
- นำเปลือกส้มโอที่แช่น้ำปูนใสแล้วมาบีบน้ำออก
- นำไปต้มกับน้ำเปล่า แล้วนำไปบีบน้ำออก ทำซ้ำประมาณ 2-3 ครั้ง
- ตั้งกระทะไฟอ่อน ใส่น้ำเปล่า และน้ำตาลลงไป
- เมื่อน้ำตาลละลายหมด ใส่เปลือกส้มโอที่บีบนำออกแล้วลงไป
- เชื่อมจนกระทั่งเปลือกส้มโอมีลักษณะใส พร้อมเสิร์ฟ
มะละกอเชื่อม
ขนมหวานไทยโบราณจากผลไม้อีกหนึ่งเมนู ที่อาจจะไม่ค่อยได้เจอมากนักในปัจจุบัน ส่วนมากที่พบเจอมักจะเป็นมะละกอตากแห้งซะส่วนใหญ่ เป็นอีกหนึ่งเมนูในการถนอมอาหารในสมัยโบราณ นอกจากความอร่อยของมะละกอเชื่อมแล้ว ยังได้ความสวยงามจากรูปลักษณ์ภายนอกอีกด้วย
วัตถุดิบ
1. มะละกอ ดิบ 1 ลูก
2. น้ำปูนใส 3-4 ถ้วย
3. มะนาว 1 ลูก
4. เกลือ ½ – 1 ช้อนชา
5. น้ำตาล 2 ถ้วย
6. น้ำเปล่า 1 ½ ถ้วย
วิธีทำ มะละกอเชื่อม
- ปลอกเปลือกมะละกอ ฝานมะละกอให้มีความหนาประมาณ 1 ซม. ใช้พิพม์กดเป็นรูปต่าง ๆ ตามต้องการ หรือใช้มีดตัดแต่งเป็นรูปทรงตามต้องการ ใส่ลงแช่ในน้ำปูนใส ประมาณ 1 ชม.
- หม้อใส่น้ำครึ่งหม้อ รอจนเดือด ใส่มะละกอใส่ลวกน้ำ ใช้กระชอนช้อนตักใส่ในอ่างน้ำเย็น ใส่ตระแกรงสะเด็ดน้ำ ผึ่งให้แห้ง
- กระทะทองเหลืองใส่น้ำตาลทราย น้ำเปล่า ตั้งไฟ เคี่ยวเป็นยางมะตูม ใส่มะละกอ เคี่ยวสักพัก บีบมะนาว ใส่เกลือ เพื่อให้มีรสเปรี้ยว และเค็มนิด ๆ เชื่อมจนมะละกอใสเป็นเงา ตักใสตะแกรงผึ่งไว้
- จัดใส่จาน พร้อมเสิร์ฟ
❝ จะเห็นได้ว่า ผลไม้เชื่อม นั้น ถือว่าเป็นการถนอมอาหาร และแปรรูปอาหารได้ดีเลยทีเดียว สามารถทานได้กับหลากหลายเมนูอาหารหวานได้ ไม่ว่าจะเป็น ทานกับกะทิเป็นของหวานแบบไทย ๆ ทานเปล่า ๆ ก็อร่อย หรือจะนำไปเป็นท็อปปิ้งใส่น้ำแข็งใส ทำขายก็ดีไม่เบาเลยทีเดียว 🥳 ❞
สำหรับหลาย ๆ คนที่ต้องการต่อยอดธุรกิจ สร้างรายได้เสริม เรามีสินค้า เครื่องทำน้ำแข็งไส ให้เลือกสรรค์ ทั้งขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดใหญ่ รับรองสินค้าดี มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน พร้อมบริการหลังการขายที่ประทับใจอย่างแน่นอน!!
👉🏻 เครื่องทำน้ำแข็งไส รุ่น มินิ
👉🏻 เครื่องบดน้ำแข็งใส รุ่น หอยโข่ง