
วิธีดู วันหมดอายุ EXP, MFG, BBE คืออะไร? และตัวย่อสินค้าที่ควรรู้!
รู้ไหมว่า อักษรย่อบนผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าที่บริโภค เช่น ตัวอักษร MFG / MFD, EXP / EXD, BB / BBE / Reg. No. / ENG ตัวย่อเหล่านี้ มีความสำคัญอย่างมาก เพราะตัวอักษร ตัวเลขนี้ จะบอกถึง วันหมดอายุ วันผลิต ที่สามารถทาน หรือเก็บรักษาผลิตภัณฑ์นี้ได้นานแค่ไหน
บทความนี้ SGE จะพาไปรู้จักกับ วิธีดู วันหมดอายุ และตัวย่อต่าง ๆ บนฉลากผลิตภัณฑ์กัน ว่ามีอะไรบ้าง?
ความแตกต่าง วันหมดอายุ และ ควรบริโภคก่อน
ความหมายของ “วันหมดอายุและควรบริโภคก่อน” 2 คำนี้ มีความหมายแตกต่างกัน ดังนี้

- วันหมดอายุ (EXP) มีตัวย่อ EXP ย่อมาจาก Expiration Date คือ วันที่บ่งบอกถึงวันที่อาหารหมดอายุ หลังจากวันนั้น ไม่ควรเอาอาหารนั้นมาทาน เพราะหลังจากวันนั้นเป็นต้นไป อาหารก็จะเริ่มบูด หรือเน่าเสีย ควรทิ้ง ทันที
- ควรบริโภคก่อน (BBE) มีตัวย่อ BBE ย่อมาจาก Best Before คือ วันที่บ่งบอกว่าอาหารนั้น ยังคงมีคุณภาพ และมีรสชาติที่ดีเหมือนเดิม จนถึงวันที่ระบุไว้ และมีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน แต่หลังจากวันนั้นไป รสชาติ คุณภาพ และคุณค่าทางอาหาร จะลดลง แต่ยังสามารถบริโภคได้โดยไม่มีอันตราย แต่อาจจะไม่ได้รับประโยชน์จากอาหารนั้น ตามที่ระบุไว้บนฉลากอาหารนั่นเอง
รู้ไหมว่า? BBF นอกจากเจอในผลิตภัณฑ์อาหารแล้ว ยังเจอได้ในสินค้าประเภทเครื่องสำอางค์ และจะแสดงไว้คู่กับวันที่ผลิต โดยเครื่องสำอางค์ประเภทครีม จะต้องดูจากวันที่ผลิต และบวกเวลาไปอีก 2 ปี ส่วนเครื่องสำอางค์ประเภทแป้ง หากไม่เปิดใช้งาน สามารถเก็บไว้ได้นานประมาณ 5 ปี
โดยทั่วไป ผู้ผลิตมักจะเลือกใช้คำว่า ควรบริโภคก่อน และจะกำหนดวันล่วงหน้าไว้ ระยะหนึ่งก่อนที่อาหารนั้น ๆ จะเสีย หรือหมดอายุ ดังนั้น วันที่ ที่ระบุหลังคำว่า ควรบริโภคก่อน คือ คำแนะนำให้ผู้บริโภครับประทานอาหารนั้น เพื่อความสด รสชาติ และสารอาหารในอาหารนั้น ๆ ก่อนที่มันจะเปลี่ยนแปลง หรือลดคุณภาพลง
ตัวย่ออื่น ๆ บน ฉลากผลิตภัณฑ์
อีกหนึ่งสิ่งที่ผู้บริโภค ควรใส่ใจเป็นพิเศษ ก่อนเลือกซื้อสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร ยา เครื่องสำอาง หรืออาหารเสริม คือ วันที่ผลิต วันหมดอายุ โดยข้อมูลที่แสดงวันผลิต และวันหมดอายุนั้น จะแสดงเป็นลักษณะของตัวย่อไว้บนบรรจุภัณฑ์ตามที่ต่าง ๆ เช่น ก้นขวด ฝาขวด ข้างขวด เป็นต้น ซึ่งบางคน อาจจะไม่รู้ว่า ตัวย่อเหล่านั้น มีความสำคัญ และมีความหมายอย่างไร ดังนี้

- EXP/ EXD คือ วันหมดอายุ โดย EXP ย่อมาจาก Expiry Date และ EXD ย่อมาจาก Expiration Date
- BB/ BBE/ BBF คือ ควรบริโภคก่อนวันที่ ย่อมาจาก Best Before/ Best Before End/ Best Before Use
- MFG/ MFD คือ วันที่ผลิต ย่อมาจาก Manufacturing Date หรือ Manufactured Date
- Batch No. คือ เลขที่ครั้งที่ผลิต ย่อมาจาก Batch Number มักจะอยู่บนผลิตภันฑ์ประเภทยา ถ้ายามี Batch. No. เหมือนกัน แสดงว่า ผลิตออกมาครั้งเดียวกัน
- L & C. No คือ เลขที่ครั้งที่ผลิต และควบคุมคุณภาพ ย่อมาจาก Lot and Control Number มีความหมายคล้ายกับ Batch No. ซึ่งจะแสดงเป็นลักษณะตัวย่อไว้บนบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ฝาขวด ก้นขวด หรือข้างขวด เป็นต้น

- Reg.No. คือ เลขที่ทะเบียนยา ย่อมาจากคำว่า Registered Number ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ออกให้ ตัวอักษร A B C บอกว่าเป็นยาสำเร็จรูปแผนปัจจุบัน
- A คือ ยาสำเร็จรูปที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ
- B คือ ยาสำเร็จรูปที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ แล้วมาแบ่งบรรจุภายในประเทศ
- C คือ ยาสำเร็จรูปที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ และไม่มีการแบ่งบรรจุภายหลัง
ส่วนตัวเลขที่ใช้นำหน้าอักษร A B C ซึ่งมี 1 และ 2 มีความหมาย ดังนี้
- เลข 1 คือ ยาเดี่ยว มีตัวยาสำคัญตัวเดียว
- เลข 2 คือ ยาสูตรผสม มีตัวยาสำคัญหลายตัว
ตัวอักษรข้างหลัง คือ ลำดับที่ขึ้นทะเบียน/ ปี พ.ศ. ที่ได้ขึ้นทะเบียน
ยกตัวอย่าง Reg. No. 2A 214/29 หรือ เลขทะเบียนยาที่ 2A 214/29 คือ ยาแผนปัจจุบัน ผลิตในประเทศ เป็นยาสูตรผสม ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นลำดับที่ 214 ในปี 2529
อาหารแต่ละประเภท มีอายุโดยประมาณเท่าไร?
อาหารแต่ละแบบ มักจะมีวันหมดอายุของสินค้าที่เราสามารถคำนวณได้คร่าว ๆ ดังนี้
- ไข่ สำหรับไข่ที่เก็บในที่แห้งและเย็น (อุณหภูมิ 3-5 องศาเซลเซียส) จะอยู่ได้นานประมาณ 3-5 สัปดาห์
- อาหารกระป๋อง มักจะอยู่ได้ประมาณ 1 ปีนับจากวันที่ผลิต
- ขนมปัง หากเก็บขนมปังไว้ในอุณภูมิปกติ จะสามารถอยู่ได้ 3-5 วัน แต่ถ้าเก็บในช่องแช่แข็ง จะอยู่ได้ 2 สัปดาห์
- ซีเรียล หากยังไม่เปิดกล่อง และนำไปแช่เย็นไว้ จะสามารถเก็บซีเรียลไว้ได้นานถึง 6 เดือนถึง 1 ปี **หากพบว่า มีสี หรือรสชาติเปลี่ยนไป ควรหยุดทานได้เลย

อาหารที่หมดอายุ แต่ทานได้ โดยไม่มีอันตราย
ไม่แนะนำให้ทานอาหารที่หมดอายุ เช่น
- ช็อกโกแลต จะไม่มีการระบุ วันหมดอายุ สามารถทานได้อย่างปลอดภัย ไม่เป็นอันตราย แม้ผ่านพ้นวันที่ควรบริโภคไปแล้ว และสามารถเก็บได้นานมากว่า 2 ปี สำหรับช็อกโกแลตที่มีส่วนผสมของนม จะเก็บได้นาน 1 ปี เมื่อเก็บไว้นาน อาจจะเกิดคราบขาว สามารถทานได้ เพราะเป็นไขมันจากขั้นตอนการผลิตช็อกโกแลตนั่นเอง
- ขนมกรุบกรอบ ที่เปิดทานแล้วมีกลิ่นหืน สามารถพรมน้ำมัน และนำไปอบ ขนมจะยังสามารถกลับมากรอบ และทานได้ แต่หากหมดอายุนานเกินไปแล้ว ควรทิ้งได้เลย
- โยเกิร์ต คือ นมที่ผ่านการหมักด้วยจุลินทรีย์ หากโยเกิร์ตหมดอายุไปแล้ว ก็ยังสามารถทานต่อได้อีกช่วงเวลาหนึ่ง
- ไข่ หากเก็บไว้ในที่อุณหภูมิต่ำ จะสามารถเก็บไว้ได้นานกว่าวันหมดอายุที่กำหนดไว้
- นม เมื่อเก็บนมไว้ที่อุณภูมิต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส จะช่วยยืดอายุของนมให้ยาวนานขึ้น
เป็นอย่างไรกันบ้างกับบทความ วันหมดอายุ ที่เรานำมาฝากกัน ไม่ว่าอาหารบางชนิด จะสามารถรับประทานได้แม้จะเลยวันหมดอายุแล้ว หากไม่มีความจำเป็นต้องรับประทานก็ให้ทิ้งไป จะเกิดผลดีมากกว่านั่นเอง
บทความแนะนำ

30 มกราคม 2024
โดย
ลำดวน
ขื้นว่า bf คืออะไรคะ before ใช่มั้ยคะ
คำว่า BF ก็คือ BEST BEFORE ความหมายเดียวกับ BB/ BBE/ BBF คือ ควรบริโภคก่อนวันที่ … ซึ่งบางทีบนผลิตภัณฑ์หรือสินค้าบางรายการอาจจะเขียนไม่เหมือนกันค่าาาา
คำว่า LOT หล่ะคะ ย่อมาจากอะไร
คำว่า Lot คือ รหัสที่ใช้ระบุกลุ่มสินค้าที่ผลิตขึ้นมาในช่วงเวลาเดียวกัน หรือบอกรายละเอียดสำคัญเกี่ยวกับสินค้าชิ้นนั้น ระบุว่าสินค้าผลิตล็อตไหน วันไหน กลุ่มการผลิตใด ทำหน้าที่ในการระบุที่มาที่ไปของสินค้า บอกรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลา สถานที่ และกลุ่มการผลิต จะเห็นบ่อยในฉลากผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง ค่ะ คนไทยจะชินคำว่า lot ส่วนอเมริกานั้นจะเรียก batch นั่นเองค่ะ
ข้อมูลเข้าใจง่ายค่ะ ภาพประกอบชัดเจน ขอบคุณข้อมูลดีๆนะคะ
ยินดีมากๆเลยค่าา ข้อมูลตรงไหนผิดพลาดไปบ้างขออภัยไว้ด้วยนะคะ
แจกแจงได้ละเอียดเข้าใจง่ายดีครับ ขอบคุณครับ
ยินดีมากๆเลยค่ะ ฝากแชร์ต่อด้วยนะคะ
มีประโยชน์มากๆเลยครับ
ยินดีมากๆค่าาา
มีประโยชน์มากๆเลยค่ะ ชอบจำสับสนอยู่บ่อยๆ อ่านบทความนี้แล้วเข้าใจชัดเจนขึ้นเยอะเลยค่ะ
ขอบคุณมากๆเลยค่ะ ฝากแชร์ต่อด้วยนะคะ