พามารู้จัก “ส้มโอ” มีทั้งหมดกี่สายพันธุ์? มีประโยชน์อะไรที่ไม่ควรพลาด?
สารบัญ
ส้มโอ (Pomelo) ผลไม้รสเปรี้ยวอมหวาน ฉ่ำน้ำ ผลใหญ่ ถือเป็นผลไม้ขึ้นชื่ออีกชนิดของประเทศไทย ที่นอกจากความอร่อยถูกใจใครหลาย ๆ คนแล้ว ส้มโอทั้งผลยังให้ประโยชน์มากมายทั้งในด้านการแพทย์ หรือแม้กระทั่งประโยชน์ภายในครัวเรือน เรียกได้ว่าอุดมไปด้วยคุณประโยชน์ และสรรพคุณเน้น ๆ แต่จะมีอะไรบ้าง? ตามไปดูพร้อม ๆ กันเลย!
ส้มโอ (Pomelo)
ชื่อวิทยาศาสตร์
Citrus maxima (Burm.) Merr.
ชื่อสามัญ
Pomelo, Shaddock Pomelo
กลุ่มพันธุ์ปลูก
RUTACEAE
ถิ่นกำเนิด
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ส้มโอ (Pomelo) พืชตระกูลส้ม เช่นเดียวกับ ส้มเขียวหวาน มะนาว มะกรูด ส้มเช้ง และเกรปฟรุต มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า ลาว กัมพูชา ซึ่งในประเทศไทยถือเป็นแหล่งพันธุ์ส้มโอที่มีมากที่สุด และมีคุณภาพมากที่สุดในโลก จนกลายเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับต้น ๆ อีกด้วย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของส้มโอ
ลำต้น
ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 5-15 เมตร สีน้ำตาลอมเทา ลำต้นมีลักษณะค่อนข้างเป็นเหลี่ยม รูปทรงไม่แน่นอน ส่วนที่เป็นกิ่งมีหนามและแตกแขนงมากเป็นพุ่มหนา ทั่วทั้งลำต้นและกิ่งจะมีขนปกคลุม เนื้อไม้ไม่แข็ง แต่มีลักษณะเหนียว ทำให้ทำการหักกิ่งได้ยาก
ใบ
เป็นใบเดี่ยว ขนาดใหญ่ หนา รูปไข่ ปลายมนมีรอยเว้าตรงกลาง ด้านบนแผ่นใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างเป็นสีเขียวอ่อน และมีขนอ่อนปกคลุม โดยจะแตกยอดออกลักษณะเรียงวนสลับกันบนกิ่ง
ดอก
ออกดอกต่อช่อประมาณ 1-20 ดอก โดยแทงออกจากกิ่งอ่อน กลีบดอกเป็นรูปหอก กลีบดอกมีสีขาว มีขนาดใหญ่ หนา กลีบรองสีเขียวอ่อน เป็นดอกสมบูรณ์เพศในตัวเอง เมื่อบานจะมีกลิ่นหอมคล้ายดอกแก้ว ออกดอกกลางเดือนธันวาคม-กุมภาพันธุ์ หรือ ระหว่างเดือนสิงหาคม – กันยายน ระยะเวลาตั้งแต่ผลิดอกจนถึงดอกบานใประมาณ 25-30 วัน
ผล
ผลส้มโอมีขนาดใหญ่ มีทั้งทรงกลมมน กลมแป้น กลมสูง หรือมีจุกคล้ายลูกแพร์ ตามแต่สายพันธุ์ โดยจะมีเปลือกหนา และภายในผลจะแบ่งเป็นหลาย ๆ กลีบ นิยมบริโภคส่วนที่เป็นเส้นอวบน้ำอัดรวมกัน หรือที่เรียกว่า “กุ้ง” มีรสชาติหวานอมเปรี้ยวตามสายพันธุ์
เมล็ด
มีสีขาวอมเหลือง ขนาดค่อนข้างใหญ่ แบน เปลือกย่น ประมาณ 0-25 เมล็ด อยู่รวมกันรอบ ๆ แกนผล
สายพันธุ์ส้มโอในไทย
ในปัจจุบันนี้ สายพันธุ์ของส้มโอทั้งพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์นำเข้า มีรวมกันมากกว่า 30 สายพันธุ์ แต่ที่นิยมนำมาปลูกในไทยหลัก ๆ มีทั้งหมด 5 แหล่งที่ปลูก 9 สายพันธุ์ ดังนี้
1 ส้มโอ 5 พันธุ์ เมืองนครปฐม
1 ส้มโอ 5 พันธุ์ เมืองนครปฐม
อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ถือเป็นหนึ่งในแหล่งปลูกส้มโอที่สำคัญของประเทศไทย โดยมีสายพันธุ์ส้มโอขึ้นชื่อถึง 5 สายพันธุ์ ได้แก่
- ส้มโอพันธุ์ขาวทองดี รสชาติหวานฉ่ำ ไม่มีรสขมและรสซ่า เนื้อกุ้งสีอมชมพู ผลกลม ไม่มีจุก มีจีบเล็กน้อย ขายได้ราคาดี
- ส้มโอพันธุ์ขาวแป้น รสชาติหวานอมเปรี้ยว ผลคล้ายพันธุ์ขาวทองดี แต่เนื้อกุ้งมีสีขาวอมเหลือง ให้ผลผลิตสูง
- ส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง รสชาติหวานอมเปรี้ยว ไม่มีรสขมและซ่า เนื้อกุ้งสีน้ำผึ้ง เรียงแน่น แก่จัดเนื้อจะแห้ง เปลือกค่อนข้างหนา ไม่มีจุก ก้นเรียบ น้ำหนักดี ให้ผลดก ขายได้ราคาดี
- ส้มโอพันธุ์ขาวพวง รสชาติเปรี้ยวอมหวาน แก่จัดรสหวานมากกว่าเปรี้ยว เนื้อกุ้งขาวอมเหลือง ค่อนข้างแข็งและอัดกันไม่แน่น เนื้อมีน้ำมากแต่ไม่แฉะ เมล็ดน้อย เปลือกหนาผิวเรียบสีเขียวอมเหลือง หัวจุกยาวคล้ายลูกน้ำเต้า และเป็นสายพันธุ์ที่ส่งออกต่างประเทศมากที่สุด
- ส้มโอพันธุ์ขาวหอม รสชาติหวานหอมเป็นเอกลักษณ์ เนื้อกุ้งสีขาวอมเหลือง เนื้อกรอบแข็ง ผลกลมไม่มีจีบ เปลือกบาง ผลใหญ่น้ำหนักดี นิยมบริโภคมาก
2 ส้มโอขาวแตงกวา เมืองชัยนาท
2 ส้มโอขาวแตงกวา เมืองชัยนาท
ผลไม้ขึ้นชื่อ ที่อยู่ในคำขวัญของเมืองชัยนาทอย่าง ส้มโอขาวแตงกวา ส้มโอพันธุ์นี้มีรสชาติหวานฉ่ำแหลมนำ อมเปรี้ยวเล็กน้อย เนื้อกุ้งใหญ่แห้ง สีน้ำผึ้งทอง เปลือกบาง ให้ผลดก เป็นที่ต้องการของตลาด
3 ส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม เมืองนครศรีธรรมราช
3 ส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม เมืองนครศรีธรรมราช
มีรสชาติหวานไม่มีขมเจือปน เนื้อกุ้งนิ่ม สีชมพูเข้ม หรือ สีแดงทับทิม มีเมล็ดน้อย เปลือกผลบาง บริเวณผิวส้มโอมีขนอ่อนปกคลุมคล้ายกำมะหยี่ มีหัวเป็นจุกและจีบชัดเจน
4 ส้มโอท่าข่อย เมืองพิจิตร
4 ส้มโอท่าข่อย เมืองพิจิตร
มาถึงแหล่งปลูกส้มโอที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ อย่างจังหวัดพิจิตร โดยมี ส้มโอพันธุ์ท่าข่อย เป็นพันธุ์พื้นเมืองที่ขึ้นชื่อด้านคุณภาพที่สุดในภาคเหนือ ส้มโอพันธุ์นี้มีรสหวาน และเปรี้ยวฉ่ำน้ำผสมกัน เนื้อกุ้งนิ่มละเอียดแน่น สีส้มอมชมพูอ่อน มีเมล็ดขนาดเล็กมาก หรือบางลูกไม่มีเมล็ดเลย ขายได้ราคาดี
5 ส้มโอบ้านน้ำตก เมืองอุทัยธานี
5 ส้มโอบ้านน้ำตก เมืองอุทัยธานี
ส้มโอบ้านน้ำตก พันธุ์ขาวแตงกวาเบา หรือ ส้มโอพันธุ์ขาวอุทัย หนึ่งในพันธุ์ส้มโอพื้นเมืองที่เก่าแก่ ที่ลดลงเหลือน้อยมากในปัจจุบัน ส้มโอชนิดนี้รสชาติหวานฉ่ำ เนื้อกุ้งเป็นสีขาว เนื้อกรอบไม่ฉ่ำน้ำ ลูกขนาดกำลังดี ไม่เล็กไม่ใหญ่มาก เปลือกบางกว่าส้มโอสายพันธุ์อื่น
ข้อมูลโภชนาการของส้มโอ
ข้อมูลโภชนาการของส้มโอ เปรียบเทียบโดยใช้ปริมาณต่อ 100 กรัม
สารอาหาร | ส้มโอ |
---|---|
แคลอรี (kcal) | 41 |
ไขมันทั้งหมด | 0 กรัม |
คอเลสเตอรอล | 0 มิลลิกรัม |
โซเดียม | 0 มิลลิกรัม |
โพแทสเซียม | 0 มิลลิกรัม |
คาร์โบไฮเดรต | 12.4 กรัม |
เส้นใยอาหาร | 1 กรัม |
น้ำตาล | 8 กรัม |
โปรตีน | 0.5 กรัม |
วิตามินเอ | 0.46 % |
วิตามินซี | 75 % |
วิตามินอี | 0 % |
แคลเซียม | 2.2 % |
เหล็ก | 3.89 % |
ไทอามิน | 0.67 % |
ไรโบพลาวิน | 0.59 % |
ไนอาซิน | 2 % |
ฟอสฟอรัส | 1.7 % |
แหล่งข้อมูลประกอบ: Calforlife
ประโยชน์และข้อควรระวังของส้มโอ
นอกจากความอร่อย สดชื่นแล้ว ส้มโอยังมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในด้านต่าง ๆ ดังนี้
ประโยชน์ของส้มโอ
- มีวิตามินซีในปริมาณมาก จึงมีส่วนช่วยในการปกป้องเซลล์ เสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย ลดความเสี่ยงการเกิดไข้หวัด รักษาอาการเลือกออกตามไรฟัน และเหงือกอักเสบ
- มีใยอาหารสูง ช่วยปรับสมดุลระบบทางเดินอาหาร ทำให้การขับถ่ายดีขึ้น ลดปัญหาท้องผูก
- ช่วยเพิ่มความอยากอาหาร เพราะรสเปรี้ยวอมหวานของส้มโอ จะไปช่วยกระตุ้นให้ความอยากอาหารเกิดขึ้น
- มีสารต้านอนุมูลอิสระเป็นจำนวนมาก ทำให้ช่วยลดปัญหาริ้วรอยก่อนวัย ผิวหย่อนคล้าย จุดด่างดำ และยังช่วยยับยั้งการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื้อ อันเป็นบ่อเกิดของโรคมะเร็งได้อีกด้วย
- อุดมไปด้วยโพแทสเซียม ช่วยป้องกันการเกิดตะคริว ช่วยลดความดันโลหิต ปรับสมดุลอวัยวะต่าง ๆ ช่วยทำให้ร่างกายทำงานตามปกติ
ข้อควรระวังในการบริโภคส้มโอ
- ส้มโอมีวิตามินซีและความเป็นกรดสูง หากรับประทานในขณะท้องว่าง หรือรับประทานมากเกินไป อาจทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องอืด มวนท้อง หรือถึงขั้นท้องเสียได้
- ส้มโอมีสารประกอบที่ชื่อว่า ฟูราโนคูมาริน (Furanocoumarins) ที่อาจทำปฏิกิริยากับยาบางชนิด เช่น ยาลดคอเลสเตอรอล ยาลดความดัน ยาแก้แพ้ ซึ่งสารตัวนี้อาจเข้าไปขัดขวางการออกฤทธิ์และดูดซึมตัวยาเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นผู้ที่ต้องรับประทานยาดังกล่าวเป็นประจำ โปรดระมัดระวังในการรับประทานส้มโอ
- ส้มโอมีโพแทสเซียมสูง ผู้ที่มีประวัติสุขภาพเกี่ยวกับไต ควรระมัดระวังในการรับประทานส้มโอ
คำแนะนำ
- ควรรับประทานส้มโอในปริมาณที่เหมาะสม สลับกับการทานผลไม้ชนิดอื่น เพื่อการรับสารอาหารที่หลากหลาย
- หลีกเลี่ยงการทานส้มโอในช่วงขณะเดียวกันกับการใช้ยา หรือปรึกษาแพทย์และเภสัชกรถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
วิธีการปลูกส้มโอ
ส้มโอ สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทย เนื่องจากเป็นพืชเมืองร้อน และปลูกได้ดีในดินทุกชนิดที่ระบายน้ำได้ดี ไม่ท่วมขัง ถ้าจะให้ได้ผลผลิตดีต้องได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ และอยู่ในอุณหภูมิประมาณ 25-30 องศา
คำแนะนำ
- เมื่อต้นส้มโอแตกกิ่งและมีใบเพิ่มมากขึ้น ให้ตัดแต่งต้นส้มโอให้เป็นพุ่มกลม ๆ เพื่อให้ต้นส้มโอได้รับแสงแดดทั่วถึงอย่างเต็มที่ ทั้งยังสามารถช่วยให้ลดการเกิดโรคระบาดและแมลงลงได้
- ถ้าส้มโอติดผลมากเกินไป ให้เด็ดผลที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง และในต้นส้มโอที่มีอายุมากกว่า 5 ปี ควรปล่อยให้ติดผลไม่เกิน 30 ผล/ต้น
- เมื่อเริ่มมีผลส้มโอออกมาให้เห็นแล้ว ควรห่อผลส้มโอด้วยกระดาษเคลือบมัน เพื่อป้องกันการกัดแทะของหนอนและแมลง ที่เป็นสาเหตุให้ส้มโอราคาตก เนื่องจากมีผิวไม่สวย
แนะนำเมนูส้มโอ ทำง่ายได้ที่บ้าน
ส้มโอ ผลไม้ที่กินเปล่า ๆ ก็ช่วยให้ชุ่มคอ ชื่นใจจากรสเปรี้ยวอมหวาน หรือจะนำไปรังสรรค์ทำเมนูต่าง ๆ ก็เป็นวัตถุดิบชั้นเยี่ยม! ตามไปจดสูตร แล้วไปเข้าครัวพร้อม ๆ กันเลย!
2 สลัดส้มโอกุ้งสด
2 สลัดส้มโอกุ้งสด
ชวนทำเมนูเพื่อสุขภาพอย่าง สลัดส้มโอกุ้งสด ผักกรอบ ๆ ตัดรสด้วยความเปรี้ยวอมหวาน ฉ่ำน้ำจากส้มโอ แถมเพิ่มโปรตีนด้วยกุ้งเนื้อเด้ง ทำกินเป็นมื้อเย็นก็ดี หรือจะทำเป็นจานเคียงก็เริ่ด!
วัตถุดิบ
- เนื้อส้มโอ 3 กลีบ
- กุ้งย่าง 5-6 ตัว
- อะโวคาโดหั่นเต๋า 3 ช้อนโต๊ะ
- มะเขือเทศผ่าซีก 1 ลูก
- ผักสลัด ตามชอบ
- น้ำสลัดงาซีอิ๊ว
วิธีทำ
- ใส่ส่วนผสมทั้งหมดใส่ชามผสม
- คลุกเคล้าให้เข้ากัน พร้อมเสิร์ฟ
3 เปลือกส้มโอหวาน
3 เปลือกส้มโอหวาน
ส้มโอไม่ได้มีประโยชน์แค่เนื้อ เพราะว่าเปลือกของมัน ก็สามารถนำมาทำเมนูของหวาน อร่อย ๆ ไว้กินเล่นแก้เบื่อได้!
วัตถุดิบ
- เปลือกส้มโอหั่นเส้น 3 ลูก ล้างและตากให้แห้ง
- น้ำตาล 3 ถ้วย
- น้ำเปล่า 1 ถ้วย
- ขิงขูด 2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
- ต้มน้ำให้หม้อให้เดือด ตามด้วยเปลือกส้มโอหั่นเส้นลงไป ต้มทิ้งไว้ 5 นาที ตักขึ้นพักสะเด็ดน้ำ ทำซ้ำ 2-3 รอบ
- ใช้หม้อใบเดิม เติมน้ำตาล 2 ถ้วย น้ำ 1 ถ้วย และขิงขูดลงไป ใช้ไฟอ่อน เคี่ยวจนน้ำตาลละลาย
- ใส่เปลือกลงไป คนให้น้ำเชื่อมเคลือบทั่วทั้งชิ้น จากนั้นปิดฝา แง้มฝาทิ้งไว้นิด ๆ ต้มทิ้งไว้จนน้ำเชื่อมดูดซึมเข้าไปในเปลือกและเปลือกนุ่ม
- จากนั้นนำเปลือกส้มโอมาวางบนถาดอบที่รองกระดาษไขไว้ แล้วแยกเปลือกออกให้เรียงเป็นเส้นๆ ทิ้งให้เย็นประมาณ 15 นาที
- เมื่อเย็นตัวแล้ว เทน้ำตาลที่เหลือลงไปให้ทั่ว และทิ้งไว้จนน้ำตาลแห้งและแข็งตัวอีกครั้ง จากนั้นเก็บในภาชนะสุญญากาศ
ส้มโอ เป็นผลไม้เมืองร้อน ที่หากินได้ง่ายในเมืองไทย ซึ่งนอกจากกินเล่นเป็นของว่าง ยังสามารถนำไปทำเมนูได้หลากหลาย และยังช่วยเพิ่มความสดชื่นให้กับจานนั้น ๆ ได้ดีอีกด้วย ทั้งยังเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่หากใครอยากจะปลูกขายก็ทำได้ไม่ยาก ลองนำเคล็ดลับดี ๆ ที่เรามาแชร์วันนี้ไปลองทำตามกันดู บทความหน้า SGE จะเอาบทความดี ๆ อะไรมาฝาก อย่าลืมติดตามกันนะคะ~
14 กุมภาพันธ์ 2024
โดย
จันทร์เจ้า
ชอบกินส้มโอมากๆ โดยเฉพาะพันธ์ุทับทิมสยามครับ👍🏻👍🏻👍🏻
ส้มโออร่อยดีแถมมีประโยชน์ด้วย ลองไปประยุกต์ใส่ในอาหารก็ดีนะคะ~