กล้วยน้ำว้า ผลไม้ไทย มีประโยชน์ และโทษอย่างไร?
“กล้วยน้ำว้า” ผลไม้พื้นเมืองของไทย มีมาแต่โบราณ ปันจุบันก็ยังเป็นที่นิยม ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ มีรสหวาน อมเปรี้ยวเล็กน้อย รับประทานได้ง่าย เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย หาซื้อได้ตามท้องตลอดทั่วไป ราคาไม่แพง จึงเป็นกล้วยที่ชาวสวน นิยมปลูกกันมาก
ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยิน คนเฒ่า คนแก่ พูดกันว่า “กล้วยน้ำว้า คือ ยาอายุวัฒนะ ที่ทำให้อายุยืนยาว” มีทั้งประโยชน์ และโทษ ที่หลายคนอาจไม่รู้ ตาม SGE ไปเจาะลึกเรื่อง กล้วยน้ำว้า ให้มากขึ้นกันดีกว่า
รู้จัก กล้วยน้ำว้า
เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นใต้ดิน (rhizome) เรียกว่าเหง้า และแตกหน่อออกด้านข้าง อายุได้หลายปี ลำต้นบนดิน คือส่วนกาบใบที่เรียงเวียนซ้อนกันเป็นลำต้นเทียมมีสีสีเขียวและมีปื้นดำเล็กน้อย ด้านในสีเขียวอ่อน รูปทรงกระบอก สูง 2-9 เมตร
- ใบ เป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ กว้าง 0.7-1.0 เมตร ออกเรียงเวียนสลับกัน ลักษณะใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ โคนใบมน หรือเฉียง ขอบใบเรียบ มีแถบสีแดงเล็ก ๆ โดยรอบ ปลายใบแหลม หรือเรียวแหลม แผ่นใบยาวสีเขียว ท้องใบ หรือใต้ใบ สีขาวนวล เส้นกลางใบ หรือแกนใบ เป็นร่องลึกแข็งเห็นชัดเจน เส้นใบมีจำนวนมาก แยกออกจากเส้นกลางใบทั้งสองข้าง ขนานกันไปจดขอบใบ ก้านใบมีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อตรงกลาง เป็นรูพรุน ยาว 1-2 เมตร ส่วนโคนแผ่ออกเป็นกาบ
- ดอก เป็นช่อห้อยลง เรียกหัวปลี ยาว 30-150 เซนติเมตร ก้านดอกช่อแข็ง ดอกย่อยแยกเป็นดอกเพศผู้ และเพศเมีย
- ผล ลักษณะรูปรี ผิวเรียบ ปลายเป็นจุก ออกผลเป็นแผง เรียกว่า “หวี” และเรียงซ้อนกันหลายหวี เรียกว่า “เครือ” ผลดิบ มีสีเขียว เมื่อสุก มักจำนำมารับประทาน มีรสหวาน มีสีเหลือง เนื้อในสีขาว หรือขาวอมเหลือง
- เมล็ด แทบไม่มี หรือมีแต่น้อย เป็นเมล็ดสีดำ ค่อนข้างกลม
ประโยชน์และสรรพคุณของกล้วยน้ำว้า
- ช่วยให้อารมณ์ดี มีความสุข เพราะกล้วยน้ำว้ามีสารทริปโตเฟน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตฮอร์โมนเอ็นโดรฟีน
- ช่วยลดความเครียด ช่วยให้หลับสบาย และช่วยต้านภาวะซึมเศร้าได้ด้วย เพราะสารทริปโตเฟน ทำให้รู้สึกสงบ ผ่อนคลาย ควรกินก่อนอาหารเย็น 1 ลูก และหลังอาหารเย็น 1 ลูก
- แก้ท้องผูก เพราะมีกากใย ไฟเบอร์สูง กระตุ้นการขับถ่าย ทำให้อุจจาระนุ่ม ขับถ่ายง่าย ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ โรคกระเพาะ มะเร็งตับ และบรรเทาอาการโรคริดสีดวงทวารด้วย
- แก้อาการท้องเสีย เพราะกล้วยน้ำว่าห่าม มีสารแทนนิน ที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ช่วยป้องกันผนังกระเพาะลำไส้ถูกทำลาย ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย
- ลดความดัน เพราะมีสารโพเแทสเซียม จะช่วยขับโซเดียมออกจากร่างกายผ่านเหงื่อ ปัสสาวะ
- ชะลอชรา ลดริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า เพราะมีสารเบต้าแคโรทีน วิตามินซีสูง และสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอวัย ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวล
- ลดความอ้วน ควบคุมน้ำหนัก เพราะกล้วยน้ำว้าห่าม 1 ผล มีน้ำตาลน้ำตาลเชิงเดียว คือ กรูโคส และฟรุกโตส ประมาณ 1 ช้อนชา เมื่อกินเข้าไปแล้วร่างกายนำไปใช้ได้ทันที ทำให้รู้สึกมีแรง ควรกินก่อนออกกำลัง หรือกินก่อนมื้ออาหาร 1 ผล ทำให้ กินข้าวต่อมื้อลดลง และลดความอยากอาหารได้
- ลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนในผู้หญิง เริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน และผู้หญิงสูงอายุ เพราะกล้วยน้ำว้าห่าม มีแคลเซียมสูง หากนำไปปิ้งหรือต้ม ปริมาณแคลเซียมจะเพิ่มขึ้น 5-6 เท่า แนะนำให้กินกล้วยปิ้งหรือต้ม วันละ 1 ลูก จะได้แคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอ
- ดีท็อกซ์ลำไส้ ช่วยให้ถ่ายง่ายแล้ว ลำไส้สะอาด ช่วยกำจัดแบคทีเรียที่เกิดจากการกินเนื้อสัตว์มาก จนอุจาระมีกลิ่นเหม็น แนะนำให้กินกล้วยน้ำว้าห่ามวันละ 4 ลูกเป็นเวลา 1 อาทิตย์ อุจจาระจะไม่เหม็น
- แก้ปัญหาปากเป็นแผล ร้อนใน ช่วยลดกลิ่นปาก
- ป้องกันโรคโลหิตจาง เพราะกล้วยน้ำว้าห่าม มีธาตุเหล็ก
- บำรุงเหงือก และช่วยป้องกันฟันผุ จากแคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินซี
คุณค่าทางโภชนาการ
กล้วยน้ำว้าขนาดกลาง 1 ลูก อาจให้พลังงาน 105 กิโลแคลอรี่ และสารอาหารอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
- คาร์โบไฮเดรต 27 กรัม ประกอบด้วย น้ำตาล 14.4 กรัม ไฟเบอร์ 3.1 กรัม
- โพแทสเซียม 422 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 31.9 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 26 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 10.3 มิลลิกรัม
- เบต้าแคโรทีน 30.7 ไมโครกรัม
- โฟเลต 23.6 ไมโครกรัม
นอกจากนี้ กล้วยน้ำว้ายังมีวิตามินเอ วิตามินบี 6 ธาตุเหล็ก และแมงกานีส ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ช่วยบำรุงสายตา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และการทำงานของระบบประสาทด้วย
ข้อควรระวังในการบริโภคกล้วยน้ำว้า
กล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้ ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง (Glycemic Index: GI) ซึ่งเป็นค่าบ่งชี้ระดับน้ำตาลในเลือด หลังรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต หากรับประทานมากเกินไป อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งขึ้นสูง และส่งผลกระทบต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน หรือทำให้ผู้ที่ป่วยโรคเบาหวาน มีอาการแย่ลง ดังนั้น ควรรับประทานในปริมาณที่พอดี ประมาณ 1-2 ลูก/วัน
การขยายพันธุ์กล้วยน้ำว้า
- การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นวิธีเพิ่มจำนวนกล้าพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว แต่เป็นวิธีที่นิยมใช้ในบางกลุ่มเท่านั้น โดยเฉพาะเกษตรกร หรือบริษัทที่ต้องการเหง้าพันธุ์จำนวนมาก ทั้งนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ ที่ต้องการปลูกในพื้นที่ไม่มาก จะนิยมปลูกจากเหง้าพันธุ์ที่ขุดจากกอกล้วยเป็นหลัก
- การแยกหน่อ หรือเหง้าปลูก เป็นวิธีการดั้งเดิม ที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ และปัจจุบัน ยังเป็นที่นิยมของเกษตรกร ซึ่งเกษตรอาจหาซื้อเหง้าพันธุ์จากแปลงเกษตรกรอื่น ที่ปลูกกล้วยอยู่แล้ว หรือขุดเหง้าพันธุ์จากแปลงตัวเองออกขยายปลูกเป็นกอใหม่
วิธีปลูกกล้วยน้ำว้า ทำได้อย่างไร?
กล้วยน้ำว้า เป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตได้ในทุกสภาพดิน แต่ชอบดินร่วน มีอินทรีย์วัตถุ และความชื้นสูง ระบายน้ำดี ไม่ชอบน้ำขัง หลังจากการปลูกกล้วยน้ำว้าแล้วจะให้ผลผลิตครั้งแรกเมื่อปลูกได้ 8-10 เดือน และสามารถแตกหน่อเติบโตให้ผลผลิตทั้งปี
การเตรียมแปลง และหลุมปลูก
- พื้นที่ใช้ปลูก หรือแปลงปลูก ควรไถพรวนดิน และตากดิน นาน 1-2 อาทิตย์ และกำจัดวัชพืชก่อนปลูก หากปลูกเพียงไม่กี่ต้น ให้เตรียมได้เลย
- วางแนว และขุดหลุมปลูกในระยะ 4×4 เมตร หรือมากกว่า หากที่ระยะถี่กว่านี้ จะทำให้ต้นที่แตกใหม่เบียดกันแน่นในปีที่ 2 ขึ้นไป
- ขุดหลุมปลูกกว้าง x ยาว x ลึก ที่ 50x50x50 เซนติเมตร หรือเกือบ 2 ไม้บรรทัด
- กลบหรือโรยปุ๋ยคอก อัตรา 2-3 กก./หลุม ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 50-100 กรัม/หลุม พร้อมปรับดินผสมดิน ให้สูงประมาณครึ่งหนึ่งของหลุม คลุกผสมดินกับปุ๋ยให้เข้ากัน
วิธีปลูก
- นำต้นพันธุ์ลงหลุมปลูก และกลบดินต่ำกว่าผิวดินประมาณ 10 เซนติเมตร สำหรับให้น้ำขัง และสำหรับการใส่ปุ๋ยในครั้งต่อไป
การดูแลรักษากล้วยน้ำว้า
การให้น้ำ: การปลูกกล้วยน้ำว้า หรือการปลูกกล้วยโดยทั่วไปเกษตรกรจะปล่อยให้ได้รับน้ำจากน้ำฝน แต่หากพื้นที่ปลูกมีสภาพแห้งแล้งจัด และมีระบบชลประทานเข้าถึง เกษตรมักจะสูบน้ำเข้าแปลงเป็นระยะ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง
การใส่ปุ๋ย: แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะเตรียมหลุมปลูก ด้วยการรองพื้นด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 2-3 กก./หลุม ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 50-100 กรัม/หลุม หรือประมาณ 1-2 กำมือ
- ปุ๋ยคอก หลังการปลูกประมาณ 1-3 เดือน แรก ควรให้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักบริเวณโคนต้น อัตรา 2-3 กก./หลุม ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 100-200 กรัม/หลุม
- ปุ๋ยเคมี ระยะหลังปลูกเดือนที่ 5 และ 7 หรือระยะก่อนออกปลี ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-24 อัตรา 100-200 กรัม/หลุม โดยการหว่านรอบ ๆ กอ
การเก็บปลี และผลกล้วยน้ำว้า
กล้วยน้ำว้า ที่ปลูกจากหน่อ จะเริ่มออกปลี หรือดอก เมื่อมีอายุหลังการปลูกประมาณ 8 เดือน หลังจากแทงปลีจนสุดแล้ว จะเหลือส่วนปลายของดอกที่เรียกว่า ปลีกล้วย และมีระยะหลังการแทงดอก/ปลีกล้วย จนถึงดอกกล้วยบานจนหมด จะใช้เวลาประมาณ 14 วัน
- ปลีกล้วยน้ำว้า จะมีลักษณะเป็นกาบหุ้มดอก หรือใบประดับดอกที่สีแดง หุ้มปกคลุมดอกไว้ โดยดอกที่เหลือจะเป็นดอกที่ไม่พัฒนาเป็นผล ดังนั้น การตัดปลีจะเริ่มตัดได้ เมื่อเห็นผลกล้วยของหวีสุดท้ายหรือที่เรียกว่า หวีตีนเต่า จะตัดปลีออกตรงบริเวณข้อด้านล่างของหวีตีนเต่า หรือเหนือหวีกล้วยที่มีผลเติบโตไม่เท่ากันออก
- หวีตีนเต่า เป็นหวีที่มีผลกล้วย พัฒนาจนมีขนาดใกล้เคียงกัน ซึ่งจะอยู่เหนือหวีกล้วย ที่มีลักษณะผลเติบโต หรือพัฒนาไม่เท่ากัน ผลมีขนาดเล็กไม่สม่ำเสมอ
- การเก็บผลกล้วยน้ำว้า การเก็บผลดิบ จะเก็บในขณะที่ยังเห็นเหลี่ยมของผลชัดเจน ซึ่งระยะนี้กล้วยจะแก่ประมาณ 75% ระยะนี้เหมาะสำหรับการนำกล้วยดิบไปแปรรูป หรือส่งออกต่างประเทศ หลังการตัดปลีแล้ว กล้วยจะเริ่มแก่เต็มที่ และเริ่มสุกภายในเวลาประมาณ 70-80 วัน การเก็บกล้วยก่อนระยะสุก จะเก็บเมื่อผลอวบ ไม่มีเหลี่ยม เป็นระยะสำหรับเก็บจำหน่ายในประเทศ เพื่อรับประทานผลสุก ซึ่งผลจะสุกเหลืองภายใน 3-7 วัน
- การตัดเครือกล้วย จะใช้วิธีตัดต้นกล้วย ให้ค่อย ๆ ล้มลง แล้วจึงตัดเครือออก การตัดเครือ ควรตัดที่ต้นเครือ หรือให้เครือยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร
เป็นอย่างไรกันบ้างกับ กล้วยน้ำว้า ที่บอกเลยว่าสรรพคุณนั้นไม่ธรรมดาจริง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ผลไม้ทุกชนิด แม้มีประโยชน์มากมาย แต่ก็ควรทานอย่างพอดี หากทานมากไปอาจจะทำให้เกิดโทษได้ 🍌😋👍
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- รู้จัก กล้วยไข่ ประโยชน์ที่หลาย ๆ คนไม่รู้
- รวมสูตร “กล้วยเชื่อม” เมนูขนมไทย ทำง่ายไม่กี่ขั้นตอน
- ประโยชน์ “กล้วยหอม” ที่รู้แล้วต้องซื้อมาทาน!
- รวมสูตร “กล้วยเชื่อม” เมนูขนมไทย ทำง่ายไม่กี่ขั้นตอน
- รวม 4 สูตร วิธีทํากล้วยฉาบ หลายรสชาติ เก็บไว้ทานได้ไม่มีเบื่อ
- กล้วยตาก วิธีการทำกล้วยตากง่ายๆ สะดวกกว่าที่คิด
ข้อมูลอ้างอิง pharmacy.su.ac.th, puechkaset.com, thairath.co.th, hellokhunmor.com
30 มกราคม 2024
โดย
ลำดวน