ทำความรู้จัก ผักปวยเล้ง ผักดี มีประโยชน์ รังสรรค์ได้หลายเมนู
ปวยเล้ง (Spinach) หรือที่ใครหลาย ๆ คนอาจจะเข้าใจว่าเป็นผักโขม (Amaranth) เป็นอีกหนึ่งผักดี มีประโยชน์ที่ชาวไทย รวมถึงชาวต่างชาติ นิยมรับประทานกันมาอย่างยาวนาน เพราะปวยเล้งมีวิตามิน และเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกายเยอะ หาทานได้ง่าย ราคาไม่แพง และรสชาติดี จึงทำให้ปวยเล้งถูกดัดแปลงไปทำเป็นเมนูอาหารได้อย่างหลากหลายทั้งอาหารตะวันตก และตะวันออกนั่นเอง
รู้ไหม? ผักตัวจริงที่ให้พลังงานแก่ป็อปอาย คือ ผักปวยเล้ง นี่แหละ ไม่ใช่ผักโขมอย่างที่เราเข้าใจกันนะจ๊ะ
รู้จักกับ ผักปวยเล้ง
ผักปวยเล้ง กินสดมีรสชาติกินได้ง่าย กินสุกก็กินได้หลายวิธี มีทั้งต้มเป็นแกงจืด ผัดไฟมีทั้งแบบไฟแรง และเร็ว และแบบไฟอ่อนใช้เวลานานหน่อย อร่อยทั้ง 2 แบบ ที่สำคัญยังรักษาสารอาหารในผักปวยเล้งได้อย่างมั่นคง ลวกจิ้ม ใส่ในข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยว ต้มในอาหารเด็กเล็ก
รู้ไหมว่า คุณสมบัติของผักปวยเล้งนั้น มีฤทธิ์เย็น มีรสหวาน มีสารอาหารเยอะมาก มีเส้นใยชนิดดี มีพลังงานต่ำ
คุณค่าอาหารของปวยเล้ง
ปวยเล้ง 100 กรัม ให้พลังงาน 25 กิโลแคลอรี ประกอบไปด้วย
- ไขมัน 0.9 กรัม
- คาร์โบไฮเครต 1.6 กรัม
- โปรตีน 2.6 กรัม แคลเซียม 54 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 60 มิลลิกรัม
- เหล็ก 0.1 มิลลิกรัม
- ไนอะซิน 0.4 มิลลิกรัม
- เบต้าแคโรทีน 2,520 ไมโครกรัม
- วิตามินบี1 0.05 มิลลิกรัม
- วิตามินบี2 0.48 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 15 มิลลิกรัม
ประโยชน์ของปวยเล้ง
ปวยเล้งมีทั้งธาตุเหล็กบำรุงเลือด แคลเซียมบำรุงกระดูก โพแทสเซียมที่ช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจ และความดันเลือด มีวิตามินซีป้องกันหวัด วิตามินบี 2 ช่วยในการเจริญเติบโต บำรุงเล็บ ผิวหนัง ผม มีกรดโฟลิกที่จำเป็นต่อการสร้างสารที่ให้ความสุขอย่างซีโรโทนิน ที่มีส่วนสำคัญในการควบคุมอารมณ์ไม่ให้หงุดหงิดงุ่นง่าน รวมถึงช่วยลดอาการนอนไม่หลับได้ ช่วยบำรุงสายตา กระดูก และผิวพรรณ
มีงานวิจัยว่า ปวยเล้ง ช่วยบำรุงสมอง ลดโอกาสในการเกิดโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ได้ และยังช่วยป้องกันโรคมะเร็ง เบาหวาน และความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย
ทานปวยเล้งอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงที่สุด
เพื่อให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียม และโฟเลตได้มากขึ้น ควรทานปวยเล้งกับผลไม้ที่มีวิตามินซี เช่น ฝรั่ง, มะเขือเทศสด, ส้ม และเพื่อลดกรดออกซาลิก จึงควรนำมาลวกน้ำทิ้งก่อน 1 ครั้ง ก่อนนำมาปรุงอาหารต่อ โดยวิธีนี้สามารถลดปริมาณกรดออกซาลิกได้มากถึง 80% เลยทีเดียว
3 เมนูแนะนำจาก ปวยเล้ง มาฝากให้ได้ลองทำตามกันดู
เมนูที่ 1 สลัดผักปวยเล้ง
สลัดผักปวยเล้ง เมนูง่าย ๆ แต่ได้ประโยชน์ โดยการนำผักปวยเล้ง และสตรอว์เบอร์รี โรยเมล็ดทานตะวันอบเกลือ เสิร์ฟพร้อมน้ำสลัดทำเองแบบเข้มข้น
ส่วนผสม
- ผักปวยเล้ง 100 กรัม
- สตรอว์เบอร์รีหั่นชิ้น 8 ผล
- เมล็ดทานตะวันอบเกลือ 2 ช้อนโต๊ะ
ส่วนผสมน้ำสลัด
- น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำส้มสายชูบัลซามิก 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันมะกอก 1/2 ถ้วย
- เกลือสมุทร 1/2 ช้อนชา
- น้ำตาลทราย 1/2 ช้อนชา
- พริกไทยดำทุบ 1/2 ช้อนชา
วิธีทำ
- จัดผักปวยเล้ง และสตรอว์เบอร์รี ใส่ชามปิดพลาสติกแร็ป นำเข้าแช่ในตู้เย็นช่องธรรมดาจนเย็น
- ทำน้ำสลัด โดยตีผสมเครื่องปรุงทุกอย่างเข้าด้วยกันด้วยตะกร้อ ชิมรสให้เปรี้ยวเค็มกลมกล่อม
- วิธีจัดเสิร์ฟ ยกชามผักออกจากตู้เย็น โรยเมล็ดทานตะวันอบเกลือ เสิร์ฟพร้อมน้ำสลัด ปริมาณตามชอบ
เมนูที่ 2 สปาเก็ตตี้ผักปวยเล้ง
เส้นสปาเก็ตตีนุ่ม ๆ มาผัด กับพริกแห้งทอด และกระเทียม ปรุงรสให้กลมกล่อม ใส่เห็ดแชมปิญอง และใบผักปวยเล้ง ตักใส่จาน เสิร์ฟร้อน ๆ
ส่วนผสม
- น้ำมันมะกอก 2 ช้อนโต๊ะ
- กระเทียมกลีบใหญ่หั่นตามขวาง 3 กลีบ
- เห็ดแชมปิญองหั่นบาง 2 ดอก
- เส้นสปาเก็ตตี้ต้ม 150 กรัม
- ซีอิ๊วขาว 2 ช้อนชา
- น้ำตาลทราย 1/4 ช้อนชา
- พริกขี้หนูแห้งทอดหักชิ้น 3 เม็ด
- พริกไทยดำทุบพอแตก 1/2 ช้อนชา
- ใบผักปวยเล้ง 50 กรัม
วิธีทำ
- ตั้งกระทะน้ำมันมะกอกบนไฟกลางจนร้อน ใส่กระเทียมลงผัดพอหอม ใส่เห็ดแชมปิญอง ผัดพอสุก ใส่เส้นสปาเก็ตตี้ ผัดกระดกพอเข้ากันทั่ว
- ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว น้ำตาล ใส่พริกขี้หนูแห้งทอด พริกไทยดำทุบ และใบผักปวยเล้ง ผัดกระดกกระทะอีกครั้งพอเข้ากันทั่ว และผักปวยเล้งสุก
- ปิดเตา ตักใส่จาน พร้อมเสิร์ฟร้อน ๆ
เมนูที่ 3 ซุปผักปวยเล้ง
ซุปผักปวยเล้ง หอมเนย และนมปรุงรสกลมกล่อม โรยเมล็ดทานตะวันอบเกลือ และพริกไทยดำ เสิร์ฟร้อน ๆ กับขนมปัง เป็นมื้อเช้าที่น่าทาน
- น้ำมันมะกอก 1 ช้อนโต๊ะ
- เนยสดชนิดเค็ม 50 กรัม
- กระเทียมกลีบใหญ่สับ 2 ช้อนโต๊ะ
- หอมใหญ่สับ 1/2 ถ้วย
- เห็ดฟางดอกตูมหั่น 100 กรัม
- แป้งสาลีอเนกประสงค์ 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำซุป 2 ถ้วย
- ใบผักปวยเล้งหั่น 200 กรัม
- นมสดชนิดจืด 1/4 ถ้วย
- เกลือสมุทร 1/2 ช้อนชา
- พริกไทยดำบด 1/2 – 1 ช้อนชา
- เมล็ดทานตะวันอบเกลือ สำหรับโรย
- พริกไทยดำ สำหรับโรย
- ขนมปัง สำหรับจัดเสิร์ฟ
วิธีทำ
- ตั้งกระทะใส่น้ำมัน และเนยบนไฟกลางพอร้อน ใส่กระเทียมลงผัดพอหอม อย่าให้เหลือง ใส่หอมใหญ่ ปรับเป็นไฟอ่อน ผัดจนสุกใส และนุ่ม
- ใส่เห็ดฟาง ผัดพอสุก ใส่แป้งสาลี ผัดพอทั่ว ใส่น้ำซุป ผัดจนทั่ว ใส่ผักปวยเล้ง ผัดจนสุก ปิดไฟ พักไว้พออุ่น
- นำส่วนผสมซุปที่ผัดไว้ในข้อ 1 ไปปั่นจนละเอียด แล้วใส่ลงในกระทะ ยกขึ้นตั้งบนไฟอ่อนพอร้อน ใส่นมสด ปรุงรสด้วยเกลือ และพริกไทยดำ ปิดไฟ
- ตักซุปผักปวยเล้งใส่ถ้วย โรยเมล็ดทานตะวันอบเกลือ และพริกไทยดำ เสิร์ฟร้อน ๆ กับขนมปัง
วิธีเลือกซื้อปวยเล้ง
ควรเลือกซื้อปวยเล้ง ที่มีก้านสีเขียวอ่อน และใบสีเขียวเข้ม วิธีที่นิยมนำมาทานกันอยู่บ่อย ๆ คือ การนำมาลวกแล้วใส่ลงไปในผักสลัด, นำไปต้มในแกงจืด, นำไปผัดกับไข่ หรือเนื้อสัตว์ หรือแม้กระทั่งนำไปทำเป็นไส้ในขนมอบต่าง ๆ เช่น พาย, คีช (Quiche) เป็นต้น ส่วนปวยเล้งที่ทานไม่หมด ควรล้าง และเก็บในถุง หรือกล่องเก็บอาหาร แล้วเอาเข้าตู้เย็น แต่ไม่ควรเก็บนานเกินไปจนใบเหี่ยวเฉา หรือเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ทางที่ดีควรรีบทาทานให้หมดภายใน 2-3 วัน
เรามีตัวช่วยดี ๆ แนะนำ ที่จะช่วยให้คุณเก็บผักปวยเล้งได้นานยิ่งขึ้น
ปวยเล้ง อร่อยดี มีประโยชน์ แต่แฝงโทษเอาไว้ด้วย
แม้ว่าปวยเล้ง จะมีประโยชน์มากมาย แต่ผู้ที่เป็นโรคเกาต์ หรือโรคนิ่ว อาจจะต้องหลีกเลี่ยงการทานปวยเล้ง หรือควบคุมการทานไม่ให้มากเกินไป เพราะปวยเล้งมีกรดออกซาลิกอยู่มากพอสมควร ซึ่งเมื่อรวมตัวกับแคลเซียม ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคนิ่วได้ และอาจทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็ก และโฟเลตได้น้อยลง นอกจากนี้ยังมีกรดยูริก หรือทำให้อาการของโรคเกาต์แย่ลงได้
รู้ทั้งประโยชน์ ข้อดี ข้อเสีย ของผักปวยเล้งกันไปบ้างแล้ว และเมนูแนะนำ สามารถทำกินเองได้ในบ้านก็ไม่ว่ากัน สำหรับใครอยากทานเมนูปวยเล้ง ลองจดสูตรที่เรานำมาฝากนี้ไปลองทำกันดูนะจ๊ะ
30 มกราคม 2024
โดย
ลำดวน