มะเขือเปราะ ผักพื้นบ้าน สรรพคุณแน่น ๆ ประโยชน์มากมาย
มะเขือเปราะ เป็นผักพื้นบ้านที่หลาย ๆ คุ้นกันอยู่แล้ว เพราะนำมาทำอาหารได้หลากหลายเมนู และเป็นเครื่องเคียงในอาหาร แถมยังใช้ตกแต่งจานอาหารให้ดูน่าทานด้วย นอกจากรสชาติที่เป็นที่ถูกปากแล้วมะเขือเปราะยังมีประโยชน์มากมาย วันนี้ SGE จะพาไปรู้จักมะเขือเปราะให้มากขึ้น
ทำความรู้จักมะเขือเปราะ คืออะไร?
มะเขือเปราะ เป็นพืชวงศ์ SOLANACEAE หรือวงศ์มะเขือ เช่นเดียวกันกับมะเขือยาว มะเขือม่วง มะเขือพวง มะเขือเทศ มีต้นกำเนิดจากประเทศอินเดีย โดยมะเขือเปราะในภาษาอังกฤษแถบเอเชีย จะเรียกว่า Green Brinjal หรือในอินเดีย จะเรียกว่า Kantakari แต่ฝั่งอเมริกาจะคุ้นเคยในชื่อ Eggplant มากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม อย่าเผลอเรียกแค่ Eggplant อย่างเดียวเชียวนะ เพราะถ้าเรียกแค่นั้น อาจสร้างความสับสนพาลให้คิดว่าเป็นมะเขือม่วง หรือมะเขือยาวได้ เนื่องจากมะเขือหลาย ๆ ชนิด มักเรียกว่า Eggplant เกือบทั้งหมด ดังนั้น หากจะพูดถึงมะเขือเปราะ ก็ให้เติมคำว่า Thai เป็น Thai Eggplant ไปด้วย จะทำให้เข้าใจได้มากกว่านั่นเอง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
มะเขือเปราะ เป็นพืชล้มลุก ทรงพุ่มขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง สีเขียว ผิวเรียบ ไม่มียาง มีรากเป็นรากแก้ว ทรงกลม สีน้ำตาล แทงลงดิน ส่วนใบเป็นใบเดี่ยว สีเขียว ทรงหัวลูกศร ปลายแหลม โคนโค้งมนคล้ายติ่งหู กว้างประมาณ 4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 13 เซนติเมตร มีดอกออกตามซอกใบ สีม่วงบ้าง สีขาวบ้าง โดยกลีบดอกจะเชื่อมติดกัน แต่ปลายดอกจะแยกออกเป็น 5 แฉก รูปกงล้อ ไม่มีกลิ่น
ส่วนผลของมะเขือเปราะจะมีลักษณะกลม ผลเรียบ เนื้อแน่นกรอบฉ่ำน้ำ โดยผลอ่อนจะมีสีเขียวอ่อน หรือบางพันธุ์อาจมีสีขาว สีเหลือง สีม่วง ผลแก่จะมีสีเหลือง เนื้อในผลมีลักษณะเป็นเมือก และมีเมล็ดสีเขียวข้างในกว่า 60 เมล็ด จะนำมาทานสด ๆ หรือนำไปปรุงสุกก็อร่อยเหมือนกัน
มะเขือเปราะ สรรพคุณตามตำราแพทย์แผนไทย
🍃 ผล : ผลมะเขือเปราะ ช่วยลดไข้ ลดการอักเสบ ลดความดันเลือด ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ กระตุ้นการเผาผลาญ กระตุ้นการขับถ่าย ช่วยขับพยาธิ รักษาเบาหวาน ต้านมะเร็ง และช่วยบำรุงหัวใจได้
🍃 ใบ : นำมาขยำแล้วพอกบริเวณแผล จะช่วยห้ามเลือด และรักษาแผลให้หายไวขึ้น และหากนำใบสดมาเคี้ยว จะช่วยบรรเทาอาการเหงือกอักเสบได้ นอกจากนี้ การนำใบมะเขือเปราะมาต้มแล้วดื่ม ยังช่วยแก้อาการร้อนใน และช่วยขับปัสสาวะได้ดี แถมยังนำมาต้มอาบ แก้บรรเทาอาการคันตามผิวหนังได้ด้วย
🍃 ราก : นำรากมะเขือเปราะมาต้มดื่มช่วยขับปัสสาวะ บรรเทาอาการไอ แก้อาการอักเสบในลำคอ และแก้โรคหอบหืดได้ หรือหากนำมาเคี้ยว ยังช่วยบรรเทาอาการเหงือกบวม เหงือกอักเสบ และลดอาการปวดฟันได้อีกด้วย
ประโยชน์ของมะเขือเปราะ
- รักษาเบาหวาน ลดน้ำตาลในเลือด
มะเขือเปราะได้ชื่อว่าเป็นผักพื้นบ้านที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือดมานานแล้ว เพราะมีใยอาหารสูง และเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ละลายน้ำได้ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่า มะเขือเปราะออกฤทธิ์คล้ายอินซูลิน โดยช่วยเสริมการใช้งานกลูโคสอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มะเขือเปราะจึงเป็นอาหารที่เหมาะกับคนป่วยเบาหวาน หรือคนที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
สอดคล้องกับงานวิจัยในแคว้นโอริสสา ประเทศอินเดีย ที่ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดน้ำของผลมะเขือเปราะ เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวาน โดยพบว่า สารสกัดดังกล่าว มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีเทียบเท่ากับการใช้ยาไกลเบนคลาไมด์ (Glibenclamide) ที่ใช้สำหรับรักษาโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 เลย ดังนั้น คนอินเดีย จึงมักนำน้ำต้มผลมะเขือเปราะมาดื่ม เพื่อรักษาโรคเบาหวาน
- ลดไข้ แก้ไอ
มะเขือเปราะมีฤทธิ์ที่ช่วยลดไข้ ลดอาการอักเสบ แก้พิษร้อนในร่างกาย แถมช่วยขับลมชื้นที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในช่วงหน้าฝนได้ ดังนั้นหากไม่สบาย เราขอแนะนำให้ทานมะเขือเปราะ จะได้ช่วยให้หายไวขึ้น หรือถ้าใครมีอาการไอด้วย ทางการแพทย์อายุรเวทของอินเดีย ก็จะนำมะเขือเปราะมาปรุงเป็นยาแก้ไอ โดยนำผลมะเขือเปราะไปตากแห้งแล้วบดเป็นผง นำไปผสมกับน้ำผึ้งจิบดื่มเวลาไอ
- ตัวช่วยลดน้ำหนัก
มะเขือเกือบทุกชนิด รวมถึงมะเขือเปราะ ถือเป็นอาหารที่ดีต่อคนที่กำลังลดน้ำหนัก เพราะเป็นผักที่มีปริมาณแคลอรีไม่มาก แถมยังมีไฟเบอร์ ที่ช่วยให้เราอิ่มนาน รู้สึกอยากอาหารน้อยลง จึงเป็นตัวช่วยลดน้ำหนักได้ทางอ้อม
- ลดคอเลสเตอรอล
มีการวิจัยพบว่ามะเขือเปราะ สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในร่างกายลงได้ นอกจากนี้ สารนาโซลิน ยังทำงานร่วมกันกับไฟโตนิวเทรียนท์ ช่วยไม่ให้มีไขมันเกาะตามผนังของเส้นเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนในร่างกายได้สะดวกขึ้น
- ป้องกันท้องผูก
ผลของมะเขือเปราะ จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารของเราดีขึ้น ห่างไกลจากอาการท้องผูกได้ เพราะมะเขือเปราะมีไฟเบอร์อยู่เป็นจำนวนมาก จึงช่วยกระตุ้นให้ท้องและลำไส้บีบตัว ดูดซึมสารอาหารและขับถ่ายออกไปได้ดี นอกจากนี้ ยังมะเขือเปราะยังเป็นอัลคาไลน์ธรรมชาติ ที่ช่วยรักษาอาการกรดไหลย้อน ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหารของเราได้ด้วย
- บำรุงกระดูกให้แข็งแรง
มะเขือเปราะมีสารอาหารจำพวกแคลเซียม โพแทสเซียม และธาตุเหล็กอยู่ค่อนข้างสูง ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูกได้เป็นอย่างดี การทานมะเขือเปราะเป็นประจำ จึงช่วยลดความเสี่ยงกระดูกพรุน และกระดูกเสื่อมลงได้
- ป้องกันความจำเสื่อม
ในมะเขือเปราะมีไฟโตนิวเทรียนท์ ซึ่งเป็นสารที่ช่วยป้องกันไม่ให้เยื่อหุ้มเซลล์ถูกทำลาย และช่วยให้การส่งผ่านข้อมูลระหว่างเซลล์ต่าง ๆ ไหลลื่นขึ้น จึงช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมได้ แต่สารไฟโตนิวเทรียนท์ที่ว่านี้ จะมีอยู่แค่ในเปลือกของมะเขือเปราะเท่านั้น ดังนั้นเวลาทานมะเขือเปราะ อย่าปอกเปลือกออก
- บำรุงผิว
สาว ๆ คนไหนที่อยากถนอมผิวให้ดูอ่อนเยาว์อยู่ตลอด ต้องทานมะเขือเปราะบ่อย ๆ เพราะในมะเขือเปราะมีสารแอนโทไซยานิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของผิว แถมยังอุดมไปด้วยน้ำและวิตามินดี ๆ เช่น วิตามินอี ที่ทำให้ผิวของสาว ๆ กระจ่างใส นุ่ม และชุ่มชื่น
คุณค่าทางอาหารของ มะเขือเปราะ
มะเขือเปราะ ปริมาณ 100 กรัม
พลังงาน 39 กิโลแคลอรี | โปรตีน 1.6 กรัม | ไขมัน 0.5 กรัม |
คาร์โบไฮเดรต 7.1 กรัม | แคลเซียม 7 มิลลิกรัม | ฟอสฟอรัส 10 มิลลิกรัม |
เหล็ก 0.8 มิลลิกรัม | ไทอะมีน 0.11 มิลลิกรัม | ไนอะซิน 0.6 มิลลิกรัม |
ไรโบฟลาวิน 0.06 มิลลิกรัม | น้ำ 90.2 กรัม | วิตามินเอรวม 143 RE. |
วิตามินซี 24 มิลลิกรัม |
โทษของมะเขือเปราะ
แม้มะเขือเปราะจะมีประโยชน์อยู่เพียบ แต่หากทานในปริมาณมาก หรือทานติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้มีอาการปวดขาได้เหมือนกัน เพราะในมะเขือเปราะมีสารโซลานิน (SOLANINE) ซึ่งเป็นสารที่ถ้าร่างกายเราสะสมไว้หลาย ๆ วัน จะไปรวมตัวกับไขมันชนิดไม่ดี (LDL) แล้วเกาะอยู่ตามข้อต่อ ทำให้เราปวดขา ปวดข้อ หรือเป็นตะคริวได้
ทั้งนี้สารนี้มักพบในผักดิบหลายชนิด เช่น มะเขือชนิดต่าง ๆ บวบ แตงกวา มันฝรั่ง พริกหวาน แต่ก็ไม่ต้องกังวลมากเกินไป เพราะอาการแบบนี้มักจะเกิดขึ้นแต่กับคนที่แพ้สารนี้เท่านั้น หรือหากใครป่วยโรครูมาตอยด์ ก็ควรทานพืชกลุ่มนี้แต่น้อยดูก่อน แล้วลองสังเกตตัวเองดูว่า ทานแล้วมีอาการปวดมากขึ้นหรือไม่ เพื่อจะได้ระวังและหลีกเลี่ยง เช่น เปลี่ยนไปทานแบบสุกแทน
รู้ไหม? มะเขือเปราะ เมนูอะไรก็อร่อย 😋
มะเขือเปราะถือเป็นวัตถุดิบสำคัญคู่ครัวไทยอย่างหนึ่งเลย เพราะถ้าเราลองสังเกตกันดี ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารผัด หรืออาหารแกง อย่างแกงเขียวหวาน แกงป่า แกงเปรอะ แกงอ่อม ก็ล้วนมีมะเขือเปราะเป็นส่วนประกอบกันทั้งนั้น แถมคนที่ทานน้ำพริกส่วนใหญ่ ก็ยังนิยมเอามะเขือเปราะสด ๆ มาจิ้มกิน เพิ่มความอร่อยกันอีกด้วย เชื่อว่าคนที่กินน้ำพริกผักลวกเป็นประจำต้องยิ้มกับประโยชน์ของมะเขือเปราะแน่นอนจ้าา
หากใครสนใจประโยชน์ดี ๆ ของผักตระกูลมะเขือเพิ่มเติม สามารถดูได้ที่นี่เลย
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ, พืชเกษตร, ศูนย์ข้อมูลเครือข่ายอาหารครบวงจร
26 เมษายน 2024
โดย
ลำดวน