พารู้จัก ต้นกระท่อม สรรพคุณมากมาย พร้อมวิธีปลูกฉบับง่าย
เชื่อเลยว่าไม่มีใครไม่รู้จักกับ “ต้นกระท่อม” อย่างแน่นอน หลังกระทรวงยุติธรรม ปลดล็อกให้ “พืชกระท่อม” ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษอีกต่อไป บทความนี้ SGE จะพาไปรู้จักกับ กระท่อม ต้นกระท่อม ว่ามีสรรพคุณ และประโยชน์อย่างไรบ้าง?
รู้จักกับ พืชกระท่อม กันก่อน
ต้นกระท่อม (Kratom) หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa เป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์กาแฟ ใบสีเขียว ในส่วนของลำต้นจะมีความใหญ่ สูงประมาณ 10-15 เมตร ส่วนใบเป็นแบบเลี้ยงเดี่ยว ผลิใบแบบขึ้นตรงกันข้าม ถ้าใบแก่ จะมีสีเขียวอ่อน ตัวก้านมีสีแดงกับเขียวยาว 2-3 ซม. ยาว 10-18 ซม. กว้าง 6-10 ซม. บริเวณปลายใบจะแหลม มีติ่งเล็ก ๆ ขอบเรียบ เส้นแขนงยาวแตกชัดประมาณ 8-12 คู่ ออกดอกเป็นตุ่มช่อทรงกลม สีขาวอมเหลืองขนาด 3-5 ซม. นอกจากนี้ ยังมีผลเป็นรูปไข่ขนาดประมาณ 5-7 มม. ประเทศไทยพบได้เยอะที่ จังหวัดปทุมธานี หรือในภาคใต้ตามชายป่าธรรมชาติ เช่น ป่าในจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ยะลา สงขลา พัทลุง ฯลฯ
กระท่อม ที่พบในประเทศไทยมีอยู่ 3 พันธุ์ คือ แตงกวา (ก้านเขียว) ยักษาใหญ่ (รูปใบใหญ่) และก้านแดง มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละที่ เช่น ในประเทศไทย
- ภาคเหนือ เรียกอีด่าง อีแดง กระอ่วม
- ภาคใต้ เรียกท่อม หรือท่ม ในมลายูเรียกคูทุม (Kutum) คีทุมเบีย (Ketum Bia) หรือเบียก (Biak)
- ลาว เรียกไนทุม (Neithum)
- อินโดจีน เรียกโคดาม (Kodam)
ถิ่นกำเนิดต้นกระท่อม มาจากไหน?
สำหรับถิ่นกำเนิดของต้นกระท่อมนั้น จะอยู่ในเขตร้อนชื้นทางฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้นอกจากประเทศไทย แล้วก็ยังมี เกาะนิวกินี มาลายู และประเทศเพื่อนบ้านแถบอาเซียน เพราะเป็นแหล่งที่ดินมีความชื้นสูง อุดมสมบูรณ์ เก็บความชุ่มชื้นได้ดี และชื่นชอบแสงแดดปานกลาง ซึ่งหากถามว่าในประเทศไทยเรามี ด้วยกัน 3 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ยักษาใหญ่ พันธุ์แตงกวา และพันธุ์ก้านแดง
สารสำคัญที่พบในกระท่อม
สารสำคัญที่พบในใบกระท่อมนั้น ประกอบด้วยแอลคาลอยด์ทั้งหมดประมาณร้อยละ 0.5 ในจำนวนนี้ เป็นมิตราไจนีน (Mitragynine) ร้อยละ 0.25 ที่เหลือเป็น สเปโอไจนีน (Speciogynine) ไพแนนทีน (Paynanthine) สเปซิโอซีเลียทีน (Speciociliatine) ตามลำดับ ซึ่งชนิดและปริมาณแอลคาลอยด์ที่พบแตกต่างกัน ตามสถานที่ และเวลาที่เก็บเกี่ยว ซึ่งแบ่งตามสูตรโครงสร้างได้สารประกอบ 4 ประเภท คือ
- อินโดลแอลคาลอยด์ (Indole Alkaloids)
- ออกอินโดลแอลคาลอยด์ (Oxindole Alkaloids)
- ฟลาวานอยด์ (Elavanoids)
- กลุ่มอื่น ๆ เช่น ไฟโตสเตอรอล (Phytosterol), แทนนิน (Tannins)
“กระท่อม” มีคุณประโยชน์อะไรบ้าง?
-
ช่วยบำรุงกำลังเพิ่มพลังให้ทำงานได้นานขึ้น
สรรพคุณแรกที่อยากแนะนำ คือ ความสามารถในการช่วยบำรุงกำลังเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย จึงมีผลทำให้การทำงานยาวนานขึ้น ไม่เหนื่อยง่าย ทนแดดทนลม กล้ามเนื้ออึดขึ้น ลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อที่เป็นอยู่ได้ดี แต่กระนั้นต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกาย
-
รักษาอาการลำไส้ติดเชื้อ
ลำไส้ติดเชื้อ หรือท้องเสีย ท้องร่วง ถ่ายเหลว เราสามารถนำต้นกระท่อมไปต้ม เพื่อดื่มกินได้ หรือจะเคี้ยวใบ ชงกับน้ำดื่มเพื่อรักษาอาการที่เป็นอยู่ก็ไม่มีปัญหา เมื่อดื่มไปแล้วตัวสรรพคุณที่มีในใบ หรือลำต้น ก็จะไปช่วยยับยั้งเชื้อในลำไส้ ไม่ทำให้เกิดอาการกำเริบอีก
-
ช่วยลดอาการปวดที่มีผลดีกว่ามอร์ฟีน
กระท่อมมีสารชื่อว่า ไมทราไจนีน อันถือเป็นสารที่มีความสำคัญมาก ในไทยพบสูงถึง 66% มีส่วนช่วยกดประสาทส่วนกลาง เพราะมีสารจำนวนอัลคอลอยด์ผสมอยู่ด้วย จึงระงับอาการปวดต่าง ๆ โดยเฉพาะที่มีความรุนแรงได้ดี รู้สึกง่วงซึม กระตุ้นให้เกิดความเคลิ้มอย่างมีความสุข ผลจากการศึกษาสารนี้ ในใบกระท่อม พบว่ามีส่วนช่วยลดอาการเจ็บปวดที่รุนแรงมากกว่ามอร์ฟีน 13 เท่า ทั้งยังช่วยบำบัดผู้ที่เสพติดมอร์ฟีนในบางคนได้ดีอีกด้วย
-
ลดอาการขาดยาจากสารเสพติด
สารเสพติดอย่าง เฮโรอีน ฝิ่น มอร์ฟีน เมื่อใครต้องการบำบัดให้หายขาดสามารถเลือกใช้ต้นกระท่อมช่วยได้ แต่ต้องมีการใช้ในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงระยะเวลาไม่นานมากเกินไป กระท่อม จะให้ผลข้างเคียงในการบำบัดที่น้อยกว่าสารตัวอื่น ๆ
-
ช่วยแก้อาการปวดฟัน
โดยทั่วไปแล้ว เราสามารถต้มน้ำกระท่อมโดยใช้ส่วนใบเด็ด ล้างให้สะอาดแล้วให้นำมาต้มดื่มกินเป็นน้ำสมุนไพรตามตำราแผนโบราณ ฤทธิ์ที่มี จะช่วยให้อาการปวดฟันต่าง ๆ ทุเลาลงได้ แต่ในปัจจุบัน ไม่ค่อยได้ทำกันแล้ว เพราะมีเป็นยาเม็ดแก้ปวดแทน
-
ช่วยลดความดันโลหิตสูง
กระท่อมมีสารที่ชื่อ ไมทราไจนีน นอกจากจะช่วยระงับความเจ็บปวดของร่างกายได้ดีกว่ามอร์ฟีน ก็ยังมีฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือดได้ด้วย ช่วยคลายกล้ามเนื้อ ลดความดันโลหิต ซึ่งตามตำรับยาแผนโบราณแล้ว มีผลวิจัยว่าช่วยปัญหาความดันเลือดสูงจริง
-
ช่วยรักษาโรคเบาหวาน
กระท่อมเป็นพืชที่สามารถช่วยรักษาโรคเบาหวานมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเอาใบมาเคี้ยวแล้วคายกากออก หรือต้มดื่มกินในชีวิตประจำวันก็ได้หมด ช่วยในการดูดกลับของน้ำตาลกลูโคส ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงโดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับอินซูลินในร่างกายของผู้ป่วยอีกต่างหาก
-
ช่วยรักษาแผลในปาก แก้ไอ
สรรพคุณของต้นกระท่อม นอกจากเรื่องต่าง ๆ ข้างต้น ยังสามารถใช้รักษาอาการแผลในปาก ไม่ว่าจะเกิดจากการกัดปากตัวเอง ร้อนในที่เกิดขึ้น รวมถึงอาการไอ ก็แก้ได้เช่นกัน ซึ่งฤทธิ์ที่มี จะช่วยสมานแผล ห้ามเลือด ที่สำคัญช่วยถอนพิษจากสัตว์ร้ายได้ด้วย
ต้นกระท่อมนั้น มีส่วนช่วยร่างกายด้านต่าง ๆ จริง แต่ก็ย้ำเตือนอยู่ตลอด ต้องใช้อย่างระมัดระวังด้วย เพราะเมื่อเคี้ยวใบไปประมาณ 5-10 นาที ร่างกายก็สามารถดูดซึมสารประกอบได้แล้ว และจะไปออกฤทธิ์กับระบบประสาทส่วนกลาง ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น คือ นอนไม่หลับ กระวนกระวาย อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ท้องผูก เบื่ออาหาร ปากแห้ง ริมฝีปากคล้ำ ร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงมากยิ่งขึ้น บางคนเคี้ยวมาก ๆ พูดไม่รู้เรื่องเลยก็มี ฯลฯ จึงอยากให้จัดการปริมาณที่พอเหมาะ หรือทางที่ดีแนะนำว่าปรึกษาแพทย์ เภสัชกรที่มีความเชี่ยวชาญ ช่วยให้ได้รับสิ่งดีที่สุด ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
วิธีการปลูกกระท่อม มีแบบไหนบ้าง?
การปลูกกระท่อม
- ระยะการปลูกกระท่อม ปลูกระยะ 4×4 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกได้ 100 ต้น
- ดินและน้ำสำหรับปลูกกระท่อม ดินที่ใช้ปลูกกระท่อม ควรเป็นดินร่วนซุย ควรมีน้ำอย่างทั่วถึง และปลูกกลางแจ้งเพื่อลดโรคเชื้อราจุดดำได้ หรือเอาน้ำปูนขาวละลายรดหรือฉีด
❀ ❀ ❀ ❀ ❀ ❀ ❀ ❀ ❀ ❀ ❀ ❀ ❀ ❀ ❀ ❀
การปลูกกระท่อมด้วยเมล็ด
การปลูกกระท่อมด้วยเมล็ด ที่ทำได้รวดเร็ว และสะดวกที่สุด จะเป็นการปลูกระบบปิด โดยใช้อุปกรณ์ถุงพลาสติก หรือวัสดุครอบพาชนะปลูก เพื่อควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ และลดการระเหยออกของน้ำ วิธีนี้ จะช่วยให้เมล็ดกระท่อมเจริญเติบโต ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ประมาณ 5-7 วัน และไม่ต้องรดน้ำตลอดระยะเวลาดังกล่าว โดยมีขั้นตอนวิธีการปลูก ดังนี้
- นำดินปลูก หรือพีทมอสใส่ลงในกระบะ หรือกะละมังประมาณครึ่งหนึ่งของพาชนะ
- รดน้ำให้ดินชุ่ม หรือเปียกอย่างเห็นได้ชัด
- ค่อย ๆ โรยเมล็ดกระท่อมลงไปอย่าให้ชิดกัน พยายามกระจายเมล็ดกระท่อมให้มากที่สุด
- นำดินปลูก หรือพีทมอสมาโรยทับด้านบนบาง ๆ แล้วรดน้ำให้ชุ่มเปียกอีกครั้ง
- หุ้มกระบะ หรือกะละมังปลูกด้วยพลาสติกใสไม่ให้อากาศเข้าได้
- ปิดทิ้งไว้ไม่ต้องรดน้ำ และวางไว้ในที่ร่ม เป็นเวลาประมาณ 5-7 วัน
- เมื่อครบกำหนดแล้ว นำออกมารดน้ำเช้า-เย็น
- เมื่อต้นกล้างอกขึ้นมาได้ระดับหนึ่งแล้ว ให้ย้ายไปปลูกในกระถางต่อไป
การปลูกกระท่อมด้วยปักชำกระท่อม
การปลูกกระท่อมด้วยการปักชำเป็นการย่นระยะเวลาการเจริญเติบโต โดยเลือกกิ่งเดี่ยว ไม่มีแขนงแยก นำมาปักชำ และเร่งรากฝอยให้เจริญเติบโต แล้วนำไปปลูกต่อไป การปลูกกระท่อมด้วยวิธีนี้ มีข้อเสีย คือ ระบบรากจะไม่แข็งแรงเท่าการปลูกกระท่อมด้วยเมล็ด ฉะนั้นในช่วงเวลา 1-2 ปีแรก ควรมีการใช้ไม้ค้ำยันเอาไว้จนกว่าราก หรือลำต้นจะแข็งแรง โดยมีขั้นตอนวิธีการปลูก ดังนี้
- นำดินปลูกหรือพีทมอสผสมกับน้ำให้พอชุ่ม (แต่ไม่แฉะ) ใส่ในกระป๋อง หรือแก้วพลาสติกเตรียมไว้
- ตัดกิ่งกระท่อมจากต้น โดยเลือกกิ่งที่เป็นกิ่งเดี่ยวและสมบูรณ์ ควรตัดกิ่งให้มีขนาดไม่ยาวเกินไปเพื่อให้ธาตุอาหารลำเลียงได้เร็วขึ้น
- ใช้น้ำยาเร่งรา ทาบริเวณโคนกิ่งแล้วทิ้งไว้แห้ง หรือนำกิ่งไว้จุ่มแช่ไว้ประมาณ 20 นาที
- นำกิ่งที่ทายาเร่งรากแล้วปักลงไปในดินที่เตรียมไว้ หาไม้แทงดินลงไปก่อนปัก
- นำถุงพลาสติกใสมาครอบแล้วมัดให้แน่นเพื่อไม่ให้อากาศถ่ายเท ตั้งไว้ที่มีแสงแดด แต่ไม่จัดเกินไป เมื่อรากเดินเต็มที่ให้นำไปปลูกลงดินต่อไป
เคล็ดลับ : หากใบกระท่อมจากกิ่งที่นำมาปักชำมีขนาดใบใหญ่เกินไป ให้ทำการตัดใบให้เหลือครึ่งหนึ่ง เพื่อลดการคายน้ำและเพิ่มอัตรารอดในการปักชำ
การเก็บเกี่ยวใบกระท่อม
ใบกระท่อมสามารถเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป โดยให้เก็บเฉพาะใบแก่ แต่ถ้าจะให้ผลผลิตเต็มที่ ต้นกระท่อมควรมีอายุ 5 ปี จึงจะสามารถเก็บเกี่ยวใบกระท่อมได้ต้นละ 1 กิโลกรัม และสามารถเก็บเกี่ยวได้ทุก 15 วัน
เป็นอย่างไรกันบ้างกับความรู้เรื่องต้นกระท่อมที่เรานำมาฝากกัน อย่างไรก็ตามหากใครต้องการที่จะปลูกต้นกระท่อม ควรศึกษาวิธีการปลูกให้ดีด้วย เราขอแนะนำตัวช่วยดี ๆ กระถางผ้า Smart Pot หลากหลายขนาด ปลูกได้ทั้งต้นไม้ พืชผักสวนครัว แข็งแรงทนทาน ใช้ได้ยาวนานอย่างแน่นอน
เลือกชมสินค้าได้ตามนี้เลย
30 มกราคม 2024
โดย
ลำดวน