10,488 Views

คัดลอกลิงก์

กานพลู เครื่องเทศสารพัดประโยชน์ มีสรรพคุณอะไรบ้าง

กานพลู อีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญในอาหารไทย มักใช้เป็นเครื่องเทศ เพื่อแต่งกลิ่นอาหาร หรือเครื่องตุ๋นยาจีน ทำน้ำซุปต่าง ๆ รวมถึงยังเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารวานิลลิน ซึ่งเป็นสารให้กลิ่นวานิลลา อันเป็นส่วนผสมในการทำเบเกอรี่

แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากใช้ประโยชน์ด้านการทำอาหารและเบเกอรี่แล้ว กานพลู ยังถูกใช้ประโยชน์ในด้านการบำรุงสุขภาพ รักษาโรคและใช้กลิ่นของมัน เพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ SGE จึงจะชวนทุกคนมารู้จักกานพลูในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อให้รู้ถึงสรรพคุณและประโยชน์ที่มากมายของพืชพันธุ์ชนิดนี้

กานพลู คือ ?

กานพลู

กานพลู คือ พืชชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้น  สูงใหญ่ ความสูงโดยประมาณอยู่ที่ 5 – 10 เมตร หรือ บางต้นอาจสูงได้ถึง 20 เมตร ลักษณะที่สังเกตได้ คือ จะมีเรือนยอดเป็นรูปกรวยคว่ำ แตกกิ่งต่ำ ส่วนของลำต้นจะตั้งตรง เปลือกเรียบ สีเทา ใบกานพลู จะเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม มีก้านใบเล็กเรียว ปลายใบเรียวแหลม ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนเป็นมัน มีต่อมน้ำมันมาก มีสีแดงหรือน้ำตาลแดง  ส่วนดอกออกเป็นช่อดอกสั้น ๆ หรือดอกตูม แทงออกบริเวณปลายยอดหรือง่ามใบบริเวณยอด แตกแขนงออกเป็นกระจุก 3 ช่อ มีจำนวน 6-20 ดอก ดอกมีใบประดับรูปสามเหลี่ยม ยาว 2-3 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง 4 กลีบ สีเขียวอมเหลือง และมีสีแดงประปราย ผลกานพลู เป็นผลเดี่ยว มี 1 เมล็ด มีรูปไข่กลับแกมรูปรี เมื่อแก่จะมีสีแดงเข้มออกคล้ำ

แต่เดิม กานพลู เป็นพืชท้องถิ่นอยู่ในหมู่เกาะโมลุกกะ ทางตะวันออกของประเทศอินโดนีเซีย ด้วยมีกลิ่นหอม โดยเฉพาะดอกตูม ทำให้มีการนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่เมื่อ 207 ปี ก่อนคริสต์กาล โดยมีบันทึกว่า จักรพรรดิจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น ใช้ดอกกานพลูอมไว้ในปากเพื่อดับกลิ่นปาก นอกจากนั้น ยังถูกนำมาใช้ในการปรุงตำรับยาจีนหลายแขนง สำหรับเป็นยาช่วยย่อยอาหาร ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้ไส้เลื่อน ยารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน และฮ่องกงฟุต ก่อนที่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 4 กานพลู จะถูกนำเข้ามาเผยแพร่ในทวีปยุโรป จนกลายเป็นสมุนไพรที่มีราคาสูงและหายากมาก ในเวลาต่อมาเมื่อได้รับการวิจัยและค้นคว้า จนทราบสรรพคุณทางยาต่าง ๆ จึงนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์ด้วย

สำหรับในประเทศไทย มีการนำกานพลูมาปลูกบ้าง แต่ไม่เป็นที่แพร่หลาย พบเพียงการปลูกสำหรับใช้เป็นยาในครัวเรือนเท่านั้น แต่เนื่องจากความต้องการใช้กานพลูในการผลิตเครื่องเทศ และสมุนไพรมีความต้องการสูง กานพลูในประเทศ จึงไม่เพียงพอกับความต้องการ การใช้กานพลูในประเทศ จึงถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นหลัก  โดยมีปริมาณการนำเข้ามากกว่า 100 ตัน/ปี ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเชียเป็นหลัก ส่วนประเทศอื่นมีเพียงเล็กน้อย เช่น จีน บัลแกเรีย และอินเดีย

⭐⭐ หากชื่นชอบบทความของ SGE ⭐⭐

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

สรรพคุณของ กานพลู

กานพลู

การนำกานพลูมาใช้ประโยชน์โดยทั่วไป มักนำส่วนที่เป็น ดอกตูม ผล ต้น เปลือก ใบ รวมไปถึงนำไปสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย มาใช้งาน โดยเมื่อพิจารณาจากส่วนต่าง ๆ จะมีสรรพคุณ ดังต่อไปนี้

1. ช่วยระงับอาการเจ็บปวดได้

สารยูจีนอล ในน้ำมันหอมระเหยของดอกกานพลู มีฤทธิ์ช่วยระงับอาการเจ็บปวดได้ โดยผลการทดลอง เมื่อนำน้ำมันหอมระเหย สกัดด้วยสารเอทานอล ฉีดเข้าไปในหนูทดลอง ในขนาดความเข้มข้น 50, 100 และ 200 mg/kg แล้วฉีดกรดอะซิติก เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณช่องท้อง (writhing) ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บปวด ปรากฏว่า สามารถลดอาการปวด (writhing) ของหนูได้สูงถึงร้อยละ 75, 66 และ 65 ตามลำดับ

2. รักษาอาการที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร

กานพลู มีฤทธิ์ช่วยรักษาและแก้อาการที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารได้ โดยเป็นส่วนประกอบสำคัญในตำรับยารักษาไทย กลุ่มอาการทางระบบอาหาร ประกอบด้วย “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของกานพลูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และอาการท้องเสียที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ และตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีกานพลูเป็นองค์ประกอบหลัก และมีสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ สอดคล้องกับผลการศึกษาปัจจุบัน ที่พบว่า เมื่อทำเป็นน้ำมันหอมระเหยที่สกัดด้วยแอลกอฮอลล์ จะมีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการแน่นจุกเสียดได้

3. แก้ลม แก้พิษ บำรุงโลหิต

ในตำรายาของไทย มีการบันทึกถึงการใช้กานพลูในการแก้ลม แก้พิษ บำรุงระบบไหลเวียนโลหิตหลายตำรับ ตัวอย่างเช่น ใน ”พิกัดตรีพิษจักร” ซึ่งว่าด้วยตัวยาที่มีรสซึมซาบไวดังกงจักร  3 อย่าง มี ผลผักชีล้อม ผลจันทน์เทศ และกานพลู ซึ่งมีสรรพคุณแก้ลม แก้พิษเลือด แก้ธาตุพิการ บำรุงโลหิต ”พิกัดตรีคันธวาต” คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีกลิ่นหอมแก้ลม  3 อย่าง มี ผลเร่วใหญ่ ผลจันทน์เทศ และกานพลู มีสรรพคุณ แก้ธาตุพิการ แก้ไข้อันเกิดแต่ดี แก้จุกเสียด

ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏในตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” โดยมีส่วนประกอบของกานพลูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง

4. ช่วยให้เก็บรักษาอาหารได้นาน

เมื่อใส่กานพลูเป็นส่วนผสมในอาหารนั้น ๆ จะทำให้สามารถเก็บรักษาได้นานขึ้น นั่นเพราะ กานพลู สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา Aspergillus flavus ได้ดี ซึ่งยิ่งเข้มข้นมาก ก็จะยิ่งยับยั้งได้มาก โดยจากการทดสอบ หากนำเอาน้ำคั้นจากดอกกานพลู ผสมในอาหารแข็ง PDA ให้ได้ความเข้มข้นของน้ำคั้นสมุนไพร 2, 4, 6, 8, 10, 15, 20 และ 30% และในอาหารเหลว ให้ได้ความเข้มข้นของน้ำคั้นสมุนไพร 2, 10 และ 30% ผลการทดลองพบว่าทุกความเข้มข้นที่ทดสอบ สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราได้

5. มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค

เมื่อทำการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากดอกกานพลู ด้วยสารสกัด diethyl ether พบว่าสามารถยับยั้งและต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรคได้ 4 ชนิด คือ Escherichia coliStaphylococcus aureusPseudomonas aeruginosa และ Proteus vulgaris ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร แผลฝีหนอง และโรคติดเชื้อหลายระบบในร่างกาย

⭐⭐ หากชื่นชอบบทความของ SGE ⭐⭐

เครื่องซีลสูญญากาศ จาก SGE การันตีด้วยยอดขายอันดับ 1

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

การใช้ประโยชน์จาก กานพลู

กานพลู

1. ใช้แก้ปวดฟัน ดับกลิ่นปาก

เพราะมีสารยูจีนอล ที่มีฤทธิ์ช่วยระงับอาการเจ็บปวด ทำให้สามารถนำมาใช้ในการรักษาอาการปวดฟันได้ โดยวิธีการ ใช้สำลีพันปลายไม้ จุ่มน้ำมันหอมระเหยจากดอกกานพลู 4-5 หยด แล้วจิ้มในรูฟันที่ปวด จะทำให้อาการปวดทุเลา หรือเอาดอกกานพลูมาเคี้ยว แล้วอมไว้ตรงบริเวณที่ปวดฟัน เพื่อระงับอาการปวด หรือจะใช้ดอกกานพลูตำพอแหลกผสมกับเหล้าขาวเพียงเล็กน้อยพอแฉะ ใช้จิ้มหรืออุดฟันที่ปวดก็ได้ ทั้งนี้ การเคี้ยวแล้วอมดอกตูม 2-3 ดอก ไว้ในปาก ยังจะช่วยรักษาโรครำมะนาด รวมถึงทำให้ระงับกลิ่นปากลงได้อีกด้วย

2. ทำเป็นยารักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง

ในเมื่อคนสมัยก่อนยังไม่มียากินแบบแพทย์แผนตะวันตก คนโบราณจึงใช้กานพลูในการรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง โดยจะใช้ดอกกานพลูโตเต็มที่ ที่ยังตูมอยู่ 4-6 ดอก หรือ 0.25 กรัม มาทุบแล้วชงดื่ม โดยในผู้ใหญ่ จะทุบให้ช้ำ แล้วชงน้ำดื่มครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว ในเด็ก ใช้ 1 ดอก ทุบแล้วใส่ลงในขวดนม
ถ้าเป็นเด็กอ่อน ใช้ 1 ดอก ทุบใส่ในกระติกน้ำที่ไว้ชงนม ช่วยไม่ให้เด็กท้องขึ้นท้องเฟ้อได้

3. ใช้ทำอาหารและเบเกอรี่

ด้วยมีกลิ่นหอมที่โดดเด่นและยังมีสรรพคุณช่วยถนอมอาหาร จากการยับยั้งการเติบโตของเชื้อรา จึงทำให้ กานพลู กลายเป็นเครื่องเทศสำคัญในการทำอาหารหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นพะโล้ แกงมัสมั่น แกงกะหรี่ ข้าวหมกไก่ สตูว์ เนื้อตุ๋นยาจีน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารวานิลลิน ซึ่งเป็นสารให้กลิ่นวานิลลา อันเป็นส่วนผสมในการทำเบเกอรี่

4. สกัดกลิ่นหอมผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

กลิ่นหอมของกานพลู ไม่ได้ถูกใช้เพื่อเพิ่มกลิ่นและรสชาติของอาหารและเบเกอรี่เท่านั้น แต่ยังใช้ตกแต่งกลิ่นในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นยาสีฟัน ยาอมบ้วนปาก น้ำหอม ยาแก้ไอ นอกจากนี้ ยังสามารถนำกานพลู มาใช้ในการย้อมสีผมได้ด้วย ซึ่งจะให้สีผมที่ใกล้เคียงกับสีดำ

5. ช่วยเพิ่มน้ำนมให้กับคุณแม่มือใหม่

เนื่องจากมีสรรพคุณบำรุงระบบไหลเวียนโลหิตได้ดี ทำให้ กานพลู เป็นหนึ่งในสมุนไพรที่แนะนำให้หญิงที่ให้นมบุตรควรรับประทาน เพราะเมื่อการไหลเวียนของโลหิตดี จะทำให้มีน้ำนมเพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับหญิงที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันหอมระเหยกานพลู เว้นแต่จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

⭐⭐ หากชื่นชอบบทความของ SGE ⭐⭐

ถุงซีลสูญญากาศ

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🥺🙏🏻

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

ข้อควรระวังในการใช้กานพลู

กานพลู มีประโยชน์มากก็จริง แต่ควรศึกษาปริมาณการใช้งานและวิธีการนำมาใช้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปลอดภัย โดยข้อควรระวังที่สำคัญ มีดังนี้คือ

  • ไม่ควรใช้น้ำมันกานพลูอย่างต่อเนื่อง เพราะสารยูจีนอล อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังได้ หากใช้ในปริมาณที่สูง และใช้ติดต่อกัน
  • กานพลู หากใช้หรือทานในปริมาณมาก จะทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง ต้องระวังการใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น  warfarin,  aspirin, heparin เป็นต้น รวมถึงยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์  (NSAIDs; เช่น ibuprofen),  และสมุนไพรหรือยาที่ทำให้เกล็ดเลือดต่ำ  และยาลดน้ำตาลในเลือด  (insulin,  metformin)
  • การใช้น้ำมันกานพลูเพื่อรักษาอาการปวดฟันหรือใช้เพื่อระงับกลิ่นปากโดยตรง หากใช้ติดต่อกันบ่อยครั้ง อาจทำให้ระคายเคืองต่อเหงือก และเยื่อบุในช่องปากได้
กานพลู เป็นหนึ่งในเครื่องเทศที่นิยมใช้ในการทำอาหารทั่วทุกมุมโลก ซึ่งนอกจากใช้เพื่อตกแต่งกลิ่นอาหารและสกัดเอากลิ่นวานิลลา เพื่อนำมาใช้ในการทำเบเกอรี่ ยังมีคุณประโยชน์ในการรักษาโรคและบำรุงสุขภาพได้เป็นอย่างดี เจ้าดอกกานพลูเล็ก ๆ นี้ จึงไม่ใช่เพียงแค่ส่วนประกอบในการทำอาหาร แต่ยังเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณและประโยชน์ ที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง

⭐⭐ หากชื่นชอบบทความของ SGE ⭐⭐

ฝากกดลิงก์เยี่ยมชมสินค้า เพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมงานของเราด้วยนะคะ🙏

30 มกราคม 2024

โดย

Pres

ความคิดเห็น (Comments)

guest
0 Comments
โหวตสูงสุด
ใหม่สุด เก่าสุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด