สะระแหน่ สรรพคุณมากมาย พร้อมวิธีปลูกยังไงให้โตไว
รู้จัก “สะระแหน่”
สะระแหน่ (kitchen Mint) เป็นพืชสมุนไพรตามธรรมชาติ ที่มีการนำใบ และน้ำมันมาใช้ประโยชน์ต่อสุขภาพ อีกทั้งยังใช้เป็นยาพื้นบ้าน สำหรับรักษาโรคและอาการต่าง ๆ เช่น บรรเทาอาการปวด ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร หรือใช้เป็นสารต้านเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ หลายคนอาจคุ้นเคยกับรสหรือกลิ่นของสะระแหน่จากยาสีฟัน ขนม อาหารจานต่าง ๆ รวมถึงใช้เป็นสารแต่งกลิ่นในสบู่ และเครื่องสำอางอีกด้วย
สะระแหน่อยู่ในวงศ์เดียวกันกับ กะเพรา โหระพา และแมงลัก เป็นพืชที่มีน้ำมันหอมระเหย อันประกอบด้วย สารเมนทอล (menthol) อยู่สูง เป็นไม้ล้มลุก มีเถาเลื้อยไปตามพื้นดิน ลำต้นทรงรูปสี่เหลี่ยม สีเขียวแกมม่วง ออกไปทางน้ำตาล ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปทรงใบ ค่อนข้างรี กว้างประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ยาว 2-3 เซนติเมตร ผิวใบย่น ขอบใบหยักฟันเลื่อย ใบมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ดอก และช่อสะระแหน่ ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ ผล เป็นผลแห้ง ไม่แตก
สะระแหน่นั้น มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในยุโรป จากนั้น แพร่กระจายพันธุ์ไปทั่วทั้งยุโรป อเมริกาเหนือ และภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก โดยเฉพาะเขตร้อน และเขตอบอุ่น โดยได้พัฒนาสายพันธุ์เองตามธรรมชาติ เพื่ออยู่รอดตามสภาพอากาศของถิ่นต่าง ๆ ที่กระจายพันธุ์ไปจนกลายมาเป็นสะระแหน่สายพันธุ์ต่าง ๆ เช่น สะระแหน่ไทย สะระแหน่ฝรั่ง สะระแหน่ญวน เป็นต้น
คุณค่าทางโภชนาการ
คุณค่าทางโภชนาการของ สะระแหน่ไทย (ใบ 100 กรัม) มีดังนี้
- พลังงาน : 47 แคลอรี่
- โปรตีน : 3.7 กรัม
- ไขมัน : 0.6 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต : 6.8 กรัม
- แคลเซียม : 40 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส : 7 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก : 4.8 มิลลิกรัม
- วิตามินบี3 : 0.7 มิลลิกรัม
- วิตามินเอ : 16,585 หน่วย
- วิตามินB1 : 0.13 มิลลิกรัม
- วิตามินB2 : 0.29 มิลลิกรัม
- วิตามินซี : 88 มิลลิกรัม
สรรพคุณและประโยชน์ของสะระแหน่
- บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก
หลายคนชอบกลิ่นสะระแหน่ เพราะมีกลิ่นหอม ซึ่งน้ำมันหอมระเหย ที่มีอยู่ในสะระแหน่ ช่วยลดอาการอักเสบในเยื่อบุจมูก บรรเทาอาการหลอดลมหดตัว ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกจากหวัด และอาการหอบหืดได้ โดยดมน้ำมันหอมระเหย จากสะระแหน่ หรือทำชาสาระแหน่จิบอุ่น ๆ ก็ได้
- แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
สะระแหน่เป็นสมุนไพรมีรสร้อน แต่มีฤทธิ์เย็น และมีสรรพคุณแก้ปวด จึงสามารถบรรเทาอาการปวดแสบ จากพิษแมลง สัตว์กัดต่อยได้ โดยให้ใช้ใบสะระแหน่สดใหม่ 5-10 ใบ โขลกจนละเอียด แล้วนำมาพอกบริเวณที่แมลงกัด
- แก้ปวดหัว
กลิ่นน้ำมันหอมระเหยในใบสะระแหน่ มีส่วนช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด และมีสรรพคุณ ระงับปวดได้ โดยใช้สะระแหน่ทั้งต้น ประมาณ 500 กรัม โขลกจนละเอียด แล้วนำไปต้มกับน้ำ เพื่อแยกเอาส่วนน้ำมันออก เพื่อที่เราจะใช้น้ำมันสะระแหน่ที่ได้ มานวดคลึงขมับ เมื่อรู้สึกปวดเวียนศีรษะ
- แก้คลื่นไส้
กลิ่นหอมจากสารเมนทอลในใบสะระแหน่ทำให้รู้สึกสดชื่น บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ และอาการคลื่นไส้ได้ โดยใช้ใบสด 1 กำมือ โขลกจนละเอียดแล้วคั้นเอาแต่น้ำ มาผสมกับน้ำอุ่น 1 แก้วกาแฟ จิบอุ่น ๆ แก้อาการคลื่นไส้ วิงเวียน
- ช่วยย่อยอาหาร
สะระแหน่มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อกระเพาะอาหาร และมีส่วนกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำดีในร่างกาย ช่วยย่อยอาหารได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอาหารประเภทไขมัน ทั้งนี้ สูตรช่วยย่อยอาหาร สามารถนำใบสะระแหน่สด มาต้มกับน้ำสะอาด แล้วดื่มแก้อาหารไม่ย่อยได้
- บรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน
มีงานวิจัยว่า คนที่มีอาการลำไส้แปรปรวน เมื่อกินน้ำมันสะระแหน่ ชนิดแคปซูล นาน 4 สัปดาห์ มีอาการลำไส้แปรปรวนลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้กินน้ำมันสะระแหน่
นอกจากนี้ ยังพบว่า การกินน้ำมันสะระแหน่ชนิดแคปซูล ก่อนอาหาร 15-30 นาที มีอาการท้องอืด และมีกรดแก๊สในกระเพาะอาหารลดลง และยังพบว่าผู้ป่วยมากกว่า 80% มีอาการปวดในช่องท้องลดลงอีกด้วย
- ขับลม
ในตำรายาไทย ใช้ใบสด กินเป็นยาขับลม เพราะใบสะระแหน่ มีสารประกอบจำพวกสาร เมนทอล (Menthol) อยู่มาก มีรสร้อนนิด ๆ กินเป็นยาขับลมได้ดี
- แก้คัน
ความเย็นจากใบสะระแหน่ ช่วยบรรเทาอาการคันบนผิวหนัง อีกทั้งสะระแหน่ ยังมีฤทธิ์แก้อักเสบ จึงช่วยลดอาการคัน ฟกช้ำ หรืออาการระคายเคือง ที่เกิดขึ้นกับผิวหนัง โดยตำใบสะระแหน่ให้ละเอียด แล้วนำมาพอกผิวแก้คัน
ข้อควรระวังในการใช้สะระแหน่
- ห้ามใช้น้ำมันสะระแหน่กับทารก หรือเด็กเล็ก เพราะอาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง ในระบบทางเดินหายใจ และอาจทำให้ปอดอักเสบได้
- ข้อมูลจากวารสาร Toxicology and Industrial Health เผยว่า ชาสะระแหน่ มีฤทธิ์ขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก ในหนูทดลอง และแม้จะยังไม่มีผลทดลองในคน ผู้ที่มีภาวะโลหิตจาง ควรหลีกเลี่ยงสะระแหน่ไว้ก่อนดีที่สุด
- ผู้เป็นโรคกรดไหลย้อน ควรหลีกเลี่ยงสะระแหน่ เนื่องจากสะระแหน่ มีผลคลายกล้ามเนื้อหูรูด ในหลอดอาหาร อาจส่งผลให้อาการกรดไหลย้อนกำเริบขึ้นมาได้
วิธีปลูกสะระแหน่
- เตรียมดินสำหรับการเพาะ โดยนำดินร่วน 2 ส่วน ทราย 1 ส่วน ปุ๋ยหมัก 1 ส่วน และปูนขาวเล็กน้อย มาคลุกให้เข้ากัน
- เลือกกิ่งสะระแหน่ ที่มีสภาพสมบูรณ์ไม่อ่อน หรือแก่จนเกินไป จากนั้นนำไปปักลงในภาชนะที่เราเตรียมเพาะ
- ปักกิ่งสะระแหน่ให้เอนทาบกับดิน แล้วรดน้ำให้ชุ่ม แต่ระมัดระวังอย่าให้แฉะจนเกินไป
- นำแกลบมาโรยกลบดิน เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้กับหน้าดิน
- เมื่อการเพาะปลูกเข้าสู่วันที่ 5 ก็จะเริ่มแตกยอดเลื้อยคลุมดิน
การดูแล
- พรวนดินบริเวณโคนต้นสะระแหน่ ควรระมัดระวังและท าอย่างเบามือ เนื่องจาก ต้นสะระแหน่เป็นพืชที่มีรากไม่ลึก
- เมื่อต้นที่เพาะเติบโตจนสามารถเก็บได้แล้ว ควรหมั่นใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักให้กับต้นสะระแหน่
- ดูทิศทางและตำแหน่งที่วางต้นสะระแหน่ให้ดี ระวังอย่าให้ร้อนจัดจนเกินไป
ความแตกต่างระหว่าง สะระแหน่ กับ มิ้นต์
หลาย ๆ คนคงสงสัยว่า พืชทั้ง 2 ชนิดนี้ แตกกต่างกันไหม ความจริงแล้วนั้น คือ เป็นพืชตระกูลเดียวกัน แต่คนละพันธุ์ สะระแหน่ เป็นลูกผสมที่หลากหลายของมิ้นต์ ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างมิ้นต์ทั้งสองนั้น ขึ้นอยู่กับรสชาติกลิ่น และพืชพรรณที่ต่างกันเล็กน้อยนั่นเอง
เป็นอย่างไรกันบ้างกับบทความดี ๆ ที่เรานำมาฝากกัน สะระแหน่ วิธีปลูกสะระแหน่ ก็ทำได้ไม่ยากอีกด้วย จะเห็นได้ว่าสะระแหน่ ประโยชน์ สรรพคุณมากมายต่อสุขภาพจริง ๆ รู้แบบนี้แล้ว ก็ทำได้ไม่ยากอีกด้วย อย่าลืมไปหาลองทานกันดูนะจ๊ะ 😋
- “กะเพรา” ประโยชน์ดี ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม!
- โหระพา สมุนไพรสุดยอดประโยชน์ที่ห้ามพลาด
- สรรพคุณ เม็ดแมงลัก พร้อมไขข้อสงสัย ลดน้ำหนักได้จริงหรือไม่?
เพื่อการเพาะปลูกที่ไร้กังวล ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับต่าง ๆ เราขอแนะนำ กระถางผ้า กระถางปลูกต้นไม้ สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เหมาะสำหรับปลูกพื้นทุกรูปแบบ ผลิตจากวัสดุพิเศษ ทนทาน ไม่ฉีกขาดง่าย ไม่เกิดเชื้อรา เป็นมิตร และทนต่อสภาวะแวดล้อมได้ดี กระถางผ้า กระถางปลูกต้นไม้ คลิกเลย 👈
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ชีวจิต, สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สำนักวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
30 มกราคม 2024
โดย
ลำดวน